ล้วนมีการเมืองในศาสนา

R.Phot
Bookspective
Published in
2 min readOct 6, 2020

ผมมีโอกาศได้อ่านหนังสือ การเมืองเรื่องพระพุทธรูป ซึ่งก่อนหน้านี้กำลังอยู่ในช่วงที่สนใจเครื่องมือการปกครอง และการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมของไทย นอกจากหนังสือ ชาตินิยมในแบบเรียนไทย แล้ว หนังสือการเมืองเรื่องพระพุทธรูปนั้นก็ให้ผลสะท้อนต่อความคิดไม่ผิดแผกแตกต่างกัน

หากจะสรุปรวบยอดก่อนที่ใครจะเข้าใจผิดไปถึงทฤษฎีสมคบคิดหรือระบอบการปกครองก็ตาม ขอให้มองว่าเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือเป็นเรื่องราวที่เกาะติดกับการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป เป็นสำคัญในยุครัชกาลที่1–3 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ยังคงมีการศึกสงครามอยู่ และการจะโยกย้ายพระพุทธอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชนชาติหนึ่งๆได้นั้น มีอย่างเดียวที่ทำได้คือการพิชิตผู้ปกครองเมืองนั้น

ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปโดยมีผู้ดำเนินการหลักคือเจ้าเมืองหรือเจ้าอาณาจักร และเมื่อพิจารณาอีกครั้งในมุมมองของปัจจุบันที่มีต่อประวัติศาสตร์ พระพุทธรูปที่เคลื่อนย้ายมานั้นได้เปลี่ยนสถานะไปเรียบร้อยแล้ว

ภารกิจรวบรวม(ยึด)สู่ศูนย์กลาง

การสงครามสมัยรัชกาลที่ 1–3 นั้นเป็นช่วงที่เจ้าผู้ครองอาณาจักรสยามในยุคนั้นจำต้องให้ความสำคัญ เมื่ออาณาจักรใหม่ยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก และนโยบายที่ดูจะสมเหตุสมผลมากที่สุดคือการแผ่ขยายอำนาจการปกครองออกไปให้มากที่สุด

ทิศทางการศึกในยุคนั้นเปิดสู่ทะเลและทิศตะวันออก มากกว่าทิศตะวันตกซึ่งอริ(ในตำราเรียนไทย)กำลังเสื่อมอำนาจลง เพราะพื้นที่การค้าขายและอำนาจการเคลื่อนที่ทางน้ำที่รวดเร็ว เป็นแบบแผนที่น่าสนใจสำหรับความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักร นโยบายรุกตะวันออกจึงถูกสานต่อจากสมัยกรุงธนบุรี

เมื่ออำนาจแผ่ขยายออกไปครอบครองอาณาจักรตลอดลุ่มน้ำโขงตอนใต้จึงต้องบรรณาการให้แก่สยาม ขณะเดียวกันเจ้าอาณาจักรสยามตระหนักว่าพื้นที่อันห่างไกลนั้นง่ายต่อการกระด้างกระเดื่อง ทั้งพื้นที่แถบนั้นสามารถติดต่อกับราชอาณาจักรจีนได้ง่ายกว่า(ชายฝั่งเวียดนามตลอดทั้งแนวส่งขนส่ง ค้าขายถึงหลวงพระบาง) นโยบายการยึดจับตัวประกันทั้งบุคคลและทางความคิดจึงนำมาใช้อย่างแข็งขัน

สยามจึงยึดเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางจิตใจของคนชาติอื่นๆซึ่งคือพระพุทธรูปมาไว้ที่เดียว คือกรุงรัตนโกสินทร์ เราอาจคุ้นหูกับพระแก้วมรกต แต่หากได้อ่านประวัติศาสตร์ช่วงนั้นสักนิดจะพบว่าสยามได้เชิญ(ยึดและนำมา) พระแก้ว-พระบางมา 2 องค์ ใช่ครับ พระแก้วพระบางเป็นฝีมือของช่างอาณาจักรลาวล้านช้างในสมัยนั้นและรวมถึงองค์อื่นๆไว้จำนวนมาก

หากเมืองประเทศราชใดคิดเข้าตีกรุงสยามแล้วจะต้องสูญเสียพระญาติของราชวงศ์ซึ่งถูกจับมาเป็นตัวประกัน และยังอาจเป็นบาปที่เข้าทำลายองค์ปฏิมาศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเป็นเกราะป้องกันในทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สร้างเรื่องราวความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับคนใต้การปกครอง

เพราะมีพระ(พุทธรูป)เยอะจึงเป็นเมืองพุทธ

เหตุผลหนึ่งที่ผ่านมาเจอจนต้องอุทานว่า “ฮะ!! อย่างนี้ก็ได้เหรอ” นั่นคือสยามได้รับการยอมรับว่ามีจำนวนผู้นับถือศาสนาพุทธในสัดส่วนประชากรมากและมีพระพุทธรูปจำนวนมาก!!! เพราะมีจำนวนมากและเน้นความศักดิ์สิทธิ์และอ้างสิทธิ์ตามคติ จึงถือว่าตนเองเป็นเมืองพุทธให้สังคมโลกยอมรับ

หากเทียบจำนวนพระพุทธรูปจริงๆแล้วล่ะก็ในยุคสมัยที่ยังคงแผ่อำนาจและรวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ถือได้ว่าการมีพระพุทธรูปเยอะย่อมมีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางหรืออาณาจักรที่มีความเป็นพระพุทธศาสนาอยู่มาก ประกอบกับการสร้างวัดวาอารามของชนชั้นขุนนางในช่วงรัชกาลที่ 1–3 ก็เป็นเครื่องยืนยันอีกเรื่องหนึ่งว่าอาณาจักรแห่งนี้มีความชอบธรรมที่จะป่าวประกาศว่าตนเปป็นคนดีตามคติชาดก เนื่องจากบำรุงส่งเสริมศาสนา

และต่อให้เทียบจำนวนของพระพุทธรูปที่เป็นวัตถุไม่ใช่บุคคลแล้วล่ะก็ เชื่อว่าประเทศไทยทุกวันนี้ก็เป็นประเทศที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะพระเครื่องไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน

ยึดเหนี่ยวการปกครองสู่การกักขังปัญญา

จากยุคสมัยของการสร้างความแข็งแกร่งให้อาณาจักรและยึดเหนี่ยวความชอบธรรมผ่านพระพุทธรูป สู่ยุคที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทำให้กลายเป็ยความศักดิ์สิทธิ์เชิงพิธีกรรมเมื่อพระพุทธรูปจำนวนมากยากต่อการเข้าถึงเพื่อเคารพกราบไหว้ และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเสื่อมก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

เรื่องนี้ว่าด้วยความเสื่อมของการปกครองด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สู่การบูชารูปเคารพอื่นๆแบบแพร่หลาย เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นมีบทบาทยึดเหนี่ยวจิตใจได้ไม่ต่างจากพระพุทธรูปประจำอาณาจักรทั้งยังดูเข้าถึงได้ กราบไหว้ได้ ไล่เรียงไปจนถึงเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆยังมอบลาภยศ สรรเสริญให้มากกว่า ไหนเลยจะยังเคารพพระพุทธรูปมิ่งเมืองเดิมอยู่ได้

ประเด็นล่าสุดคือที่เกิดขึ้นของความต้องการเปลี่ยนการเรียนการสอนการปลูกฝังเรื่องพุทธศาสนาในไทยชี้ให้เห็นแล้วว่า แม้จะผ่านการปลูกฝังมานานหลายสิบปีก็ตามพระพุทธรูปเสื่อมลง ประกอบกับความเสื่อมลงของพระผู้ปฏิบัติไม่น่าเลื่อมใส จึงกลายเป็นประเด็นทางการปกครองอีกครั้งเมื่อเครื่องมือเก่า ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปปฏิกิริยาของผู้ใช้เครื่องมือจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป แต่ครั้งนี้บริบทต่างออกไปเมื่อการเรียกร้องไม่ใช่เพื่อการแบ่งแยกประเทศ แต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ศานาอื่นๆเพื่อเข้าใจโลกสากล…

หรือเรากล้าปฏิเสธว่าการเมืองกับศานาไม่เกี่ยวข้องกัน? ไม่เพียงเฉพาะที่ไทยเท่านั้น นานาประเทศล้วนกำลังเผชิญวิกฤติศรัทธาต่อศาสนาและความเชื่อทั้งต่อสาถบันศาสนาและสถาบันชาติ เนื่องเพราะโลกการเชื่อมต่อได้ดึงให้เราเข้ามาใกล้ชิดกันจนกลายเป็นสังคมโลก เป็นประชากรโลก ความเชื่อที่เริ่มแบ่งปันพื้นที่กันไม่อาจถูกยึดไว้ด้วยรูปเคารพหรือพิธีกรรมอีกต่อไป โลกกำลังเปลี่ยนไป

พระพุทธรูปจะดำรงอยู่ในสังคมไทยต่อไปด้วยบทบาทใดในอนาคตยังคงได้แต่ตั้งคำถาม ยังมีคลื่นการเปลี่ยนแปลงอีกหลายลูกกำลังซัดเข้าฝั่งที่เคยมั่นคงอย่างไม่ปรานีปราศัย ไม่ว่าความลงตัวหรือตรงกลางของทางออกจะเป็นอย่างไร ทางสายกลางย่อมเปลี่ยนไปตามขอบเขตของมันเสมอ เชกเช่นพระพุทธรูปที่ไม่ได้อยู่ในศรัทธาของจิตใจเช่นกาลก่อน…

ฝากติดตามผลงานอื่นๆของผม และทีมงานของเราได้ที่ Bookspective ,Discovery และ เกษตรไทย IoT

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way