ผิดไหม ถ้ารู้สึกไม่โอเคกับคนในทีม

Praweena Sriprayoonsakul
EMIT Stories
Published in
2 min readAug 15, 2020

--

วันก่อนที่บริษัท ExxonMobil มีจัดงาน Lean Coffee แชร์ความรู้ Agile กันในหมู่พนักงานแบบ online ผ่าน Zoom โดยเป็น Agile community ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย มีคนเข้าร่วมหลายร้อยคน เรามีจัดงานแบบนี้กันประจำทุกๆ 3 เดือน นาได้มีโอกาสไปแชร์เป็นคนพูดหลัก โดยมีโจทย์ว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าอะไรเป็นพฤติกรรมที่ดีที่ทุกคนควรมีเวลาทำงานในทีม Agile เช่น ทำงานเป็นทีม อย่ามีอคติ (bias) และอื่นๆ เราก็ลองกลับมาคิดว่า ถ้าบอกเขาไปว่า “พฤติกรรมพวกนี้มันไม่ดีนะ อย่าทำ”

คนฟังอาจจะคิดในใจ “แล้วไง… ฉันก็รู้นะว่าไม่ควรอคติ แต่ไม่โอเคอ่ะ ไม่ชอบอีกคนไปซักทุกอย่าง แบบว่าทำอะไรก็ขัดใจ” ไม่รู้พวกเราเคยเป็นไหม แบบไม่ชอบคนนี้แต่ต้องทำงานด้วยกันเป็นทีม

นาเชื่อนะ ว่าหลายคนกำลังเจอปัญหานี้อยู่ เรื่องนี้เหมือนจะเล็กแต่เป็นต้นเหตุหลักของการที่ทีมไม่ไว้ใจกัน ลองดูนะว่านาแก้โจทย์นี้ยังไง อันนี้เป็นแค่มุมมองแบบนึงนะ อาจจะมีวิธีการอีกหลายแบบที่เราจะทำได้เพื่อให้ทีมเราไว้ใจกัน

วงจรพฤติกรรม (Iceberg Theory)

เราต้องเข้าใจว่า คนแต่ละคน มีที่มาต่างกัน

สิ่งที่เรามองเห็นคือ สิ่งที่อยู่บนผิวน้ำ behavior -> outcome หมายถึงเราเห็นพฤติกรรมของคน พฤติกรรมก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ไป

สิ่งที่เรามองไม่เห็นคือ Experience -> belief -> Thinking -> Feeling มีประสบการณ์ในชีวิตที่ต่างกัน มีความเชื่อต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านความคิด อารมณ์ความรู้สึก ท้ายสุดก็แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม (behavior)

พูดให้ง่ายๆ ถ้าคนนึงทำพฤติกรรมที่เราไม่โอเค เราควรจะลองมองลงไปใต้ผิวน้ำ เพื่อเข้าใจความคิด ความรู้สึก และความเชื่อของเขา

เอ… ถ้าเราทำได้ เราก็คงอ่านใจได้แล้วมั้ง จะเป็นไปได้ยังไง?นาขอลองให้เครื่องมืออันนึงที่น่าจะพอช่วยได้นะ มันคือสิ่งที่เรียกว่า Johari window

Johari Window

หน้าต่างโจฮาริเป็นเทคนิคที่น่าสนใจที่นาเอาเข้ามาเพื่อช่วยให้คนเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเข้าใจกันมากขึ้น ปัญหาความสัมพันธ์มันก็จะดีขึ้น เราก็จะรู้สึกโอเคที่จะทำงานร่วมกันมากขึ้น หน้าต่างนี้มี 4 ช่อง

  1. Open area (arena) พื้นที่นี้คือตัวเราและอีกคนเห็นตรงกัน
  2. Blind spot พื้นที่นี้ตัวเรามองไม่เห็นแต่คนอื่นเห็น
  3. Hidden area พื้นที่นี้ตัวเรารู้อย่างดี แต่คนอื่นไม่รู้
  4. Unknown area พื้นที่นี้ตัวเราไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้

เทคนิคคือเราต้องพยายามขยายพื้นที่ Open area โดยการลดพื้นที่ส่วนอื่นลง

ทำยังไงถึงจะลด Blind spot?

เราต้องถามหา feedback ทำได้โดยการถามไปตรงๆ ว่ามี feedback อะไรให้เราไหม หรือถ้าในทีมอยากลองมีเกมอันนึงที่ทำได้ ลองไป google “adjectives johari window” จะเจอคำต่างๆ ที่เอามาใช้เล่นเกมนี้

  1. ให้แต่ละคนเลือก adjectives ที่เป็นตัวเรามาสัก 3–5 อัน
  2. เลือก adjectives ที่เราเห็นว่าคนอื่นในทีมเป็น ลองเลือกสัก 3 อันต่อคน แล้วก็แชร์ออกไปให้คนๆ นั้น
  3. ถึงตอนนี้ทุกคนจะได้ adjectives ที่เราคิดว่าเราเป็น และคนอื่นคิดว่าเราเป็น
  4. ลองมองหาสิ่งที่เหมือนกัน (Open area) และสิ่งที่ต่างกัน (Blind spot, Hidden area) สำหรับตัวเอง เพื่อหาทางทำให้ Open area ของตัวเองใหญ่ขึ้น

ทำยังไงถึงจะลด Hidden area?

การจะลด Hidden area เราต้องเปิดเผยความเป็นตัวเราออกไปให้คนอื่นรู้และเข้าใจ การเล่าเรื่องของตัวเองบางทีก็ต้องใช้ความกล้าหาญมากนะ (Vulnerability) นาเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ Vulnerability based trust ไปแล้วลองกลับไปอ่านดูนะคะ เวลาเพื่อนในทีมเรากล้าที่จะเล่า เราเองก็ต้องฝึกที่จะฟังแบบเข้าใจ หรือต้องมี Empathy ทำยังไง

ขอแชร์เทคนิคง่ายๆ ลองไปอ่านบทความนี้ และไปดู page empathy sauce ดีมากขอแนะนำ

  1. เวลาฟัง ฟังให้จบ อย่าพูดแทรก
  2. อย่าฟังเพื่อหาทางแก้ปัญหา ให้ฟังเพื่อเข้าใจ ทั้งเนื้อหาและความรู้สึกของอีกฝ่าย
  3. ระหว่างฟัง ลองจินตนาการว่าถ้าเป็นเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจะรู้สึกยังไง การที่เรารู้สึกเหมือนกันกับคนเล่า คนเล่าจะเข้าถึงได้ (connection)
  4. การตอบรับ ทำได้โดยการแสดงความรักความเข้าใจ หรือถามคำถามก็ถามแบบเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

มาดูตัวอย่างการตอบรับกันนิดนึง เราควรจะฝึกการตอบรับแบบ Support response มากกว่าแบบ Shift response

ปีนี้นาได้มีโอกาสเป็น empathy circles facilitator ด้วย กำลังจะจัดให้กับผู้นำในองค์กร และกะว่าจะจัด empathy circles แบบ Public ด้วยนะ เพราะคิดว่ามีประโยชน์กับทุกคนที่จะเข้าใจ empathy มากขึ้น ทั้งหมดที่เล่ามาคิดว่าหลายคนคงไม่คุ้นเคย แต่มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนในทีมไว้ใจกันตามประสบการณ์จริง ขอฝากไว้สำหรับ ผู้นำในองค์กร (Leaders), Scrum Master และ Agile Coach สำคัญมากกๆๆๆๆ ที่เราต้องฟังและตอบรับให้ได้แบบนี้

ขอขอบคุณ

บริษัท ExxonMobil ที่อยากสร้าง Environment ที่ดีให้กับพนักงานทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข และสำหรับผู้นำในองค์กรที่เป็นอากาศที่ดี และเป็น Oxygen ให้กับทีมของคุณ

Facebook page Tribeless และ “Empathy circles”

Facebook page “Empathy Sauce” https://www.facebook.com/EmpathySauce.Th/videos/708286170027196/

บทความจาก TED: https://ideas.ted.com/why-we-should-all-stop-saying-i-know-exactly-how-you-feel/

Johari window: https://www.communicationtheory.org/the-johari-window-model/

--

--