มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 3)

Uoo Worapon
2 min readApr 7, 2018

--

ผมขอยกคำที่ผมเขียนไว้ใน part 1 มาให้อ่านกันอีกครั้งนะครับ ถ้าใครอ่านแล้วก็ข้ามได้เลย

แก่นของศาสนาพุทธนั้นสอนแค่เรื่องเดียวคือวิธีการที่จะพัฒนาจิตใจของเราให้เห็นโลกตามความเป็นจริงครับ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าการเห็นโลกตามความเป็นจริงคืออะไรผมจะอธิบายง่ายๆว่าตั้งแต่เกิดมา ลองนึกดูครับว่าเราถูกปลูกฝังความคิดหรือค่านิยมต่างๆมาอย่างไรบ้าง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่หลายๆคนอาจเคยได้ยิน คำของท่านพุทธทาสภิกขุว่า "ตัวกูของกู" ซึ่งเป็นวลีที่ดังมากๆแต่ท่านทั้งหลายเข้าใจไหมว่ามันหมายถึงอะไร"ร่างกายนี่เป็นของเรา บ้านนี่ของเรา นี่แฟนของเรา นั่นหมาของเรา นี่ก็เงินของเรา" สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก่อให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นแล้วทำให้เราเห็นผิดไป เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของเราเป็นของถาวรยั่งยืน พอสิ่งเหล่านั้นหายไป การยึดมั่นก็กลายเป็นความทุกข์แล้วลองนึกดูว่าตั้งแต่แต่เด็กจนโตเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราอาจนึกไม่ถึงเลยว่าเราได้ยึดตัวของเราไว้กับสิ่งต่างๆรอบๆตัวของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทำให้เรามองเห็นโลกผิดไป ไม่มองเห็นโลกตามความเป็นจริง เช่นเห็นเพื่อนร่วมงานได้ดีด้วยความอิจฉา เห็นรถยนต์หรือโทรศัพท์เป็นเครื่องบอกฐานะ เห็นเงินด้วยความโลภ เห็นคนสวยหล่อด้วยความรู้สึกชอบ เห็นสิ่งไม่สวยงามด้วยความรังเกียจ" ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่เคยสังเกตว่าตัวเรามองเห็นสิ่งต่างๆไปตามความรู้สึกของเรา ไม่ได้เห็นโลกตามความเป็นจริงว่า"ทุกสิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา สิ่งเหล่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา"

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตของเราไปยึดติดกับอะไรอยุ่บ้างแล้วจะมีวิธีฏิบัติอย่างไร

ในทางพุทธศาสนาการไม่มองโลกตามความเป็นจริงนั้นเกิดจากการที่จิตของเรายึดติดในสิ่งต่างๆรอบๆตัวที่เรียกว่า สังโยชน์ 10

สังโยชน์ 10 คือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ

สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่

1. สักกายทิฏฐิ: ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตนเป็นอัตตาทิฎฐิ เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน (เวทนาคืออารมณ์ต่างๆ เช่น สุข ทุกข์ อิจฉา)

2. วิจิกิจฉา : มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในกุศลธรรมทั้งหลาย

3. สีลัพพตปรามาส : ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส เช่นการถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงาย เช่น การนอนบนหนามของพวกโยคีด้วย

4. กามราคะ : หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ (การเสพกามหมายถึงจิตไปยึดในอารมณ์ความสุข ความทุกข์ต่างๆ)

5. ปฏิฆะ: ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด

สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่

6. รูปราคะ : ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ

7. อรูปราคะ: ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ

8. มานะ : ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆก็ตาม)

9. อุทธัจจะ: มีความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งของจิต

10. อวิชชา: มีความไม่รู้จริง

*อันนี้เป็นคำอธิบายแบบสั้นๆ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดของสังโยชน์แต่ละข้อก็ลองเอาคำไปเสิชดูนะครับ

วิธีในการที่จะละสังโยชน์ 10 นั้นไม่สามารถละได้ด้วยการนึกคิดตรึกตรองเพียงอย่างเดียวได้ ต้องละด้วยการฝึกจิตหรือสติของเราให้เห็นโลกตามจริง ซึ่งใครก็ตามที่ละสังโยชน์บางข้อได้นั้นไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นสภาวะธรรมที่เกิดจากการฝึกฝนให้จิตของเราปล่อยวางสิ่งที่เคยยึดติดเท่านั้น

โดยในทางพุทธศาสนาก็จะมีชื่อเรียกผู้ที่ละสังโยชน์ได้บางข้อไปจนถึงละได้ทั้งหมดดังนี้

  1. พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

2. พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย

3. พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อแรกได้หมด

4. พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ

พูดถึงกิเลสที่เป็นเครื่องผูกมัดจิตของเรามาซะยาว ทีนี้ผมจะพูดถึงวิธีการละกิเลสหรือสังโยชน์เหล่าซึ่งมี 2 วิธีคือ

1. การทำสมาธิ หรือ สมถกรรมฐาน

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ หลายๆศาสนานั้นค้นพบและรู้จักกิเลสดีอยู่แล้ว แต่ยังหาวิธีกำจัดอย่างถอนรากถอนโคนไม่ได้ แต่ก็มีการฝึกที่สามารถทำให้จิตของเราพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราวที่เรียกว่า “การทำสมาธิ”

คนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงการปฏิบัติธรรมอาจนึกถึงการนั่งหลับตาแล้วท่อง พุทโธๆ ยุบหนอพองหนอ หรือคำบริกรรมอะไรก็ตามแต่ตามที่ครูบาอาจารย์จะสอน เพื่อฝึกจิตของเราให้สงบ ความสงบของจิตนั้นเกิดจากการที่จิตของเราเพ่งไปที่คำบริกรรมโดยเมื่อจิตของเราสงบแล้วจิตนั้นจะเกิดสภาวะธรรมที่เรียกว่า “ฌาณ” ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ฝึกสมาธิ ซึ่งฌาณนั้นมีอยู่หลายระดับ ยิ่งมีฌาณขั้นลึกเท่าใด จิตก็ยิ่งสงบมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งฝึกสมาธิมากเท่าใดจะทำให้จิตนั้นห่างไกลกิเลส เมื่อห่างไกลจากกิเลสแล้วก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น จะมีความสุขมากเมื่ออยู่ในสมาธิ หลายๆคนอาจเคยได้ยินว่ามีบางคนสามารถทำสมาธิได้เป็นวันๆ ไม่กินข้าวกินปลา บางคนไปมัวติดอยู่กับความสุขที่เกิดในสมาธิอยากจะนั่งสมาธิอย่างเดียว ไม่อยากจะเอาอะไรในโลกที่วุ่นวายอีกแล้ว (แต่ยังไงแล้วสมาธิที่ดีจะทำให้จิตมีกำลังจดจ่อกับสิ่งต่างๆได้นานและช่วยในการทำวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น)

แต่การฝึกสมาธิเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถละกิเลสให้หมดไปได้ เป็นเพียงเหมือนการข่มไม่ให้กิเลสแสดงออกมาเมื่อยังอยู่ในสมาธิ

ในสมัยพุทธกาล ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ออกบวชแรกๆ ก็ได้ฝึกทำสมาธิกับหลายๆอาจารย์ คืออาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส

ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะสามารถทำสมาธิแล้วเข้าถึงฌาณระดับสูงๆได้ จนอาจารย์ไม่มีอะไรจะสอน แต่พระพุทธเจ้าก็ยังรู้สึกว่าการทำสมาธิยังไม่ใช่คำตอบ จึงได้ออกเดินทางไปฝึกการทำทุกรกิริยาอยู่นาน อดข้าวอดน้ำจดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกจึงได้เห็นว่านั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน

หลังจากนั้นพระองค์ทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์และตั้งจิตอธิษฐานด้วยความแน่วแน่ว่าตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ จนในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยธรรมที่เรียกว่า “อริยสัจ 4”

2. วิปัสสนากรรมฐาน

คือการฝึกที่จะสามารถทำให้ละกิเลสทั้งได้ได้อย่างถาวรเป็นการปฏิบัติที่เกิดขึ้นตามแนวทางของมรรคมีองค์ 8 เป็นการทำความเพียรใช้สติ สัมปชัญญะ เข้าไปคอยรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทางกายและใจเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นโลกตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้งซึ่งไม่ใช่จากวิธีที่เกิดจากฟังผู้อื่นบอกเล่า หรือ ตรรกวิธี (การคิดตามด้วยเหตุผล) และแม้สมถวิธี ( การทำให้ใจความเกิดสงบ) โดยใช้หลักในการฝึกที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน 4”

บทความอื่นๆ

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 1)

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 2 )

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 3)

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 4)

--

--

Uoo Worapon

Programmer ขี้ลืม จนต้องจดบันทึกไว้ใน Medium