เรียนรู้สภาพอากาศอย่างไรให้แม่นยำถูกบริบท?

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readApr 24, 2018

ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงความซับซ้อนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา มาทำความเข้าใจเรื่องอากาศกันเถอะ ซึ่งดูเหมือนจะซับซ้อนเกินกว่าเราจะสามารถทำนายได้ แต่ทว่า ธรรมชาติมีวัฏจักรของมัน จากการศึกษาค้นคว้าค้นพบและส่งต่อองค์ความรู้มาหลายร้อยปี วันนี้เราอาจจะมีเพียงพอเพื่อทำความเข้าใจอย่างแท้จริง มาเริ่มกันที่ ITCZ

แนว Intertropical Convergence Zone (ITCZ) หรือ ร่องมรสุม อันเป็นคำที่เราคุ้นเคยกันจากข่าวพยากรณ์อากาศ แล้วมันคืออะไร มาดูอย่างเร็วๆกันครับ

เนื่องจากโลกของเราเอียง แต่รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ในแนวตรง ทำให้เมื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์ ใน 1 ปี แต่ละพื้นที่ได้รับพลังงานไม่เท่ากัน แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา หรือที่เราเรียกฤดูกาลนั่นเอง

เมื่อแต่ละพื้นที่ได้รับพลังงานไม่เท่ากันจึงเกิดการถ่ายเทจากพื้นที่ที่มีพลังงานมากไปยังพื้นที่ที่มีน้อย

ภาพนี้แสดงกลไกการถ่ายเทพลังงานของซีกโลกเหนือและใต้ โดยมี ITCZ หรือร่องมรสุมความกดอากาศต่ำเป็นแนวปะทะอยู่ตรงกลาง บริเวณที่เราเรียกว่าเส้นศูนย์สูตร

ร่องมรสุมนี้มีความหมายตามชื่อไทย คือ เป็นบริเวณที่อากาศร้อนชื้นจากซีกโลกเหนือและใต้มาปะทะกัน (ตามแบบชื่ออังกฤษ) การปะทะกันตามแนว ทำให้อากาศชื้นและมีความร้อนสูงดันตัวขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศที่สูงกว่า (อันนี้เหมือนเมืองที่คนอาศัยหนาแน่นจนขยายไม่ได้ ต้องสร้างตึกไปอาศัยอยู่บนที่สูง) เมื่ออากาศยกตัวขึ้นไปหมดน้ำหนักของอากาศบริเวณนั้นจึงน้อยลงและเกิดติดต่อกันเป็นแนวยาว เป็นที่มาของชื่อ “ร่องมรสุม” อากาศชื้นเหล่านี้เมื่อขึ้นไปถึงชั้นที่มีอุณหภูมิต่ำก็จับตัวกลายสภาพเป็นเมฆจำนวนมากนั่นเอง

ร่องมรสุมนี้เป็นแนวก่อเมฆชั้นดี และแน่นอนเมื่อมีเมฆมากย่อมตามมาด้วยการก่อเกิดพายุฝนตั้งแต่ระดับเล็กไปจนถึงพายุขนาดใหญ่

แนวก่อเมฆหรือร่องมรสุมนี้ จะพาดขึ้นลงผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ดังแสดงในภาพ ช่วงเวลาที่เลื่อนขึ้น-ลง พาดผ่านนี้จะตรงกับช่วงก่อนเข้าฤดูฝนไปจนถึงหมดฝนนั่นเอง ประเทศอื่นๆที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันจะได้รับผลกระทบไปเป็นฤดูกาลที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

แล้วก็มาถึงคำถามของเราว่าจะเข้าใจอากาศและเรียนรู้คาดการณ์ให้แม่นยำได้อย่างไร ในเมื่อมีกลไกที่ชัดเจนมากขนาดนี้แต่ทำไมพยากรณ์อากาศของไทยจึงยังไม่แม่น ผมจะขอข้ามส่วนที่เป็นHuman Error ของคนไปทั้งหมด และเจาะจงเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญ นั่นคือ สภาวะโลกร้อน

การศึกษาจากหลากหลายแหล่งพบว่า เมื่อกระแสน้ำมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลงจากน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายเร็วและมากขึ้นเนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ทำให้กลไกขนาดใหญ่อย่างร่องมรสุมความกดอากาศต่ำ(ITCZ) ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เมื่อกลไกขนาดใหญ่เปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลต่อวงรอบของการดำรงชีวิตของเรา จะเป็นอย่างไรถ้าฝนไม่มาตามฤดูกาลอย่างที่ควรจะเป็น(ไทยเราเริ่มเห็นผลมาสักระยะหนึ่งแล้ว) อากาศที่ควรจะร้อนกลับเย็น ที่ควรจะเย็นกลับร้อน มนุษย์เราปรับตัวเก่งจนเอาตัวรอดได้ แต่ประเด็นก็คือ เหล่าผู้ผลิตอันดับแรกอย่าง พืช จะปรับตัวได้ทันหรือไม่

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพืชปรับตัวไม่ทัน เจ็บป่วยล้มตาย คน สัตว์ จะผลิตอาหารได้อย่างไร?

เมื่อมีผลกระทบอยู่ตรงหน้าและกำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา การเรียนรู้สภาพอากาศที่อาจไม่เป็นไปตามกลไกเดิมควรเริ่มอย่างไร ใน Discovery เรากล่าวไปว่าในพื้นที่หนึ่งๆมีสภาพแวดล้อมภูมิประเทศและการใช้พื้นที่ มีผลถึงสภาพอากาศที่เป็นอยู่เสมอ

เราจึงมาเริ่มต้นกันที่ข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลัง โดยเปรียบเทียบตำแหน่ง วัน เวลา ของแนวITCZ ที่พาดผ่านประเทศไทยเท่าที่มีบันทึกย้อนหลัง เทียบกับ ตำแหน่ง วัน เวลา ของสถานีตรวจอากาศของไทยและข้อมูลเก่าที่มีการเก็บไว้ทั่วประเทศย้อนหลังเท่าที่จะหาได้

เพื่อหาความสัมพันธ์และแนวโน้มในเชิงภูมิศาสตร์ ว่าจังหวัดที่มีภูเขาล้อมรอบส่งผลต่อสภาพอากาศอย่างไรในแต่ละฤดูกาล หรือชายฝั่งของไทยเป็นอย่างไรเมื่อแนวร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดเข้า-ออก ฯลฯ

เพราะหากเราเข้าใจกลไกสภาพอากาศในแต่ละท้องถิ่นแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนไปมากกว่านี้ ปรากฏการณ์ต่างๆจะเคลื่อนเข้ามาอย่างไร เวลาใด รูปแบบใด เราก็สามารถทำนายและป้องกันไว้ก่อนได้

อีกทั้งเราจะมีความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมสภาพอากาศในท้องถิ่นของใครของมัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำนายอากาศ จะเปลี่ยนจาการพยากรณ์ “มีฝนตก 20% ของพื้นที่” ไปเป็น “เวลา …:… น. จะมีฝนตกหนักในตำบล A,Bและ C และอีก1ชั่วโมงจะไปยังตำบล D”

แล้วมารอดูผลกันครับ… (เราเองก็ลุ้นมากๆ)

--

--

Discovery
Discovery

Published in Discovery

Journey is an essential part of innovation

R.Phot
R.Phot

Written by R.Phot

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way