Sensing ถอดคุณค่าความเป็นตัวคุณ

R.Phot
Bookspective
Published in
2 min readOct 5, 2020

แนวคิดที่ขอนำเสนอในวันนี้ได้จากการทำงานพัฒนาระบบ IoT หรือ Internet of Things อันเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ การ Sensing หรือการตรวจจับนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับคุณค่าในตัวเรา เทคโนโลยีใหม่จะช่วยได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงของเล่นของเหล่านักประดิษฐ์เท่านั้น เรามาหาคำตอบร่วมกันครับ

คำตอบของการมองไปข้างหน้า

คำถามที่ว่า “ทำไมต้องค้นหาคุณค่าความเป็นตัวเอง” เป็นคำถามที่แฝงอยู่ในคำถามที่ใหญ่คือ “จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร” การมองไปในอนาคตข้างหน้าคือการคิดเผื่อตัวเองในวันพรุ่งนี้ หรือในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าตัวเราจะอยู่ในสถานะ สภาวะอย่างไร แน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่เกิดคำถามใหญ่ขึ้น คำถามที่ตามมาคือการค้นหาสิ่งที่มีอยู่ในมือ สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ และแน่นอนว่าภายในตัวเรามีคุณค่าอะไร

โจทย์ชีวิตแต่ละคน ต่างที่ต่างเวลา และต่างที่มาย่อมไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการดิ้นรนไปข้างหน้า การต้องเผชิญกับวันพรุ่งนี้ไม่ว่าดีหรือแย่ หลายคนไม่มีเวลาแม้จะหยุดคิด หลายคนเวลามากล้นจนต้องใช้ไปกับสิ่งอื่น แต่ไม่ว่าจะมีมากมีน้อย เมื่อวันนี้กำลังจะสิ้นสุดลงและพรุ่งนี้กำลังจะมาถึง การมองกลับมาที่ตัวเราเองว่าพร้อมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องสามัญเสียจนไม่มีอะไรพิเศษ

แต่ทว่าความสามัญของการใช้ชีวิตจนหลงลืมความพิเศษในตัวว่าเคยมีอยู่หรือยังไม่ได้ค้นพบก็น่าเสียดายหากไม่ลองค้นหาดูสักครั้ง ไม่แน่ว่าคุณอาจพบขุมพลังแห่งชีวิต หรือความเรียบง่ายที่แสวงหามานาน

กระบวนการแต่โบราณกาล

ปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อการ “ถอดคุณค่า” มีให้เห็นทั่วไปในชีวิตประจำวัน กล่าวเพียงเท่านี้ก็คงกว้างเป็นมหาสมุทร จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งขึ้นมาเล่านั่นก็คือ “ How to …”

How to ที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่จะบอกว่ามันคืออะไร แต่จะเล่าถึงมันมาจากไหนต่างหาก พื้นฐานง่ายๆ ลองจินตนาการตามนะครับ กลวิธี/วิธีการ/ขั้นตอน/เทคนิคฯลฯ ตั้งแต่กิจวัตรประจำวันง่ายๆไปจนถึงการทำงานยาก ทั้งหลายเหล่านั้นมาจากไหน

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือมาจากสื่อ และจากคนที่ทำสื่อนั้นขึ้นมา ใช่ครับ!!! และประเด็นก็อยู่ตรงนั้น เพราะ How to ทั้งหลายมาจากผู้รู้/ผู้มีประสบการณ์ การทำสิ่งนั้นๆจนเกิดคุณประโยชน์ เกิดผลกระโยชน์ และได้นำมาถ่ายทอดจนเข้ามาอยู่ในการรับรู้ของเราๆท่านๆ

สิ่งที่ต้องการเน้นไม่ใช่เพียงแค่การที่ how to มาจากผู้ที่เชี่ยวชาญกว่า แต่เป็นกระบวนการที่ผู้รู้/ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น ถอดองค์ความรู้ของตัวเองออกมา ลองนึกภาพว่าหากเขา/เธอเหล่านั้นไม่มีจดบันทึก ไม่เฝ้าสังเกต ไม่พินิจพิเคราะห์ how to ต่างๆคงไม่มีรูปร่างหน้าตาจับต้องได้ออกมาให้เราได้สัมผัส หรืออีกกรณีที่หากผู้สนใจไม่ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนถอดเอาองค์ความรู้ออกมาก็คงไม่มีตำราให้เราได้เรียนรู้เช่นกัน

การเลือกใช้/เลือกทำตาม How to เป็นเรื่องของปัจเจคตามอัตภาพ ไม่มีผิดไม่มีถูก ในโลกแห่งความหลากหลายนี้การหยิบยืมแนวคิดการ ถอดองค์ความรู้จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างตัวตนให้ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยคุณค่าของตัวเอง

ผู้นำทางความคิด หลักธรรม แนวปฏิบัติ ทั้งหลายในประวัติศาสตร์มนุษย์ล้วนมาจากกลุ่มคนหรือบุคคลที่ให้เวลาหรือทำการตรวจวัดทั้งภายในและภายนอกตนเอง ตั้งแต่ความรู้สึกไปจนถึงการกระทำ การตรวจจับได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของอะไร เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เสมอไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวันเสมอ บางคนเรียกประสบการณ์ บางคนเรียกเกิดปัญญา แต่โดยสรุปแล้วมันทำให้เราพัฒนาขึ้น

พลังของ Output ผลลัพธ์ที่สัมผัสได้

กว่าจะเกี่ยวข้องกับ IoT ก็มาถึงส่วนสุดท้ายกันแล้ว แต่หากใครพอจะมองออกแล้วว่าผมต้องการสื่อสารอะไรก็อย่าเพิ่งข้ามไป เพราะสิ่งสำคัญอาจเกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาของการตรวจจับและค้นพบ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการจะทำอย่างไรต่อจากนั้นต่างหาก หากนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ นักคิดผู้ปราดเปรื่องไม่ส่งต่อสิ่งที่ค้นพบ การพัฒนาคงไม่สามารถดำเนินมาได้ถึงทุกวันนี้

เมื่อ IoT ช่วยให้เรารับรู้ถึงอุณหภูมิในบ้าน รับรู้และจัดการไฟฟ้าในสำนักงาน ตรวจวัดและควบคุมการผลิต เฝ้าระวังความปลอดภัยฯลฯ การเฝ้าตรวจวับความรู้สึก ความคิด พฤติกรรมของตนเองก็ช่วยให้เราควบคุมตัวเองได้ดียิ่งขึ้น อาจเรียกว่าการตั้งสติ แต่การพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่านั้น บางคนเริ่มจากแก้นิสัยของตัวเองก็ตั้งสติที่นิสัยนั้น บางคนตั้งใจจะเป็นคนใหม่ ก็ตั้งสติพฤติกรรมให้ค่อยๆกลายเป็นคนที่ตัวเองต้องการ

หรือการพัฒนาตัวเองด้านทักษะ อยากออกแบบกราฟฟิกเก่งขึ้น อยากถ่ายภาพเก่งขึ้น อยากขายของเก่งขึ้น อยากใช้โปรแกรมใหม่ๆ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินเช่นเคยคือ ก็เติมเต็มในส่วนที่ยังไม่มี ยังไม่รู้ และอะไรที่ต้องทำเพื่อเพิ่มเข้าไป คงจะหนีไม่พ้นที่จะกลับมาพูดซ้ำว่า ก็ต้องเข้าใจตัวเองว่าขาดอะไร กระบวนการนี้มีระยะเวลาต่างกัน ต่างคนต่างรูปแบบ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะช้าหรือเร็ว จะให้คนที่ชอบเรียนรู้จากการฟังไปเรียนรู้จากการอ่านคงฝืนความรู้สึกไม่น้อย

ท้ายที่สุดไม่ว่าจะตรวจจับอะไรได้ ไม่ว่าการค้นพบนั้นจะนำไปสู่การตั้งเป้าหมายว่าอย่างไร การสร้าง output หรือผลลัพธ์เล็กๆน้อยๆเป็นสิ่งที่ควรทำ ต่อให้การเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศได้ทีละน้อย แต่ทุกวันมันก็เพิ่มขึ้นหรืออาจกระตุ้นให้เราหาทางให้มันเพิ่มขึ้นรวดเร็ว การพัฒนาทักษะอาจไม่เห็นผลชัดหากไม่สร้างผลงาน แม้จะเป็นการวาดรูปค้างไว้ก็ยังดีกว่าไม่มีรูปร่างตั้งแต่ต้น

เมื่อเวลาผ่านไปแล้วลองมองย้อนกลับมา จะพบว่าตัวเองมาไกลแค่ไนจากวันที่เริ่มรู้สึกตัวว่าต้องพัฒนา ผลงานเล็กๆน้อยๆจำนวนมาก ผลงานใหญ่ๆที่ได้เผยแพร่ที่ได้รับคำชื่นชม นั่นเป็นหลักฐานเพียงพอแล้วที่จะบอกว่าคุณค่าได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว…

การมีสติรับรู้ การเฝ้าถามตัวเองหรือการตระรู้ไม่เคยมีอะไรที่สูญเปล่า แนวคิดการตรวจวับภายในความคิดของตัวเองไม่เคยล้าสมัย ไม่ว่ามันจะถูกเล่าด้วยภาษาใด หรือผ่านศาสตร์การพัฒนาใดก็ตาม สภาวะ/สถานะปัจจุบันที่แยกแยะได้ ย่อมหมายถึงอนาคตที่ต่างออกไป

ติดตามผลงานอื่นๆได้ที่ Bookspective และ Discovery

--

--

R.Phot
Bookspective

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way