ฟีเจอร์สมมติที่เกิดจาก “ความหิว” ของเด็กจุฬา ที่จะมาทวงคืนที่นั่งในโรงอาหาร | CUNEX iCanteen feature — part 1

Sascha May
4 min readMar 31, 2022

--

ทุกคนเคยมีประสบการณ์แบบนี้กันไหมคะ หิวและรีบมาก แต่คิวซื้อข้าวยาวเหยียด บวกกับพอซื้อมาก็ไม่มีที่นั่งกินข้าวอีก จนสุดท้ายถอดใจอดข้าว หรือ ต้องพกแซนด์วิชมานั่งกินแบบเซ็ง ๆ ถ้าหากคุณ “เคย” บอกเลยว่า “เด็กจุฬาก็เช่นกัน” เพราะหลายปีก่อนโควิดที่ผ่านมานี้เหล่านิสิตจุฬาก็โอดครวญ จนเกิดเป็นดราม่าจากความหิวในโลกออนไลน์กันมาแล้ว

ภาพความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นโรงอาหารในจุฬา
ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการใช้โรงอาหารภายในจุฬา

อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า จะดีไหมถ้าเราสามารถหาทางออกของสงครามที่แสนยาวนานนี้ได้ด้วย “แอพพลิเคชัน” โดยเราได้หยิบยกปัญหานี้ไปเป็น Case study ในวิชา Innovative Thinking ซึ่งเป็นวิชาเลือกคณะวิศวะ จุฬาฯ เมื่อปีที่ผ่านมา (2020) ที่ให้หยิบยกปัญหาอะไรก็ได้มาลองแก้ไขด้วยนวตกรรม เรามาลองแก้ปัญหานี้ไปด้วยกันเลยค่ะ!

(สำหรับใครอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา Innovative Thinking สามารถตามไปอ่านบทความที่เคยรีวิววิชานี้ได้ ที่นี่ ค่ะ ขอแอบกระซิบบอกเลยว่า ส่วนตัวรู้สึกสนุก และ ได้อะไรมาเยอะมาก จากการเรียนวิชานี้ ฮ่า ๆ 😂)

ภาพจาก Dek-d.com | สายกินห้ามพลาด!! รีวิว 6 โรงอาหาร ร้านเด็ด เมนูดัง ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาคืออะไร ? | Understanding user

พออยากรู้ว่าปัญหาคืออะไร เราจึงเริ่มต้นด้วยการไปสัมภาษณ์ และ ทำความเข้าใจ Users ที่ใช้โรงอาหารภายในจุฬากันก่อน โดยลงพื้นที่จริงภายในจุฬาฯ ที่มีผู้ใช้โรงอาหาร (นิสิต และ บุคลากร) รวมทุกโรงประมาณวันละ 25,000 คน และ เราก็ได้ insights ปัญหาที่เกิดขึ้นมาดังนี้ค่ะ

  1. จำนวนที่นั่งไม่เพียงพอ

ปัจจุบันโรงอาหารในจุฬาฯ มีจำนวนโดยประมาณทั้งหมด 13 โรง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนโรงอาหาร ต่อจำนวนนิสิตและบุคลากรมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องใช้โรงอาหารในแต่ละวันนั้น ทำให้เกิดความไม่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นทุนเดิม ยิ่งมีบุคคลภายนอกมาใช้งานสมทบ ยิ่งทำให้นิสิตต้องใช้วิธีหลบหลีกไปกินตามร้านค้าแผงลอยที่มาเปิดรอบ ๆ มหาวิทยาลัย / ข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อ และหาที่นั่งตามม้านั่งใต้ต้นไม้เพื่อรับประทาน หรือไม่ก็เลือกที่จะอดอาหาร เป็นต้น

2. เวลาที่เร่งรีบ

โดยปกติโรงอาหารจะเปิดให้บริการตลอดทั้งวัน แต่มีช่วงเวลาที่มีการใช้งานมากที่สุดตอน 11.00–13.00 น. จึงทำให้หลาย ๆ คนเสียเวลากับไปกับการต่อแถวเพื่อซื้ออาหารและหาที่นั่ง โดยเฉพาะนิสิตที่มีภาระสำคัญต้องไปทำต่อเช่น นิสิตที่จำเป็นต้องไปเตรียมแลปก่อนเข้าเรียนภาคบ่าย ดังนั้นหลายคนจึงถอดใจและมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเวลาลงมาโรงอาหารเพื่อทานข้าวแต่พบว่าต้องต่อคิวยาวเหยียด

เมื่อเราเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ลองนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็น Persona สำหรับการแก้ปัญหานี้ค่ะ

จากนั้นเราก็มาลองไล่เรียงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นกับ “ชมพู” เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่ชมพูเจอมากขึ้นผ่าน User Story และ Storyboard

Storyboard บอกเล่าประสบการณ์การใช้งานแอพ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้ชมพูได้อย่างไร

เริ่มแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ | Starting Design

หลังจากทำ User Research เพื่อทำความเข้าใจ Empathize ในสิ่งที่ users ของเราพบเจอเรามาเริ่มที่จะมาออกกำลังกายสมอง ขยับปากกา Ideate Solutions ต่าง ๆ ที่คิดว่าจะใช้ในการแก้ปัญหานี้ไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ทำไมต้องใช้แอพ CUNEX แอพ CUNEX คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง ?

ก่อนอื่นหากผู้อ่านไม่ใช่นิสิตจุฬา อาจจะต้องมีคำถามนี้อยู่ในใจว่าแอพ CUNEX ที่ว่านี้คือแอพอะไร คำตอบก็คือ CUNEX คือ “Education App” คู่กายนิสิตจุฬา ที่นิสิตจุฬาทุกคนจำเป็นจะต้องมีติดมือถือไว้เพื่อใช้รับข่าวสารภายในมหาวิทยาลัย จ่ายค่าเทอม และ ใช้อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Lifestyle เช่น จองห้องสมุด ดูเส้นทางรถประจำทางในมหาวิทยาลัย เก็บสะสมแต้มต่าง ๆ โดยแอพได้ถูกพัฒนาร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBank) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

ขอขอบคุณภาพจาก — CU NEX กับ 3 ปีของแพลตฟอร์มสร้าง Education App คู่กายนิสิต-บุคลากร จุฬาฯ สู่จุดเริ่มของ Digital Transformation ทั้งองค์กร

ต้องขอเกริ่นก่อนว่า โปรเจคนี้ได้ถูกออกแบบช่วงเดือน พฤษจิกายน 2563 (ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19) และ ได้มีการเก็บภาพเพิ่มเติมเพื่อนำมาเรียบเรียงเขียนบทความนี้ในช่วง มกราคม 2565 เลยอาจจะมีข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับตัวแอพ และ หน้าร้านค้าภายในโรงอาหารที่พัฒนาขึ้นมาเช่นปัจจุบันร้านค้าภายในโรงอาหารจุฬาฯ ก็สามารถจ่ายเงินค่าอาหารผ่านแอพ CUNEX ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้นค่ะ

ภาพร้านค้าภายในโรงอาหาร iCanteen คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีป้ายสำหรับแนะนำการชำระเงินผ่านแอพ CUNEX เพิ่มขึ้นมาทำให้ สะดวก และ รวดเร็ว ลดการสัมผัสไปในตัว

เหตุผลที่เลือกพัฒนาเป็น Feature ใหม่ในแอพ CUNEX

  1. ไม่จำเป็นต้องพัฒนาแอพใหม่ — เพราะปัจจุบันมีแอพ CUNEX ยอดการดาวน์โหลดจากนิสิตมากถึง 98% เนื่องจากแอพมีความสำคัญในแง่ต่าง ๆ เช่น เป็นบัตรประจำตัวนิสิตแบบดิจิทัล (สามารถใช้แทนบัตรนิสิตชนิดพลาสติกการ์ด), การใช้ QR code เข้าออกห้องสมุด และการจองใช้งานห้องของส่วนกลาง และการยื่นขอทุนการศึกษาผ่านแอปฯ รวมไปถึงการเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัย ทางทีมจึงมองว่าสามารถประยุกต์เป้าหมายในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรงอาหาร เข้าไปเป็นหนึ่งใน Features ของแอพได้
  2. เป็นแอพที่มีความสามารถในการชำระเงินในตัว — เนื่องจากแอพถูกพัฒนาร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย จึงมีความสะดวก และ ปลอดภัยกับนิสิตมากขึ้นในการใช้จ่าย ซึ่งมีศักยภาพในการมาพัฒนาต่อในด้านการซื้ออาหารภายในโรงอาหารในอนาคต
Value Proposition Canvas และ Paper Wireframe ก่อนนำไปพัฒนาเป็น Digital Wireframe

ถ้าลองให้ Users ใช้ เขาจะว่ายังไงกันบ้างนะ !

เราลองนำ Paper Wireframe ในภาพด้านบนไปทำให้ Clickable โดยใช้เว็บไซต์ Marvel แทนการใช้ Low-Fidelity Prototype เพื่อนำไปให้ Users ทดลองใช้และนำข้อเสนอแนะ หรือ ข้อคิดเห็นของผู้ใช้งานมาพัฒนาต่อ

หลังจากการทำ Usability Testing เราตัดสินใจนำฟังก์ชัน “จองโต๊ะ” ออกเพราะ users หลายคนมองว่าค่อนข้างซับซ้อนใช้งานยาก และ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องจองโต๊ะภายในโรงอาหารล่วงหน้า เพื่อทำให้เกิด Flow การใช้งานภายในโรงอาหารได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น

ทำให้สมจริงขึ้น โดยการเนียนไปกับแอพเดิม! | Refining the Design

Design System in CUNEX iCanteen Feature

ในเมื่อเราเป็นหนึ่งใน Features ของแอพ CUNEX ดังนั้น User Interface ที่นำมาใช้จึงตั้งใจทำให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของแอพ โดยนำสี รูปแบบฟอนต์ รวมไปถึงปุ่มกดต่าง ๆ มาใช้

จากนั้นเราจึงสร้าง High-Fidelity Prototype ของ iCanteen Feature ขึ้นมาเพื่อให้ Users ลองใช้อีกครั้งหนึ่ง หากใครสนใจอยากลองเล่นกับ Prototype อันนี้สามารถคลิกได้ ที่นี่

สรุปภาพรวมการใช้งาน Feature | Summary

  1. สามารถใช้ iCanteen Feature ได้ในวันจันทร์ — ศุกร์ ช่วงเวลา 11.00–13.00 น. (เวลาที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือคนนอกไม่เข้ามาใช้บริการโรงอาหารภายใน เพื่อลดความแออัด และให้ Priority แก่นิสิตและบุคลากรก่อน)นอกเหนือเวลาจากนี้ ร้านอาหารสามารถขายให้คนนอกได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้แอพเพื่อสั่งอาหาร
  2. สามารถสั่งอาหาร และ จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต หรือ Kplus ได้โดยจะช่วยให้ Users ประหยัดเวลาในการต่อแถว และ สามารถเลือกดูเมนูได้ก่อนที่จะไปรับอาหารที่โรงอาหารด้วยตนเอง รวมถึงเพื่อเป็นการลดความแออัดภายในโรงอาหาร และ สามารถสะสมแต้มได้ผ่านการใช้จ่ายภายในโรงอาหาร
  3. สามารถเลือกดู และ สำรวจโรงอาหารอื่น ภายในมหาวิทยาลัยได้เผื่อเป็นตัวเลือกในวันที่เบื่ออาหารร้านเดิม ๆ และ อยากออกไปลองชิมอาหารร้านใหม่ ๆ จากโรงอาหารอื่นภายในมหาวิทยาลัย
  4. สามารถประเมินคะแนนร้านค้าได้ ในกรณีที่พบว่ามีการขายให้คนนอกในเวลาที่จำกัดไว้สำหรับนิสิต และ บุคลากร หรือ พบว่าอาหารไม่สะอาด มีราคาเกินที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับมหาวิทยาลัยเก็บไว้เพื่อพิจารณาร้านค้าต่อไป
ภาพบรรยากาศภายในโรงอาหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ (iCanteen)

และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับ Feature จำลองที่สร้างขึ้นมาในวิชา Innovative Thinking ค่ะ ไหนใครอยากให้มีจริง ๆ บ้างขอเสียงหน่อย เย้

ถ้าใครสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา Innovative Thinking และ การเรียนรู้ผ่าน Extraordinaire Design Studio ก็สามารถไปติดตามกันต่อได้ที่ Medium ของ อาจารย์ ธงชัย โรจน์กังสดาล อาจารย์ผู้สอนประจำวิชา ผ่านงานเขียนของอาจารย์ได้ที่นี่ค่ะ

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ บอกได้เลยค่ะว่าหลังจากที่ได้ทำงานชิ้นนี้ และ ส่งงานนี้เป็น Final Project ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเริ่มสนใจการออกแบบ User Experience อย่างจริงจังมากขึ้น จนหลังเรียนจบได้ไปเรียนต่อกับโปรแกรมของ Google UX Design Certificate เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน แอบกระซิบว่าคราวหน้าจะลองมาเล่าแบ่งปันประสบการณ์ ว่าทำไมถึงตัดสินใจเรียน เขาเรียนอะไรกัน แล้วจบออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง

ถ้าสนใจก็อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันใหม่ค่ะ !

Let’s talk : maysasi.com | maysasi.th@gmail.com :D

--

--

Sascha May

UX Designer | Researcher - A former architectural student who believes that design can improve the quality of humans lives