Critical Thinking Skill — ทักษะแห่งปี ที่คนในองค์กรยุคใหม่ไม่มีไม่ได้

Anand Kulpiyavaja
BASE Playhouse
Published in
5 min readMar 31, 2020

--

Highlights:

  • Critical Thinking Skill กลายเป็น ‘ทักษะที่จำเป็น’ ของทุกคนในปีที่ผ่านมา
    เพราะโลกแห่งข้อมูลต้องการทักษะทั้งในด้านการคิดวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน จนไปถึงการตัดสินใจให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่องค์กรต่าง ๆ หันมาส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะนี้ไว้ติดตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ต้องคิด แก้ปัญหาและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา
  • แม้ว่าผู้คนจะมี Awareness ใน Critical Thinking Skill เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าใจทักษะนี้ได้อย่างถูกต้อง และไม่ได้แปลว่าการเข้าใจจะทำให้ทุกคนมีทักษะนี้ติดตัว
  • องค์ประกอบของ Critical Thinking Skill ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
    การทำความเข้าใจ (Understanding), การวิเคราะห์ (Analysis) และ
    การอนุมาน (Inference) อย่างรอบด้าน โดยในบทความจะเจาะลึกลงไป
    ในรายละเอียดเพื่อสร้างความเข้าใจในทักษะนี้ให้ได้มากที่สุด
  • การมีแค่ความรู้ (Knowledges) นั้นไม่เพียงพอต่อการนำทักษะนี้ไปใช้
    เพราะ Critical Thinking เป็น ‘ทักษะ (skill)’ จึงต้องลงมือ ‘ฝึกฝน (Practice)’ อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปรับมุมมอง (Mindsets) ให้เกิดทักษะนี้ได้อย่าง
    ถูกต้อง บทความนี้จึงรวบรวมวิธีการฝึกและวิธีการคิดไว้เพื่อให้ทุกคนสามารถ
    เริ่มสร้างทักษะนี้ได้ด้วยตนเองเลยทันที

ในช่วงที่ผ่านมา มีคนถามผมเข้ามาเยอะมากเกี่ยวกับทักษะ Critical Thinking อาจจะเพราะผู้คนเริ่มได้ยินและรู้จักกับทักษะนี้มากขึ้น ทาง WEF (The World Economic Forum) เองได้จัดให้ Critical Thinking Skill เป็น 21st Century Skills (ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21) ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ของ Skills ที่จำเป็นใน ค.ศ. 2020 แน่นอนกำหนดเอาไว้ซะขนาดนี้ ทุกคนคงมีโอกาสได้ยินทักษะนี้ผ่านหูกันบ้างไม่มากก็น้อย

Skill-in-need Ranking from World Economic Forum (WEF)

การที่มีคนพูดถึงทักษะนี้ในวงกว้างเป็นเรื่องที่ดีครับ มันทำให้เกิด Awareness จะเห็นได้ว่าหลายองค์กร หลายโรงเรียน หันมาใส่ใจที่จะพัฒนาบุคลากรของตนให้มีทักษะนี้ไว้ และแน่นอนว่ามันก็มีประโยชน์จริงๆในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับข่าวปลอม (Fake news), การคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving), การตัดสินใจ (Decision Making) ไปจนถึงการนำไปประยุกต์กับ Process อีกหลาย ๆ ตัว เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทักษะ Critical Thinking เอง ยังไงก็มีบทบาทกับทุกภาคส่วน เพราะเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราก็มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็คือเพื่อคิด แก้ปัญหา และตัดสินใจในโจทย์ที่ท้าทายพวกเรามากขึ้นทุกวัน

แต่ถึงแม้คนจะได้ยินหรือมี Awareness ใน Critical Thinking Skill มากขึ้น แต่กลับไม่ได้หมายความว่าทุกคนเข้าใจทักษะนี้ได้อย่างถูกต้องนะครับ เหตุผลก็เพราะ Critical Thinking เองนั้นเป็นทักษะแห่งการคิด พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ได้วัดกันที่ Action หรือสิ่งที่แสดงได้ขนาดนั้น พูดอีกอย่างก็คือ ทักษะนี้มีความ Abstract นั่นเองครับ ไม่เชื่อลองไป Search ดูส่วนใหญ่ก็จะได้วิธีการคิดให้เฉียบคม การวิเคราะห์ได้อย่างตรงประเด็น คำถามก็คือ ความคิดที่เฉียบคมนี่ วัดยังไง? หรือจะฝึกยังไง? ไม่เหมือนกับทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ที่แค่พูดออกมาก็รู้ได้เลยครับว่าดีหรือไม่ดี และมีวิธีการฝึกที่ชัดเจน

ย้อนกลับมาที่ต้นบทความนี้ที่เปิดเอาไว้ว่า ‘ในช่วงที่ผ่านมามีคนถามผมเข้ามาเยอะมากเกี่ยวกับทักษะ ‘Critical Thinking’ นั้นก็มาจากการที่คนส่วนใหญ่เริ่มมี Awareness แต่กลับไม่ได้เข้าใจตัวทักษะนี้อย่างเพียงพอ หรือบางคนอาจจะพยายามทำความเข้าใจแล้ว แต่กลับไม่มีแหล่งข้อมูลไหนที่ชัดเจน หรือนิยามทักษะนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาซะที ดังนั้นบทความนี้ผมจะมาอธิบายแง่มุมของ Critical Thinking ให้ครบทุกองค์ประกอบอย่างรอบด้าน และจะพยายามเจาะลึกลงไปในแต่ละองค์ประกอบให้มากที่สุด และแน่นอนรวมไปถึงวิธีการฝึกให้เกิดทักษะนี้ด้วยครับ ถ้าพร้อมกันแล้วเราไปเริ่มกันเลยครับ

Critical Thinking คืออะไร?

ยอมรับเลยว่า คนส่วนใหญ่อยากรู้ที่สุดก็น่าจะคำถามนี้ ก่อนจะไปตอบว่าคืออะไร ขอตอบอีกคำถามหนึ่งที่น่าจะช่วยให้รู้คำตอบของคำถามนี้ง่ายขึ้น

คำถามย่อย: คนที่ไม่มี Critical Thinking จะเป็นคนแบบไหน?

ช่วงนี้ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนักทั่วโลก แค่ไวรัสอย่างเดียวคนทั่วโลกก็กลัวจะแย่อยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี เลยทำให้ความกลัวแพร่กระจายได้เร็วยิ่งขึ้นจากการส่งข่าวสารที่รวดเร็ว ไม่พอแค่นั้นข่าวที่ออกมาในแต่ละวันแทนที่จะเป็นข่าวจริง ๆ มีข้อมูล หลักฐานหรือประกาศจากทางการ แต่กลับกลายเป็นว่าส่วนใหญ่ที่คนส่งกันไปมาเยอะกว่า ดันเป็น ‘ข่าวปลอม’ (Fake News) ซะงั้น และแน่นอนว่ามันแพร่กระจายไวกว่าไวรัส และ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็ช่วยอะไรไม่ได้ด้วยครับ

ลองถามตัวเองกันหน่อยครับว่าเมื่อคุณได้รับ Fake News หรือข่าวปลอม คุณจะทำยังไงกับมัน? ผมมั่นใจว่า ทุกคนคงตอบว่า แน่นอนละข่าวปลอมก็ต้องไม่ส่งต่อ อาจจะบอกกลับแหล่งข่าวด้วยให้หยุดแชร์ หรือทำข่าวสู้ข่าวปลอม ให้คนรู้ว่ามันปลอม แน่นอนเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี และน่าจะได้ผลไม่มากก็น้อย แต่ผมขอยืนยันไว้ตรงนี้เลยครับว่าวิธีที่ทำ ๆ กันนี้ จะเกิดขึ้นและได้ผลจริงๆ ก็ต่อเมื่อ ‘เรารู้ว่ามันเป็น Fake News!’ ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งคุณได้รับข่าวมาแล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็น Fake News คุณเห็นว่าข่าวนี้น่าจะมีประโยชน์ คุณก็เลยแชร์ไว้ก่อน โดยไม่คิดจะลองเช็ค หรือตั้งคำถามกับมัน นี่ละครับ คือการที่เราไม่มี Critical Thinking แต่!!! ถ้าคุณหยุดตอนอ่านข่าว คิดซักนิด ว่าข่าวนี้จริงรึเปล่านะ แหล่งข่าวคือที่ไหน เชื่อถือได้หรือไม่ หลักฐานเพียงพอรึเปล่า แค่นี้ก็ถือว่า คุณมี Critical Thinking แล้วครับ ถึงแม้ว่าตอนจบคุณจะกดแชร์ไป และข่าวนั้นก็เป็น Fake News ก็ตาม

ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าการที่คุณแชร์ Fake News จะถือว่าคุณไม่มี Critical Thinking นะครับ จุดที่บอกว่าคุณมีหรือไม่มี คือตอนที่คุณพยายามที่จะ คิดหาหลักฐานหรือเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจ ตรงนั้นต่างหากที่บอกว่าคุณมี Critical Thinking รึเปล่า

ไม่ใช่แค่กับเรื่อง Fake News นะครับ จริง ๆ ในทุกการคิดการตัดสินใจเลยก็ว่าได้ เช่น คุณอยากจะซื้อคอนโดซักที่ไว้ลงทุน แต่คุณฟังพนักงานขาย ขายข้อดีของคอนโดนี้ แล้วคุณก็คล้อยตาม (คงไม่มีพนักงานขายพูดถึงข้อเสียของคอนโดนี้ถูกไหมครับ) หรือแม้แต่ถ้าคุณคิดจะลงทุนในหุ้น แล้วคุณซื้อหุ้นเพราะเห็นว่ามันกำลังจะขึ้น และมีข่าววงใจบอกมาให้รีบเข้าซื้อ ถ้าคุณตัดสินใจไปในทันที เพราะความรู้สึก อารมณ์ ไม่ได้พยายามจะหาหลักฐานมาสนับสนุน หรือเช็คให้ดีก่อน ก็แปลว่าคุณกำลังขาดทักษะ Critical Thinking ครับ ไม่เกี่ยวกับว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้นหรือลง หรือคอนโดนั้นจะดีมากจริง ๆ

ดังนั้นกลับมาที่คำถามที่ 1 “Critical Thinking คืออะไร?”
จากตัวอย่างก่อนหน้า ผมเลยขอนิยามว่า…

Critical Thinking คือ ความตั้งใจหรือความพยายามที่จะคิดและตัดสินใจในสิ่งต่างๆ โดยอาศัยเหตุผล หลักฐาน หรือข้อสนับสนุน โดยไม่ใช้อารมณ์ ความเชื่อดั้งเดิม ประสบการณ์ และอคติ ในการคิดและการตัดสินใจนั้น เพื่อที่สุดท้ายจะทำให้คำตอบ หรือสิ่งที่เราตัดสินใจ มีโอกาสที่จะถูกต้องมากขึ้นหรือดียิ่งขึ้นนั่นเองครับ

ดังนั้นขอแค่พยายามที่จะคิดทบทวน ก็ทำให้เรามี Critical Thinking แล้วครับ ดังนั้นขอแค่เราใช้ทักษะนี้ ก็ค่อนข้างยืนยันได้เลยครับว่า โอกาสในการตัดสินใจที่ดีขึ้นจะสูงขึ้นแน่นอน

องค์ประกอบของ Critical Thinking มีอะไรบ้าง?

หลักจากเราเข้าใจถึงความหมายของ Critical Thinking กันแล้ว ต่อมาเราจะมาเจาะลึกถึงองค์ประกอบ (Elements) ของทักษะนี้กันครับ จริง ๆ แล้วองค์ประกอบของ Critical Thinking Skills ถ้าจะเรียกให้ถูกควรจะเรียกว่า ทักษะย่อย (Subskills) มากกว่าครับ เพราะทักษะย่อยเหล่านี้ถึงจะเกี่ยวข้องกันและประกอบเป็นการมี Critical Thinking แล้วนั้น แต่มันก็ไม่ได้เป็นกระบวนการ หรือ Process ที่ต้องเอาทุกองค์ประกอบมาทำต่อ ๆ กันครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ มี Subskill ที่ 2 ได้โดยไม่ต้องคิด Subskill 1 ก่อน นั่นเอง โดย Subskills ของ Critical Thinking มีดังนี้

1) การทำความเข้าใจ (Understanding)
2) การวิเคราะห์ (Analysis)
3) การอนุมาน (Inference)

งั้นเดี๋ยวเราไปดูกันทีละทักษะย่อยกันเลยครับผม

ทักษะย่อยที่ 1: การทำความเข้าใจ (Understanding)

[ติดตามลงลึกได้ใน จุดเริ่มต้นของ Critical Thinking คือการพยายาม ‘ทำความเข้าใจ’ เร็ว ๆ นี้]
การทำความเข้าใจเป็นทักษะย่อยแรกที่มีความสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบ และข้อมูลที่จำเป็นต่อการนำไปวิเคราะห์ในขั้นต่อไป จริงแล้ว ๆ มนุษย์เราได้เปรียบกว่าสัตว์อื่น เพราะเราพยายามทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอมาตั้งแต่อดีต และวิธีการที่มนุษย์ใช้ในการทำความเข้าใจ ก็คือ ‘การตั้งคำถาม (Asking Question)’ แน่นอนเพราะว่าการตั้งคำถามช่วยขยายขอบเขตของสิ่งที่มนุษย์เคยคิดว่ารู้จัก และขุดค้นให้เกิดคำตอบที่นำมาซึ่งการค้นพบในหลาย ๆ สิ่งที่มนุษย์เคยสงสัย แน่นอนว่าการตั้งคำถามที่ดีเป็นเรื่องที่คงต้องคุยกันยาว (ผมได้เตรียมไว้ให้แล้วในบทความที่แตกออกจากบทความนี้ เร็ว ๆ นี้)
ผู้อ่านหลายคนคงเคยได้ยินว่า การมี Critical Thinking คือการต้องรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สงสัยใคร่รู้ (Curiosity) ซึ่งผมขอยืนยันไว้ตรงนี้ว่า การตั้งคำถาม เป็นพฤติกรรมที่ดีที่จะนำเราไปสู่การมี Critical Thinking เพราะมันทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เรากำลังคิดจะตัดสินใจนั่นเอง

ทักษะย่อยที่ 2: การวิเคราะห์ (Analysis)

[ติดตามลงลึกได้ใน Critical Thinking การวิเคราะห์และการให้เหตุผลของมนุษย์ เร็ว ๆ นี้]
เมื่อเรามีองค์ประกอบของสิ่งที่เราจะใช้พิจารณาตัดสินใจแล้ว สิ่งต่อมาคือการหาความเชื่อมโยงขององค์ประกอบเหล่านั้นว่าองค์ประกอบเหล่านั้น ถ้าสิ่งหนึ่งเพิ่มขึ้นอีกสิ่งหนึ่งจะเป็นอย่างไร หรือถ้าสิ่งหนึ่งขาดหายไปสิ่งไหนจะโดนผลกระทบบ้าง เราเรียกการเชื่อมโยงที่ว่านี้ว่า การให้เหตุผล (Reasoning) แน่นอนว่าการให้เหตุผลเป็นศาสตร์หนึ่งใน ตรรกศาสตร์ (Logic) (ถ้าจะให้พูดกันก็คงจะยาวเช่นเดียวกันเลยทำเป็นบทความแยกเอาไว้ เร็ว ๆ นี้) ที่อธิบายหลักของการให้เหตุผล และพูดถึงการอ้าง (Arguments) ว่าสมเหตุสมผล (Validity) หรือไม่

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบชัด ๆ หน่อย ก็จะเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง ข้อมูล (Data) และ สารสนเทศ (Information) เช่น ข้อมูลของอายุของผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ทั่วโลก โดยเราจะพบว่าข้อมูล (Data) ในที่นี้ ไม่มีความหมายอะไร เป็นแค่องค์ประกอบย่อยๆ ซ้ำ ๆ กันบ้าง แตกต่างกันบ้าง อาจจะบอกแค่อายุเท่านี้ ๆ มีกี่คน ทีนี้มาถึงขั้นตอนถัดไปคือการเอาข้อมูล (Data) นั้นมาเชื่อมโยง ให้เกิดความหมายเราเรียกการเอาองค์ประกอบของข้อมูลมาเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นความหมายว่า การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) จนได้มาซึ่ง สารสนเทศ (Information) หรือผลจากการวิเคราะห์นั่นเองครับ เช่น จะพบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นวัย 70+ ถึง 30% และ ช่วงวัย 10–40 มีผู้เสียชีวิตอยู่ 7% ของทั้งหมด หรืออาจจะนำว่าวิเคราะห์จนได้ว่า วัย 30 ปีลงมา จะมีอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ เท่ากับ 0.1% จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ก็คือการนำองค์ประกอบต่างๆ ที่อาจจะไม่มีความหมายในตัวเองมาเชื่อมโยง โดยใช้หลักเหตุและผล จนได้ออกมาเป็น ผลการวิเคราะห์ที่มีความหมาย เพื่อให้นำไปใช้ตัดสินใจ (Decision Making) จนไปถึงนำไปปฏิบัติ (Take Action) ต่อได้

ทักษะย่อยที่ 3: การอนุมาน (Inference)

แค่จั่วหัวทักษะย่อยนี้มา หลายคนถึงกับสงสัยว่า ‘การอนุมาน’ (Inference) นี่คืออะไรกันแน่? สมมติคุณกำลังเดินอยู่บนทางเท้าแล้วได้ยินเสียงไซเรนรถพยาบาล ในหัวคุณคิดอะไรครับ แน่นอนว่า คุณต้องคิดว่า แปลว่าน่าจะมีอุบัติเหตุ หรือ มีคนต้องการความช่วยเหลือทางพยาบาลอยู่ข้างหน้าแน่นอน หรือรถพยาบาลคันนี้อาจจะกำลังกลับไปโรงพยาบาล ทั้งที่เราไม่ได้เห็นเลยด้วยซ้ำครับว่าข้างหน้ามีอุบัติเหตุจริง หรือมีโรงพยาบาลอยู่จริงๆ เราเรียกกระบวนการนี้ของสมองว่า การอนุมานครับ
อีกตัวอย่างเช่น ถ้าผมพูดว่า แมว ไม่มีหู สีฟ้า คืออะไร ทุกคนคงจะนึกถึง โดราเอม่อน ขึ้นมาในทันที ถึงแม้ผมจะไม่ได้เปิดรูปโดราเอม่อนขึ้นมา ถูกไหมครับ
ดังนั้นการอนุมานจริง ๆ ก็คือ การประเมินให้เกิดผลลัพธ์จากองค์ประกอบที่มีความหมาย หรือผลจากการวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจ

แต่เดี๋ยวก่อน!! การอนุมาน แค่ให้ได้ถึงผลลัพธ์เพื่อใช้ในการตัดสินใจนะครับ ไม่นับรวมถึงกระบวนการตัดสินใจ ดังนั้นการตอบว่าเป็นโดราเอม่อนเมื่อซักครู่ ถือว่าเรานำผลลัพธ์จากการอนุมานมาตัดสินใจหรือฟันธงว่ามันคือ โดราเอม่อน ไปเรียบร้อยแล้วครับ จริงๆการอนุมาน จบตั้งแต่ความคิดที่ว่า มันน่าจะเป็น ‘โดราเอม่อน’ เกิดขึ้นในหัวแล้ว

ผมจะลองยกตัวอย่างการคิดแบบ Critical Thinking ผ่านตัวอย่างง่ายๆ โดยการใช้ทั้ง 3 ทักษะย่อยให้ลองทำความเข้าใจกัน

สมมติผมกับเพื่อนเล่นใบ้คำกัน โดยโจทย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง สิ่งที่ผมทำก็คือ
ผมถามคำถามเพื่อน เพื่อเก็บข้อมูล (องค์ประกอบ) มาให้เยอะที่สุด [ทักษะย่อยที่ 1: การทำความเข้าใจ] ผมเลยได้ข้อมูลมาดังนี้
1. บินได้ 2. อันตรายต่อคน 3. ตัวเล็กกว่าสุนัข 4. ก่อโรค 5. ไม่ส่งเสียงจากปาก 6. มนุษย์ไม่นำมารับประทาน

จากนั้นผมนำข้อมูลที่ได้มาลองเชื่อมโยงกัน [ทักษะย่อยที่ 2: การวิเคราะห์] (อันตรายต่อคน ก่อโรค) , (บินได้ ตัวเล็กกว่าสุนัข) , มนุษย์ไม่นำมากิน จนผมได้ความเชื่อมโยงของข้อมูลที่คิดว่าจะนำไปอนุมานต่อไป

ผมเลยอนุมานว่า เป็น ยุง หรือแมลงวัน เพราะทั้งคู่ บินได้, อันตรายต่อคน, ตัวเล็กกว่าสุนัข, ก่อโรค, ไม่ส่งเสียงจากปาก และมนุษย์ไม่นำมารับประทาน และ Critical Thinking ของผมก็จบลงตรงนี้ ขั้นตอนต่อไปเป็นการตัดสินใจ (Decision Making) แล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าเรามี Critical Thinking เราจะมีสิ่งที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น และแน่นอนว่า การตัดสินใจของเราก็จะมีโอกาสถูกต้องกว่าตอนเราไม่คิดแบบนี้แน่นอนครับ

ทำยังไงถึงจะเป็นคนที่มี Critical Thinking ?

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า นี่มันโจทย์แค่เล่นทายคำ ของจริงมันไม่ง่ายงี้หน่ะสิ ใช่ครับ ของจริงเวลานำไปใช้ไม่ได้ง่ายอย่างนี้ และอีกอย่างทุกขั้นตอนที่ว่าไปนี้ เกิดขึ้นในแทบเสี้ยววินาที ดังนั้นการจะใช้ให้เชี่ยวชาญ แค่การเข้าใจใน Critical Thinking ว่าคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ยังไม่เพียงพอต่อการจะทำให้ตัวเองมี Critical Thinking ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการที่มันเป็นทักษะ (Skill) จึงมีวิธีเดียวที่จะทำให้เรามีและใช้ทักษะนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญก็คือ การฝึก (Practice) นั่นเองครับ ผมรวบรวมวิธีการฝึกและวิธีคิดไว้ข้างล่างนี้ ไปเริ่มกันเลยครับ

  1. ตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้น ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีนิสัย ‘ช่างสงสัย’ (Curiosity) การตั้งคำถามจะเป็นการฝึกให้ตัวเอง ‘ทำความเข้าใจ’ สิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ฝึกให้เป็นนิสัย จากนั้นจะไม่รู้สึกว่าต้องพยายามเพราะมันจะกลายเป็นธรรมชาติของตัวเราไปครับ และทางที่ดีฝึกตั้งคำถามด้วยการถามคำถามปลายเปิด (Open-end Question) เพราะการถามคำถามปลายเปิดจะนำไปสู่คำตอบที่หลากหลาย เพิ่มองค์ประกอบในการคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้นด้วยครับ
  2. ให้เหตุผลกับสิ่งต่างๆ การให้เหตุผลเป็นทักษะหนึ่งที่ต้องฝึกครับ ถึงแม้จะเรียนตรรกศาสตร์จบทุกกระบวนท่า แต่การนำมาใช้จริงค่อนข้างแตกต่าง การให้เหตุผลที่ดี ต้องทำไปโดยปราศจาก อารมณ์ ทิฐิ อคติ บางคนที่อยากจะฝึกการให้เหตุผล ก็เลยไปหาเกมฝึกทักลับสมอง (Puzzle) เช่น Sudoku Crossword เป็นต้น ถึงแม้เกมเหล่านี้จะไม่ได้ฝึกการให้เหตุผลโดยตรง แต่มันทำได้ให้เราพยายามหาเหตุผลในการคิดเพื่อตัดสินใจว่าจะเติมเลข หรืออักษรอะไรลงไป สุดท้ายสิ่งที่เราได้กลับมาก็คือ ความรวดเร็วในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ นั่นเองครับ
  3. คิดให้เห็นระบบ เริ่มที่จะวางแผน จัดการเวลา วางแผนการทำงาน จัดระเบียบแบบแผนให้กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต หรือคิดให้มีความ Systematic การคิดแบบนี้จะสนับสนุนให้เราคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นครับ เพราะเราจะทำอะไรแบบมีขั้นตอนหรือตรรกะรองรับ เช่น พรุ่งนี้จะตื่นกี่โมงดี ถ้าเรานั่งคิดว่า ต้องทำอะไรบ้างตอนเช้า กี่โมง ใช้เวลาอาบน้ำเท่าไหร่ เดินทางไกลแค่ไหน ใช้เวลาแค่ไหน แล้วลองมาลงแพลนแค่เวลาตื่นนอน จะเห็นว่า แค่การจัดการเวลาก็ฝึกให้เราทั้งตั้งคำถามและเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตกับเวลาของเรา ซึ่งเป็นการฝึกที่ดีมาก ๆ ครับ
  4. หาความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาใส่สมอง การมีความรู้เป็นการเติมข้อมูลให้กับสมองของเรา เมื่อเรามีข้อมูลเยอะ เราก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมโยงและสร้างความหมายให้กับสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นหาเวลาเติมความรู้ใหม่ๆให้สมองกันนะครับ
  5. ไม่นำอารมณ์ อคติ และประสบการณ์ส่วนตัว มาใช้ในคิด เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าข้างตัวเองมากเกินไปครับ อย่าลืม! ต้องหาหลักฐานมาสนับสนุน หรือพยายามหาข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้มาใช้ และคิดไว้เสมอว่า ต้องแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นออกจากกัน และพยายามวิเคราะห์และอนุมานข้อเท็จจริง ส่วนข้อคิดเห็นสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้ แต่ไม่ควรตัดสินใจโดยให้น้ำหนักข้อคิดเห็นมากเกินไป

ถึงแม้โจทย์ที่เราลองทำความเข้าใจใน Critical Thinking ที่ผ่านมาจะเป็นแค่การทายคำ แต่จริง ๆ ถ้าผมเปลี่ยนโจทย์จาก สัตว์ชนิดนี้คืออะไร? เป็น ทำไมยอดขาย 2 เดือนนี้ถึงตก? หรือ อะไรที่ทำให้ตำแหน่งของเราไม่เติบโต? หรือ กับอาชีพแพทย์ อาจจะเจอประมาณว่า คนไข้รายนี้ติดเชื้อที่ปอดจากไวรัสอะไร? หรือ ความผิดปกติทางสมองนี้จะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง? จะเห็นว่าสุดท้ายถึงแม้โจทย์จะเปลี่ยนไปยังไง แต่วิธีการคิดก็ยังคงเดิมครับ แค่เราอาจจะต้องขยันที่จะคิดให้มากขึ้น ถามให้มากขึ้น และวิเคราะห์ให้มากขึ้น สุดท้ายสมองของเราจะพัฒนาไปเอง จนสามารถคิดไปจนถึงตัดสินใจได้อย่างดีเยี่ยมครับ ดังนั้นทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และอนุมานให้เป็นนิสัย ฝึก และให้เวลากับมัน ท้าทายตัวเองด้วยโจทย์ยาก ๆ อยู่เสมอ รับรองว่าจะคิดเก่งขึ้นแน่นอนครับ

สุดท้ายนี้…ผมมั่นใจว่า Critical Thinking Skill ยังจะเป็นทักษะที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการทำงานของบุคลากรทุกคนในองค์กรทั้งในยุคนี้และอนาคต ดังนั้นจึงสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ต้องส่งเสริมให้บุคลากรได้มีทักษะนี้ให้ได้ ผ่านการ Training เพื่อจะได้ให้เกิดกระบวนการให้ความรู้ (Knowledges) และฝึกทักษะ (Skills) ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนมุมมอง (Mindsets) ที่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าองค์กรไหนสนใจอยากฝึกทักษะ Critical Thinking ให้กับบุคลากร ทางเรา BASE Playhouse มีหลักสูตรฝึกอบรมทักษะ Critical Thinking สำหรับบุคลากรในองค์กร ดังนี้

Critical Thinking Course with Gamification for Corporate Training Module — BASE Playhouse
  1. Critical Thinking — For a Better Thinking
    ที่เน้นไปที่การพัฒนาทักษะ Critical Thinking เพื่อใช้ในการคิดเพื่อแก้ปัญหาและตัดสินใจในชีวิตประจำวันได้ดีและเฉียบคมยิ่งขึ้น
  2. Critical Thinking — For Business Decision Making
    ที่จะเน้นไปที่การพัฒนาทักษะ Critical Thinking เพื่อประยุกต์ให้เกิดการคิดวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ เพื่อนำไปแก้ปัญหาและเพื่อประสิทธิภาพการตัดสินในธุรกิจ โดยการใช้ ‘เกมจำลองธุรกิจเสมือนจริง’ (Business Simulation Game) และองค์กรสามารถปรึกษาเพื่อปรับรูปแบบ (Customize) ของเนื้อหาให้ได้ตรงกับรูปแบบธุรกิจหรือความต้องการของแต่ละองค์กรได้ตามต้องการ

โดยทั้งหมดจัดให้อยู่ในรูปแบบของ Gamification Workshop หรือการนำเกมมาประยุกต์ให้เป็น Workshop ที่ ‘สนุก’ และ ‘ฝึกให้เกิดทักษะและมุมมองที่ถูกต้องได้จริง’

หากต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบหรือการใช้เกมการเรียนรู้ในองค์กร
สามารถติดต่อ BASE Playhouse ได้
คลิกที่นี่ หรือ..
Facebook Page
: /BASEPlayhouse
Website: www.baseplayhouse.co , workplace.baseplayhouse.co
Line Official : @BASEPlayhouse (มี @ ด้วย)
Email: connect@baseplayhouse.co
Tel: 08–9202–4370, 08–4070–7607

Reference

  • “The 10 skills you need to thrive in the Fourth Industrial Revolution” — World Economic Forum
  • “Critical Thinking: A Statement of Expert Consensus for Purposes of Educational Assessment and Instruction” — Facione, Peter A.

Author Profile

อานันท์ กุลปิยะวาจา
Content Design & Assessment Director at BASE Playhouse

  • ‘Critical Thinking’ Speaker at BASE Playhouse
  • Academic Instructor & Content Design, Physics Specialization — In Instituion & Universities
  • B.Eng. Mechanical Engineering — Chulalongkorn University
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://corporate.baseplayhouse.co/

--

--

Anand Kulpiyavaja
BASE Playhouse

Learning Designer — Critical Thinking Instructor — Contents & Assessment Director at BASE Playhouse