มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 4 จบ)

Uoo Worapon
2 min readSep 2, 2018

--

เมื่อเราที่เป็นปุถุชนทั่วๆไป ไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้มองโลกอย่างเป็นธรรมชาติของมัน แต่กลับเพิ่มความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง (สังโยชน์ 10) เข้าไปอย่างไม่รู้ตัวทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น ทุกข์เล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน ที่เรื่องต่างๆไม่เป็นไปดั่งใจ หรือจะเป็น ทุกข์ครั้งใหญ่ในชีวิต นั่นเป็นเพราะไม่เคยฝึกมองสิ่งต่างๆรอบตัวว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ทางพุทธศาสนาเรียกมันว่า “กฎไตรลักษณ์”

กฎไตรลักษณ์ คือกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่

  1. อนิจจัง: อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป (ของเคยมีแล้วมันไม่มี)
  2. ทุกขัง: อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว (ของที่มีอยู่นั้นถูกบีบคั้นให้มันสลายหรือให้ไม่มี)
  3. อนัตตา: อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร (ของที่จะมีหรือไม่มีนั้นเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่สั่ง)

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ กฎไตรลักษณ์ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติ มีอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดาของมัน ไม่มีอะไรเป็นของเรา หรือของใคร

โดยในการฝึกมองสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์นั้นเราไม่สามารถฝึกได้โดยการนึกคิดตรึกตรองเพียงอย่างเดียวได้ แต่จะต้องฝึกโดยสิ่งที่เราเรียกกันว่าการฝึก วิปัสนา (ความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน) ซึ่งมีหลักในการดูได้ 4 ฐานตามหลักของ สติปัฏฐาน 4 ซึ่งเราสามารถดูเพียงฐานใดฐานหนึ่งก็ได้หรือดูหลายๆฐานก็ได้ตามสถานะการและความถนัดของแต่ละคน สามารถทำให้เข้าใจธรรมชาติหรือ การเกิดปัญญา ได้ทั้งนั้น (การบรรลุธรรมคือการเข้าใจว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างนั้น เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา)

สติผู้เป็นพระเอกของพุทธศาสนา

ก่อนจะเริ่มอธิบายว่าสติปัฏฐาน 4 มีอะไรบ้างนั้น มีหลักที่ทุกคนต้องเข้าใจก่อนคือพื้นฐานของการฝึกสติปัฏฐานนี้ต้องใช้ สติ เป็นพื้นฐานในการพิจารณาเป็นพระเอกของเราเลย เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจการฝึกสติกันก่อนนะครับ

การฝึกสติ: ในทางพุทธนั้นการมีสติไม่ใช่เป็นเพียงการพูดถึงการมีสติทั่วๆไปที่เราคุ้นเคย แต่เป็นอาการที่เรา รู้สึกตัว รู้สึกถึงสภาวะต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นกับกายกับใจ ณ ปัจจุบัน โดยในขั้นแรกๆที่สอนกันจะนิยมให้รู้สึกตัวบ่อยๆ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในอิริยาบทต่างๆโดยที่ไม่ต้องมองแต่ใช้ใจรู้สึกเอา เช่น รู้ว่าตัวเองกำลังยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ เป็นต้น

ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกว่าการฝึกสติที่ถูกต้องจะต้องรู้สึกอย่างไร ก็ให้รู้ว่าสิ่งที่ตรงข้ามกับสติคือ ความเผลอ เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในทุกๆวันของคนทั่วๆไป ที่ทำให้เราหลง ปล่อยกาย ปล่อยใจ ให้กระทำตามความรู้สึกของเรา จมไปอยู่กับความรู้สึกหรือกิเลสที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกโกรธเพราะมีเหตุการณ์ที่ไม่พอใจมากระทบ แล้วยึดเอาความโกรธมาเป็นอารมณ์ของเรา โดยไม่ได้มองว่าอารมณ์โกรธเป็นเพียงส่ิงที่เกิดขึ้นมาเองเพียงชั่วคราวชั่วครู่ตามธรรมชาติ

ประโยชน์ของสติ: เมื่อเราฝึกสติให้รู้ตัวบ่อยๆแล้ว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรา เช่น ไม่ว่าเมื่อมีสิ่งต่างๆมา กระทบกาย กระทบใจ เราก็จะ รู้ตัว ขึ้นมาทันทีว่ากำลังโกรธ กำลังมีความสุข มีความทุกข์ หรือไม่ว่าจะอารมณ์อะไรก็ตาม จะทำให้ไม่หลงไปกับกิเลสเหล่านั้น เมื่อมีสติเกิดขึ้นไว กิเลสบางอย่างที่ยังอ่อนๆจะถูกแทนที่ด้วยสติทันที ยกตัวอย่าง เมื่อเราได้รับการกระทบจากเหตุการณ์ไม่น่าพอใจเช่น โดนเจ้านายว่า หากเรามีสติเราจะเห็นว่าในใจของเราเกิดอารมณ์โกรธหรือเสียใจขึ้นมา แต่อาการเหล่านั้นเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แล้วก็จะหายไปตามธรรมชาติ แล้วถ้าเราไม่นำความรู้สึกเหล่านั้นมาคิดต่อมันก็จะหายไป แต่หากนำมาคิดต่อก็จะเป็นการต่ออายุให้ความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้น ยิ่งคิดหลายรอบก็ทุกข์หลายรอบ ทั้งๆที่เหตุการณ์เหล่านั้นจบไปในอดีตแล้ว

สติปัฏฐาน 4 การปฏิบัติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก

ในขั้นแรกของการทำ สติปัฏฐาน นั้นสิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับแรกคือสติ เมื่อมีสติที่ตามรู้การเปลี่ยนแปลงต่างๆของกายของใจแล้ว เราจะใช้สตินั้นมาพิจารณาสภาพเหล่านั้นว่าล้วนเป็นไปตาม กฎของไตรลักษณ์ ทั้งสิ้น

เมื่อจิตที่มีสติของเราพิจารณาสิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้นมากพอ จิตของเราจะเกิดอาการเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายก็จะคลายความยึดติด เมื่อคลายความยึดติด จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากการยึดติดเหล่านั้น

1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน

การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ซึ่งกายในที่นี่หมายถึงสิ่งที่ประชุมหรือรวมธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่งๆ เห็นความเกิดดับ กายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา (กายานุปัสสนานี้เป็นฐานที่ได้รับความนิยมที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้นเพราะทำได้ง่ายเข้าใจได้ง่ายที่สุด)

วิธิปฏิบัติ: ในฐานกายนี้ เราจะใช้สติคอยพิจารณาร่างกายของเราเป็นหลักโดยจะมองว่าร่างกายนี้ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นของเราจริงๆ(เราสั่งร่างกายได้เพียงเล็กได้เพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เช่น สั่งให้เดิน ขยับได้ แต่เราสั่งให้ร่างกายไม่เจ็บป่วยไม่ได้ ให้ไม่แก่ไม่ได้ หรือสั่งให้ไม่ตายก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา)

โดยวิธีการนั้นจะพิจารณาได้ทั้งหมด 7 แบบ แต่ผมจะอธิบายเป็นภาพรวมและให้เข้าใจได้ง่ายๆครับ เช่น

  • การทำอานาปานสติ คือการใช้สติพิจารณาลมหายใจที่หายใจเข้าออกอยู่นั้นๆว่า เป็นกายสังขาร คือถูกกายปรุงแต่งขึ้น พิจารณาความไม่เที่ยงมีหายใจเข้าก็ต้องหายใจออก หากหายใจเข้าเพียงอย่างเดียวก็เป็นทุกข์ หายใจออกอย่างเดียวก็เป็นทุกข์ มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
  • ใช้สติพิจารณาตามรู้ว่าร่างกายนั่นไม่ใช่เรา เป็นเพียงร่างที่ถูกจิตใจของเรานั้นบังคับให้ทำนู่นทำนี่ เหมือนเป็นหุ่นยนต์(หรือธาตุตามธรรมชาติต่างๆที่มาประชุมรวมกันเป็นอวัยวะเป็นร่างกาย)ที่ถูกจิตใจบังคับเท่านั้น เราสามารถทำแบบนี้ได้กับทุกๆอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ทั้งนั้น เราจะรู้สึกว่าร่างกายนั้นเป็นเพียงผู้ที่ถูกดู แต่ใจของเรานั้นเป็นผู้ดู
  • ใช้สติพิจารณาตามรู้ว่าร่างกายว่าเป็นตัวทุกข์ เช่นเมื่อเรานั่งสมาธินานๆ พอนั่งไปนานๆก็เจ็บก็ปวดตรงนั้นตรงนี้ ไปตามเหตุของมัน เราบังคับไม่ได้ ต้องคอยขยับ พอขยับพักนึงก็หายปวด พอไม่ขยับก็ปวดอีก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวเกิดขึ้นมาชั่วครู่ก็จะดับไป
  • หรือใช้สติพิจารณาตามรู้ว่าร่างกายว่าไม่เที่ยง มองดูว่าร่างกายของเรานั้นล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เพื่อคลายความหลงใหลรักใคร่ยึดมั่นมันลงไป จึงคลายกำหนัด

2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน

การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน(เวทนาคืออารมณ์สุขหรือทุกข์ ไม่ใช่หมายถึงความเวทนาในภาษาไทย) ไม่มองเวทนาด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขาคือไม่มองว่าเรากำลังทุกข์ หรือเรากำลังสุข หรือเราเฉยๆ แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ เวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

วิธิปฏิบัติ: ใช้สติระลึกรู้ถึงการเกิดดับของอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ก็ใช้สติรู้สึกถึงความทุกข์นั้นโดยไม่ต้องไปพยายามบังคับให้หายทุกข์แต่อย่างใด เพียงแต่รู้ทันความรู้สึกนั้นแล้วคอยสังเกตว่า อารมณ์ที่เกิดมาไม่ว่าจะทุกข์เล็กน้อยหรือทุกข์ใหญ่ เมื่อเกิดขึ้นจะตั้งอยู่เพียงชั่วครู่ แล้วสักพักก็จะหายไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เราทุกข์อีก ความทุกข์นั้นก็จะแสดงขึ้นมาอีก เราก็จะใช้สติตามรู้อารมณ์นั้นอีกเช่นเดิม โดยการที่มีสติเช่นนี้จะทำให้เราไม่ไหลไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราจะเป็นเพียงผู้สังเกตอาการเหล่านั้น และมองว่าอารมณ์สุขทุกข์เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติของมัน

3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน

การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน เป็นการนำจิตมาระลึกรู้เจตสิกหรือรู้จิตก็ได้ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ จิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

วิธิปฏิบัติ: วิธิปฏิบัติหลักการเหมือนกับเวทนานุปัสสนาเพียงแต่เราจะพิจารณาจิตแทนอารมณ์ ซึ่งมีความละเอียดกว่าเท่านั้นอธิบายคือ

มีสติระลึกรู้เท่าทันในจิตคือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี, จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ, จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน แล้วพิจารณาการเกิดๆดับๆว่า เป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว

4.ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน

การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน ทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

วิธิปฏิบัติ: ในฐานนี้เป็นฐานที่ใช้สติพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นความรู้ของผู้ที่ปฏิบัติ ที่ได้เข้าใจถึงหลักอันเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เช่นการพิจารณาสิ่งต่างๆแล้วเห็น นิวรณ์ ๕, ขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์๕, อายตนะภายใน และนอก, โพชฌงค์ ๗, อริยสัจ ๔ และมรรคองค์ ๘ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติใช้สติพิจารณาเวทนาอยู่แล้วเกิดความเข้าใจอารมณ์นั้นว่าเป็นไปตามหลักของ ปฏิจจสมุปบาท (เป็นการอธิบายการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายว่าเกิดขึ้นเพราะอาศัยกันและกันเกิดขึ้น หากขาดสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งจะอธิบายว่าต้นตอแห่งทุกข์นั้นมาจากอะไร หากเรากำจัดต้นตอแห่งทุกข์นั้น ก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้) เป็นต้น

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

จุดอ่อนที่ผมเห็นได้ของนักปฏิบัติหลายๆคนคือความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติ เพราะจะรอให้มีโอกาสเหมาะแล้วค่อยได้มานั่งสมาธิทำกรรมฐาน หรือรอให้มีจังหวะเหมาะแล้วรอไปปฏิบัติธรรมที่วัด ทั้งๆที่จริงแล้วกิเลสนั้นเกิดขึ้นในชีวิตของเราตลอดเวลาไม่ใช่เฉพาะตอนที่ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เราสามารถฝึกจิตใจของเราได้ตลอดเวลา

การปฏิบัติในชีวิตประจำของผมคือพยายามรู้ตัวให้บ่อยเท่าที่จะทำได้ เมื่อรู้ตัวแล้วหากตอนนั้นไม่มีความรู้สึกหรืออารมณ์ใดเด่นออกมา ก็จะใช้สติพิจารณาร่างกาย ดูร่างกายมันทำงานเป็นเหมือนหุ่นยนต์ มันคอยทำตามสิ่งที่ใจของเราสั่ง เช่น สั่งให้เดิน นอน นั่ง หันซ้ายหันขวา ดูว่ากายกับใจนี้คนละอันกัน หรือดูลมหายใจบ้าง หรือบางครั้งก็ดูอาการตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การหนาว ปวด เมื่อย เป็นต้น แต่เมื่อใดที่มีเหตุการณ์บางอย่างมากระทบทำให้เกิดอารมณ์ทุกข์ หรือความโกรธ ความหงุดหงิด ความกลัว ก็จะใช้สติพิจารณาดูว่าอาการเหล่านั้นตั้งอยู่แค่ครู่เดียวแล้วก็จะหายไปอย่างรวดเร็วหากเรามีสติที่ดีแล้วไม่ฟุ้งปรุงแต่งอารมณ์นั้นๆ แต่การพิจารณานี้จะไม่ไปบังคับความรู้สึกเหล่านั้นครับ เพียงแต่รู้สึกถึงเฉยๆเท่านั้น

ขอบคุณครับที่อ่านจบ เป็นบทความที่ยาวที่สุดที่เคยเขียนมา และตั้งใจเขียนมากที่สุด สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถ้าใครสนใจจริงๆผมมี youtube ให้ลองไปฟังต่อดูนะครับ มีรายละเอียดอีกเยอะที่อยากให้ทุกคนฟัง หากใครสนใจปฏิบัติจริงๆผมแนะนำให้เริ่มปฏิบัติได้เลยตอนนี้เลยครับ และค่อยๆฟังเพิ่มความรู้ไปด้วยครับ เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าแนวทางไหนคือแนวทางที่ถูกต้องก่อนที่จะปฏิบัติครับ จะได้ไม่เสียเวลาหลงทางนาน

  1. หนังสือที่เขียนโดยท่านพุทธทาสภิกขุที่ดังมากๆ ชื่อว่า คู่มือมนุษย์ เป็นหนังสือที่ผมคิดว่าสามารถไขความข้องใจต่างๆ ในทุกๆเรื่องในพุทธศาสนาให้ทุกคนที่ฟังได้ เช่นการกราบไหว้เทพ การทำพิธีต่างๆ หรือแม้แต่การถวายข้าวพระพุทธ คืออะไร ใช่ศาสนาพุทธหรือไม่ หากใครเป็นผู้เริ่มต้น หนังสือเล่มนี้ควรอ่านครับ (มีหลาย part ลอง search ดูนะครับ)

2. หลวงพ่อปราโมทย์ เป็นอาจารย์ที่เทศน์ขั้นตอนการปฏิบัติได้เข้าใจง่ายมากๆ และทำให้รู้ว่าเราจะทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร ผมแนะนำว่าหากใครอยากเริ่มปฏิบัติต้องฟังท่านครับ

3. พระอาจารย์คึกฤทธิ์ จะเน้นการพูดถึงพุทธวจน หมายถึงจะไม่พูดศัพท์หรือธรรมะอะไรที่เป็นการเติมแต่งจากคำของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านเหมือนเป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ครับ ท่านแตกฉานมากๆ ลองฟังดูได้ครับ แต่ฟังแรกๆศัพท์จะยากหน่อยครับ

4. สุดท้ายครับ chanel youtube ปลดล็อคผมชอบฟังเพราะรู้สึกสงบทุกครั้งที่ฟังครับ

บทความอื่นๆ

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 1)

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 2 )

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 3)

มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่า 1 เดือนที่บวชได้อะไรบ้าง ( part 4)

--

--

Uoo Worapon

Programmer ขี้ลืม จนต้องจดบันทึกไว้ใน Medium