เมื่อทีม Support นักเรียนได้ลงสนาม Social Project ด้วยตัวเอง

Athippatai R
GLOBISH WORKSPACE
Published in
2 min readNov 29, 2022

“Prep Every Local for Global Opportunities” เป็นสิ่งที่เราได้ยินจากผู้บริหารและคนใน Globish เสมอ ความคิดแรกของเราคือ นั่นมันเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ เราจะทำได้จริง ๆ หรอ เพราะเราก็ไม่ใช่คนที่มีอำนาจจะไปแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณ หรือแก้ไขโครงสร้างของระบบการศึกษาได้หรอก แต่ความคิดนี้ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อเราได้มีโอกาสเข้าร่วม Social Project ที่ส่งผลต่อจิตใจของเรา ทำให้อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้ผู้คนบางคนที่ยังไม่ได้รับโอกาสนั้นมากเท่าที่ควร

เราชื่อก๊อตนะ ทำงานในตำแหน่ง Student Support ทีมของเราคอยช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำนักเรียนที่ Globish ผ่านทางโทรศัพท์ ให้สามารถเรียนกับเราได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าอยากรู้จักทีมของเรามากขึ้นก็สามารถไปอ่านบทความเกี่ยวกับเรา ที่นี่ ได้เลย

ก๊อต กับ สตังค์ ทีม Student Support

การที่เราได้ทำงานในตำแหน่ง Student Support ทำให้เราได้เห็นว่าในประเทศไทยมีคนที่เห็นความสำคัญ และมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าคนอื่น ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนทรัพย์ที่มากพอให้เค้าได้เรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง หรือเรื่องของการสนับสนุนจากครอบครัว มันทำให้เราเกิดคำถามตลอดว่า แล้วคนที่ไม่มีโอกาส ไม่มีเงินมากพอล่ะ เรายังจะสามารถที่จะพัฒนาการศึกษาให้ทั่วถึงทั้งประเทศได้ไหมนะ?

Social Project ครั้งนี้เป็นการไปสอนภาษาไทยให้กับเด็กพม่าที่อพยพจากสงครามภายในประเทศพม่า มาอยู่ใน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
โรคระบาด COVID-19 ทำให้เราไม่สามารถลงพื้นที่ไปสอนภาษาไทยน้อง ๆ ได้ Globish ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนจากการลงพื้นที่เป็นสอนน้อง ๆ ออนไลน์แทนซะเลย

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี เมื่อ COVID-19 ซาลง วันหนึ่งทีม People & Culture ก็ได้ติดต่อมาชวนเราให้เข้าร่วม Social Project แบบลงพื้นอีกครั้ง แน่นอนว่าความตั้งใจของเราไม่เคยหายไปเลย เรารู้สึกตื่นเต้นมากกับ Social Project ครั้งแรกในชีวิตของตัวเอง และอยากให้วันเดินทางมาถึงให้เร็วที่สุด

พวกเราได้ลงพื้นที่ไปดูน้อง ๆ ที่โรงเรียน พูดคุยกับคุณครูชาวพม่า และพี่เหมยลี่ จากมูลนิธิ Imagine Thailand

ในวันแรกที่ถึงแม่สอด เราได้รู้จักกับ มูลนิธิ Imagine Thailand และได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวถึงปัญหาที่เป็นเหตุผลให้เรามาอยู่ที่นี่ เพราะถึงแม้ว่าชาวหม่าเหล่านั้นจะสามารถหนีจากภัยสงครามและอพยพเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ก็ไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก บางคนถูกเอาเปรียบจากมนุษย์ด้วยกันเอง พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ มากเท่าที่ควร แน่นอนว่าเรื่องการศึกษาของเด็กชาวพม่าก็เป็นหนึ่งในนั้น

น้อง ๆ เข้าแถวตอนเช้าก่อนเข้าเรียน ช่วยกันร้องเพลงชาติไทยเสียงดัง ถึงแม้จะร้องแบบไม่รู้ความหมายก็ตาม

พวกเขาเข้าเรียนในศูนย์การเรียนรู้ หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ช่วยกันก่อตั้งขึ้น กระจายกันอยู่กว่า 70 แห่ง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างทั่วถึง ให้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน คุณครูที่สอนก็เป็นคุณครูชาวพม่าที่ได้ค่าตอบแทนแค่เพียงพอกับการใช้ชีวิต

สิ่งที่ทำเรา Shock เลยก็คือ วิชาภาษาไทยไม่ได้ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียน เพราะพวกเขาไม่มีงบมากพอที่จะจ้างคุณครูที่สามารถสอนภาษาไทยได้ ทำให้เด็ก ๆ เกือบทั้งหมดไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่เรื่องการว่าจ้างให้ไปใช้แรงงาน ในการทำการค้า-ขาย หรือลุกลามไปถึงการค้ามนุษย์ เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้จุดประกายบางสิ่งในตัวเราให้ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อที่อาจจะเพิ่มโอกาสให้กับพวกเขามากขึ้นกว่าปัจจุบัน

พวกเราสอนภาษาไทยให้นักเรียนประมาณ 60 คนด้วยกัน เริ่มจากการปูพื้นฐานง่าย ๆ เช่น พยัญชนะไทย สระ การออกเสียง รวมถึงประโยคง่าย ๆ ที่พวกเขาสามารถใช้ในชีวิตประจำวัน เอาตัวรอดจากอันตราย หรือไปต่อยอดในการขอสัญชาติไทย เพื่อจะได้มีโอกาสและสิทธิในการงานโดยไม่ถูกเอาเปรียบจากใคร

คุณครูชาวพม่าทุก ๆ คนในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้คอยสนับสนุนการมาของเราในครั้งนี้ตลอด เพราะเขาอยากจะสนับสนุนเด็ก ๆ เพื่อจะให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปในโลกใบนี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

ช่วงแรกที่ไปถึงเรารู้สึกได้ว่าเด็ก ๆ ทุกคนอาจจะเกร็งบ้าง แต่หลังจากผ่านไปได้ไม่นาน เรารู้สึกเหมือนว่ากำแพงระหว่างเรากับน้องมันได้หายไปแล้ว

ตลอดระยะเวลาในการสอนของเรา 2 วัน ถึงแม้เราจะไม่ได้มั่นใจว่าเด็ก ๆ จะสามารถอ่านออกเขียนได้ระดับดีเยี่ยม แต่นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากจะกลับมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองต่อไปในอนาคต

ในวันสุดท้าย น้อง ๆ กรูกันเข้ามาสวมกอดพวกเรา แทนคำขอบคุณและคำล่ำลาก่อนที่เราจะต้องจากลากัน

แน่นอนว่าครั้งนี้เป็นการก้าวออกจากมุมเดิม ๆ ของชีวิตทำงานของเราที่เราจะได้คุยกับนักเรียนผ่านทางโทรศัพท์เป็นส่วนมาก หรือแม้แต่การพูดคุยกับคนในบริษัทเองที่มักจะมีแต่เรื่องงานหรือแค่เคยเห็นกันแบบผ่านหูผ่านตา หลังจากที่เราได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันตลอดเวลา 5 วันที่นั่น เราจะไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในบริษัทเดียวกันเฉย ๆ แต่เราคือเพื่อนมนุษย์ที่มีอุดมการณ์ที่อยากจะพัฒนาการศึกษาของประเทศนี้ และที่สำคัญที่สุด มันทำให้เรารู้ว่าในขณะที่เรากำลังดูแลนักเรียนของเราอยู่ที่ Office ในฐานะ Student Support การศึกษาในประเทศนี้ก็กำลังพัฒนาขึ้นจริง ๆ เหมือนอย่างที่องค์กรของเราพูดให้ทุกคนฟังอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้เราอยากขอบคุณเพื่อน ๆ ร่วม Social Project ในครั้งนี้ และขอบคุณตัวเองที่กล้าจะลงมือทำอะไรที่ไม่เคยทำ และท้ายที่สุดเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆเหล่านั้นจะได้รับโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเรียนรู้โลกใบใหม่อีกหนึ่งใบที่กำลังรอให้พวกเขาเติบโตมา เป็นคนดีของสังคมและของโลกใบนี้อยู่ แน่นอนเราจะกลับไปหาพวกเขาอีกและหวังว่าเด็ก ๆ ก็จะรอเรากลับไปหาพวกเขาเช่นเดียวกัน

--

--