ทำไมหอฟอกอากาศกลางแจ้งจึงไม่ได้ผล: คำตอบในอากาศ

R.Phot
Discovery
Published in
5 min readNov 19, 2019
https://mgronline.com/qol/detail/9620000097795

เมื่อไม่นานมานี้เราได้เห็นหลายหน่วยงานออกมาเปิดตัวทำข่าวเรื่อง “เครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง” ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทำข่าวใหญ่โต และทดลองติดตั้งทำงานจริง ไม่นานก็มีคนไปลองของ!!!

https://mgronline.com/qol/detail/9620000097795

ผู้เขียนเองยอมรับว่าค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องขนาดและปริมาณของปัญหา กล่าวคือ อากาศในพื้นที่รัศมี 30–50 เมตร ที่ความสูง 30 เมตรก็มีปริมาตรกว่า 60,000 ลูกบาศก์เมตร ฟังดูอาจสูสีกับอัตรากำลังการฟอกอากาศของเครื่อง ติดอยู่แค่ประเด็นเดียวคือ ฟอกอากาศกลางแจ้ง!!!

คงไม่ต้องเทียบขนาดหรือสาธยายถึงขนาดของพื้นที่จริงและบรรยากาศจริงๆ หากเทียบกับกำลังการฟอกของเครื่องแล้ว ขนาดอาจเข้าใกล้ค่า ไม่มีจุดสิ้นสุด และอีกหนึ่งกลไกที่ไม่มีคนออกมาคุยมากนัก แม้กระทั่งฝ่ายวิชาการเองก็ยังน้อยมากเมื่อพูดถึงการพิสูจน์นั่นก็ “การไหลตัวของอากาศในเมือง”

การไหลตัวของอากาศในเมือง

เรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก และที่นำมากล่าวถึงในวันนี้เพราะผู้เขียนมองว่านี่อาจเป็นหนึ่งในโจทย์แรกที่ต้องแก้ไขให้ได้ก่อน จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะในเมืองได้อย่างแท้จริง

ขอปรับความเข้าใจกันเบื้องต้นก่อนว่า เรากำลังศึกษาเรื่องฝุ่นในอากาศ ย้ำ “ในอากาศ” ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาสภาพอากาศที่นำเอาฝุ่นพัดพามาเข้าจมูกเรา

เรื่องแรกที่เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนคือเรื่องสภาพอากาศขนาดเล็กหรือ Micro-climate คำนี้เป็นคำกลางๆเหมือนคำว่า “ออกแบบ” (อ่านเฉพาะเรื่องได้ที่ micro-climate) อาจหมายถึงอากาศแบบใดก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และกระบวนการทำงาน ในบริบทนี้เรากำลังพูดถึง micro-climate ในพื้นที่เมือง

มาลองมองในมุมของผู้ที่ต้องการฟอกอากาศกลางแจ้งโดยมีเรื่อง micro-climate เป็นพื้นฐานกันดูครับ ขอเริ่มที่การมองว่าพื้นที่ตั้งของเครื่องฟอกอากาศเป็นจุดที่ตั้งอยู่ริมถนน โดยเปรียบถนนเป็นร่องหรือ “คลองของอากาศ” มีขอบของฝั่งคลองเป็นตึกที่เรียงรายตลอดแนวอยู่ข้างถนน บางพื้นที่ของเมืองเป็นตึกแถวไม่สูงมาก บางพื้นที่ของเมืองมีตึกสูงตลอดทั้งแนว บางพื้นที่มีตึกสูงสลับต่ำกระจายกันอยู่ทั่วไป

แล้วมีอะไรในคลองอากาศนี้บ้าง???

เปรียบกรณีที่ง่ายคืออากาศนิ่งไหลเวียนน้อย มลพิษหรือฝุ่นละอองที่ปล่อยออกมาจะมาจากร้านอาหารที่มีการปิ้งย่างและปล่อยควัน กิจกรรมการก่อสร้าง จากยานพาหนะที่สัญจรไปมา มีความร้อนจากการจราจร มีความร้อนจากคอมเพลสเซอร์แอร์จำนวนมาก มีการคายความร้อนจากปูน กระจก คอนกรีต ลาดยางจากการรับแสงแดดเป็นเวลานาน เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันจะพบว่า “คลองอากาศ” นี้น่าจะมีบรรยากาศที่ร้อนระอุและดูเป็นพิษมากพอสมควร

สิ่งที่กล่าวไปเมื่อครู่คือลักษณะของอากาศที่เกิดขึ้นกับทุกเมืองใหญ่ทั่วโลกเป็นหน่วยย่อยของความร้อนที่จะรวมตัวกันเป็นก้อนความร้อนขนาดใหญ่ที่เรียกกันกว่า “เกาะความร้อนเมือง” (Urban heat island)

ลองจินตนาการเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง นึกภาพว่าคลองอากาศที่ร้อนและฝุ่นฟุ้งเชื่อมต่อกันทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร??? แน่นอนว่าอากาศเหล่านี้จะเกิดการถ่ายเทไปหากัน ด้วยพลังงานที่แตกต่างกันเป็นกลไกธรรมชาติซึ่งปรับสมดุลตัวเองอยู่ตลอดเวลา หากเปรียบกับน้ำคือการไหลไปมาระหว่างกันจนมีสมดุลทั้งระดับความสูงและพลังงาน หากเป็นอากาศเราจะสัมผัสได้ในรูปของ “ลม” ซึ่งนอกจากจะพัดพาแก๊สไป-มา สิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศก็ถูกพัดพาไปด้วย ฉะนั้นฝุ่นที่อยู่ในอากาศจึงถูกพัดพาอยู่เสมอ

ขยับความปวดหัวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งหากคลองที่ว่ามาทั้งหมด(นึกถึงถนนทั่วกทม.เป็นคลอง) อยู่ใต้มหาสมุทรอากาศอีกทีหนึ่ง(สำนวนเก่าแก่แต่ยังสื่อความหมายได้ชัดเจน) สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พลวัตรอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น จะเกิดระหว่างอากาศในพื้นที่เมืองและเกิดการถ่ายเทแลกเปลี่ยนกับบรรยากาศชั้นบนทั้งหมดด้วยเช่นกัน ตามปัจจัยความร้อน และปรากฏการณ์ขนาดใหญ่

ความหมายก็คือไม่ว่ากิจกรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นภายในเมืองย่อมส่งผลต่อลักษณะอากาศในบริเวณนั้นๆตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น อาจเกิดลมน้อยเนื่องจากรถไม่สามารถเคลื่อนตัวได้เร็ว แต่จะมีการสะสมของความร้อนและฝุ่นควันจากไอเสียเป็นจำนวนมาก หรือในบริเวณที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อากาศจะมีความชื้นสูง อุณภูมิต่ำกว่าพื้นที่เมืองโดยรอบ และปริมาณฝุ่นควันที่น้อยกว่า เนื่องจากมีไอน้ำในอากาศและปากใบของพืชซึ่งรับอนุภาคฝุ่นเข้าไปได้

ความแตกต่างของสภาพอากาศแต่ละพื้นที่นี้เองที่เรากำลังจะสื่อสารว่ามันคือ Micro-climate ของบริเวณนั้นๆ เมื่อแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของลักษณะอากาศ อากาศในเมืองจะถ่ายเทกันอยู่เสมอ จากพื้นที่เย็นไปหาพื้นที่ร้อน จากพื้นที่ความชื้นในอากาศสูงไปหาพื้นที่ความชื้นในอากาศต่ำ การผสมปนเปกันนี้ทำให้การตรวจวัดฝุ่นและการฟอกอากาศกลางแจ้งยังไม่สามารถไปถึงตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้ เนื่องจากไม่สามารถระบุได้อย่างแท้จริงว่าเครื่องได้ทำการฟอกฝุ่นในบริเวณนั้นจริง อาจเป็นฝุ่นที่มาจากพื้นที่ข้างเคียง เพราจุดติดตั้งเป็นพื้นที่ลมผ่าน เป็นต้น

ประเมินปัจจัยหลัก

เรามาดูบริบทของอากาศเมืองกันอีกครั้ง ในพื้นที่ริมถนนในเมืองจะมีความร้อนจากวัสดุที่แผ่ออกมา มีความร้อนจากคอมเพลสเซอร์แอร์ มีความร้อนจากไอเสียรถยนตร์ มีความปั่นป่วนการจราจร(รถวิ่งสวนกันไปมา) มีการถ่ายเทของอากาศร้อนเย็น อากาศแห้งชื้นภายในเมือง มีการขยายตัวขึ้นสูงของอากาศในเมืองและมีอากาศโดยรอบ ไหลเวียนแทนที่ผสมกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา เครื่องกรองอากาศหนึ่งจุดสามารถทำอะไรได้บ้าง???

จากที่มีทั้งนักข่าว นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยไปลองทดสอบเครื่องฟอกอากาศด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป จะพบว่าหลายครั้งที่การนำเครื่องตรวจวัดฝุ่นแบบพกพาไปทำการวัดฝุ่นในอากาศด้วยระยะห่างต่างๆจากตัวเครื่อง จะมีค่าแปรปรวนขึ้นลงจนไม่สามารถบ่งชี้นัยสำคัญของการทำงานของเครื่องได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปตั้งแต่แรกคือการทดสอบการทำงานของเครื่องนั้นขาดข้อมูลกลไกสภาพอากาศหรือ Micro-climate ในเมือง

หากการทดสอบของผู้ที่สงสัยและข้องใจ ควรทำการตรวจวัดทิศทางลมและฝุ่นละอองควบคู่กันไปด้วย ทำการตรวจวัดรอบๆเครื่องฟอกอากาศในทุกทิศทาง เพื่อหาว่าทิศทางลมที่นำฝุ่นปริมาณหนึ่งเข้ามาจากทิศหนึ่ง เมื่อพัดผ่านเครื่องแล้วอีกฟากของเครื่องฟอกอากาศ จะสามารถตรวจวัดค่าฝุ่นได้ลดลงจริงหรือไม่ (จริงๆมีการทดลองแล้วพบว่าผลไม่ต่างกัน แต่ผู้เขียนอยากมองถึงการตรวจวัดที่จริงจังและมีผลชี้ขาด)

เมื่อสภาพอากาศเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรวจวัดและออกแบบวิธีการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในเมือง ผู้เขียนจึงได้ทดลองหาข้อมูลแล้วนำมาทดลองสร้างแบบจำลอง micro-climate ของอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อทดสอบสมมติฐานนี้

ลองสร้าง Micro-climate

ผู้เขียนได้ลองค้นหาข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศและข้อมูลฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อประเมิน Micro-climate เท่าที่มีดำเนินการอยู่(เท่าที่พบบนออนไลน์) ทั้งที่เปิดเภยให้ชมข้อมูล และดาวโหลดข้อมูลได้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับปัจจัยสภาพอากาศเป็นอย่างมากเนื่องจากปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการไหลเวียนของอากาศในเมือง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์ “ฝุ่น” ในอากาศได้อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับค่าปัจจัยการตรวจวัดได้แก่

http://th.gofreedownload.net/free-vector/vector-icon/weather-icons-vector-73165/#.XdOsk1czbIU
  • อุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ: เนื่องด้วยฝุ่นละอองในอากาศประกอบด้วยสสารทั้งแขวนลอย และคอลลอยด์ มีน้ำหนักเบาสามารถฟุ้งกระจายไปตามการเคลื่อนตัวของอากาศ และพลังงานในอากาศก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สสารและหรืออนุภาคเหล่านั้น ฟุ้งกระจายมากหรือน้อย เช่นเดียวกับความชื้นในอากาศซึ่งมีความสัมพัทธ์กันกับอุณหภูมิ และยังสัมพันธ์โดยตรงกับอนุภาคในอากาศ การได้ข้อมูลทั้งสองปัจจัยมาจะช่วยให้การวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลฝุ่นละอองได้อย่างเข้าใจบริบทมากขึ้น
  • ความกดอากาศ: ปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ณ เวลา และสถานที่นั้นๆ โดยเฉพาะ “ปรากฎการณ์” ที่เกิดขึ้น และความกดอากาศนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศหรือลม (ที่พัดฝุ่นไปมา) ฉะนั้นข้อมูลความและปรากฏการณ์จึงจำเป็นต่อการเรียนรู้พฤติกรรมอากาศ
  • ความเร็วลมและทิศทางลม: สองปัจจัยนี้มีทั้งการประมวลผลแบบแยกจากกัน และแบบรวมกัน แบบแรกค่าความเร็วลมที่เกิดขึ้นจะหมายถึง “มีการเคลื่อนตัวของการอากาศหรือไม่ และรวดเร็วแค่ไหน” กล่าวคือหากมองเป็นปัญหาเรื่องฝุ่นละอองการมีลมพัดเทียบกับค่าการตรวจวัดฝุ่น ณ เวลาและสถานที่เดียวกันจะช่วยให้ประเมินได้ว่า “ลม”ก้อนนั้นพัดพาฝุ่นมามากน้อยเพียงใด สองข้อมูลทิศทางลมหมายถึงมวลออากาศนั้น “พัดพามาจากทิศทางใด” การตรวจวัดทิศทางลมในพื้นที่ที่ผังเมืองสลับซับซ้อนเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้แน่ชัดว่าทิศทางลมที่ตรวจวัดได้เป็นทิศทางลมของบรรยากาศจริงด้านบนหรือมาจากการหักเหเลี้ยวเบนหมุนวนมาจากสิ่งกำบัง กระนั้นก็ตามหากเปรียบช่องถนนเป็นคลองความเป็นไปได้ที่จะพบแนวโน้มของทิศทางลมเป็นไปตามช่องถนนนั้นๆก็มีอยู่มาก หากได้ข้อมูลทั้งความเร็วลมและทิศทางลมต่อเนื่องหลายปีจะช่วยให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมอากาศ ณ บริวเณหนึ่งๆได้ดียิ่งขึ้น
  • ปริมาณน้ำฝน: จากข้อมูลข่าวสารที่ออกมาเรื่องฝนหรือจริงๆคือละอองน้ำขนาดเล็กจำนวนมหาศาลที่มากับฝนมีส่วนช่วยให้ปริมาณฝุ่นในอากาศลดลง(จากการมีตัวกลางยึดเกาะและตงลงพื้นเนื่องจากมีน้ำนหักมากกว่าอากาศ) ฉะนั้นการมีข้อมูลว่าฝนตกในบริเวณใดปริมาณเท่าใด ย่อมมีความสำคัญต่อการประมลผลระบบอากาศในเขตเมือง
  • ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ: ข้อมูลนี้ถูกจัดเข้ามาในการประเมินด้วยเนื่องจากเรากำลังวิเคราะห์เรื่องมลพิษ ฉะนั้นหากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่มีการตรวจัดข้อมูลมลพิษก็จะช่วยให้เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแต่ละปัจจัยอากาศได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือกลับกันหากโครงการหรือสถานีตรวจวัดมลพิษในอากาศมีการตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศร่วมด้วยก็จะให้ผลการวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงและเป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน

ก่อนเข้าประเด็นการประเมินข้อมูลขอเรียนให้ทราบก่อนว่า หลักเกณฑ์การประเมินนั้นเป็นไปตามแนวทางการวิเคราะห์พื้นที่จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ วัสดุ พลังงาน บริบทพลวัตรของพื้นที่ และตามหลักอุตุนิยมวิทยาเพื่อประเมินในแนวทางของผู้เขียนเอง หากมีข้อผิดพลาดประการใดยินดีแลกเปลี่ยนครับ

การประเมิน Micro-climate หรือสภาพอากาศขนาดเล็ก เงื่อนไขหลักคือ “ปัจจัยสภาพแวดล้อม” โดยรอบสถานีตรวจวัด ตั้งแต่ความโล่งโปร่งของพื้นที่ สิ่งกำบังโดยรอบ โดยเฉพาะแหล่งก่อความร้อนและความชื้นใกล้สถานี ประกอบกับการเก็บข้อมูลที่มากเพียงพอ(3–5ปี) เพื่อให้เห็นพฤติกรรมของอากาศในบริเวณนั้นในแต่ละช่วงฤดูกาล และด้วยความสำคัญของแต่ละปัจจัยจากข้อมูลสภาพอากาศข้างต้น ผู้เขียนจึงต้องการหาข้อมูลสภาพอากาศที่มีในเขตเมืองมีการค้นพบและประเมินการพื้นที่โดยรอบเพื่อการใช้งานข้อมูลดังนี้

  1. สถานีตรวจอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา: มีทั้งหมด 3 สถานี(เท่าที่พบข้อมูลในเว็บไซต์) ได้แก่ สถานีสนามบินดอนเมืองเป็นสถานีตรวจอากาศซึ่งตั้งใกล้กับหอ เรดาห์สำหรับการบิน สถานีคลองเตย และสถานีบางนา ทั้ง 3 สถานีนี้ไม่สามารถเข้าดูข้อมูลตามเวลาจริงได้ในเว็บไซต์ เนื่องจากเป็นสถานีแบบ Analog หรือต้องอ่านข้อมูลและบันทึกด้วยพนักงานที่ได้รับการฝึกอบอรม ก่อนจะนำข้อมูลเข้าสู่ระบบกลาง(แต่ไม่สามารถเข้าดูได้ที่หน้าเว็บไซต์)

สถานีตรวจอากาศบางนา: พื้นที่ของสถานีตรวจอากาศบางนาตั้งอยู่หลังอาคารสำนักงานกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานใหญ่ โดยมีสถานี 2 แบบ แบบอนาล็อค และแบบ ดิจิตอล ข้อมูลแบบอนาล็อคนำมาแสดงผลหน้าเว็บไซต์หลักของกรม สามารถเลือกดูได้ว่าจะดูความถี่แบบใด และสถานีแบบดิจิตอลเป็นสถานีแบบอัตโนมัติส่งค่าการตรวจวัดความถี่สูงสุดทุก 1 นาที ทั้งสองสถานีตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน เป็นสนามสำหรับสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ

จากการประเมินความโล่งของพื้นในเบื้องต้น พบว่ามีระดับความสามารถในการเป็นตัวแทนประมาณ 5–15 ตารางกิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากมีภูมิประเทศและการใช้พื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ มีพื้นที่ผ่านการปรับให้มีระนาบเปิดโล่ง สนามปกคลุมด้วยหญ้า รอบข้างมีไม้ใหญ่สลับไม้พุ่ม ข้างเคียงโดยรอบในรัศมี 1 กิโลเมตรมีอาคารขนาดใหญ่แต่ไม่สูง(เช่นโรงงาน) ลานจอดรถ ผิวถนน มีพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนเบาบางสลับหนาแน่น เมื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่รอบสถานีแล้วแบ่งสัด่วนการใช้พื้นที่ พบว่าจะสามารถเทียบเคียงกับพื้นที่ทางทิศตะวันออกได้มากกว่าทิศทางที่เข้าสู่เมือง

หมายความว่าข้อมูลการตรวจวัดของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศบางนา ของกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถเป็นตัวแทนในมุมมองของ Micro-climate ได้กว้างขวางแต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมืองมากนัก ข้อมูลการตรวจวัดของสถานีทั้งสองนี้มีการตรวจวัดข้อมูลด้านสภาพอากาศเท่านั้น ไม่มีการตรวจวัดคามลพิษในอากาศหรือที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 ทำให้สามารถประเมินได้เพียงข้อมูลสภาพอากาศเท่านั้น

สถานีตรวจอากาศคลองเตย: สถานีตั้งอยู่สวนเบญจกิตติ บริเวณริมรั้วติดกับรั้วศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีตรวจวัดนี้ให้ข้อมูลแบเดียวกับสถานีบางนา แต่มีบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกันอย่างมาก ประการแรกคือสถานีดังกล่าวตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ กล่าวคือมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียง และสถานีตั้งอยู่กับร่มไม้(ช่วงที่ไม่ตัดแต่งกิ่งอยู่ใต้ร่มไม้) และอยู่ติดกับรั้วของสวนสาธารณะ และอยู่ใกล้ถนน

การประเมินของผู้เขียนพบว่าสถานีดังกล่าวจะให้ข้อมูลอากาศที่ค่อนข้างเย็นและชื้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบสถานี มีทิศทางลมปั่นป่วนจากกลมที่เกิดขึ้นในสวนสาธารณะและลมจากการจราจร ในกรณีนี้สถานีดังกล่าวไม่มีการตรวจวัดฝุ่นละอองและไม่สามารถทราบทิศทางการเคลื่อนตัวของอากาศที่แน่ชัดเนื่องจากมีสิ่งกำบังอยู่รอบสถานี จึงอาจใช้ข้อมูลในบริบทได้ในวงแคบเท่านั้น หรือหากจะใช้ข้อมูลเป้นตัวแทนได้จะต้องใช้ข้อมูลเป็นตัวแทนของสวนสาธาณะแห่งนี้เท่านั้น ไม่สามารถเป็นตัวแทนได้มากกว่านี้

**ไม่แน่ใจว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาใช้ข้อมูลสถานีนี้เป็นตัวแทนของอากาศบริเวณคลองเตยหรือไม่ เพราะหากใช้เป็นตัวแทนจริงจะค่อนข้างไม่ตรงบริบทพื้นที่จริงเนื่องจากพื้นที่ส่วนมากของคลองเตยมีอาคารบ้านเรือน มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวน้อย ฉะนั้นข้อมูลการตรวจวัดจากพื้นที่สีเขียวจึงไม่ตรงกับบริบทพื้นที่จริง มีเพียงชื่อของสถานีที่ติดตั้งอยู่ที่คลองเตยเท่านั้น

สถานีตรวจอากาศท่าอากาศยานดอนเมือง: สถานีนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามอีกฟากของถนนจากท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งมีหอเรดาห์การบินอยู่ขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณด้วย ข้อมูลหลักถูกใช้งานด้านด้านการจัดการการบินและความปลอดภัยของการบิน สถานีดังกล่าวอยู่หลังรั้ว เมื่อมองจากถนนจะสามารถมองเห็นได้บางส่วน

ข้อมูลจากสถานีนี้จากการประเมินเบื้องต้นพบกว่าสามารถเป้นตัวแทนของอากาศได้สองลักษณะ ลักษณะแรกคือ เป็นตัวแทนได้ในบริเวณกว้างเนื่องจากพื้นที่เมืองในเขตดอนเมืองยังไม่มีตึกสูงมากนัก ทำให้มีศักยภาพในการเป็นตัวแทนได้วงกว้าง ลักษณะที่สองคือเป็นตัวแทนได้เฉพาะรอบๆบริเวณสถานีเท่านั้น เนื่องจากมีการใช้พื้นที่และบริเวณของตัวสำนักงานเองที่มีรั้วสูงปิดมิชิด มีอาคารสำนักงานและอาคารทำการสูงหลายชั้นอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสถานีอย่างมาก

หากจะใช้ข้อมูลการเป็นตัวแทนสามารถใช้แบบวงกว้างได้แต่ใช้ได้บางค่าปัจจัยสภาพอากาศเท่านั้น หากใช้ข้อมูลเป็นตัวแทนวงแคบสามารถใช้ข้อมูลสภาพอากาศได้มากขึ้นและถูกต้องแม่นยำตรงตามบริบทพื้นที่ได้

กล่าวโดยสรุป จากการลองวิเคราะห์สภาพพื้นที่ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากทั้งสามสถานี พบว่าพฤติกรรมอากาศและการเป็นตัวแทนของสามสถานียังไม่สามารถนำมาสร้างกลไกการไหลตัวของอากาศภายในเมืองได้ เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจาก หนึ่งสถานีทั้งสามตั้งห่างกันมากเกินไปเกินกว่าจะเป้นตัวเปรียบเทียบกลไกลการไหลตัวภายในเมืองได้ สองการเป็นตัวแทนของแต่ละสถานีไม่ได้ถูกออบแบบมาให้มีการติดตั้งในพื้นที่แบบเดียวกันจึงเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันได้ยาก และสามหากจะมีการเริ่มวิเคราะห์ด้านมลพิษในอากาศจำต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นในพื้นที่สถานีของทั้งสามพื้นที่ แม้จะไม่สามารถไปถึงการสร้างกลไกลไหลเวียนอากาศได้ แต่สามารถระบุและสร้างเป็นพฤติกรรมอากาศ ณ พื้นที่หนึ่งๆได้

2.สถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝน กรมอุตุนิยมวิทยา: ข้อมูลของสถานีวัดน้ำฝนจะสามารถทราบเพียงปริมาณน้ำฝนเท่านั้น(ไม่มีข้อมูลปัจจัยสภาพอากาศอื่นๆ) กระนั้นก็ตามเมื่อลองค้นหาข้อมูลพบว่าติดปัญหาเรื่องการแบ่งหน่วยการเก็บข้อมูล กล่าวคือ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ของกรุงเทพนั้นมีเพียง 3 สถานีดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

แต่อีกหนึ่งเว็บไซต์ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ มีข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนจากสถานีบางนาเพียงสถานีเดียวเท่านั้น(ทั่วทั้งกรุงเทพมีสถานีเดียว) แต่มีอีกหนึ่งเว็บไซต์ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศซึ่งมีข้อมูลว่ามีสถานีตรวจวัดน้ำฝนกว่า 800 ทั่วประเทศตรงกับที่ผู้เขียนและทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กองงานวิจัยอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีการเปิดเผยตำแหน่งของสถานีน้ำฝนที่ติดตั้งอยู่ทั่วกรุงเทพ แต่ไม่เผิดเผยข้อมูลการตรวจวัด หากต้องการข้อมูลต้องทำเอกสารติดต่อไปยังสำนักงานเท่านั้น(ทั้งแบบขอความอนุเคราะห์ข้อมูล และแบบซื้อขาย)

ต้องขอกล่าวตามจริงว่าผู้เขียนยังไม่ได้ขอข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากสถานีในกรุงเทพ ทำให้ยังไม่ทราบว่ามีข้อมูลปริมาณน้ำฝน พฤติกรรมของข้อมูลเป็นอย่างไร ทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า “ฝน” ที่ตกใส่สถานีวัดน้ำฝนนั้นสามารถลดปริมาณฝุ่นลงมาได้มากน้อยเพียงใด (ต้องเทียบกับสถานีวัดฝุ่นที่ใกล้เคียงที่สุดและมีศักยภาพมากเพียงพอจะเป็นตัวแทนได้ครอบคลุมถึงสถานีตรวจวัดน้ำฝน)

คำถามที่เกิดขึ้นซึ่งผู้เขียนไม่อยากให้เกิดเป็นประเด็นดราม่า แต่อยากทราบถึงสาเหตุว่า เหตุใดข้อมูลจากกรมเดียวกันจึงแยกจากกันในเชิงการเผยแพร่ หรือหากไม่ต้องการเผยแพร่ตั้งแต่แรกแล้วจะนำข้อมูลจำนวนและตำแหน่งของสถานีมาแสดงให้ประชาชนรับรู้ด้วยเหตุผลใด ลึกลงไปกว่านั้นหากทั้งสองส่วนทำงานแยกระบบกัน ข้อมูลของทั้งสองระบบได้ถูกนำมาประมวลผลด้านสภาพอากาศร่วมกันหรือไม่

3.สถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝน กรมชลประทาน: มีสถานีกระจายทั่วกรงเทพฯ ทั้งสิ้น 130 สถานี หน้าที่หลักคือการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนตามเวลาจริงเพื่อการประเมินสถานการณ์น้ำ และการจะการน้ำ(เหมาะกับเมืองกรุงเทพฯที่มีความเปราะบางด้านน้ำท่วมอย่างมาก) สถานีทั้งหมาดสามารถตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและเป้นตัวแทนครอบคลุมพื้นที่ได้ค่อนข้างมาก

ข้อดีของการมีสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจำนวนมากคือ สามารถระบุและจำกัดพื้นที่ที่ “ฝนตก” ได้เข้าใกล้ความจริง แต่ในกรณีที่เรากำลังจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อทำการประเมินสภาพอากาศและฝุ่นในพื้นที่เมือง เป็นที่น่าเสียดายที่ตัวสถานีไม่มีการตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาพื้นฐานอื่นๆ(อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเร็วลม ทิศทางลม) รวมไปถึงการตรวจวัดปริมาณฝุ่นด้วยเช่นกัน

ทำให้ข้อมุลจากสถานีเหล่านี้ไม่สามารถประเมินร่วมกับข้อมูลฝุนละะองได้โดยตรงแต่ยังพอสามารถนำข้อมูลปริมาณฝนในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา มาเทียบกับปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้บ้าง เนื่องจากจำนวนของสถานีที่ตั้งกระจายตัวและจำนวนมาก

4.สถานีตรวจสภาพ ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ: ข้อมูลจากสถานีจรวจวัดสภาพอากาศท่าอากาศยานสุวรรภูมิมีสถานีตรวจวัดสภาพอาากศสำหรับการบิน แต่ไม่พบข้อมูลปัจจัยสภาพอากาศโดยละเอียดที่เปิดเผย พบเพียงข้อมูลสภาพท้องฟ้า และอถณหภูมิเท่านั้น ส่วนในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเองแสดงข้อมูลในเว็บไซต์ว่าไม่ไม่สถานีตรวจวัด

อย่างไรก็ตามการค้นหาข้อมูลนี้เพื่อทำการประเมินสภาพอากาศในเขตเมือง ซึ่งข้อมูลสภาพอากาศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกแบบมาให้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมการบินและความปลอดภัย จึงเข้าใจได้ว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูล และข้อมูลสภาพอากาศที่เปิดเผย ยังพอสามารถประเมินอากาศในวางกว้างได้เนื่องจากตัวสถานีตรวจวัดที่อยู่ภายในพื้นที่สนามบิน มีลักษณะเปิดโล่งจึงเป็นตัวแทนได้ในวงกว้าง

ข้อมูลสภาพาอากาศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเป็นตัวแทนได้ในพื้นที่โล่งกว้าง กระนั้นก็กล่าวได้ว่ายังไม่สามารถเป็นตัวแทนของสภาพอากาศในพื้นที่ตัวเมืองหนาแน่น ตัวอย่างเช่นเขตปทุมวันเป็นต้น

5.สถานีตรวจวัดอากาศ มูลนิธิศูนย์พึ่ง(ภา)ยามยาก: มีสถานีตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ทราบแน่ชัดถึงจุดประสงค์การใช้งานข้อมูลสภาพอากาศ สามารถดูข้อมูลได้บนเว็บไซต์ แต่ไม่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลออกมาวิเคราะห์ได้ สถานที่ตั้งระบะตำแหน่งแน่ชัดจากข้อมูลไม่ได้ ทราบเพียงเขตพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นพื้นที่สถานีเขตดุสิต ข้อมุลตำแหน่งเมื่อนำไปค้นหาในแผนที่พบว่ามีตำแหน่งติดตั้งสถานีอยู่ในพื้นที่สถานทูต ทำให้ไม่สามารถระบตำแหน่งที่แน่ชัดได้ว่าติดตั้งอยู่ในพื้นที่แบบใด และสถานีเขตลุมพินี ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดเช่นกัน ระเบุได้เพียงติดตั้งอยู่ในพื้นที่สวนลุมพินีเท่านั้น

ในกรณีของทั้งสองสถานีนี้เป็นการติดตั้งในพื้นที่ “สวน” หรือพื้นที่สีเขียวเป็นหลัก ทำให้ประเมินข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศในเบื้องต้นได้ว่าจะมีสภาพอากาศที่ “เย็นและชื้น” กว่าสภาพอากาศริมถนนที่มีตึกหนาแน่น เมื่อมองในมุมของการเป็นตัวแทนและการประเมินฝุ่นละอองในอากาศตามการไหลเวียนแล้ว ข้อมูลของทั้งสองสถานีเป็นตัวแทนการไหลเวียนอากาศได้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น กล่าวคือเป็นตัวแทนได้เฉพาะพื้นที่สวนลุมพินี และเขตอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวล้อมรอบปิดทึบ

6.สถานีตรวจคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ และ สถานีตรวจคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ โครงการAir4Thai:ทั้งสองเว็บไซต์เป็นของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพฯ ซึ่งมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งอยู่ตามสี่แยกและพื้นที่การจราจรคับคั่ง ทั่วกรุงเทพ กระนั้นทั้งสองเว็บไซต์มีการแสดงข้อมูลสถานีที่แตกต่างกัน หลายส่วนมาจากข้อมูลสถานีเดียวกัน หลายส่วนมีข้อมูลสถานีไม่เหมือนกัน

และแม้จะเป็นข้อมูลจากสถานีเดียวกันแต่กลับแสดงข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ทั้งสองต่างกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน เว็บไซต์หนึ่งบอกข้อมูล 53ug/m3 อีกเว็บไซต์บอก 103ug/m3 อย่างไรก็ตามแม้เมื่อลองทำการประเมินข้อมูลฝุ่นละอองและร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศจากตัวสถานีแล้ว พบว่าแม้จุดติดตั้งสถานีที่ใกล้เคียงกันก็ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันและไม่สามารถหาความเชื่อมโยงในเชิงการไหลเวียนของอากาศได้ เนื่องจากไม่มีการตรวจวัดข้อมูลทิศทางลม

ทำให้ต้องใช้ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นละอองในเชิงการเป็นตัวแทนของพื้นที่ได้ในบริเวณแคบเท่านั้น ซึ่งหากกล่าวตามตรงแล้ว ข้อมูลฝุ่นละอองที่ตรวจวัดบริเวณพื้นที่การจราจรคับคั่ง หมายความว่าปริมาณฝุ่นละอองบริเวณนั้นย่องสูงกว่าปกติเนื่องจากอยู่ใกล้กลับแหล่งกำเนิดมากที่สุด เหตุที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม แต่หมายความว่าข้อมูลดังกล่าวถูกออกแบบระบบการตรวจวัดมาเพื่อดูฝุ่นละอองจากการจราจรเป็นหลัก ไม่ได้ออกแบบมาเป็นตัวแทนของอากาศบน “ทางเท้า” ที่ประชาชนเดินไปเดินมา

ด้วยจำนวนของสถานที่กระจายอยู่ทั่วไปทำให้ข้อมูลนี้ (มีเท่านี้) ใช้เป็นตัวแทนของการแจ้งเตือนมลพิษในกรุงเทพ

8.สถานีตรวจคุณภาพอากาศ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย: สถานีของโครงการตรวจวัดฝุ่นละอองโดนจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะออกแบบมาให้ตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศอันเป็นตัวแทนของ “บุคคลทั่วไป” ได้มากที่สุดเนื่องจากการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ตามบริเวณที่ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา ส่วนมากจะติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ของ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปัจจุบันได้ขยายสถานีไปตามพื้นที่รอบนอกปริมณฑลมากขึ้น

มีสถานีหนึ่งที่ติดตั้งอยู่ ณ สำนักงานกรมอุตุนิยมวิทยา บางนา (ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงาน สถานีของกรมอุตุฯตั้งอยู่หลังสำนักงาน ไม่ทราบว่าแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลกันหรือไม่) อย่างไรก็ตาม ตัวเว็บไซต์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนอื่นนอกจากข้อมูล “คุณภาพอากาศ” ที่ตรวจวัดได้จากสถานี ฉะนั้นแม้จะเข้าใกล้การตรวจวัดคุณภาพอากาศกับการใช้ชีวิตมากที่สุด ก็ยังคงประเมินการเป็นตัวแทนและการวิเคราะห์การไหลเวียนของสภาพอากาศในเมืองได้ไม่มากนัก

จากการประเมินพบว่า ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถนำไปใช้สร้างรูปแบบหรือเรียนรู้พฤติกรรมของสภาพอากาศในแต่ละบริเวณได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • การตรวจวัดทิศทางลมไม่มีเพียงพอต่อการเชื่อมโยงข้อมูลลมในแต่ละสถานี ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงทิศทางลมได่ชัดเจน เมื่อไม่สามารถเชื่อมโยงการไหลตัวของอากาศได้ จึงไม่สามารถตอบได้ว่ามีการไหลเวียนอากาศอย่างไรในแต่ละพื้นที่
  • ความสามารถในการเป็นตัวแทนของแต่ละสถานี ของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกันออกไปตามแต่ลักษณะที่ตั้งของสถานี ทำให้การใช้ข้อมูลเชื่อมโยงกันด้วนบริบทของข้อมูลที่แตกต่างกันเป็นไปได้อยาก (การวิเคราะห์การไหลตัวของอากาศไม่สามารถนำข้อมูลแต่ละสถานีมาเฉลี่ยกันได้ เนื่องจากมีบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันและการไหลตัวของอากาศเกิดจากอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถนำข้อมูลอุณหภูมิที่สูงกว่าบทติจากสถานีที่ตั้งกลางแจ้งรอบข้างมีตึกอาคารมาเป็นตัวแทนความร้อนของทั้งเมืองได้ กลับกัน ไม่สามารถนำข้อมูลอุณหภูมิต่ำจากสถานีที่ตั้งอยู่ใต้ร่มไม้ในสวนมาเป็นตัวแทนของเมืองได้)
  • ปัจจัยการตรวจวัดสภาพอากาศของแต่ละสถานีมีไม่เท่ากัน ทำให้ไม่สามารถประเมินหรือเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลได้โดยตรง
  • ตำแหน่งการติดตั้งของสถานีตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศมีการกระจายตัวอย่างมาก และไม่ได้ออกแบบหรือวางตำแหน่งเพื่อเป็นตัวแทนของสภาพอากาศตั้งแต่แรก ฉะนั้นการวิเคราะห์การเป็นตัวแทนจึงยึดเอาสถานที่ที่ติดตั้งแล้วเป็นหลัก แล้วจึงพิจารณาบริบทของข้อมูลในภายหลัง ทำให้การเชื่อมโยงขาดช่วงต่อของการเป็นตัวแทนในเชิงพื้นที่

จากเหตุผลข้างต้นจึงนำไปสู่ข้อสรุปของคำถามในหัวข้อเรื่องนั่นคือการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้งไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นละอองบริเวณ ณ จุดติดตั้งได้

กล่าวคืออากาศมีการไหลตัวไปมาอยู่ตลอดเวลาทั่วทั้งเมืองตามพื้นที่ถนนซอกซอย(เปรียบกับคลอง) ทำให้เครื่องฟอกอากาศแม้จะทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพแต่หากพื้นที่ดังกล่าวมีลมซึ่งพัดพาฝุ่นจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่ตลอดเวลาหรือกลับกันมีการพัดพาออกจากพื้นที่ตลอดเวลาเท่ากับว่าเราไม่มีทางทราบแน่ชัดว่าฟอกฝุ่นไปมากเท่าไหร่กันแน่ หรือฝุ่นที่ฟอกมาได้เป็นฝุ่นในพื้นที่นั้นจริงๆหรือไม่ (เมื่อไม่รู้ว่าอากาศมีพฤติกรรมอย่างไร ย่อมไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบ)

ทั้งนี้เนื่องด้วยขนาดของปัญหาค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าการแก้ที่จุดเล็กจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญได้ รวมไปถึงหากต้องการจะเห็นผลในเชิงพื้นที่จริงก็ยังไม่มีระบบตัวชี้วัดที่ออกแบบมาและประเมินอย่างเหมาะสมสำหรับวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับผู้เขียนเองได้มีโอกาสทำงานลักษณะเดียวกันก่อนหน้าที่จะมีการเปิดตัวหอฟอกอากาศหน้าห้างดัง จนถึงตอนนี้จึงอยากเปิดเผยกระบวนการทำงานและข้อมูลที่เราได้ศึกษาให้เห็นขอบเขตหรือโครงสร้างปัญหาที่ชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อย (ติดตามอ่านได้ที่ กลุ่มพัฒนาเมืองยั่งยืน)

เมื่อปัญหามีขนาดใหญ่มาก คำถามสำคัญจึงกลับมาที่วัตถุประสงค์ของการสร้าง “เครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง” ตั้งแต่แรกว่าต้องการลดฝุ่นในเมืองจริง หรือต้องการลดฝุนเฉพาะช่วงเวลา และเฉพาะบริเวณ หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือสร้างเพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กรของตนเอง หรือต้องการกักเก็บฝุ่นไปวิเคราะห์วิจัยว่าฝุ่นในเมืองมีองค์ประกอบใดบ้าง เพื่อระบุชี้ชัดถึงแหล่งก่อฝุ่นมาก-กลาง-น้อย???

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ควรเกิดขึ้นก่อนทำโครงการเนื่องจากไม่ว่าจะออกแบบวัตถุประสงค์อย่างไร แม้ภายนอกจะมีการกระทำคือ “ตั้งเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง” แต่หากวัตถุประสงค์ชัดเจนเราจะสามารถระบตัวชี้วัด ระบุผลกระทบได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดตั้ง

สำหรับผู้เขียนเองทำงานเกี่ยวกับเรื่องสภาพอากาศจึงมองเห็นความสำคัญในแง่มุมของสภาพอากาศและข้อมูลสภาพอากาศเป็นหลักจนในหลายครั้งถูกมองว่าเป็น “ฝัน” ของทีมงาน กระนั้นผู้เขียนอยากได้มุมมองในเชิงของโครงสร้างและบริบทของปัญหาที่ชัดเจน และมีข้อมูลมาเทรวมกันในมุมมองอื่นๆนอกจากเรื่องอากาศ เพราะปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ใหญ่กว่าที่เราคิดและตอนนี้เรายังไม่สามารถระบุขอบเขตมันได้ และกำลังคนเพียงหยิบมือ หรือมองในมุมเดียว ยอมรับว่าไม่สามารถออกแบบกระบวนการที่ยั่งยืนได้

นอกจากความหวังและศรัทธาที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ความจริงอย่างหนึ่งของงานลักษณะนี้คือ ต้องมองหาคนที่จะร่วมเดินทางไปกับเราเพราะภัยครั้งนี้ไม่อาจผ่อนเบาได้…เพียงลำพัง

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way