ถอดบทเรียน ARMOGAN#1: ก้าวแรก…ออกแรงมากที่สุด

R.Phot
Discovery
Published in
3 min readApr 16, 2019

สวัสดีครับ ห่างหายไปนานสำหรับบทความต่างๆ เรื่องลมฟ้าอากาศ เราเป็นผู้พัฒนาเห็ด ARMOGAN หรือชื่อภาษาไทยคือ สถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติแบบองค์รวมระดับท้องถิ่น (ยาวเว่อ)

ก่อนหน้านี้ เราเขียนเกี่ยวกับการศึกษาด้านสภาพอากาศเป็นตอนๆ ไว้ เนื้อหามีหลากหลายประเด็น (สามารถหาอ่านได้ในหัวข้อ Discovery ครับ) แต่สำหรับตอนนี้ เราจะเน้นเล่าถึงการเดินทางของทีมงานที่ได้ลงมือลงแรงกัน จนเห็ด ARMOGAN ตัวแรก (ในประเทศไทย) ติดตั้งเป็นผลสำเร็จ เริ่มต้นทำงานตรวจวัดสภาพอากาศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นที่เรียบร้อย และเรายังคงทำงานต่อไป เพื่อต่อยอดและสร้างผล กระทบเชิงบวกตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้

ช่วงเวลากว่า 4 ปี ก่อนจะมาสู่วันที่ระบบทั้งหมดทำงานได้นั้น มีหลากเรื่องราวและบทเรียนซึ่งมีค่าต่อการทำงานของเรา ทัศนคติมุมมองของเรา โดยเฉพาะเป้าหมายของเรา ทุกอย่างชัดเจนและมีพลังยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก มาเริ่มกันเลยครับ!!!

เราเริ่มต้นกันจริงจังเมื่อเดือนสิงหาคม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นเหตุการณ์ประชุมรอบดึกที่ทุกคนกำลังจะกลับบ้านแล้วเผชิญกับฝนตกอย่างหนัก การนั่งคุยเพื่อรอฝนหยุดนำไปสู่คำถามที่ว่า “ทำไมเราไม่รู้ว่าฝนจะตก” และนำไปสู่ความฟุ้งว่าหากรู้ว่าฝนจะตกชีวิตเราคงดีกว่านี้ อีกทั้งหากเป็นผู้ถือข้อมูลว่าฝนจะตก เราคงทำอะไรได้มากกว่านี้

ก่อนหน้านั้นไม่นาน เรากำลังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดความชื้นในดินแบบเรียลไทม์ ซึ่งแนวคิดการตรวจวัดความชื้นในดินนั้น จริงอยู่ที่มันไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่เราคิดไปมากกว่านั้นว่า เมื่อมีการตรวจวัดแบบเรียลไทม์ ได้ข้อมูลของความชื้นในดินจำนวนมากมาแล้ว ทำไมเราไม่นำมาวิเคราะห์แล้วสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่เรื่องความชื้นในดินในแบบของพวกเราเองล่ะ?

ด้วยแนวคิดเดียวกันนี้เรานำมาใช้กับเรื่องสภาพอากาศด้วย ล่วงพ้นมาถึงปี 2559 เราพยายามตั้งคำถามว่า จะสามารถทำให้มีข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำขึ้นในระดับพื้นที่เล็กๆ ได้อย่างไร คำตอบแรกของคำถามนั้นมัน “เป็นไปได้” แต่ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในหลายด้าน

เราตั้งเป้าหมายจากการศึกษาในช่วงแรกว่า หากจะทำให้ข้อมูลสภาพอากาศแม่นยำขึ้นได้ ต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดไปติดตั้งในพื้นที่นั้นๆ และเมื่อสภาพอากาศมีความสัมพันธ์กับทุกชีวิตบนโลก จะเป็นไปได้ไหมหากจะสร้างสถานีตรวจวัดสภาพอากาศของเราเอง ที่มีการตรวจวัดปัจจัยต่างๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตได้ด้วย

หากจะเปรียบเรื่องราวของเรากับภาพยนตร์ ก็คงเหมือนภาพยนตร์หลายภาคที่แต่ละภาคมีตัวละครพุ่งไปตามเส้นทางการผจญภัยของตัวเอง มีการเรียนรู้ มีการต่อสู้ ได้องค์ความรู้และบทเรียนมาเสริมในเรื่องหลัก ซึ่งในที่นี้ไม่ได้เอาไว้ฆ่าศัตรู แต่เอาไว้พิชิตความ “เป็นไปได้” ครับ

  • เรื่องแรก คือ “เทคโนโลยีเซ็นเซอร์” ด้วยพื้นฐานทีมงานส่วนหนึ่งมาจากสายงานด้าน Computer Science, Software และ Engineer เราจึงเริ่มจากสิ่งที่จับมาต่อติดกันได้ง่ายหน่อย เป้าหมายคือ ศึกษาวงการเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ว่ามีอุปกรณ์อะไรบ้างในท้องตลาด มีรีวิวการใช้งานหรือไม่อย่างไร และหากเราจะนำมาปรับใช้บ้างจะพบปัญหา หรือมีเงื่อนไข หรือข้อจำกัดอย่างไรบ้าง
  • เรื่องที่สอง คือ “การสื่อสาร” ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดเรื่องวงจรสื่อสาร ทำให้ต้องเริ่มศึกษากันใหม่หมด แต่เรามองไปไกลกว่าการซื้อมาปรับใช้ นั่นคือ “หากในอนาคตเทคโนโลยีสื่อสารหรือเซ็นเซอร์เปลี่ยนไป อุปกรณ์สื่อสารกลางของเราจะยังต้องรองรับได้เสมอ” เราจึงเริ่มด้วยการซื้ออุปกรณ์มาทดลองเล่นให้รู้ถึงศักยภาพของแต่ละแบบ เพื่อนำไปออกแบบวงจรของเราเอง
  • เรื่องที่สาม คือ “องค์ความรู้ด้านสภาพอากาศ” เราจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจว่า สภาพอากาศคืออะไร มีผลกระทบอย่างไร จะตรวจวัดได้อย่างไร มีหลักเกณฑ์การตรวจวัดอย่างไร วงการอุตุนิยมวิทยาทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อถอดองค์ความรู้เหล่านั้นมาออกแบบระบบตรวจวัดสภาพอากาศในแบบของเรา
  • เรื่องที่สี่ คือ “ความเป็นสากลของกระบวนการ” เรามองว่าเรื่องสภาพอากาศเป็นเรื่องของทุกคน ไม่จำกัดว่าจะเป็นชนชาติใด มีขอบเขตพื้นที่อย่างไร หากพายุจะเข้า ธรรมชาติก็เข้าถึงทุกคนได้อยู่ดี เราจึงมีแนวทางจะพัฒนาให้ระบบเรามีความเป็นสากล หมายความว่าข้อมูลของเราสามารถแลกเปลี่ยนกับนานาชาติได้ โดยไม่ติดเรื่องหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานใดๆ
  • เรื่องสุดท้ายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงการ คือ “การเข้าถึงผู้คน” จากการศึกษาในช่วงแรกและจากประสบการณ์ของทีมงานใหญ่ที่มีต่อการทำงานกับผู้คนมาก่อน พบว่า “คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศน้อยมาก” การสร้างความสนใจอันจะนำไปสู่ความตระหนักรู้ จึงเป็นแนวทางในการออกแบบสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่เน้นไปที่ การสร้างความสนใจ (ใครอ่านตอนอื่นๆ ก่อนหน้านี้คงได้เห็นรูปแบบกันไปบ้างแล้วนะครับ)

ตลอดปี 2559 การศึกษาค้นคว้าแต่ละด้านพาไปสู่การค้นพบหลายต่อหลายเรื่อง เมื่อค้นพบคำตอบหนึ่ง ก็นำไปสู่คำถามอีกเป็นสิบและมีประเด็นที่เราต้องถกกันหลายต่อหลายครั้งเพื่อปรับทิศทางการทำงาน ระหว่างนั้นเราได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมหลายอย่าง จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราได้นำเสนอวิธีคิดและแนวคิดของเราเกี่ยวกับสภาพอากาศออกไปในวงกว้าง

โครงการ “เกษตรแม่นยำ เชียงรายโมเดล” เป็นโครงการแรกแต่แหกโค้ง เพราะเราทำการพัฒนาอุปกรณ์วัดความชื้นในดินกับทำโครงการตรวจวัดสภาพอากาศไปพร้อมกัน เราเห็นความสัมพันธ์อันแยกไม่ออกระหว่างน้ำ น้ำในดิน และอากาศ จึงเกิดโครงการเกษตรแม่นยำขึ้นเพื่อนำร่องการตรวจวัด ดิน อากาศ และควบคุมระบบน้ำ เพื่อให้เกิดความ “แม่นยำ” อย่างแท้จริง

แนวคิด คือ “ต้องมีการตรวจวัดเก็บข้อมูลก่อน จึงจะเข้าใจพฤติกรรมและคุณลักษณะของน้ำในดินกับอากาศ จากนั้นจึงจะสามารถให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แต่แน่นอนว่าแนวคิดนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เพราะ 1 รอบการปลูกอาจใช้เวลาถึง 1 ปี เรียกง่ายๆ ว่าลองเชิงก่อน เข้าปีที่ 2 เราจึงจะเริ่มทดสอบได้จริง

ระยะเวลาที่ยาวนานนี้เป็นข้อกังวลของเราเช่นกัน หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริง คือ การทำโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เราพบอุปสรรคหลายอย่างตลอดทั้งกระบวนการ (ซึ่งต่างจากภาคเอกชน) อย่างไรก็ตามเรายังเดินหน้าต่อด้วยการมองไปข้างหน้า หากกรณีศึกษาสำเร็จด้วยโครงการนี้ ผู้ที่จะช่วยให้เกิดผลกระทบได้มากที่สุดก็คือภาครัฐ เนื่องจากเป็นหน่วยงานระดับโครงสร้างของวงการ

เราได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในสมัยนั้น การดำเนินงานดูจะราบรื่นเป็นไปได้ด้วยดี เหลือเพียงเราต้องเร่งศึกษาและออกแบบโครงการเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อนำเข้าระบบอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่…เวลาผ่านไปไม่กี่เดือนข่าวร้ายก็มาเยือนเรา มีการปลดผู้ว่าราชการจังหวัดใหญ่!!!!! ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่แน่นอนคือโครงการเกษตรแม่นยำที่เชียงรายของเราก็ถูกปลดกลางอากาศไปด้วย

การเดินทางยังไม่จบ แม้ประตูบานแรกจะปิดลง เราก็ยังคงศึกษาและเดินหน้าทำงานต่อไป ซึ่งภายหลังเราพูดได้เต็มปากว่า หากทำตั้งแต่ตอนนั้น ความรู้ความเข้าใจเราอาจยังไม่ดีพอที่จะสร้างผลงานให้ดี แม้จะได้ตัวงานออกมา แต่อาจเจอปัญหามากมาย (ซึ่งเมื่อถึงปี 2562 ที่เราติดตั้งตัวแรกสำเร็จแล้ว บอกได้เลยว่าเราพบและแก้ปัญหาปิดช่องโหว่ไปมากทีเดียว)

ต่อมา แนวคิดเราไปถูกใจผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง เราค่อนข้างคาดหวังไว้สูง เพราะเป็นหน่วยงานที่ลอยตัวอยู่เหนือกระทรวงใดๆ อีกทั้งยังมีหน้าที่คือออกแนวทางสร้างนโยบายของชาติด้านนวัตกรรม!!!

ไม่นานหลังจากการล้มลงของโครงการเชียงราย โครงการใหม่ก็เกิดขึ้นกับหน่วยงานใหม่แห่งนี้ ซึ่งเมื่อเรามีโอกาสเข้าไปพบปะพูดคุยและวางแนวทางเพื่อความชัดเจน เรากลับสัมผัสได้ถึงความไม่เป็นเอกภาพในองค์กร มีผู้บริหารที่เห็นด้วย (ผู้ผลักดันเราเข้าไป) และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่เราจะทำ และที่สำคัญกลุ่มหลังมีคะแนนโหวตมากกว่า

ใช้เวลาอยู่นานกับการเจรจาต่อรอง สุดท้ายก็ได้โครงการออกมาเป็นเพียงการจัดอบรมสัมนากับเกษตรกรเท่านั้น ไม่ได้มีการสร้างตัวอุปกรณ์หรือนำไปสู่การสร้างฮาร์ตแวร์ใดๆ อย่างไรก็ตามเรายังมองบวก ว่างานนี้มีแต่ได้กับได้ (แม้จะไม่ได้ตรงตามแผนงานหลัก) นั่นคือ การจัดสัมนาของเราอยู่ภายใต้แนวทาง “การค้นหาสิ่งสนับสนุนการตัดสินใจทางการเกษตร” ของเกษตรกรไทย

เราลงพื้นที่ไปร่วมสัมมนากับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดยโสธร (เน้นกลุ่มนาข้าว) และจังหวัดเชียงราย(กลุ่มเกษตรที่สูง พืชเมืองหนาว ชา กาแฟ สตรอว์เบอรี่) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการสัมมนาเท่าไหร่นัก เพราะเราใช้วิธี Design Thinking กับผู้เข้าร่วม เน้น “การรับฟัง” มากกว่าการพูดให้ฟัง ทำเอาผู้แทนจากหน่วยงานที่เดินทางไปพูดเปิดงาน (จากเคยไม่เห็นด้วย) ถึงกับออกปากว่า ไม่เคยเห็นการให้ความร่วมมือแสดงความคิดเห็นมากขนาดนี้

เมื่อสิ้นสุดโครงการ เราก็ได้จัดทำรายงานหลายร้อยหน้าส่งให้หน่วยงานดังกล่าว หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจทางการเกษตรอันดับหนึ่ง ไม่ใช่ราคา ไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นเรื่อง “สภาพอากาศ” และเป็นเรื่องของการส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จากภาครัฐที่ต้องการให้มีมากขึ้นและเข้าถึงง่ายมากกว่า

รายงานฉบับนี้จนถึงปัจจุบันกว่า 3 ปีแล้ว ยังคงใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับหน่วยงานดังกล่าวอยู่เสมอ ทว่า โครงการหลักของเราก็ไม่ได้เดินหน้าต่อเพราะยุติความร่วมมือเพียงเท่านั้น

สิ่งที่เราบอกว่ามีแต่ได้กับได้ หากจะขยายความต่อ คือ หนึ่ง เราได้ทดสอบแนวความคิดของเราว่าเรา “ไม่ได้คิดไปเอง” เห็นและสัมผัสแล้วว่าปัญหามีอยู่จริง สอง ได้เปิดโลกเปิดประสบการณ์ว่า บริบทความเป็นเกษตรกรภูมิภาคต่างๆ มีศักยภาพและมุมมองที่แตกต่างกันทั้งสิ้น นอกจากนี้เรายังมีเอกสารวิชาการที่หน่วยงานระดับสูงนำไปใช้อ้างอิงได้ (เรื่องความสำคัญของสภาพอากาศต่อเกษตรกรรมของไทย) ซึ่งนอกจากจะมาจากความเป็นจริงทั้งหมดแล้ว ยังเป็นตัวสร้างเสริมความน่าเชื่อถือให้ทีมงานที่เพิ่งสะสมชั่วโมงบินได้เพียงปีกว่าเป็นอย่างดี

เชื่อว่าทุกการเดินทางเริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ และทุกการก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว ก็เท่ากับหนึ่งการเดินทาง เราใช้เวลาปีกว่าในการออกแรงพาตัวเองเยื้องย่างก้าวออกไป ได้พบปะมิตรสหายมากหน้าหลายตา หลายวงการ มีทั้งที่เข้ามาช่วยเหลือ เข้ามาขอบคุณ คอยส่งกำลังใจให้สู้ต่อไป และเฝ้ารอที่จะใช้สิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นมา

ตอนนี้เพียงเล่าถึงการยกขาย่างไปข้างหน้าเท่านั้น (เกรงว่าถ้าเขียนต่อจะยาวเกินไปแล้วครับ) ในตอนหน้าจะรวบรวมเอาการเดินทางของพวกเรา ที่ถือได้ว่าเป็นการย่างเหยียบผืนดินด้วยความมั่นคงในจุดยืน และชัดเจนในศรัทธาที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก…ยังไงก็ติดตามการเดินทางของพวกเราด้วยนะครับ

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way