Gamification. เปลี่ยนบทจากผู้เล่นมาเป็นผู้สร้าง

Maytwin P.
BASE Playhouse
Published in
2 min readDec 15, 2017

--

( อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การใช้ Gamification ในการเทรนนิ่งองค์กร คลิกที่นี่ )

เราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ของการติดเกมกันทั้งนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านไปเร็วจนเผลอแปปเดียวหมดวันแล้ว และห้วงความรู้สึกที่สนุกจนไม่อยากเลิก เกมเป็นเหมือนหนึ่งอย่างในชีวิตที่เราทุกคนต้องเคยเจอ และเป็นสิ่งที่เรากลับไปสนุกกับมันได้ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ด้วยรูปแบบของการออกแบบที่เน้น “ความสนุก” เป็นหลัก ทำให้เกมเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราหลายๆคนติดกันได้อย่างงอมแงม!

เราทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า Game มาตั้งแต่เด็ก..

แล้ว “Gamification” ล่ะ มันคืออะไร?

Gamification (เกม-มิ-ฟิ-เค-ชัน) คือการหยิบกระบวนการออกแบบเหล่านั้นที่ทำให้ความรู้สึกของผู้ใช้สนุกเหมือนกับการเล่นเกม มาใส่ในบริบทอื่นๆที่ไม่ใช่เกม เพื่อเป้าหมายอื่นๆที่ไม่ใช่แค่ความสนุก พูดง่ายๆคือไม่ใช่เพียง “เล่นเอามันส์” อย่างเดียว แต่คือการ เล่นเอามันส์.. “เพื่อเป้าหมายบางอย่าง” ที่ผู้ออกแบบต้องการ ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายทางธุรกิจ การทำการตลาด หรือแม้กระทั่ง การรณรงค์ในปัญหาสังคมต่างๆ

ถ้าจะมองให้ลึกลงกว่านั้นในมุมของจิตวิทยา gamification คือกระบวนการออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างของ ผู้ใช้ หรือ ผู้เล่น โดยใส่ องค์ประกอบของความสนุก (elements of fun) ลงไปเพื่อสร้างความเป็นเกม โดยศาสตร์ในเชิงจิตวิทยาที่ใช้หลักๆนั้นคือการสร้างแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจในการทำอะไรสักอย่างนั่นเอง (motivational design)

Gamification กับ Game ไม่เหมือนกัน!

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเริ่มคิดว่า Game ต่างๆที่เราเคยเล่นมันก้คือ Gamification นั่นแหละ แต่จริงๆแล้ว Game กับ Gamification ไม่เหมือนกันนะครับ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างโดยหยิบโมเดลของ Sebastian Deterding และทีมงานที่เชี่ยวชาญด้าน UX และ Game design ขึ้นมาเพื่อแยกให้เห็นกันแบบชัดๆ

ในโมเดลนี้ Sebastian บอกว่า การเล่น (Playing) กับ ความเป็นเกม (Gaming) มีความแตกต่างกัน และปริมาณสัดส่วนที่ผสมลงไปในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะแค่ บางส่วน (Parts) หรือ เป็นส่วนผสม ทั้งหมด (Whole) จะเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งนั้นๆ คือ Gamificaition หรือไม่

จากบทความ “From game design elements to gamefulness” — Ref.(2)

จะเห็นว่า Gamification ถูกนิยามให้อยู่บนช่องขวาบน ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างการมี ความเป็นเกม (Gaming) อยู่ บางส่วน (Parts) ในบริบทนั้นๆ เหมือนกับที่ได้เล่าไปในตอนแรก ดังนั้น Gamification คือการออกแบบสิ่งที่ไม่ได้มีเป้าหมายของการเล่นเกมให้มีลักษณะของเกมนั่นเอง .. ส่วนตัว Game เองนั้นอยู่ในช่องซ้ายบน ซึ่งคือ เกมที่เป็นตัวเกมเอง ออกแบบมาเพื่อความสนุก หรือเพื่อตอบเป้าหมายจำลองที่เกิดขึ้นภายในเกมล้วนๆ ซึ่งอาจเรียกว่า “Serious Game” ได้เช่นกัน

ที่เหลือในช่องด้านล่างก็คือ การเล่น (Play) เปล่าๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายใดๆเหมือนเกม ซึ่งเป็นได้ทั้ง ของเล่น (Toys) และ การออกแบบต่างๆให้เป็นสิ่งที่เล่นได้โดยไม่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Playful Design) เช่น การออกแบบเก้าอี้ที่มีลูกเล่นต่างๆให้เล่นสนุกได้ เป็นต้น

Gamification ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

แม้คำว่า Gamification จะเป็นคำใหม่ แต่ในปัจจุบันได้มีการนำศาสตร์ของ Gamification มาใช้ในองค์กรต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น BASE Playhouse โรงเรียนธุรกิจและทักษะในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กมอปลาย ที่ออกแบบการสอนโดยใช้ศาสตร์ของการ “Gamify” (เกม-มิ-ฟายด์) หรือ การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเกม เพื่อสร้างประสบการณ์เรียนรู้แบบใหม่ ที่ทำให้ความรู้ธุรกิจที่ฟังดูยากและน่าเบื่อ กลายเป็นเนื้อหาที่สนุกและสามารถเข้าถึงเด็กได้ง่าย

การใช้ Gamification ใน Business Simulation Game เพื่อสอนธุรกิจให้กับเด็กมอปลาย ของ BASE

หลายคนอาจมอง gamification เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วแม้กระทั่งบางอย่างที่เราใช้อยู่ทุกวันมันก็คือ gamification โดยที่เราไม่เคยรู้ เช่น บัตรสะสมแต้ม หรือ loyalty program ต่างๆที่พยายามสร้างและกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อของของเราให้บ่อยและถี่ขึ้น ผ่านการใช้ “พ้อยท์” (points) หรือ การสะสมแต้มเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ การสร้างเลเวลหรือสถานะของผู้ใช้ เช่น Gold member, Frequent flyer หรือ “แบดจ์”(badge) อีกองค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้บ่อยๆคือ “ลีดเดอร์บอร์ด” (leaderboard) ซึ่งก็คือตารางเปรียบเทียบคะแนนผู้เล่นว่าใครนำอยุ่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันนั่นเอง

แต่ PBLไม่ใช่ทุกอย่าง!

แม้องค์ประกอบของ gamification อาจดูง่ายๆผ่าน “Points-Badge-Leaderboard” (PBL) แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ PBL ไม่ใช่ทั้งหมดของ Gamification สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือการออกแบบ กลไกเบื้องหลังของตัวเกม (game mechanics) โดยใช้ หลักการคิดแบบเกม (game thinking) ที่จะสร้างให้องค์ประกอบทั้งหมดทำงานสอดคล้องกัน แล้วสามารถตรึงผู้ใช้หรือผู้เล่นให้อยุ่หมัดไปแบบยาวๆ สนุกแบบไม่ฉาบฉวย ไม่ใช่แค่เล่นแปปเดียวแล้วเลิก แต่จะออกแบบยังไงให้ “ติด” จนถึงขั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมเค้าให้กลับมาเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ ดังนั้นไม่ใช่แค่มีแต้ม แข่งกันแล้วจบ พูดง่ายๆคือจะทำยังไงให้ระบบที่ออกแบบมานั้นไม่ “กลวง” นั่นเอง

Gamification แม้จะเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศนั้นได้เริ่มใช้คำนี้กันมาเกือบ 10 ปีแล้ว ผมมองว่าประเทศไทยยังมีที่ว่างให้ศาสตร์นี้โตได้อีก และมั่นใจว่ามันจะสามารถสร้างประโยชน์ให้คนไทยได้อีกมาก ถ้าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น และเราหยิบมันมาใช้อย่างถูกต้อง เราอาจจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆของชาติได้อีกไม่น้อย

ใครจะไปรู้ในอนาคตเราอาจจะเห็นการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เหมือนเกมไปหมด เด็กทุกคนติดการเรียนรู้งอมแงม เหมือนติดเกม ก็เป็นได้

คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะเริ่มออกแบบ หรือเราจะ gamify ได้ยังไงบ้าง?
ไว้โอกาสหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ!

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Gamification
Gamification for Corporate Training (การใช้เกมในการเทรนนิ่งองค์กร) คลิกที่นี่

References

(1) “Gamification” Course — Prof. Kevin Werbach , University of Pennsylvania
(2) Sebastian Deterding, Dan Dixon, Rilla Khaled, and Lennart Nacke. 2011. From game design elements to gamefulness: defining “gamification”. In Proceedings of the 15th International Academic MindTrek Conference: Envisioning Future Media Environments (MindTrek ’11). ACM, New York, NY, USA, 9–15. DOI=10.1145/2181037.2181040

--

--

Maytwin P.
BASE Playhouse

Learning Designer, CEO & Co-Founder BASE Playhouse :: Entrepreneur in Gamification, Coaching, and Business.