รามเกียรติ์ พื้นฐานคติไท๊ยไทย

R.Phot
Bookspective
Published in
Oct 7, 2020

ขอออกตัวยอมรับตั้งแต่ตรงนี้เลยว่าเป็นคนที่อ่านกวีร้อยกรองไม่ค่อยจะคล่องนักอ่านทีไรก็จะฝืดๆในหัวตัวเองทุกครั้งไป สุนทรีย์จากการอ่านอยู่ที่ร้อยแก้วพรรณนามากกว่า ชั้นหนังสือ 99.99% จึงหาความเป็นกวีไมได้ และนั่นเป็นเหตุให้หยิบ รามเกียรติ์ ฉบับมหาชน ซึ่งเป็นร้อยแก้วอ่านง่ายและสรุปความเอาไว้ทั้งหมด

ด้วยความอยากรู้ว่าแท้จริงแล้วเรื่องราวทั้งหมดของรามเกียรติ์เป็นอย่างไร เพราะช่วงชีวิตที่ผ่านมาเอาเข้าจริงๆก็ผ่านเรื่องราวของมนุษย์ตัวเขียวตามหาหญิงคนรักและมีเพื่อนลิงคอยสู้กับยักษ์จนได้ชัย ผ่านการเรียนที่กระทรวงศึกษาเลือกมาเป็นท่อนๆ ของแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งสนุกเหมือนได้ฟังนิทานแต่ไม่รู้ว่าเรื่องทั้งหมดทำไมจึงนำมาสู่เหตุการณ์ในบทเรียน

เมื่อได้อ่านฉบับมหาชนในวันที่เข้าสู่วัยทำงานแล้ว พบว่าทำให้เห็นมุมมองหลายอย่างที่เปลี่ยนไป ในบทความตอนนี้ด้วยความสนใจและอินอยู่กับความรู้ด้านสังคมศาสตร์จึงถอดและวิพากษ์ออกมาในแบบฉบับของผมเอง ในอนาคตข้างหน้าผมอาจหยิบขึ้นมาอ่านอีกและได้แง่มุมที่ต่างออกไป

ความรันทดสู่การเป็นวายร้าย

เรื่องราวที่ทราบกันดีถึงนนทกเทพผู้น่าสงสารถูกรังแกจนเก็บกดความโกรธเอาไว้ก่อนจะระเบิดมันออกมาเมื่อได้ครอบครองนิ้วเพชรพลังเพชฌฆาต ล่าสุดการ์ตูนล้อเล่นที่เกลายเป็นไวรัลในเฟสบุ๊คได้นำมาล้อเลียนกับสถานการณ์การเมืองอย่างเจ็บแสบ ซึ่งนั่นก็เป็นคำถามเดียวกับใครหลายๆคนในทุกวันที่นี้กล้าตั้งคำถามมากขึ้น

https://sites.google.com/site/nepdark/home/character/002

จริงอยู่ที่ทั้งหมดเป็นเรื่องแต่งหรือตำนานเพื่อเล่าเรื่องราวคติความเชื่อ แต่เหตุที่ใครหลายๆคนไม่เข้าใจคือ กานำเอาเรื่องเล่าคติความเชื่อนั้นมาปลูกฝังให้กับทุกคนโดยไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมนนทกถึงได้มาล้างเท้า ทำไมเทวดาองค์อื่นถึงแกล้งนนทกได้แล้วไม่ผิดบาป ทำไมบนสรวงสรรค์ไม่มีระบบให้ความยุติธรรม? และยิ่งกว่าคือคติยัดเยียดสิ่งเลวทรามต่อผู้ขัดขืน

อย่างที่ได้เล่าไปเมื่อไม่มีระบบร้องเรียนหรือการมอบความยุติธรรมให้กับผู็ประสบปัญหาแต่ดันมอบเครื่องมือให้ทันที เรื่องราวบานปลายกลายเป็นการทำลายล้าง และผู้ผิดเต็มประตูคือนนทก ลองคิดกลับกันว่าหากระบบระบบยุติธรรมจริงๆ นนทกคงไม่ต้องขอพรนิ้วเพชรมาตั้งแต่ต้น แต่ก็นั่นแหละครับ มันคือวรรณกรรมเรื่องเล่า

ความชอบธรรมของผู้ถูกเลือก

เรื่องนี้ต้องเท้าความไปถึงบทเรียนในประวัติศาสตร์อารยธรรมของโลก ว่าด้วยเรื่องเล่าตำนานและความเชื่อ ทุกๆอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองบนโลกต่างล้วนมีเรื่องเล่าไว้สร้างความชอบธรรมต่อการขึ้นเป็นใหญ่ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือในช่วงประวัติศาสตร์จีนที่ผู้นำก๊กต่างอ้างตนว่าได้รับองการสวรรค์เพื่อขึ้นเป็นจักรพรรดิ แน่นอนว่าผู้กำชัยในศึกสงครามย่อมพูดได้เสียงดังกว่า หนึ่งคือเก่งที่รบชนะและผู้แพ้รับรู้ดีในข้อนั้น แต่ใช่ว่าผู้แพ้จะยอมก้มหัวเสมอไป การอ้างถึงสิทธิ์พิเศษอันชอบธรรมเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มาตลอดประวัติศาสตร์

https://sites.google.com/site/charactersinliteratuerrr/ramkeiyrti/phraram

มองกลับมาที่ประเทศไทย พระเวศสันดรชาดก และรามเกียรติ์ฝังอยู่ในอนุความรับรู้ของเรา ด้วยรับเอาคติพรามณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเต็มขั้น ความชอบธรรมอย่างหนึ่งที่ถูกเล่าต่อกันมาคือชนชั้นปกครองสูงสุดย่อมมีความชอบธรรมสูงสุดเช่นกัน ไม่ว่าจะเกิดเหตการณ์อะไรก็ตามแต่ทั้งพระเวสและพระรามขนาดว่าถูกเนรเทศออกนอกเมืองก็ยังมีความ “เป็นเทวดาที่ชอบธรรม” มีสิ่งเกื้อหนุนให้แคล้วคลาดตลอดรอดฝั่งอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่สังคมไทยถลำลึงมาไกลคือการนำเอาคติความเชื่อนี้มาอ้างในการกระทำที่ส่งผลในชีวิตจริง เพราะรามเกียรติ์ไม่ว่าพระรามหรือพวกพ้องจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม ยังคงถือความชอบธรรมอยู่ เพราะสิ่งที่ตายไปนั้นไม่ใช่พวกเรา เป็นต่างเผ่าพันธุ์ที่มีความคิดชั่วร้าย

ที่เล่ามาฟังดูเหมือนอคติแต่อยากให้มองในมุมที่ผมเองก็เป็นคนในเจนวาย ซึ่งเติบโตมาในยุค 90 และเสพสื่อที่มีความซับซ้อนและชวนตั้งคำถามมากขึ้น หากวรรณกรรมอายุร้อยปีนี้จะมีความเลี่ยนๆเรื่องธรรมะกับอธรรมอยู่บ้างก็เป็นเรื่องปกติ และอย่างที่ได้เปิดหัวข้อไว้ เมื่อได้อ่านฉบับร้อยแก้วแบบภาพรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ชวนตั้งคำถามหรือคาดเดาแนวคิดของผู้แต่ง ไปจนถึงการใช้งานวรรณกรรมนี้จริงในสังคมว่าใช้เป็นเครื่องมือของสิ่งใด

เป็นฝ่ายอธรรมมีแต่ล่มจม

หากพูดกันสนุกปากจากตำนานเรื่องนี้ก็คงจะพูดได้ว่า ทศกัณฐ์เป็นตัวซวยอย่างแท้จริง ของครอบครัว วงศาคณาญาติ และเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้จักกัน เพราะแม้จะมีพลังอำนาจมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่ ก็สู้พระราม อาวุธวิเศษของพระราม และเหล่าขุนพลวานรที่เก่งเกินไปของพระรามไม่ได้

https://sites.google.com/site/jansudapla7778/prawati-khxng-ths-kan

การชวนญาติพี่น้องชาวอสูรทั้งหลายมาปราบก็ต้องตายตกไปตามกันทั้งหมด เรียกว่าโดยล้างโคตรเพราะสงครามครั้งนี้เลยทีเดียว หรือมองให้จริงจังขึ้นอีกหน่อยก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น คติสาปส่งและข่มขู่ถึงภัยของการเป็นคนชั่วที่ร้ายแรงพาลูกหลานญาติมิตรล่มจม ใครที่ถูกตราหน้าในชุมชนในสังคมก็ไม่มีใครอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพราะจะล่มจมแบบเดียวกับญาติทศกัณฐ์

หันกลับมามองที่โลกความเป็นจริงสีเทาที่เราอาศัยอยู่ มันอาจบ่งบอกว่าใครเป็นธรรมะเป็นอธรรมไม่ได้และก็ไม่ควรอีกด้วย แต่กระนั้นเราก็ยังอยากเชื่อมั่นในความจริงใจความเป็นธรรมที่เราตกลงกติการ่วมกัน คงไม่ต้องเชื่อมโยงก็คงจะเห็นภาพว่าแม้แต่ความยุติธรรมเล็กๆยังไม่สามารถมอบให้กันได้ การเสื่อมลงของคติจากรามเกียรติ์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ควรจารเอาไว้ว่าไม่ควรยึดถือให้เกิดเป็นภาระสังคม

เสริมอีกเล็กน้อย คติความเชื่อที่มีความพยายามปลูกฝังตลอด 100 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าสังคมมีพลวัตของตัวมันเองและมันเลือกที่จะเก็บส่วนที่ดีและเหมาะสมเอาไว้ ส่วนไหนที่ใช้งานไม่ได้สังคมก็ค่อยๆวางมันลง ไม่ยึดถือเอามาเป็นกฎหรือความสำคัญของชีวิตอย่างที่เคยเป็น หรือความเก่าจะยังทรงคุณค่าก็ต่อเมื่อมันกลายเป็นบทเรียนที่ดีด้านการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่าจะเป็นบทเรียนเรื่องคุณงามความดี (แนะนำอ่านเรื่องความเสื่อมต่อพระพุทธรูปต่อได้)

ผู้น่าสงสารท่ามกลางสงคราม

อ่านถึงตอนช่วงท้ายๆสงคราม เรื่องแรกที่ตลกคือความน่าสงสารของพระลักษณ์ จินตนาการถึงจังหวะปล่อยมุกของละครซิตคอมหรือหนังมาร์เวล ซึ่งรับบทบาทโดยพระลักษณ์(พระรองของเรื่อง)และเมื่อใดที่เขาพุ่งตัวเข้าสู่สนามรบเขาจะกลับมาพร้อมหอกปักคาอกเสมอ ‘ครานี้ข้าจะแสดงฝีมือ แบ่งเบาพระราม สู้ศึก!!!’ กำหมัดและยืดอก ฉึก!!! ช่วยข้าด้วย!!!

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C

นั่นเป็นอารมณ์ขำขันที่สงสารและเห็นใจตัวละครนี้ แต่ที่น่าสงสารสำหรับผมมากที่สุดกลับเป็นเหล่าทหารวานรทั้งหลาย เพราะแม้จะเป็นทหารวานรที่ตัวเล็กแต่ก็ต้องเข้าสู้กับยักษ์แรงเยอะมีอาวุธไอเทมรอบตัว ก่อนจะจบด้วยการตายเป็นเบื่อกลางสนามรบ และในท้ายที่สุดอาวุธวิเศษอย่างศรพระรามก็ยิงชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ทั้งกองทัพ เพื่อเข้าสู่ศึกครั้งต่อไป และต่อไป

แม้ผมจะไม่ได้อ่านฉบับร้อยกรองซึ่งอาจมีบทบาทของวานรมากกว่านี้ แต่ก็อยากให้มีส่วนร่วมของผู้ที่ขับเคลื่อนการศึกจริงๆเพราะพระรามไม่อาจรับมือกองทัพยักษ์ได้เช่นกันหากขาดกองทัพลิงของตนเอง แต่จะหวังอะไรได้ในเมื่อผมกำลังอ่านราเกียรติ์แบบไทยๆ

ของสูง?-ตีความใหม่ได้ไหรือไม่?

พูดถึงรามเกียรติ์จะไม่แวะเรื่องการตีความใหม่ก็คงจะไม่ได้ กรณีของการนำทศกัณฐ์ซึ่งเป็นตัวร้ายในวรรคดีมาทำสื่อโฆษณาการท่องเที่ยว ก็มีหลายต่อหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารย์กันอย่างหนัก เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีต่อสิ่งที่ชนชั้นปกครองพร่ำสอนมาตลอดว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของไทย

การตีความยังคงมีออกมาให้เห็นอีกมากทั้งบทเพลง ทั้งโลโก้สินค้า หรือชื่อแบรนด์ของสินค้าที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้น อย่างที่กล่าวไปแล้วสังคมมีพลวัตของมันเอง เมื่อมีการฝืนในลักษณะหนึ่งสังคมก็ย่อมเลี้ยวเบนหรือลัดเลาะไปตามวิถีของมันซึ่งไม่มีวันห้ามได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอะไรที่เราจะเรียกว่าของสูง? อะไรที่หวงห้ามเอาไว้ผู้คนยังจะจดจำได้หรือ? และวัฒนธรรมอันสูงค่าเหลืออะไรให้ส่งต่อหากไม่สามารถหยิบจับมาใช้ได?

บทความนี้เป็นผลพวงมาจากการได้เรียนในตำราจึงเกิดความอยากรู้ว่าเรื่องราวแท้จริงเป็นอย่างไร ลองจินตนาการว่าคนรุ่นผมจะสอนรุ่นลูกหลานอย่างไรว่าเรามีศิลปชั้นสูงนะ มันเลิศเลอสูงค่าอย่างมาก และหากลูกหลานถามว่าจะหาชมหรือสัมผัสได้ที่ไหน คำตอบของเราคือ หาดูไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้???

ฝากติดตามผลงานอื่นๆของผม และทีมงานของเราได้ที่ Bookspective ,Discovery และ เกษตรไทย IoT

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way