Cut Down The Layers

Piyorot
Inthentic Inc
Published in
1 min readJun 26, 2016

คริส ดิ๊กสัน เขียนบทความนี้ไว้อย่างน่าสนใจ … หลักใหญ่ใจความคือ

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งห้าซึ่งได้แก่ แอปเปิ้ล กูเกิ้ล เฟสบุ๊ก อเมซอน และไมโครซอฟท์ มีแนวทางการสร้างรายได้และผลกำไรที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีและปัจจัยภายนอกที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้อยู่อย่างมาก

เช่น เราในฐานะผู้บริโภคตื่นเช้ามาหยิบไอโฟน (แอปเปิ้ล) เปิดซาฟารี (แอปเปิ้ล) เข้ากูเกิ้ลดอทคอม (กูเกิ้ล) เพื่อค้นหารองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ ผลลัพธ์จากการค้นหาคือลิ้งค์ที่พาเราไปที่อเมซอนดอทคอม (อเมซอน) และเฟสบุ๊กเพจ (เฟสบุ๊ก) และร้านค้าบนอินสตาแกรม (เฟสบุ๊ก) … เล็งไว้แล้วว่าจะเอารุ่นนี้สีเหลือง

มาถึงที่ทำงานเปิดคอมพิวเตอร์ (วินโดวส์ — ไมโครซอฟท์) ใช้โครม (กูเกิ้ล) เข้าเวปธนาคารเพื่อโอนเงินค่ารองเท้า ตามด้วยเปิดฮอทเมล์ (ไมโครซอฟท์) เพื่อส่งหลักฐานยืนยันการชำระเงินกับร้านค้าบนอินสตาแกรม

ห้ายักษ์ใหญ่ไม่มีใครยึดครองประสบการณ์การซื้อของออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จได้แต่เพียงผู้เดียว ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งแต่ก็ไม่ลืมว่าอย่างไรก็ตามทุกคนก็ยังคงต้องพึ่งพาคนที่เหลือด้วย … และการพึ่งพานี้แหละมันคือการแข่งขันกันโดยตรง

ลองจินตนาการว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพักผู้บริโภคจะเริ่มเรียนรู้ทางลัดในการซื้อกระเป๋ารุ่นใหม่ด้วยการใช้ไอโฟนเข้าแอพอินสตาแกรมตรงเข้าหาหน้าร้านในทันที ซาฟารีไม่สำคัญ กูเกิ้ลไม่จำเป็น เฟสบุ๊กเพจก็ถูกมองข้าม… ประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์จึงกลายเป็นเรื่องของแอปเปิ้ลและเฟสบุ๊กเท่านั้น

เมื่อรู้เช่นนี้แล้วหลักฐานที่เห็นตามมาจึงสมเหตุสมผลมากเลยว่า … ทำไมเฟสบุ๊กถึงทดลองปุ่ม “ขาย” ในเฟสบุ๊กกรุ๊ป? ทำไมเฟสบุ๊กถึงเริ่มทดลองการส่งเงินจากเพื่อนถึงเพื่อน? (ไม่แน่ใจว่าสองฟีเจอร์นี้เวิร์คมั้ยนะ ฮ่าๆ) และทำไมเฟสบุ๊กถึงจริงจังกับเมสเซนเจอร์บอทมาก

เพราะเฟสบุ๊กอยากตัดท่อน้ำเลี้ยงของคู่แข่งรายอื่นไปให้ได้มากที่สุด ไม่มีกูเกิ้ล (เสิร์จ) ไม่มีอเมซอน … ทำให้เลเยอร์หรือชั้นและขั้นตอนของการใช้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นสิ่งที่เฟสบุ๊กควบคุมได้มากที่สุด

นี่แค่ตัวอย่างง่ายๆตื้นๆของเคสอีคอมเมิร์สเท่านั้นนะ

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า + มือใครยาวสาวได้สาวเอา … สองสุภาษิตไทยที่ทั้งห้าบริษัทยักษ์ใหญ่ท่องอยู่ในใจ

บทความนี้ไม่มีอะไรพิเศษครับ แค่เล่าเรื่องที่ผมไม่เคยฉุกคิดให้ได้ฟังกัน … ขอบคุณคริสที่ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญประเด็นนี้ และมันก็ต่อเนื่องมาถึงการวางแผนอนาคตของโปรดักท์และบริษัทของผมเอง

ทุกวันนี้ความสามารถในการสร้างรายได้ของผมนั้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและปัจจัยภายนอกอย่างมากเช่นกัน — นี่คือความเสี่ยงที่ผมรู้อยู่แก่ใจ ยิ่งมาได้อ่านบทความของคริสยิ่งทำให้ต้องไตร่ตรองให้หนักกว่าเดิม

ถึงแม้จะไม่ได้มีเป้าหมายว่าต้องครองโลกเหมือนทั้งห้าบริษัทนั้น แต่การเติบโตของบริษัทนั้นหมายถึงการต้องยอมเสี่ยง มันหมายถึงการหากลยุทธ์ในการลดเลเยอร์ของการเข้าถึงสินค้าและบริการของเราให้ได้มากที่สุด ผ่านตัวกลางให้น้อยที่สุด นั่นหมายถึงการต้องก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป

จากแค่บริษัทซอฟต์แวร์อาจจะกลายมาเป็นอินทิเกรเตอร์ที่จับซอฟต์แวร์มาผสมกับฮาร์ดแวร์สำเร็จรูปให้กลายมาเป็นสินค้าที่ครบวงจรขึ้น — อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี

จากแค่บริษัทซอฟต์แวร์อาจจะกลายมาเป็นผู้ออกแบบและผลิตฮาร์ดแวร์เองด้วยเพื่อการสร้างอำนาจในการควบคุมปัจจัยภายนอกให้สูงขึ้น — อาจจะเป็นทางเลือกที่เร็วเกินไปมาก แต่ก็น่าสนใจในอนาคต

โปรดักท์ของเพื่อนๆพึ่งพาเทคโนโลยีและปัจจัยภายนอกอะไรบ้าง? วันนี้มีไอเดียที่จะลดการพึ่งพาตรงนั้นลงบ้างแล้วรึยังครับ? … เรื่องที่น่าเก็บไปคิดเป็นการบ้านอย่างยิ่ง :)

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Inthentic Inc

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com