นวัตกรรมสังคม#7: มุมมองระหว่างสร้างสรรค์

R.Phot
Bookspective
Published in
3 min readOct 11, 2020

ตอนก่อนสุดท้ายมากลั้นใจจัดเต็มกันอีกรอบครับ มาถึงตรงนี้กันได้แล้ว ยังไงก็ต้องไปต่อ มาเริ่มกันเลยครับ (ติดตามอ่านตอนที่ 1–6 และเรื่องราวอื่นๆได้ที่ Bookspective และ Discovery)

หนึ่งในแนวคิดของการสร้างแบบจำลองทางสังคม จะต้องเป็นแนวทางที่เป็นมิตรกับความผิดพลาด

เปิดด้วยหัวข้อที่จี้ใจดำ ระบบบริหารราชการปัจจุบันหรือหลายๆองค์กรไม่ค่อยมีที่ว่างให้ความผิดพลาด ถ้าไม่มีจริงๆกระบวนการทำงานจะต้องมั่นใจและมีการทวนซ้ำอยู่เสมอเพื่อการดำเนินการที่ตรงเป้า หลายต่อหลายโครงการล้มเหลวเพียงเพราะไม่มีที่ว่าให้ความผิดพลาดระหว่างกระบวนการ

การเป็นมิตรกับความผิดพลากของระบบหมายรวมไปถึงเป็นมิตรกับผู้ปฏิบัตรงานที่ผิดพลาดได้ สมมติฐานที่ทุกคนร่วมสงสัยและต้องการคำตอบอย่างใจเย็น เฝ้ารอผลที่เกิดขึ้นอย่างสบายใจไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกแบบระบบการทำงานที่เป็นมิตรขนาดนั้นเพราะทุกกระบวนการต้องใช้ทรัพยากร จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อทดสอบสมมติฐานสำคัญ และความผิดพลาดนั้นก่อประโยชน์สูงสุด

จะมีสักกี่ครั้งกี่คนที่จะยอมทุ่มเททรัพยากรเต็มที่โดยออกแบบงานเพื่อรองรับความผิดพลาดที่ทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น แต่จะออกแบบอย่างไรให้ระบบการทำงานสามารถควบคุมความเสียหายหรือกำหนดทิศทางการผิดพลาดได้อย่างแม่นยำ? ระบบยิ่งมีความซับซ้อนและใหญ่โตยิ่งเอื้อให้เกิดความผิดพลาด แต่ระบบที่ไม่เปิดโอกาสนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้มันถูกเรียกว่า “ผิดพลาด”หรือในอีกทางหนึ่งไม่ทำให้โครงการผิดพลาดเลย แต่ยืดเวลาทำงานออกไปเพื่อให้มีงบประมาณลงมาห่อเลี้ยงอยู่เสมอ

การร่วมออกแบบนวัตกรรมสังคมของโครงการความร่วมมือควรคำนึงถึงจุดที่จะผิดพลาด และการจัดการความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่การประเมินไปจนถึงลงทุนสร้างอะไรบางอย่างเอาไว้ป้องกัน สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ค่านิยมพื้นฐานด้านความผิดพลาดฝังอยู่ในความคิดจนกลายเป็นหวาดระแวงความผิดพลาด โครงการความร่วมมือนั้นจำต้องสื่อสารให้เข้าใจถึง “ความล้มเหลว” ของโครงการที่จะเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆเพื่อป้องกันการเสียกำลังใจ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือ

อะไรคือความสัมพันธ์ของการแสวงหาความมีประสิทธิภาพ และความหมายทางสังคมของการริเริ่มต่างๆ

มีสองเรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่หนึ่งคือ “การแสวงหาความมีประสิทธิภาพ” ในช่วงเริ่มของการพัฒนานวัตกรรมสังคมคงเรียกไม่ได้ว่ามีประสิทธิภาพมากนักเพราะความเป็นนวัตกรมสังคมที่แต่ละปัญหาของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปตามบริบท ทำให้ปัญหานั้นๆมีความเฉพาะเจาะจง เป็นของใหม่ที่ไม่มีใครเคยลอง ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงก็ต้องมาเริ่มใหม่เช่นเดียวกัน

ฉะนั้นการแสวงหาความมีประสิทธิภาพนี้ย่อมเป็นไปตามกระบวนการพัฒนาทั่วไปนั่นคือการระบุปัญหา ค้นหาความเป็นไปได้เพื่อแก้ไข ออกแบบงาน ก่อนจะทดลองปฏิบัติ การแสวงหาประสิทธิภาพจะเริ่มต้นเมื่อได้ทดลองใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมสังคมที่ร่วมสร้างไปแล้วเท่านั้น

ส่วนที่สองคือ “ความหมายทางสังคมของการริเริ่ม” อย่างที่ได้เรียนไปแล้วในตอนก่อนหน้าถึงเรื่องการสื่อสารความหมายต่อสังคม หรือการสื่อความหมายที่สังคมรับรู้และเข้าใจได้ต่อตัวงานที่กำลังพัฒนาเพื่อให้งานนั้นมีนิเวศน์การรับรู้ของชุมชนรองรับอยู่ให้ดำเนินงานต่อไปได้

สิ่งที่อยู่ระหว่างประสิทธิภาพและความหมายทางสังคม อาจมีบริบทจำเพาะเจาะจงซึ่งผู้มีส่วนในการพัฒนาต้องระบุให้ได้ เช่น สื่อความหมายกับชุมชนว่างานนี้จะลดปัญหาลง แน่นอนว่าชุมชนจ้องถามกลับถึงประสิทธิภาพของการลดปัญหาว่ามากน้อยแค่ไหนในช่วงเวลาหนึ่ง หรือสื่อสารกับชุมชนว่าโครงการใหม่จะส่งเสริมให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบาย เช่นกันประสิทธิภาพของโครงการสามารถรองรับการทำงานขนาดใหญ่ได้หรือไม่ เป็นต้น

หากเล่าเป็นภาษาของนักพัฒนาสินค้าให้กับลูกค้าคงต้องถามว่าจะส่งมอบคุณค่าอะไร(ความหมายที่ลูกค้ารับรู้เข้าใจได้) และคุณค่านั้นมีศักยภพทำงานแค่ไหน(แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหนต่อช่วงเวลา)

เมื่อไหร่ที่โครงการริเริ่ม ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย จะเกิดเป็นวิวัฒนาการให้อยู่รอดจนกลายเป็นคำตอบของโครงการที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ดูเหมือนข้อความข้างต้นนี้จะยังไม่ครอบคลุมเงื่อนไขสำคัญ นั่นคือการส่งเสริมและเอาใจใส่อย่างเต็มที่ร่วมด้วย เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะทำให้นึกถึงโครงการ OTOP ของไทยซึ่งเกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด แต่ทว่าไม่ได้มีการต่อยอดส่งเสริมโดยเฉพาะการถอดบทเรียนมากเพียงพอจะสรุปได้ว่า พื้นที่ไหนประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จเพราะเงื่อนไขใด

ตัวอย่างเช่นสินค้าท้องถิ่นจำนวนมากที่สามารถเปิดตลาดในต่างประเทศเป็นของดีสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ส่งเสริมได้ไม่ไกลนัก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หากมีการถอดบทเรียนกันอย่างจริงจังแล้วอาจพบว่าสินค้าบางชนิดเติบโตได้เพราะมีคนรู้จักอยู่ต่างประเทศ หรือสร้างตัวตนขึ้นมาได้เพราะมีนักออกแบบช่วยเหลือ หรือผลักดันได้เพราะคนในชุมชนเข้มแข็งฯลฯ

เนื่องเพราะบทเรียนเหล่านี้มีความสำคัญที่จะสะท้อนให้กับกลุ่มโครงการอื่นๆหรือโครงการลักษณะเดียวกันให้สามารถนำไปเป็นแนวทางได้ โดยเฉพาะเครือข่ายที่ตื่นตัวและประสานงานกันตลอดเวลาถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ ยิ่งให้ความสำคัญแบบเดียวกับบริษัทใหญ่ต้องประชุมวิสัยทัศน์กันทุกไตรมาสยิ่งทำให้ภาพการพัฒนาชัดเจนยิ่งขึ้น

ด้วยบริบทหลายด้านของสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้ที่มีศักยภาพเพียงจะพอยึดโยงเครือข่ายที่เข้มแข็งเข้าไว้ด้วยกันคงเหลือเพียงตัวุชมชนเข้มแข็งนั้นเพียงอย่างเดียว ความหวังที่จะฝากการดูแลเอาใจใส่ควรลดลงไปแล้วหันมาผลักดันกันเองมากขึ้น เนื่องเพราะบทเรียนหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การเข้มแข็งได้ด้วยตนเองยั่งยืนที่สุด

การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการค้นหาคำตอบของผลิตภัณฑ์และบริการ

แนวคิดการพัฒนาที่ “หน้างาน” เป็นที่ยอมรับแล้วว่าได้ผลเสมอ เพราะการนั่งขบคิดกันหัวระเบิดอยู่ในห้องก็ไม่เท่ากับการออกไปนั่งคิดอยู่พื้นที่เป้าหมายจริงๆ สิ่งแวดล้อมที่เื้อต่อการค้นหาคำตอบอาจเป็นมากกว่าการจัดสถานที่พูดคุย แต่หมายรวมถึงการตั้งขอบเขตในการคิด การหาผู้เกี่ยวข้องมาสอบถาม และแขนขาอีกมากมายที่จะยื่นออกมาเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น

แต่การจะเดินดุ่มเข้าไปในพื้นที่ไม่ว่าด้วยสถานะทางสังคมใดก็ตามแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีพอจะช่วยให้คำตอบที่ต้องการออกมาจากพื้นที่ สิ่งแวดล้อมในที่นี้หมายความได้ทั้งสิ่งแวดล้อมทางเวลา (โอกาสและจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าหา หรือสร้างกิจกรรมหารือ) และเชิงพื้นที่ (ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเชิงสัญลักษณ์และการสื่อความหมายโดยตรง เช่น การเลือกพื้นที่ที่คนในพื้นที่จะให้ความเคารพหรือความสำคัญ หรือจริงใจมากเพียงพอที่จะยอมบอกเล่าข้อมูลที่สำคัญ

ในส่วนของการ “สร้าง” สิ่งแวดล้อมนั้น ในมุมมองของผมอยู่ที่ความพร้อมของกระบวนการทำงาน ซึ่งหากความพร้อมเอื้อให้เกิดการพูดคุยขึ้นได้ นั่นคือจังหวะเวลาที่พร้อมที่สุดแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการออกแบบขององค์กรประสานความร่วมมือ คือคำตอบที่หลากหลาย เครื่องมือ แนวคิดที่ถูกระดมออกมาใช้เป็นจำนวนมาก จำต้องถอดออกมาเป็นองค์ประกอบของคำตอบ

การรวมตัวกันของกลุ่มคนหรือกลุ่มองค์กรที่เข้าร่วมสร้างนวัตกรรมสังคมมักจะมีมุมมองความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาที่กำลังต้องการพัฒนาแตกต่างออกไปตามทัศนคติและตามความเชี่ยวชาญในสายงานของตนเอง ความคิดเห็นหลากหลายที่เกิดขึ้นควรที่จะมีคนกลางหรือผู้รับหน้าที่รวบรวมข้อคิดเห็น คัดแยก สังเคราะห์ออกมาเป็นแง่มุมต่างๆของปัญหาให้เป็นภาพเดียว

กระบวนการนี้ถือว่าสำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนานวัตกรรม อันที่จริงสำคัญกับทุกระบวนการพัฒนาปัญหาทางสังคม เนื่องเพราะมุมมองที่แตกต่างกัน หมายความว่ามีมุมมองที่สามารถมองหรือรับรู้ได้จากอีกด้านหนึ่งของปัญหา เมื่อได้รับการถ่ายทอดออกมาสู่ที่ประชุมหรือพื้นที่สาธารณะมากเพียงพอที่คนจะรับฟัง สิ่งนั้นถือว่าเป็นแง่มุมของปัญหาไปโดยปริยาย และไม่สามารถมองข้ามได้แม้ว่าทางออกในท้ายที่สุดจะยังไม่เข้าไปกระทบหรือแก้ปัญหาในแง่มุมมนั้นก็ตาม

ขอยกตัวอย่างเพื่อขยายความ หากมีโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรมสังคมในพื้นที่ ผู้เกี่ยวข้องด้านเทคนิคให้ความเห็นด้านการซ่อมบำรุง(1) ผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาวิจัยปัญหามีความเห็นด้านความละเอียดอ่อนของการวัด(2) ผู้คนในชุมชนเป้าหมายมีความเห็นถึงฤดูกาลที่อาจมีผลกระทบ(3) ผู้สนับสนุนทุนให้มีความเห็นด้านการสื่อสาร(4) ฯลฯ และอื่นๆอีกมาก

ประเด็น1234… และอื่นๆที่เกิดขึ้นในการพูดคุย จำต้องได้รับการประกอบเป็นภาพรวมของโครงการ แต่ละประเด็นอาจเป็นทั้งปัญหา หรือเป็นอาการของปัญหาอื่นที่มีผลกระทบต่อตัวงานที่กำลังดำเนินการฯลฯ ยิ่งมีแง่มุมของปัญหาหรือตัวงานชัดเจนมากเท่าไหร่ ผลกระทบด้านดีหรือผลสำเร็จของตัวโครงการยิ่งเป็นไปได้มากเท่านั้น

ตัวอย่างองค์ประกอบของ คำตอบ(เพื่อสร้างนวัตกรรมสังคม)

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างจากหนังสือพัฒนานวัตกรรมสังคม เรื่องคำตอบ ที่จะนำไปสู่การประกอบภาพของการดำเนินงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น

Digital Platform

หนึ่งในเครื่องมือที่กำลังได้รับความนิยมใช้เป็นเครื่องมือในปัจจุบันคือ แพลตฟอร์ม โดยศักยภาพคือการเป็นตัวหลางหรือพื้นที่กลางในโลกดิจิทัลให้ผู้คนสามารถสื่อสาร ดำเนินการ ส่งมอบคุณค่า และเก็บบันทึกการดำเนินงานได้หลากรูปแบบ ศักยภาพที่สุงของระบบ(ตามความสามารถของผู้ออกแบบ) สามารถสร้างการรับรู้ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ความสามารถในการสื่อสารและดึงข้อความคิดเห็นจากผู้คน รวมถึงขอความร่วมมือในการเคลื่อนไหวได้ กระนั้นก็ตามความเป็นเครื่องมือที่อยู่ในโลกออนไลน์ระดับความน่าเชื่อถือของโครงการจะต่างไปจากการทำงานหน้างานจริงๆ หากไม่มีการแสดงตัวตนหรือสร้างความเคลื่อนไหวที่น่าเชื่อถือ การสร้างความวุ่นวายหรือการไม่ใส่ใจให้ความสำคัญต่อระบบที่ไม่รับรู้ถึงตัวตนก็อาจก่อความยากลำบากต่องานได้

การเลือกใช้แพลตฟอร์มนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาให้ดีถึง “กลุ่มเป้าหมาย” เนื่องเพราะการใช้แพลตฟอร์มมีต้นทุนแฝงมากเชช่นเดียวกันแม้จะไม่เห็นชัดเป็นตัวเงินแต่อาจเป็นความเชี่ยวชาญหรือระยะเวลาการประชุมวางแผน และลงมือจัดการกับข้อมูลที่เกิดขึ้น และหากข้อมูลที่เกิดขึ้นไม่ตรงตามเป้าประสงค์เท่ากับว่าการหาข้อมูลในครั้งนั้นเปล่าประโยชน์

พื้นที่ยืดหยุ่น

เมื่อพื้นโลกดิจิทัลไม่สามารถจับต้องได้และตอบสนองความต้องการรวมตัวจริงของผู้คน หรือสามารถกระตุ้นความต้องการลงมือทำได้มากเพียงพอแล้ว พื้นที่จริงที่ยืดหยุ่นคือคำตอบของการการเริ่มนวัตกรรมสังคมที่แท้จริง

พื้นที่ที่เปิดกว้างและเป็นมิตรในหัวข้อที่ได้กล่าวไปแล้ว(ตอนที่7)อาจไม่ได้มีศักยภาพมากเพียงพอจะยืดหยุ่น ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือมีศักยภาพสูงในการรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นที่ซึ่งเปิดโอกาส เปิดสมอง เปิดความคิดแบบไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับการทดสอบสมมติฐานในพื้นที่ ข้อเสียคือความยากตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้จริงทั้งทรัพยากรคน ผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณปรับแต่งพื้นที่

ในทางกลับกันหากมองสิ่งใกล้ตัวก็กลายเป็นเรื่องง่าย พื้นที่ยืดหยุ่นอาจเป็นพื้นที่ใกล้ตัวหรือในความดูแลของผู้ที่ยินดียินยอมที่จะให้ใช้สถานที่เป็นพื้นที่พัฒนานวัตกรรมสังคม (ภายใต้ความยืดหยุ่นนั้นแต่ก็อยู่ภายใต้ทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นที่รู้กันในวงของคนรู้จักหรือคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น)

พื้นที่ที่รับรู้โดยทั่วกันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผุ้คนจะรู้จักหรือรู้ว่าโครงการความร่วมมือนวัตกรรมสังคมนั้นอยู่ที่ไหน เปรียบได้กับโรงพยาบาลที่เราจะรับรู้เป็นพื้นฐานว่าเราจะไปหาความช่วยเหลือได้ที่ไหน

บริการโลจิสติก

ระบบขนส่งมีคุณค่าเรื่องการนำสิ่งหนึ่งไปส่งอีกที่หนึ่งเหมาะสมหรับการส่งมอบคุณค่าที่มากกว่าโลกออนไลน์ ส่งมอบของที่จับต้องได้และคุณค่าด้านความรวดเร็ว เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และแพร่กระจายให้หลายพื้นที่ได้กว้างขวางในคราวเดียว รวมไปถึงการเข้าถึงพื้นที่แล้วเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่หรือบริบทของปัญหาหน้างานกลับมาได้อีกด้วย

เมื่อระบบการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น(สั่งกิ๊บหนีบผ้าชิ้นเดียวก็ได้) นวัตกรรมสังคมหรือบริการเพื่อสังคมหลายองค์กรในโลกเลือกใช้ศักยภาพของเครื่องมือนี้ในการส่งมอบคุณค่า เพื่อแก้ปัญหาหรือประเด็นทางสังคม เช่น บริการขนส่งอาหารเพื่อคนยากไร้ บริการขนส่งเลือดเพื่อโรงพยาบาลห่างไกล การขนส่งเครื่องมือสื่อสารสำหรับการศึกษา การขนส่งผู้ป่วยหรือยาสำหรับผู้สูงอายุฯลฯ

อย่างไรก็ตามเมื่อการจะลงทุนลงแรงไปกับระบบนี้ต้องแน่ใจว่าระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้สามารถตอบโจทย์หรือแก้ประเด็นปัญหาของโครงการความร่วมมือได้ หลายต่อหลายโครงการหรือแนวคิดที่ตั้งต้นด้วยการใช้เครื่องมือก่อนพิจารณาปัญหาให้ถี่ถ้วนต้องหยุดชะงักไปเมื่อต้องเผชิญกับการจัดการแฝงของระบบ

สำนักงานตัวแทนประชาชน

ชื่ออาจฟังดูคล้ายสำนักงานทนายหรือสำนักงานพรรคการเมืองประจำท้องถิ่น หน้าที่หลักของสำนักงานตัวแทนประชาชนทำหน้าที่คล้ายกัน เพราะปัญหาระดับโครงสร้างมักไม่ค่อยรับฟังการร้องเรียนเล็กๆน้อย เพราะคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เดือดร้อน ตัวแทนที่ทำหน้าที่ตามขั้นตอนและมีเสียงที่ดังกว่าจึงเป็นคำตอบอย่างหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมสังคม

เราอาจติดภาพเรื่องการชุมนุมประท้วงหรือการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง นั่นเพราะระบบปฏิบัติงานราชการของไทยเรายังไม่อาจตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่แปลกที่คนหลายกลุ่มจะเลิกสนใจขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนและกินเวลานานแล้วหันเลือกวิธีเผชิญหน้าเพื่อกดดัน

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อการสื่อสารรวดเร็วและแผ่วงกว้างได้ ดึงดูดให้คนที่คิดเหมือนกันเข้าหากัน ท้ายี่สุดเมื่อความต้องการเปลี่ยนแปลงมากเพียงพอการรวมตัวในโลกจริงจึงเกิดขึ้น สำนักงานตัวแทนประชาชนในที่นี้อาจหมายถึงการรวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะส่งเสียงให้ดังขึ้น ไปจนถึงการก่อตั้งองค์กรที่มีสำนักงานจริงๆ

คุณลักษณะที่สำคัญของการเป็นตัวแทนของปัญหานั้น คือการรับฟังอย่างเข้าปัญหาและอาการของปัญหาให้ท่องแท้ หลายปัญหาที่แม้จะแก้ไขต้นเหตุได้แต่ออาการของปัญหาหรือผลกระทบยังคงอยู่ เช่นปัญหาฝุ่นควัน ที่แม้จะงดการเผาแต่ฝุ่นที่อยู่ในอากาศอยู่แล้วยังคงส่งผลกระทบ จึงต้องมีมาตรการรับมือด้วย เป็นต้น เมื่อรับฟังแล้วยังต้องมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหา มีผู้เชี่ยวชาญและกลยุทธ์การทำงานที่ชาญฉลาด และเฉลียวฉลาดอีกด้วย

อีกคุณลักษณะหนึ่งคือการสื่อสารที่เห็นผลจริง เพราะคงไม่มีใครอยากเข้าไปปรึกษาปัญหาแล้ว เงียบอย่างที่ราชการเป็น ความคาดหวังอย่างหนึ่งของการปฏิบัติงานคือได้เห็นความคืบหน้า หรือเห็นการป่าวประกาศ สื่อสารให้ใครหลายๆคนได้รับรู้ การบอกว่าฉันตรงตรงนี้และกำลังประสบปัญหา ช่วยกระตุ้นความหวังและความต้องการแก้ปัญหาของใครหลายๆคนที่ยังนิ่งเฉยให้ลุกขึ้นมาถามหาความร่วมมือได้

และย้ำอีกครั้งว่ารูปแบบการเป็นตัวแทนลักษณะนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะจูงใจให้ผู้คนรับรู้ว่ามีคนสนใจที่จะฟังปัญหา มีคนที่รับฟังและสร้างความเชื่อมมั่นแล้วว่าจะส่งต่อและส่งเสียงปัญฆาของพวกเขาให้ดังยิ่งขึ้น

บริการสารสนเทศน์

ปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังพัฒนามานานแสนนานคือการจัดการองค์ความรู้ เราไม่เคยได้รับการปลูกฝังว่าหากต้องการรู้เรื่องราว/ข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องสืบค้นที่ใด เราอาจติดปากว่าให้ค้นหาในกูเกิ้ลแต่ทว่าข้อมูลมหาศาลตั้งแต่ผลงานน้องอนุบาล รายงานนักเรียนประถมไปจนถึงงานวิจัยระดับชาติก็ใช้ชื่อหัวข้อเดียวกัน แล้วเราก็ต้องใช้เวลากับการค้นหานานขึ้นไปอีกเท่าตัว

เมื่อเราไม่มีศูนย์รวมข้อมูลอันเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน ประกอบกับการใช้งานที่ใช้อะไรก็ได้เพื่อพิมพ์แล้วส่งงาน จึงแทบไม่มีใครให้ความสำคัญต่อประเด็นการรับรู้เรื่องนี้มากนัก ถูกละเลยและถูกมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง

สถานการณ์ที่พบโดยทั่วไปคือเมื่อประชาชนประสบกับปัญหาต้องการร้องเรียนหรือต้องการส่งเสียงว่าพวกเขากำลังได้รับผลกระทบ อีกด้านหนึ่งคือมีแนวคิดการแก้ปัญหาระดับโครงสร้างต้องการพัฒนาด้วยตน พวกเขาจะต้องค้นหาข้อมูลหรือได้รับรายละเอียดสำหรับประกอบการทำงานได้ที่ไหน???

แม้ในระบบการศึกษาเองยังไม่สามารถระบุได้ว่าหากต้องการสร้างเครื่องอบข้าวขนาดเล็กสำหรับชุมชน สูตรการหมักปุ๋ย การระบายน้ำในเมือง การสร้างพื้นที่สาธารณะ หรือข้อมูลรายละเอียดด้านเทคนิค จะต้องไปสืบค้นข้อมูลที่ไหน ข้อมูลที่ได้มาเชื่อถือได้หรือไม่ ใครเป็นผู้ยืนยันว่าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้??

การสร้างบริการสารสนเทศน์จึงเป็นคำตอบอย่างหนึ่งหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการส่งเสริมให้นวัตกรรมสังคมเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์ครบถ้วยเพราะสามารถส่งต่อไป ถอดบทเรียนได้ และผู้คนหรืออย่างน้อยก็ผู้เกี่ยวข้องกับตัวงานรับรู้ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้ที่ไหน จะรับรู้ เรียนรู้ได้ที่ไหน

อย่างที่ได้เรียนไปแล้วก่อนหน้านี้หากชุมชนหนึ่งๆมีความต้องการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหลายภาคส่วนแต่ทว่าการสืบค้นหาข้อมูลกรณีศึกษาอ้างอิงเป็นเรื่องยากเสียจนไม่สามารถดำเนินงานต่อไป ถือว่าการไม่มีระบบบริการสารสนเทศน์นั้นได้สร้างผลกระทบในทางลบต่อสังคม คือ ชะลอการพัฒนาออกไปเป็นเวลานานอย่างน้อยที่สุดคือ 1 ปี(เพราะงบประมาณและการดำเนินงานเป็นรอบปี) และคุณประโยชน์ก็ช้าออกไปอีก 1 ปี

เครื่องมือ และวิธีร่วมออกแบบ

คำตอบหรือเครื่องมือการออกแบบนวัตกรรมสังคมเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังมองหาและกำลังลองผิดลองถูกกันอยู่ในเวลานี้ มีการทดลองและถอดบทเรียนจำนวนมาก กรณีศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่ากรณีตัวอย่างนั้นจะลงเอยด้วยผลสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร การมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนก็เป็นคำตอบเสมอ

แต่ทว่าเป็นความย้อนแย้งกันในตัวเองอยู่แล้วเมื่อนวัตกรรมสังคมเฉพาะพื้นที่เฉพาะปัญหาเป็นของใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครแก้มาก่อนและมีบทเรียนมาก่อน อย่างมากคือกรณีที่เงื่อนไขบางอย่างใกล้เคียงกันแต่ท้ายที่สุดผู้ปฏิบัติงานร่วมออกแบบก็ต่างกันอยู่ดี ฉะนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้แนวทางการทำงานเดียวกัน

กระนั้นก็ตามมีข้อยกเว้นที่รู้กันว่าสามารถใช้ “เครื่องมือ” ในกระบวนการย่อยได้เช่นกัน แต่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างถ่ถ้วนแล้วว่าการเลือกใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งในสถานการณ์ตรงหน้าจะได้ผลอย่างที่ต้องการและไม่เกิดการสะท้อนกลับที่ไม่พึงประสงค์ หรือแย่ที่สุดก็เกิดความล้มเหลวที่รู้ทิศทางและควบคุมได้

แนวทางพื้นฐานอย่างหนึ่งซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นคำตอบของการประสานความร่วมมือไปในตัวนั่นคือการ มอบเครื่องมือหรือวิธีการ ที่จะร่วมดำเนินการไปด้วยกัน ความหลากหลายของประสบการณ์เป็นทั้งปัจจัยเพิ่มแรงเสียดทานของการทำงานซึ่งสร้างความไม่พอใจหรือข้อพิพาทที่ต้องสะสางได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นพาหนะพุ่งยานผ่านปัญหารายทางได้เช่นเดียวกัน

เครื่องมือและวิธีการอาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งของที่จับต้องได้ แต่สามารถเป็นแนวคิด วิธีการประชุม รูปแบบการถ่ายทอด ลำดับการทำงานฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางการให้เครื่องมือที่ค่อนข้างยั่งยืนถาวรกว่าการให้สิ่งของ เพราะเมื่อผู้คนรู้จักใช้วิธีการประวานงานหรือทำงานที่มีประสิทธิภาพพวกเขาอาจประยุกต์ไปใช้กับเรื่องอื่นๆได้

ส่วนสำคัญของกระบวนการมอบเครื่องมือวิะ๊การทำงานคือความเข้าใจต่อปัญหาและความเข้าใจต่อศักยภาพข้อจำกัดของเครื่องมือที่มอบให้ ไปจนถึงรูปแบบและวิธีารส่งมอบที่ชัดเจนและติดตามผลได้ เพราะคงไม่ต้องยกตัวอย่างมากมายที่เครื่องมือไฮเทคดูดีมีราคาและประสิทธิภาพสูงตอนส่งมอบ ต้องกองอยู่ในห้องเก็บของฝุ่นจับเพราะผู้รับมอบใช้งานไม่เป็นหรือบำรุงรักษาไม่ถูกวิธี

โครงสร้างการทำงานที่เอื้อให้เกิดการสร้างคำตอบใหม่ ที่มีนิสัยสำคัญมากเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนองค์กร

คำว่านิสัยสำคัญ อาจฟังไม่คุ้นหูหากแต่เรียกได้อีกชื่อว่า “วัฒนธรรมองค์กร” คงใกล้ตัวขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง หรือนโยบายการทำงานก็ตามแต่ ทุกวันนี้บทเรียนการออกแบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการใช้ศักยภาพได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น สังเกตได้จากหนังสือและสื่อออนไลน์ที่กล่าวถึงการจัดสถานที่ทำงานเพื่อดึงศักยภาพความสร้างสรรค์ออกมา หนึ่งในชื่อที่ได้รับการยกตัวอย่างมากที่สุดคือ กูเกิ้ล

การปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ไม่เคยเป็นงานที่ง่ายเพราะการสร้างงานที่มีคุณค่าออกมาได้ย่อมผ่านกระบวนการปรับปรุงงานมาจนเข้าสู่สภาวะคงที่การเปลี่ยนแปลงใดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานโดยรวมทั้งหมด แต่เป็นข้อดีของโครงการความร่วมมือสร้างนวัตกรรมสังคมที่ต้องสร้างใหม่ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะหยิบยกบทเรียนด้านโครงสร้างการทำงานมาออกแบบการทำงานนวัตกรรมสังคม

ส่วนใหญ่แล้วผมจะเริ่มที่คำถามสำคัญอย่าง “งานนี้ต้องการอะไร” “ให้มีความสำเร็จอย่างไร/หวังผลแบบไหน” ก่อนจะตามด้วย “งานพัฒนานี้มีคุณลักษณะอย่างไร” คำถามเหล่านี้ต้องตอบให้ชัดเจนเสียก่อนจะเริ่มออกแบบการทำงานซึ่งก็คือความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น

และที่ต้องย้ำถึงคุณลักษณะของโครงการเนื่องจากลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละโครงการจะเป็นตัวบ่งบอกความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มทุนอาจต้องการมีบทบาทเฉพาะการเข้าฟังรายงานผลอละเซ็นมอบทุน พร้อมคำประกาศชื่อ กลุ่มปฏิบัติงานต้องการรูปแบบการเบิกงบประมาณที่รวดเร็ว กลุ่มสื่อสารอาจต้องการผลงานหรือความคืบหน้าที่ป่าวประกาศได้ฯลฯ ความต้องการวางตัวเหล่านี้เป้นส่วนหนึ่งที่นักออกแบบต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา แม่จะเป็นโครงการระยะสั้นก็ตาม

ความแตกต่างของแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมของแต่ละฝ่ายจำเป็นจะต้องได้รับการอภิปราย

ต่อเนื่องจากหัวข้อด้านบนคือ ความประสงค์หรือแรงจูงใจที่จะร่วมงานแต่ละฝ่ายมีอิทธิพลสำคัญต่อบรรยากาศการทำงานขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่การพูดคุย เพราะแต่ละฝ่ายมีแรงจูงใจเพื่อเข้าร่วมงานต่างกะนออกไป มีมิติทับซ้อนกันอาจถึงขั้นผลประโยชน์ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบการของานในส่วนที่ต้องการและปัดงานในส่วนที่ไม่ต้องการ

ดูจะเป็นเรื่องเสียมารยาทและน่าเกลียดในสังคมไทยที่จะบอกกันตรงๆว่า “ผมมาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะอะไร” แบบเปิดอกกันจริงๆ หรือเพียงแค่พูดในนามองค์กรผู้ที่ต้องรับกรรมกคือผู้บริหาร แต่กลับเป็นเรื่องปกติในอีกซีกโลกหนึ่งซึ่งบอกได้ตรงๆว่างานนี้ฉันต้องการสิ่งใด เข้าร่วมเพราะอะไรและจะทำงานส่วนไหน

เปรียบเปรยเป็นเกมกีฬาอย่างวอลเลย์บอลหรือฟุตบอลการแบ่งตำแหน่งหน้าที่ที่ทุกคนในทีมรู้ว่าใครทำหน้าที่อะไรย่อมทำให้กระบวนการทำงานราบรื่นหรือสอดรับกันได้ แต่ทว่าในโครงการความร่วมมือกับไม่ค่อยพบการ “อภิปราย” โดยตรงกันอย่างนี้ จึงเป็นผลให้เมื่อเริ่มดำเนินงานไปแล้วการซ้อนทับกัยของตัวงานนำไปสู่ข้อสงสัยว่าจริงๆแล้วงานนี้ใครต้องรับผิดชอบ

เพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาข้อพิพาทเรื่องขอบเขตของงาน การอภิปรายด้านแรงจูงใจควรเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็มีการออกแบบที่ชี้นำให้เกิดการแบ่งปันแรงจูงใจที่มาเข้าร่วมงานนี้ไม่ว่ามันจะฟังดูแล้วไม่มีความจำเป็นต่องานก็ตาม และย้ำอีกครั้งว่าด้วยเรื่องนี้มีความเปราะบางพอสมควร ผู้ที่เป็นกลางหรือได้รับการยอมรับมากเพียงพอจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนกระจ่างแจ้งว่าการชี้แจงแบ่งปันแรงจูงใจต่องานในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเป้าประสงค์หลักของงานคือ นวัตกรรมสังคมที่ได้ผลจริง

การทำงานใน 2 ระดับ

งานสำหรับโครงการความร่วมมือนวัตกรรมสังคมมี 2 ส่วนใหญ่ๆที่ต้องดำเนินงาน หนึ่งคือการประสานงานการทำงานร่วมกับกับคนหลายภาคส่วนก่อร่างเป็นโครงสร้างเพื่อดำเนินงาน ส่วนที่สองคือตัวงานเองซึ่งต้องลงลึกจำเพาะทางเทคนิค ทั้งสองส่วนนี้มีความท้าทายและอาศัยทักษะการทำงานที่แตกต่างกัน

1. ระดับโครงสร้าง

การดำเนินงานนี้เพื่อให้เกิดการเอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์/ร่วมสร้างสรรค์ และสร้างกรอบความคิดขนาดใหญ่เกี่ยวกับการสร้างความหมายให้องค์กรและความหมายของตัวงาน กล่าวให้ง่ายขึ้นคือเรียกระดมคน ชักชวนมาเข้าประชุมเพื่อชี้แจงวัสัยทัศน์ว่าเราลังจะสร้างอะไร และมีแผนอย่างไร

แน่นอนว่านวัตกรรมสังคมมีความจำเพาะและเป็นของใหม่ งานระดับโครงสร้างนี้อันดับแรกคือการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย การเดินหน้าหรือข้อความท้าทายใดๆก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันและฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการทำงานที่จะสร้างสรรค์ตัวงานได้อย่างแท้จริง

หากยังไม่เห็นภาพผมขอสรุปงานด้านโครงสร้างเป็น 3 ส่วนได้แก่ คน เงิน และเวลา เมื่อมีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมแล้ว สิ่งแรกที่เรามักจะทำคือการบอกต่อ นำไปเล่าให้กับใครก็ตามที่เราคาดว่าเขาจะสนใจและชักชวนมาทำงาน (เราได้คน) งานทุกงานต้องมีค่าใช้จ่ายทีมงานที่มีอยู่ต้องช่วยกันระดมสมองว่าจะหางบประมาณสนับสนุนอย่างไรและดำเนินการ (คนช่วยกันหาเงิน) ซึ่งในระหว่างวางแผนหาเงินก็ต้องวางแผนว่าจะสร้างสรรค์ได้ในระยะเวลาอย่างไรด้วยเงินทุนและคนที่มีอยู่ (คนช่วยกันประเมินเวลาและหาเวลาทำงานด้วเงินที่มี)

2. ระดับตัวงาน

ตัวงานคือความท้าทายหลักเป็นพื้นฐานของทุกปัญหาอยู่แล้ว (แม้โดยมากจะยุ่งยากที่คนก็ตาม) ระดับการสร้างและค้นหาคำตอบของงานในบริบทที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจรายละเอียดไม่ต่างไปจากสร้างของโครงสร้างการดำเนินงาน

หากตัวงานมีความจำเพาะที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญก็ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค แต่ต้องมั่นใจว่าระดับความลึกของปัญหาหรือกุญแจสำคัญของการพัฒนาไม่ได้ติดปัญหาอยู่ที่คน อคติหรือความต้องการเฉพาะของกลุ่มเท่านั้น เนื่องเพราะเมื่อดำเนินการไปแล้วผลการทำงานของนวัตกรรมนั้นอาจกลายสภาพเป็นเครื่องมือประดับชุมชนมากกว่าจะทำงานสร้างประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

ปัญหาทางน้ำในชุมชน ปัญหาการกำจัดขยะเคมี ปัญหาการตลาดในชุมชน ปัญหาแหล่งมั่วสุม ปัญหาการคาบเกี่ยวพื้นที่ดูแล ปัญหาพลังงานไม่เสถียร ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัต ปัญหาการเข้าถึงดูแลสุขภาพ ปัญหาโรคซึมเศร้า ฯลฯ ทุกปัญหาในชุมชนหนึ่งๆมีความท้าทายตามตัวงานเป็นพื้นฐานและมีข้อจำกัดในตัวมันเองเสมอ

จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องการเห็นในโลก-คานธี

การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่กันและกันระหว่างประสบการณ์กับการคิดเชิงทฤษฎี

เป็นคำกล่าวที่ดูเลื่อนลอยและหาความหมายได้ยาก แต่ผมขออธิบายอย่างนี้ ทุกๆการประสานงานเพื่อสร้างสิ่งใหม่จะมีลพดับความท้าทายอยู่ตลอดทางเสมอ โดยเฉพาะ “สมมติฐาน” จำนวนมากที่ต้องพิสูจน์ คล้ายกับการพนันขันต่อของหลายๆฝ่ายพร้อมกันและมีอีกหลายๆฝ่ายร่วมกันทดสอบ เมื่อความเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ตรงกันก็ต้องมีการพิสูจน์

สมมติฐานที่พิสูจน์กันเป็นลำดับและตามรายทางของการพัฒนาเท่ากับการเพิ่มประสบการณ์ องค์ความรู้ และบทเรียนอันมีค่าอันเป็นผลงานของทุกฝ่าย การเติมเต็มนี้เท่ากับการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กันและกันของทุกฝ่าย ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎี(ข้อสงสัย สมมติฐฐานตามความเชี่ยวชาญ) กับกระสบการจริง(การทดสอบ ทดลองกับงานจริง)

ตัวอย่างเช่น สมมติฐานเรื่องการตั้งตู้บริจาคของหน้าสำนักงานจะช่วยให้ผู้ที่ยากไร้ได้รับของจริงหรือไม่ การพิสูจน์ที่ตามมาให้คำตอบในหลายทิศทาง ในช่วงแรกอาจได้ผลเพราะมีการประชาสัมพันธ์หรือกำกับดูแล เมื่อเวลาผ่านไปอาจได้ผลน้อยลง เป็นต้น

การเติมเต็มเพื่อตอบคำถามสำคัญของการสร้างนวัตกรรมสังคมนั้นต้องอาศัยระยะเวลาและทรัพยากรจำนวนมาก โครงการความร่วมมือหลายโครงการไม่ต้องการเสียเวลากับการตอบคำถามหรือพิสูจน์สมมติปลีกย่อยเหล่านี้และมุ่งตรงเข้าสู่สมมติฐานหลัก ซึ่งมีความเปราะบางในเชิงการทำงานนั่นเพราะแต่ละสมมติฐานนั้นเกี่ยวโยงและผูกพันธ์กัน เมื่อข้ามสมมติฐานปลีกย่อยไปอาจหมายถึงการกำหนดตัวแปรที่ผิดพลาดของการทดลองใหญ่

มีการพิสูจน์และยืนยันแล้วว่าทักษะและประสบการณ์การร่วมมือด้วยการเข้าสังคมเกิดขึ้นเมื่อเกิดประเด็น/วาระ/โครงการริเริ่ม ได้มีการถก/พิจารณาพูดคุยกันไปแล้วจึงจะเกิดมิตรภาพขึ้น อันเป็นพื้นฐานต่องานต่อๆไป ชุมชนยั่งยืนต่อไป ฉะนั้นหน้าที่ของเหล่านักออกแบบคือ ออกแบบระบบ/รูปแบบความสัมพันธ์นั้นให้ดี

การคำนึงถึงแผนในระยะต่อไป

หากเป็นในทางธุรกิจคงเป็นการวางแผนเพื่อการเติบโต เพราะหากไม่วางแผนเอาไว้เมื่อต้องขยายกิจการออกไปจริงๆจะเกิดต้นทุนแฝงที่ไม่ได้คาดหมายล่วงหน้ามหาศาลและยากจำควบคุม การสร้างนวัตกรรมสังคมก็เช่นเดียวกัน ปฏิเสธิไม่ได้ว่าการสร้างเครือข่ายความร่วมมือหนึ่งขึ้นมาย่อมมีความหวังอยู่ภายในลึกๆว่าต้องการจะสร้างเป็นแบบอย่างให้ขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆให้ได้รับคุณประโยชน์เช่นเดียวกัน

ประเด็นอยู่ที่การขยายผล นั้นให้ตัวงานมีขนาดใหญ่ขึ้นทำงานได้มากขึ้น กระจายผลกระทบได้กว้างขึ้นย่อมต้องการทรัพยากรจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แก่นหลักจึงอยู่ที่ความไว้วางใจเป็นพื้นฐานของทุกองค์กรและความร่วมมือ ทว่าเมื่อองค์กรเติบโตและเริ่มจริงจัง ความไว้วางใจจะเปลี่ยนไป ฉะนั้นการออกแบบต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลายมองไปให้ไกลมากยิ่งขึ้น(วิสัยทัศน์) และหาส่วนผสมที่ลงตัวในการรักษาระดับความไว้วางใจต่อกันและกัน และต่อตัวงานให้ดีอยู่เสมอ

เป็นงานที่ต้องบริหารความสัมพันธ์ภายในผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆกับบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับความคาดหวังเมื่อขยายพื้นที่การทำงานออกไปยังพื้นที่เป้าหมายใหม่ๆ ซึ่งมีความต้องการและบริบทของปัญหาที่แตกต่างออกไป

เมื่อเครือข่ายเข้าถึงสิ่งที่เล็ก/คนตัวเล็ก งานเล็กๆในความหมายเดิมจะไม่เล็กอีกต่อไป และขยายผลกระทบได้

คุณเป็นคนรักความสะอาดต้องการความร่มรื่นและภูมิทัศน์ที่ดี คุณอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่ลูกของคุณหรือเด็กๆในชุมชนสามารถวิ่งเล่น ปั่นจักรยานคันเล็กไปรอบๆได้โดยไม่ต้องห่วงรถรามากนัก คุณอยากให้สวนร่มรื่นพอจะปูเสื่อทำกิจกรรมกับลูกๆ คุณทำความสะอาดอยู่เสมอเป็นอาสาของหมู่บ้านจัดการภูมิทัศน์ในชุมชนและชักชวนให้เกิดกิจกรรมประจำสัปดาห์

วันหนึ่งมีกลุ่มคนเข้ามาในชุมชนและบอกว่าต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ดีสำหรับ “สุขภาวะที่ดี” เป็นกรณีศึกษา คุณคิดว่าคุณจะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยความเต็มใจหรือไม่???

ความหมายของงานเล็กๆ ประเด็นความต้องการส่วนบุคคล(ที่หลายคนต้องการแต่แสดงออกไม่เท่ากัน) เมื่อได้พบกับเครือข่ายหรือกลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวกันและกำลังขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ต้องการ งานเล็กๆนั้นย่อมกลายเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ มีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วม ยินดีให้ความร่วมมือและออกความคิดเห็น

ในมุมมองของเหล่านักออกแบบนวัตกรรมสังคมคนกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของโครงการอย่างยิ่งเพราะมีแรงจูงใจและสมัตรใจที่จะร่วมลงแรงไปด้วยกัน แต่การที่โครงการจะพบกับคนกลุ่มนี้ได้ต้องศึกษาถึงปัญหาและเข้าถึงความต้องการอย่างแท้จริง จึงจะก่อให้เกิดการพบปะกับคนกลุ่มนี้ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เหล่านักออกแบบจะเข้าใจพฤติกรรมของของกลุ่มคนที่อยู่ในปัญหา

เครือข่าย ปัญญา, พลังงาน, โครงสร้างพื้นฐาน, การผลิต(อาหาร) แบบกระจายตัว : นวัตกรรมสังคมในเครือข่ายการกระจายตัวเหล่านี้กับเทคโนโลยีต้องสอดรับกัน เมื่อมันเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว จึงจะต่อยอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ขอขยายความ “เครือยข่ายแบบกระจายตัว” ว่าเป็นเครือข่ายความร่วมมือซึ่งอยู่ในกลุ่มสายงานเดียวกัน หรือมีพันธกิจหน้าที่เดียวกันแต่ต่างพื้นที่ กระจายตัวกันรับผิดชอบและสร้างคุณประโยชน์ตามแบบฉบับของตนเองในพื้นที่ของตนเอง บริหารจัดการตนเองทั้งหมด แต่มีความร่วมมือประสานงานกันเพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่ใหญ่ขึ้นและและลึกซึ้งมากขึ้น

ลักษณะเดียวกันกับร้านค้าที่มีสาชาทั่วประเทศที่มีชื่อร้าน สินค้าที่ขาย บริการหที่ให้ การบริหารจัดการและลูกค้าเป็นของตนเองจัดการตนเองอย่างเอกเทศ แต่เจ้าของร้านทั่วประเทศมีพื้นที่กลางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ว่าด้านใดการมีเครือข่ายที่อย่างน้อยที่สุดก็แบ่งปันข่าวสารกันย่อมเป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายด้านพลังงาน การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ เครือข่ายเหล่านี้มักจะแยกขาดจากกันด้วยเพราะอาจไม่อยู่ในสายงานเดียวกันตั้งแต่ต้น และตัวงานของแต่ละกลุ่มก็มีความยุ่งยากมากเพียงพอแล้วจนไม่อาจให้ความสำคัญหรือแบ่งทรัพยากรมาร่วมกับเครือข่ายอื่นนอกเหนือสายงานมากนัก แต่กระบวนการแก้ปัญหาทางสังคมซึ่งผลกระทบของปัญหาไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นสายงานไหน จำต้องพิจารณาทุกด้านเท่าที่ทำได้

เราปฏิเสธิได้จริงหรือว่าคุณภาพการศึกษาไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของราคาน้ำมันหรือราคาทองคำ เราปฏิเสธิได้จริงหรือว่าผลการแพ้ชนะของกีฬาไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ? เราปฏิเสธิไม่ได้ในขณะเดียวกันก็ยืนยันไม่ได้เช่นเดียวกัน นั่นเพราะเครือข่าวแต่ละสายงานแต่ละวงการไม่ได้พิจารณาความเกี่ยวข้องกันหรือแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่

ขอยกตัวอย่างความพยามจะรณรงค์หันมาใช้แก้วกระดาษที่ย่อสลายง่าย หากผู้กระแสมีเพียงผู้ผลิตอย่างเดียวอาจถูกมองง่ายๆว่าต้องการขายสินค้า แต่หากผู้นำเป็นกลุ่มสิ่งแวดล้อมแล้วสนับสนุนด้วยผู้ผลิต ก็อาจจุดกระแสได้จริง เมื่อกระแสได้รับความนิยมผู้คนหันมาใช้แก้วกระดาษ ขยะแก้วกระดาษได้รับการคัดแยกที่ดีพอจะจำกัดอย่างถูกวิธีหรือไม่ เพราะการกำจัดไม่ถูกวิธีต้องใช้พลังงานมากกว่า ซึงเท่ากับปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกไม่ต่างจากใช้แก้วพลาสติก เป็นต้น

ภาพร่าง/สถานการณ์สมมติ/การออกแบบนวัตกรรมสังคมโดยมี SLOC เป็นมุมมอง

มาลองดูกรอบความคิดสำหรับกรอบการทำงานกันดูครับว่าพอจะส่งเสริมต่อยอดมุมมองที่มีต่อโครงการนวัตกรรมสังคมที่กำลังดำเนินอยู่หรือเปล่า

Small ขนาดเล็ก

คำสั้นๆตีความได้หลากหลาย การทำงานขนาดเล็กมองได้ถึงการ โฟกัสที่จำเพาะเจาะจง หรือหมายความได้ถึงการจำลองขนาดเล็กเพื่อการทดสอบสมมติฐานก่อนการขยายใหญ่ในหน้างานจริง หรืออาจหมายถึงสร้างชิ้นงานให้เล็กพอจะเข้าถึงผู้คนและผลิตจำนวนได้มากขึ้น หรืออาจหมายความได้ถึงการออกแบบบริการขนาดเล็กที่สั้นเพียงพอจะทำงานลุล่วงและรองรับคนได้จำนวนมาก

ขอเปรียบแนวความคิดขนาดเล็กเข้ากับการหยอกกระปุกเพื่อซื้อของแพง(มาใช้ประโยชน์) ช่างภาพเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อซื้อกล้องใหม่มาทำมาหากิน และเก็บอีกรอบเพื่อซื้ออุปกรณ์เสริมให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้น แปลกใหม่ขึ้นฯ การทำโครงการนวัตกรรมสังคมสามารถออกแบบงานให้มีขนาดเล็กในหลายๆความหมายได้ตามแต่บริบทของตัวงาน และบริบทความจำเป็นของผู้ใช้งาน

มีหลายแนวคิดที่ใกล้เคียงกับคำนี้คือ ทำให้ง่าย-ทำให้เล็ก-พกพาได้-สบายใจ-กระทัดรัด-แบ่งปันง่าย-ไปได้ทุกที่-เสียเวลาเล็กน้อย-ทำให้เป็นเรื่องเล็ก-ทำให้เข้าใจง่าย-ออกแรงเพิ่มอีกนิด-เพิ่มผักขึ้นอีกหน่อย-ระวังมากขึ้น 1 วินาที-ฯลฯ

Local ท้องถิ่น

อีกคำหนึ่งที่ตรงกับความหมายโดยนัยของท้องถิ่นคือ “บริบท” (เชื่อว่าหลายคนคงเบื่อคำนี้แล้ว) แต่มันคงเป้ยความสัจจริงเสมอเมื่อต้องพัฒนานวัตกรรมสังคม บริบทหมายถึงความเฉพาะเจาะจง ลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และยากจะมีใครเหมือนทั้งหมด แนวคิดท้องถิ่นสำหรับการสร้างนวัตกรรมสังคมคือแบบเดียวกับวลี “มองภูเขาครั้งแรกภูเขาก็คือภูเขา เมื่อศึกษาเรียนรู้มันภูเขาจะไม่ใช่ภูเขา เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้วภูเขาก็คือภูเขา”

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องลงมือสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือภาวะน้ำแล้งในพื้นที่ ปัญหาที่มองเห็นได้จากภายนอกครั้งแรกคือไม่มีน้ำ(ภูเขาก็คือภูเขา) แต่โครงการดำเนินไปการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู็ถอดบทเรียนจะพบว่าแท้จริงปัญหาอาจอยู่ที่การจัดการน้ำทั้งระบบโครงข่ายทางน้ำ (ภูเขาไม่ใช่ภูเขาแต่เป็นหิน ดิน ต้นไม้ฯ) เมื่อออกแบบและทดลองดำเนินการแก้ไขแล้วไม่ว่าจสำเร็จหรือไม่ เมื่อมองจากภายนอกอีกครั้ง นวัตกรรมสังคมนั้นคือนวัตกรรมแก้ปัญหาภาวะน้ำแล้ง(ภูเขาก็คือภูเขาเช่นเดิม)

ที่ต้องยกตัวอย่างวลีภูเขาเนื่องเพราะนวัตกรรมสังคมต้องการให้เกิดกระบวนการศึกษาจากภายนอกก่อนจะลงลึกในรายละเอียดซึ่งแน่นอนจะพบกับความจำเพาะจำนวนมากที่แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การออกแบบนวัตกรรมจึงออกแบบมาเพื่อลักษณะเฉพาะนั้น ขณะเดียวกันเมื่อมองภาพกว้างอีกครั้งพื้นที่อื่นๆที่ขึ้นชื่อว่ากำลังประสบปัญหาเดียวกันก็อาจไม่ลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันมากพอจะหยิบยกบางอย่างไปใช้งานได้

กลับมาที่ตัวอย่างภูเขา(แบบจริงๆ) หากโครงการฟื้นฟูเขาหัวโล้นแห่งหนึ่งประสบผลสำเร็จ การศึกษาเขาหัวโล้นอืนๆก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำเครื่องมือบางอย่างไปใช้เช่น เครื่องหว่ายเมล็ดพันธ์ กระเปราะน้ำแบบฝังดิน แต่สิ่งที่ต่างกันคือแนวลาดเขา ลักษณะภูเขา ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย เขตหน้าฝนและเงาฝน ทิศทางฝนประจำฤดูกาลฯลฯ เหล่านี้คือความเป็นท้องถิ่นที่ต้องคิดพิจารณาควบคู่ไปกับความเป็นสากลอื่นๆ

Open เปิดกว้าง

เป็นเรื่องปกติที่คนอยู่ในเกมจะมองสถานการณ์ภาพกว้างไม่ครอบคุลมเท่าคนที่มองจากภายนอก(คนดูหมากรุกเห็นแผนทั้งสองฝ่ายต่างจากผู้เล่น) ในขณะที่โครงการความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรมสังคมกำลังดำเนินไป การเปิดกว้างเช่นการรับความคิดเห็นใหม่ๆหรือจากภายนอกเสมอเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินควบคู่ไปได้ ทั้งยังได้ประโยชน์ในแง่ของการถอดบทเรียนระหว่างการดำเนินงานอีกด้วย

มองข้ามไปเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแบบเดียวกับตอนออกแบบ โครงการนัวตกรรมสังคมนี้เปิดกว้างเพียงพอจะให้ใครก็ได้หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆซึ่งเข้ามาภายหลังได้ใช้ประโยชน์ แสงดข้อคิดเห็นได้หรือไม่ ความเปิดกว้างแสดงออกถึงความเป็นมิตรขั้นพื้นฐานที่จะรับฟัง แม้จะออกปากว่ารับฟังแต่ไม่รับประกันว่าจะดำเนินการหรือไม่นั้น เชื่อว่าสังคมยอมรับได้เสมอ

Connect เชื่อมโยง

มุมมองสุดท้ายเป้นมุมมองซึ่งกำลังกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบันมากนั่นคือการเชื่อมโยง หากมองแบบตั้งต้องข้อสังเกตคือต่างฝ่ายต่างมีทรัพยากรจำกัดเมื่อมีคนรู้จักเหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันได้ก็ควรเชื่อมโยงงานเข้าด้วยกันเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและพัฒนาคุณประโยชน์ของตนเอง ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

การเชื่อมโยงนี้เป็นมุมมองที่ใช้ได้ทั้งกับตัวงานทางเทคนิคไปจนถึงการบริหารจัดการโครงการระดับโครงสร้าง แต่ต้องมั่นใจว่าการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่สร้างภาระที่จะเกิดตามมาเมื่อเริ่มดำเนินงานไปแล้ว ประเด็นที่จะสื่อก็คือการเชื่อมโยงเป็นประโยชน์หากมีขอบเขตที่เหมาะสมซึ่งความเหมาะสมของแต่ละฝ่ายย่อมแตกต่างกันซ฿่งนั่นคือคามท้าทายที่เหล่านักออกแบบนวัตกรรมสังคมต้องเผชิญ

เช่นเดียวกับคำว่าขนาดเล็กหรือท้องถิ่น การเชื่อมโยงตีความได้หลากหลายเช่น การเข้าถึง-การเข้าถึงได้-การรับรู้ถึงกันและกัน-การเฝ้าระวัง-ความทันท่วงที-การรับรู้สถานะ-ความเป็นเครือข่าย-การส่งมอบส่งต่อฯลฯ การเลือกใช้ก็ขึ้นกับบริบทของตัวงานเช่นกันหากปัญหาคือขาดความเชื่อมโยงเชิงเวลา เชิงพื้นที่ หรือความทันท่วงทีต่อเหตุการณ์ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าควรตีความความเชื่อมโยงไปในทิศทางใดเพื่อตอบสนองการพัฒนานั้นให้มากที่สุด

ปลายทางจะนำไปสู่การออกแบบที่สามารถทำซ้ำและเชื่อมโยงได้

ท้ายที่สุดแล้วการสร้างนวัตกรรมสังคมคงไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจบลงภายในโครงการ แต่ต้องการแสดงผลให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อย่างน้อยที่สุดคือกรณีศึกษา และดีที่สุดคือสามารถถอดบทเรียนจนสามารถสร้างเป็นกรอบการทำงานที่นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆได้ รูปแบบของการประยุกต์ใช้ 2 รูปแบบพื้นฐานที่นวัตกรรมสังคมหนึ่งๆควรทำได้คือ การทำซ้ำและการเชื่อมโยง

1. การทำซ้ำ: การทดลอง+การคิดแบบProduct(mass): Project to Product

อะไรที่ใช้แล้วดีเราก็อยากใช้ซ้ำไม่ว่าจะใช้กับกรณีเดิมหรือไม่ก็ตาม เพราะเราหวังว่าเครื่องมือที่ดีกับสิ่งหนึ่งก็น่าจะดีกับสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายๆกัน อยู่ในกลุ่มหรือประเภทเดียวกัน ความยากอีกอย่างหนึ่งของกระบวนการสร้างนวัตกรรมสังคมคือ ขณะอยู่ในขั้นดำเนินการมักไม่มีการถอดบทเรียนระหว่างการทำงานโดยเฉพาะการจดบันทึกสำหรับการเปรียบเทียบเมื่อกระบวนการลุล่วง

เนื่องเพราะบทเรียนที่จดบันทึกจะนำไปสู่การถอดกระบวนการที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนไปจนถึงสามารถออกแบบตัวชี้วัดได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัตและคุณลักษณะพื้นฐานของตัวงานที่สามารถทำซ้ำได้ โดยคำว่าทำซ้ำได้ในที่นี้หากเป็นเชิงบริการและตัวงานความร่วมมือ ณ พื้นที่หนึ่งๆ ย่อมไม่ได้หมายถึงการทำซ้ำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่หมายทำซ้ำได้ตามแก่นคุณค่าหลักของงาน

และส่วนของตัวที่เป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งการผลิตจำนวนมากย่อมหมายถึงการแผ่ขยายผลกระทบได้มากเท่าที่จะสามารถทำได้ (กรณีวิทยุเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ด้อยโอกาสในแอฟริกา, โดรนส่งเลือดสำหรับพื้นที่ห่างไกลในแอฟฟริกาฯลฯ)

2. การเชื่อมโยง: การสร้างสิ่งแวดล้อมและการสร้างความสัมพันธ์

เมื่อนวัตกรรมสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้แก้ปัญหาหลักระดับหนึ่งและระยะหนึ่งแล้ว เรื่องต่อไปคือการสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นจริงกับคุณค่าด้านอื่นๆที่โครงการความร่วมมือนั้นจะสามารถผลักดันไปถึง เช่น เป้าประสงค์ของโครงการในการสร้างความตระหนักและการรับรู้สำเร็จในระดับที่พอใจแล้ว จึงต้อต่อยอดหรือเชื่อมโยงไปยังเรื่องต่อไป ระดับต่อไป หรือโครงการอื่นที่ใกล้เคียงเพื่อความต่อเนื่องและส่งผลกระทบที่ครอบคลุมตัวงานมากยิ่งขึ้น

สิ่งแวดล้อมของตัวงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่ได้เรียนไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า หากนิเวศน์ของนวัตกรรมไม่พร้อมสำหรับการดำรงอยู่ของการใช้งาน หรือความร่วมมือ นวัตกรรมนั้นก็คงอยู่ได้ไม่นานเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

เมื่อโครงการความร่วมมือนวัตกรรมสังคมหนึ่งดำเนินการไปแล้ว สิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบของปฏิสัมพันธ์นั้นจะต้องดำรงอยู่ด้วย เพราะความตื่นตัวในช่วงแรกย่อมต่างจากความตื่นตัวเมื่อระยะเวลาผ่านไปแล้ว ความเคยชินจะทำให้เกิดการละเลยได้ง่าย นวัตกรรมสังคมที่ครบสมบูรณ์ในตัวเองควรต้องเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆอย่างที่กระบวนการของมันได้สร้างมันขึ้นมา

การทำซ้ำที่ขยายในแนวราบ

ขอขยายในส่วนของการทำซ้ำในแนวราบไว้ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่น่าจะเข้าใจได้ง่าย นั่นคือการแพร่กระจายของสื่อบนโลกออนไลน์ ที่ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารใดๆย่อมสามารถแพร่กระจายได้หากได้รับความสนหรือเป็นเรื่องที่กระทบความรู้สึกมากเพียงพอ

ตัวอย่างเช่น บางทีการรับเอาไอเดียแนวคิดนวัตกรรมเจ๋งๆ หรือคิดว่าน่าจะดีพอไปปรับใช้กับพื้นที่หรือโครงการของตัวเองซึ่งในส่วนนี้ถือว่าดีแล้ว ยิ่งในยุคออนไลน์คนเรารับไปเดียได้ง่ายกระจายข่าวง่ายยิ่งกว่าไปลามทุ่งเสียอีก แต่นั่นเป็นเพียงข้อดีของไฟลามทุ่ง กล่าวคือ ข่าวสารที่รับรู้ทำความเข้าใจได้ง่ายก็แพร่กระจายได้เร็วแต่ก็เป็นเรื่องดีมีสาระหรือมีประโยชน์เพียงชั่วครู่ชั่วขณะ เพราะวินาทีถัดมาคนก็เลื่อนจอผ่านไปแล้ว

การทำซ้ำในแนวราบจึงเป็นแนวทางที่ดีที่มีข้อจำกัดซึ่งผู้ร่วมออกแบบหรือโครงการนวัตกรรมสังคมจำต้องรู้จักใช้ประโยชน์ในส่วนนี้

ตอนที่ 7 นี้ยังถือว่าเข้มข้นอีกตามเคย ใครที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่ตอนแรกอาจคิดว่าเป็นแนวคิดที่ซ้ำซ้อนวันไปมา แต่ความจริงแล้วทั้งหมดเป็นแนวคิดรวบยอดซึ่งมีรายละเอียดอยู่ภายในหลากแง่มุมให้ค้นหา ผมว่าว่าจะเป็นประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งสำหรับคนที่สนใจมุมมองของนวัตกรรมสังคม

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way