แฉ 3 สกิลเทพ! ที่ First Jobbers ต้องมี เมื่อก้าวสู่โลกการทำงาน

Maytwin P.
BASE Playhouse
Published in
4 min readJan 15, 2020

--

เมื่อพูดถึงการก้าวสู่โลกของการทำงาน มันก็เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านอีกช่วงหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ เหมือนกับตอนที่เรากำลังเปลี่ยนจากวัยมัธยมเข้าสู่มหาลัยอีกครั้งนึง สภาพแวดล้อมที่ใหม่ คนใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ เมื่อทุกอย่างใหม่หมด คำถามคือ..

เราจะเตรียมอัพสกิลใหม่ๆ ให้กับตัวเองยังไง ถึงจะพร้อมก้าวเข้าสู่โลกใหม่นี้ได้อย่างสง่างาม?

ตัวผมเองที่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้วทั้งการทำงานใน Corporate ที่มีมาตรฐานระดับโลก ทำให้มีโอกาสได้ทำงานกับทั้ง Corporate Leaders ที่เป็น Inspiring Leader มากๆ และ ทีม HR ของบริษัทใหญ่ รวมทั้งประสบการณ์ในการสร้างบริษัทของตัวเองและ Recruit ทีมของตัวเองด้วย ทำให้ได้เห็นและเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ องค์กร และ Leader เหล่านี้มองหาในตัวคนหนึ่งคนควรจะเป็นอะไร ทำยังไงให้เค้า ‘เชื่อ’ ว่าเราทำงานได้ ไม่ใช่แค่ช็อตแรกการสมัครงาน แต่รวมถึงช่วง 3 เดือนแรกของการทำงานด้วย

รอบนี้เลยอยากจะแชร์ 3 สกิลหลักๆ ที่คิดว่า ‘เด็กจบใหม่’ และ ‘First Jobbers’ ทุกคน ควรจะต้องมี และจำเป็นต้องฝึกตั้งแต่อยู่มหาลัยด้วย ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ใน 3 สกิลนี้ จะมี ‘สกิลย่อย’ (sub-skill) ที่ต้องฝึกแยกกันซ่อนอยู่ด้วย มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. สกิลการขายตัวเอง (Art of Selling)

หลักๆ เลยของสกิลนี้คือการทำให้เค้ารู้ว่าเรามี ‘ของ’ และทำให้เค้าเชื่อว่า ‘ของ’ ที่เรามีจะเป็นประโยชน์กับเค้าอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์ทั้ง การสัมภาษณ์งาน การขายไอเดียโปรเจค หรือแม้แต่ การเสนอตัวให้เจ้านายเลือกเราในงานที่สำคัญๆ

● สกิลการสร้างคลังอาวุธของตัวเอง (Self-Awareness)

แน่นอนว่าการที่จะให้เค้ารู้ว่าเรามีของ เราจะต้องรู้ก่อนว่าเรามี ‘ของ’ อะไร หรือ พูดง่ายๆ คือ ‘What you can offer’ ของเหล่านี้มักจะอยู่ในรูปของ ‘จุดแข็ง’ ที่เรามีและทำให้เราแตกต่างและโดดเด่นกว่าคนอื่น สกิลนี้คือการฝึกที่จะสกัดสิ่งเหล่านี้ออกมาให้ได้เหมือนคลังอาวุธ และเตรียมหยิบขึ้นมาใช้เมื่อสถานการณ์เรียกร้องนั่นเอง

วิธีการฝึกง่ายๆ : ทำ Self-Reflection อยู่เสมอ ตีตารางจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง หรือ ใครอยากจะเล่นใหญ่ทำ ตาราง SWOT เลย ก็ไม่ขัด หรือ ใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงเลย ลองหาแบบทดสอบบุคลิกภาพและจุดแข็งต่างๆ ที่มีอยู่เยอะแยะมากมายมาเป็นจุดตั้งต้น (เช่น MBTI, DISC, Strength Finder) แล้วค่อยทำ Self-reflection ต่อจากนั้นอีกทีก็ได้เหมือนกัน พยายามกลับมารีวิวตัวเองทุกๆ 2–3 เดือน หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น แค่นี้เราก็จะมีคลังอาวุธติดตัวแล้ว

● สกิลการสร้างมนต์สะกด (Story Telling)

หลังจากที่เรามีคลังอาวุธแล้ว สกิลนี้คือ ‘กระบวนท่า’ ในการเอาอาวุธออกมาวาดลวดลายให้น่าหลงใหลและชวนติดตาม การเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในเผ่าพันธุ์ของเรา มนุษย์เราถูกประสบการณ์จากบรรพบุรุษปลูกฝังให้ให้ความสำคัญกับการฟัง ‘เรื่องราว’ ถ้าเราเล่าเรื่องได้ดี เราจะสามารถสร้างมนต์สะกดให้กับคนฟังให้เค้าคล้อยตามสิ่งที่เราอยากจะบอกได้อย่างง่ายดาย

วิธีการฝึกง่ายๆ : จริงๆ ทฤษฎีของ Story Telling สามารถเล่าได้เป็นวัน แต่เพื่อให้มันฝึกได้ง่าย และฝึกได้เร็ว จะขอแนะนำวิธีที่รวดเร็วกว่านั้น คือการจำ Pattern จาก Best Practice ให้ลองหา ‘เรื่องเล่า’ ดีๆ ฟังให้บ่อย เพื่อให้สมองของเราจดจำรูปแบบของการเล่าเรื่องที่ดี ให้ฝังลงไปในจิตใต้สำนึก ใครที่เป็นคนชอบอ่าน ก็ไป ‘อ่าน’ ใครที่เป็นคนชอบฟัง ก็ไป ‘ฟัง’ ส่วนใครที่เป็นคนชอบดู ก็ไป ‘ดู’ ซะ อาจจะเป็น หนังสือนิทาน - Podcast เรื่องผี - หนังแอนิเมชันดีๆ ของ Pixar หรือ Disney ที่มี วิธีการเล่าเรื่องที่คมกริบ แล้วลองจับ Pattern ดู ก็ได้เช่นกัน

● สกิลการปิดการขาย (How to Sell & Influencing)

หลังจากมี ‘ของ’ และ ‘เล่า’ ให้เค้าอยากฟังได้แล้ว สกิลสุดท้ายคือการ ‘ปิดการขาย’ พุดง่ายๆ ก็คือทำยังไงให้เค้าซื้อเราชัวร์ ไม่ว่าจะเป็น การสัมภาษณ์งาน การขายไอเดียโปรเจค การขายของ คอนเสปหลักๆ เหมือนกันหมด คือการ ‘รู้ว่าเค้าอยากฟังอะไร’ ก่อน และสื่อสารออกไปให้ตรงกับสิ่งนั้นๆ ทีนี้สกิลนี้อาจจะยากสักนิดหนึ่งตรงที่เราต้องรู้จักคนที่เราจะไปคุยด้วย และต้องทำการบ้านไปก่อนพอสมควร

วิธีการฝึกง่ายๆ : สำหรับการฝึกสกิลนี้เราจะใช้เทคนิคเรียนรู้ผ่านการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึก (Simulation-based Learning) เวลาคุยกับใครก็ตาม ลองฝึกสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาในหัว “ถ้าเราเป็นเค้า เราจะอยากได้อะไรนะ?” การลองสวมหมวกใบใหม่ จะทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ขึ้นมาในฐานะ ‘ผู้ซื้อ’ ไม่ใช่ผู้ขาย แล้วเราจึงเอาคำถามเหล่านี้มาเตรียมคำตอบไว้ จากคลังอาวุธที่เรามี

2. สกิลการสร้าง First Impression

การเข้าไปสู่สังคมใหม่ๆ สิ่งที่เจอแน่ๆ คือการเจอกับคนที่เราไม่เคยรู้จักเค้า และเค้าก็ไม่เคยรู้จักเราเต็มไปหมด โจทย์คือ ‘ทำยังไงให้คนที่เจอเรา รู้สึกว่าเรามีเสน่ห์ เป็นที่จดจำ?’ เพื่อให้อย่างน้อยเค้าจำเราได้ และกลายไปเป็นโอกาสมากมายที่จะกลับเข้ามาหาเราในอนาคต

● สกิลของการสร้างเสน่ห์จากภายนอก (Body Grooming)

เมื่อเราเจอคนที่ไม่รู้จัก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะตัดสินคนจากภายนอกไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นภาพลักษณ์แรกที่เห็น จะเป็นตัวตัดสินว่าเค้าอยากจะคุยกับเราต่อหรือไม่ สกิลนี้คือการทำให้ภาพลักษณ์ ‘ภายนอก’ เรา ดูดี น่าเชื่อถือ ซึ่งก็คือการจัดการกับ การแต่งตัว รูปร่าง หรือแม้แต่ ทรงผม เพราะ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ความสะอาด และ ความเนี๊ยบ ในการแต่งตัว ส่งผลอย่างยิ่งกับความน่าเชื่อถือ ไม่ว่า ‘สไตล์’ การแต่งตัวของเราจะอินดี้ขนาดไหนก็ตาม

วิธีการฝึกง่ายๆ : ศาสตร์ของ Basic Grooming จริงๆ แล้วมีเยอะมาก แต่เพื่อความง่ายในบทความนี้จะขอเสนอเทคนิค 3 ข้อ ง่ายๆ เอาไว้ใช้ฝึกเช็คก่อนออกจากบ้าน — 1) เช็คสไตล์การแต่งตัว ตอบให้ได้ว่าวันนี้เราไปเจอใคร ทางการ หรือ ไม่ทางการ เค้าคาดหวังที่จะพบเราในลุคไหน และเลือกเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าให้เหมาะสม — 2) เช็คความสะอาด ความเรียบร้อยของการตัดผม การโกนหนวดเครา และความสะอาดของร่างกาย (ในที่นี้หมายถึงกลิ่นตัวด้วยเช่นกัน) — 3) เช็คความ ‘เนี๊ยบ’ สิ่งนี้จะเป็นการบอกความละเอียดและปราณีตของบุคคล เช็คทรงผมและการเซตผม รวมทั้งความเรียบร้อยของเสื้อผ้า (ชายเสื้อ รอยยับ และอื่นๆ)

● สกิลของการสร้างเสน่ห์จากภายใน (Charisma)

หลังจากที่เราจัดการเรียบร้อยกับภายลักษณ์ภายนอกแล้ว เราต้องเตรียมพร้อมกับ ‘Attitude’ หรือ เสน่ห์จากข้างใน ของเราในวันนั้นด้วย สิ่งนี้ส่งผลมากๆ กับความรู้สึกของคนรอบข้างที่ปฏิสัมพันธ์กับเรา เราควรจะต้องทำให้คนที่เราคุยด้วยรู้สึก ‘ได้รับความสำคัญ’ เพื่อให้เค้าจดจำเราได้

วิธีการฝึกง่ายๆ : เทคนิคง่ายๆ คือการสร้าง Mindfulness หรือ ‘สติ’ อยู่ตลอดเวลา ให้เราสามารถจดจ่อและให้ความสำคัญกับคนที่เราคุยด้วยได้ รวมถึงใช้เทคนิคของการ ‘ยิ้ม’ และ ‘การแสดงออกถึงการรับฟัง’ (Active Listening) ให้กับคนที่เราคุยด้วยอยู่เสมอ สกิลนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างเพราะต้องฝึกตั้งแต่ การควบคุมสติ จัดระบบความคิด และ การใช้ Body Language ที่เหมาะสม

3. สกิลการสร้างความไว้วางใจกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน (Skill of Trust)

หลังจากทำให้เค้า ‘เชื่อ’ ว่าเรามีของ และทำให้เค้า ‘จดจำ’ เราได้แล้ว สิ่งต่อไปคือการรักษาความรู้สึกนี้ให้อยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งก็คือการสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ (Trust) กับคนรอบข้างนั่นเอง เพราะสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราสามารถสานปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างยั่งยืน

● สกิล ‘ทุกสิ่งเป็นไปได้’ (Growth Mindset & ‘Can-do’ Attitude)

จากประสบการณ์ของผม สกิลนี้เป็นสกิลที่ส่งผลมากๆ ว่าคนจะไว้ใจเราหรือไม่ในที่ทำงาน เพราะมันคือสกิลของการ ทำให้ทุกคน เชื่อ ว่าเรามีความสามารถพอที่จะทำให้งานต่างๆ ไม่ว่าจะท้าทายแค่ไหนให้เกิดขึ้นได้จริง แต่สกิลนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อตัวเราเองเชื่อก่อนว่ามันทำได้จริง (Growth Mindset) ประโยคที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ จากคนที่ไม่มีสกิลนี้คือ “มันทำไม่ได้หรอก” “ยากไป ไม่เอาหรอก” ประโยคเหล่านี้ไม่ช่วยอะไรเลยนอกจากเป็นการ Discredit ความเชื่อมั่นในตัวเองกับคนรอบข้าง และส่งผลเสียอย่างมากในการสร้างความไว้วางใจในที่ทำงาน

วิธีการฝึกง่ายๆ : Growth Mindset สามารถฝึกง่ายๆ ด้วยการเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และให้ลองเปลี่ยนความคิดว่า ‘ความยากลำบากที่เราเจอ คือ โอกาส ไม่ใช่ ปัญหา’ และฝึกมองว่า ‘Feedback is a gift.’ คำวิจารณ์ไม่ใช่คำติ แต่คือ โอกาสในการพัฒนาตัวเอง ถ้ามองแบบนี้ได้ จะทำให้เรากล้าบอกว่า ‘ทุกสิ่งเป็นไปได้’ มากขึ้น

● สกิล ‘ฉันจัดการได้’ (Self-Leadership)

การบอกว่า ฉันจัดการเรื่องนี้ได้ จะช่วยทำให้คนอื่นมองว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ โดยเฉพาะการเข้าไปทำงานในที่ใหม่ๆ จะยิ่งทำให้เราสร้างความไว้ใจกับหัวหน้างานได้ว่าเราสามารถแก้ปัญหารอบตัวได้อย่างชาญฉลาด สิ่งนี้คือ Self-Leadership และการกล้าลุกขึ้นมาจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตัวของเราเองโดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอก

วิธีการฝึกง่ายๆ : สกิลนี้ฝึกง่ายๆ ด้วยการกล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง อาจจะค่อยๆ เริ่มด้วยการหมั่นลองทำสิ่งที่เราไม่เคยกล้าทำในเรื่องเล็กๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เรามากขึ้น หลังจากเราเริ่มสั่งสม ‘ความกล้า’ ได้ทีละนิด จะทำให้เมื่อเราเจอปัญหาอะไร เราจะ กล้าถาม กล้าขอความช่วยเหลือ และ กล้าลุกขึ้นมาจัดการอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น

● สกิล ‘ใครก็สอนฉันได้’ (Relationship & Emotional Management)

คือการทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเราเป็น ‘แก้วเปล่า’ ที่พร้อมจะได้รับสิ่งใหม่ๆ เสมอ มันคือการยอมลด EGO ของตัวเองลง แล้วใส่หมวกของ ‘Teach me, I’m a newbie’ หรือ ‘ฉันไม่รู้มาก่อนเลย สอนฉันเถอะ’ ให้คนอื่นได้เห็น สกิลนี้ส่งผลมากๆ ในสังคมไทย ที่วัฒนธรรมของความ ‘อาวุโส’ มีผลกับการทำงานในองค์กร เพราะถ้าเราทำได้เราจะสามารถสร้างความ ‘เอ็นดู’ ให้กับคนรอบข้างในช่วงเวลาที่เราพึ่งเข้าไปในบริษัทใหม่ๆ แล้วสิ่งดีๆ ต่างๆ ก็จะวิ่งเข้ามาหาเราได้ด้วยตัวเอง

วิธีการฝึกง่ายๆ : สกิลนี้ฝึกง่ายๆ ด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่า ‘โลกนี้ไม่มีใครที่รู้ไปซะทุกอย่าง’ และ ‘ไม่รู้ ไม่ผิด’ ให้บอกตัวเองไว้เสมอว่า ‘การทำตัวเองให้ไม่รู้ เราจะยิ่งได้รู้เพิ่ม’ แค่นี้เราก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเอง ในช่วงเวลาที่เราพึ่งเข้าไปทำงานใหม่ๆ ได้แล้ว

เป็นอย่างไรบ้างครับกับทั้ง 3 สกิล ที่ได้อ่านมา ถ้าทำได้ทั้งหมดนี้รับรองว่ามันจะช่วยให้ชีวิตของ First Jobber หรือ ชีวิตของคนที่พึ่งเข้าไปทำงานในบริษัทใหม่ๆ นั้น ‘อยู่ง่าย’ ขึ้นอย่างแน่นอน และยังเพิ่มโอกาสดีๆ ที่จะเข้ามาหาเราเยอะขึ้นในชีวิตการทำงานด้วย

ทั้งนี้ ทั้งหมดที่แชร์มา เป็น ‘สกิล’ (Skill) ความหมายของสกิลคือ สกิลต้องฝึก ไม่สามารถแค่ อ่านหนังสือ ฟัง Podcast หรือ แค่อ่านบทความนี้แล้วทำเป็นได้ แต่ต้องลงมือฝึกจริง บทความนี้ทำหน้าที่แค่สร้าง Awareness และให้ Knowledge บางส่วนเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ คือการหยิบเทคนิคเหล่านี้ลองเอาไปใช้จริง อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ

ส่วนถ้าใครอยากจะฝึกสกิลเหล่านี้แบบ Intensive และฝึกอย่างจริงจัง สามารถติดตาม BASE Workplace ไว้ได้เช่นกัน ทีมเราได้ออกแบบสกิลที่จำเป็นในที่ทำงานเหล่านี้ให้อยู่ใน Workshop ทั้ง แบบสั้น และ แบบยาว ที่เน้นการฝึกได้จริงเดี๋ยวนั้น และเอาไปใช้ได้จริงเดี๋ยวนั้นในชื่อของ “Workplace Skills Series” ที่ใช้เวลา 1 วันเต็มในการฝึกจริง และ “Instant Skills Series (ทักษะกึ่งสำเร็จรูป)” ที่ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงในการฝึกสกิลที่ย่อยง่ายให้ติดตัวกลับบ้านไปได้เลย (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ข้างล่างนี้ หรือ FB Page: /BASEWorkplace ได้เลย)

“Workplace Skills Series” Workshop ฝึกสกิล 1 วันเต็ม — by BASE WORKPLACE
“สกิลกึ่งสำเร็จรูป” Workshop ระยะสั้น 2 ชั่วโมง ที่ฝึกได้จริง — by BASE WORKPLACE

BASE Workplace คือ ความตั้งใจของ BASE Playhouse ในการสร้างพื้นที่ฝึกสกิลให้กับคนตั้งแต่ วัยมหาลัย First Jobbers ไปจนถึง วัยทำงาน ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าการฝึกสกิล โดยเฉพาะ ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) นั้นสำคัญต่อการสร้างความสุขในชีวิตการทำงาน และความสำเร็จของแต่ละบุคคล โดยกระบวนการที่เราเชื่อ คือการใช้ Gamification หรือ กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ผ่านเกม ในการทำให้ประสบการณ์เรียนรู้นั้น สนุก ฝึกได้จริง และ มีความหมายต่อการใช้ชีวิต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://corporate.baseplayhouse.co/

--

--

Maytwin P.
BASE Playhouse

Learning Designer, Gamification Designer, Professional Speaker :: CEO & Co-Founder BASE Playhouse, EdTech & HRTech Company in Thailand