Deep Space by KBTG: Beyond the Teamwork (Extra)

Kris B
KBTG Life
Published in
3 min readDec 27, 2019

ตามที่สัญญาไว้ในพาร์ทแรก วันนี้เรามาเจาะลึกสัมภาษณ์แต่ละทีมที่ได้รับรางวัลในงาน Deep Space by KBTG 2019 โดยเราได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งอย่างทีม K-Happy Lotto กับทีม K-Argus และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองอย่างทีม Possible K+ Shop กับทีม Arsa ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีทีมที่ได้รับรางวัล Popular Vote อย่างทีม K-Lox อีกด้วย มาดูกันว่าประสบการณ์ในการเข้าร่วม Internal Hackathon ครั้งแรกของ KBTG เป็นอย่างไรบ้าง

**สำหรับทีมที่ชนะเลิศรางวัลอันดับหนึ่งอย่างทีม Heru สามารถตามอ่านบทสัมภาษณ์กันได้ใน The Standard และ Blognone

K-Lox (Popular Vote)

ใครที่ได้เข้าชมวัน Demo Day คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคนิคการนำเสนอของทีมนี้แพรวพราวยิ่งนัก สมกับที่คว้ารางวัล Popular Vote มาไว้ในครอบครอง ทีม K-Lox ได้แสดงฝีมือสร้างสรรค์นวัตกรรมตู้ล็อกเกอร์ที่ควบคุมด้วยระบบ Facial Recognition โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องใกล้ตัวอย่างวันงานรับปริญญา

ทั้งแชมป์ ท๊อป บอล แก๊ป และทิวล้วนเป็น Software Engineer ผู้ดูแลแอปพลิเคชั่น K+ ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน สิ่งที่จุดประกายไอเดียของทีม K-Lox คือการที่แชมป์ถูกบังคับให้รับฝากของในวันงานรับปริญญา จะนำไปฝากต่อก็ไม่รู้ว่าจะไปฝากที่ไหน จึงปรึกษากับคนอื่นในทีมเพื่อดูว่าไอเดีย Hands-free Locker นี้จะสามารถสร้างขึ้นได้จริงหรือไม่ เมื่อเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้าน IoT (Internet of Things) อย่างแก๊ปเปิดไฟเขียวจึงเริ่มลงมือพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้เป็นรูปร่าง

เมื่อถามถึงอุปสรรคในการทำงาน เรื่องหลักๆเห็นจะเป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ เช่น การแก้ปัญหาความกว้างของประตูล็อกเกอร์จากเดิมที่เปิดแง้มนิดๆให้เหวี่ยงกว้างเพื่อเพิ่มความน่าตื่นตาตอนนำเสนอ การที่ของมาส่งก่อน Demo Day เพียงไม่กี่วัน หรือการที่จู่ๆ API บางส่วนมีปัญหาก่อนขึ้นนำเสนอผลงานทั้งๆที่ระบบผ่านการทดสอบแล้วหลายครั้ง แต่ถึงปัญหาจะถาโถมเข้ามาขนาดไหน ทีม K-Lox ก็เอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้ เราจึงได้ชมการสาธิตใช้ล็อกเกอร์กันแบบสดๆในวันนั้น และเนื่องจากเป็นทีมสุดท้ายที่ได้ขึ้นเวที จึงมีการสอดแทรกวิธีการเล่าเรื่องเพื่อดึงดูดผู้ชม ซึ่งได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี แต่ถ้ามีเวลาเพิ่มอีกสักเล็กน้อย ทางทีมก็อาจจะเพิ่ม Use Case อื่นๆที่สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ด้วย ดังที่ทีม K-Lox กล่าวไว้ว่านวัตกรรมนี้เป็นเพียงตัวเปิดประตูเท่านั้น

Arsa (2nd Runner up)

ถ้ายังจำได้กันอยู่จากพาร์ทที่แล้ว ทีม Arsa ได้พัฒนาระบบเก็บและประมวลข้อมูลความถนัดของพนักงานเพื่อที่องค์กรจะสามารถจับคู่คนกับงานที่ใช่ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วสิ่งนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของนวัตกรรมที่เรียกว่า Arsa

ทีม Arsa เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของ หงวน (Blockchain Developer) นัท (Associate Blockchain Developer) แนน (Associate Research Engineer) แจ็ค (Associate Software Engineer) และโอเล่ (Agile Coach) ซึ่งแม้จะอยู่ทีม Blockchain ด้วยกัน แต่แท้ที่จริงแล้วสมาชิกแต่ละคนแยกกันเข้ามา ไม่ได้มีการนัดหมายกันแต่อย่างใด ถึงกระนั้นทุกคนต่างก็ประสบปัญหาเดียวกันตรงที่บางคนมีไอเดียแต่หาคนทำไม่ได้ บางคนอยากทำอะไรสักอย่างแต่กลับไม่มีไอเดียแน่ชัด การสร้างทีมจึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ด้วย Pain Point ตรงหน้านี้ ประกอบกับความต้องการที่จะสร้าง CSR (Corporate Social Responsibility) ทางด้านเทคโนโลยีขึ้นมา หงวนจึงชวนน้องๆใกล้ตัวมาร่วมทำ Prototype ตัวนี้ขึ้น

เดิมทีขอบเขตงานของทีม Arsa นั้นกว้างมากจนจำเป็นต้องมีการลดขอบเขตลง ซึ่งโชคดีตรงที่ทางฝ่าย HR ของ KBank กำลังวางแผนที่จะทำ Skill Inventory รวบรวมทักษะผลงานของพนักงานพอดี จึงช่วยบันดาลใจให้ทีมปรับขอบเขตไอเดียเหลือเพียงแค่การหาคนเท่านั้น อย่างไรก็ตามขอบเขตนี้ก็ยังมีขนาดใหญ่พอสมควร ทำให้ต้องพยายามลดลงมาเพื่อให้สามารถนำเสนอภายใน 6 นาทีได้ในวันจริง แต่หากเป็นไปได้ ทางทีมก็อยากจะนำเสนอขอบเขตเดิมให้ทุกคนได้ฟังกัน

Possible K+ Shop (2nd Runner up)

ถึงจะดูเหมือนกลุ่มนายทุนได้เข้าแทรกซึมทุกมุมเมืองในประเทศไทยแล้ว แต่ก็มีร้านโชห่วยไม่น้อยที่ยังคงยืดยัดต่อสู้ ทีมนี้เชื่อว่าด้วยบริการที่พัฒนาต่อยอดจาก K+ Shop จะช่วยให้ร้านโชห่วยทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถก้าวเดินต่อไปได้ในโลกยุค 4.0

ทีม Possible K+ Shop กำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสมาชิกทีม K+ Shop โดยประกอบไปด้วย เจส (Software Engineer) นุ (Software Engineer) นาย (Associate Software Engineer) และเกด (Business Analyst) โดยทั้งเจสและนุรู้จักกับเจ้าของร้านโชห่วยเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นร้านของเพื่อนเจส หรือร้านของครอบครัวนุเองต่างก็อาศัยการขีดเขียนบนกระดาษและความจำในการบันทึกราคาสินค้าและปริมาณคงเหลือในคลัง ทั้งสองจึงคุ้นเคยกับ Pain Point นี้เป็นอย่างดีและอยากจะช่วยให้การบริหารของร้านขนาดเล็กเหล่านี้เป็นระบบ การพัฒนาต่อเติมแอปพลิเคชั่น K+ Shop ที่ตนถนัดอยู่แล้วคือวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด

ระยะเวลาการแข่งขันอันกระชั้นชิดทั้งในการทำ Prototype และการนำเสนอ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละทีมจะต้องหาวิธีจัดการให้ได้ สำหรับทีม Possible K+ Shop เองก็พยายามจัดสรรเวลาโดยวางแผนให้ช่วงต้นของการนำเสนอเป็นการเล่าประสบการณ์จริงของการทำร้านโชว์ห่วยเพื่อโยงเข้ากับ Pain Point ที่ต้องการจะสื่อ จากนั้นก็แบ่งให้แต่ละคนในทีมมีเวลาพูดคนละ 1 นาทีครึ่งเกี่ยวกับด้านต่างๆของนวัตกรรม หากมีเรื่องที่อยากจะเพิ่มเติมก็คงเป็นเรื่อง Business Model ที่อาจจะดูจูงใจไม่พอ ทั้งนี้หากบริการสามารถพัฒนาขึ้นได้จริง ทางทีมก็อยากจะเห็นร้านโชห่วยทั่วประเทศนำไปใช้กัน แต่การจูงใจกลุ่มผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่นั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก คงต้องหาวิธีโน้มน้าวกันต่อไป

K-Argus (1st Runner up)

จากการที่ต้องเบนเข็มไอเดียเดิมอย่าง Microfinance สู่ไอเดียการสร้างระบบตรวจสอบเทรนด์ในโลกออนไลน์ ด้วยระบบที่พัฒนาเล่นๆอยู่แล้วมาประกบเข้ากับ Deep Tech ของ KBTG นวัตกรรมเฉพาะตนนี้จึงได้กำเนิดขึ้น

เรื่องราวการรวมตัวของทีม K-Argus ออกจะแตกต่างไปจากทุกทีมข้างต้นตรงที่สมาชิกทุกคนไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่แรก บางคนรู้จักเพราะมาจากทีมเดียวกัน บางคนก็เคยทำงานโปรเจ็คเดียวกันมาก่อน แต่อาจจะเป็นด้วยบุพเพสันนิวาตที่นำพาทั้งสี่คนมานั่งข้างกัน พอได้พูดคุยถูกคอจึงตัดสินใจจับมือกัน โดยทีมมี เส (Advance Software Engineer) หมึก (Production Management Manager) ตุ้ม (Production Management Officer) และ ไอซ์ (Associate Software Engineer) แรงบันดาลใจในการทำ Prototype นี้เริ่มขึ้นจากระบบ Social Listening ที่หมึกชอบพัฒนาเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งระบบตรวจเจอข้อมูลการพูดถึงเรื่องบริจาคเงินในโลกโซเชียลเป็นจำนวนมาก ในไม่กี่วันให้หลัง จำนวนเงินที่หลั่งไหลเข้าบัญชีนั้นได้ส่งผลต่อระบบ Core Banking ของธนาคารที่กว่าจะพบปัญหาและหาวิธีแก้ไขก็ใช้เวลาล่วงเลยไปหลายวัน

ด้วยเหตุนี้ ทีม K-Argus จึงเชื่อว่าหากธนาคารมีระบบ Social Listening แบบของหมึกก็จะทำให้สามารถค้นพบปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆและแก้ไขระบบได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ Pain Point นี้ไม่ใช่ปัญหาที่เจอในชีวิตประจำวัน อุปสรรคหลักของทีมจึงเป็นการหาวิธีสื่อไอเดียให้ทุกคนเข้าถึงปัญหาให้ได้ ทางทีมตัดสินใจยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวและสอดแทรกกราฟที่แสดงผลข้อมูลให้เข้าใจแบบง่าย แม้การแข่งขันจะสิ้นสุดลงและทีมไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ทุกคนก็ยังมีความเชื่อมั่นในนวัตกรรมนี้และมีแผนที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

K-Happy Lotto (1st Runner up)

การขึ้นเวทีเป็นทีมแรกอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ทีมนี้พกความมั่นใจและประสบการณ์มาเกินร้อย จุดเริ่มต้นในการทดลองใช้ OCR (Optical Character Recognition) ในการอ่านเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลได้นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้สามารถขึ้นเงินรางวัลโดยไม่เปลืองแรง

เช่นเดียวกับสามทีมแรก K-Happy Lotto เป็นการรวมกันของคนทีมเดียวกัน ในที่นี้คือทีม E-Doc Gen อันประกอบด้วย โอ๊ต (Software Engineer) แอ๊ค (Associate Software Engineer) มิค (Associate Software Engineer) ป่าน (Business Analyst) และ บอส แม้ว่าจะไม่มีใครในทีมเคยถูกรางวัลที่หนึ่งมาก่อน แต่แอ๊คมีคนรู้จักที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งตอนนี้คนนั้นได้หมดตัวและกลายเป็นคนเสียสติหลังจากที่ถูกเพื่อนฝูงรังควาน พอมีคนค้นพบว่าระบบ OCR สามารถอ่านเลขสลากฯ ได้ ทางทีมจึงเลือกหยิบมาสร้างนวัตกรรม One-Stop Service นี้ขึ้น

อุปสรรคของทีม K-Happy Lotto คล้ายคลึงกับทีม Arsa ตรงที่ต้องลดขอบเขตงานลงเนื่องจากมีเวลาไม่เพียงพอในการทำงาน และเวลา 6 นาทีในวัน Demo Day ทำให้ทีมต้องหาวิธีนำเสนอ Pain Point ให้กระชับที่สุด จึงนำมาสู่ประโยคทอง “ไม่ขอเป็นข่าว — อยู่บนข่าวหน้าหนึ่ง” ที่สามารถสรุปปัญหาความเป็นส่วนตัวได้ภายในสไลด์เดียว นอกจากนี้ยังมีการแสดงละครเพื่อโชว์ขั้นตอนการใช้บริการให้เห็นกันอีกด้วยบนเวที จริงๆแล้วทางทีมอยากมีการทำ Live Demo แต่เพราะข้อจำกัดของเวลาจึงจำเป็นต้องตัดออกไป เมื่อถามถึงอนาคตของนวัตกรรมนี้ ทางทีม K-Happy Lotto กล่าวว่าอยากให้บริการนี้เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

หลังจากที่ฟังเรื่องราวของทั้ง 5 ทีม ก็สามารถสัมผัสถึงศักยภาพและการมองการณ์ไกลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์เรื่อง Innovation Culture ของพี่กระทิง (คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG) หลายทีมยอมรับว่าถ้าไม่ใช่เพราะงาน Deep Space ก็คงไม่มีโอกาสได้พัฒนาไอเดียนวัตกรรมและทักษะด้านอื่นๆของตน โดยเฉพาะเทคนิคการ Pitching ว่าจะต้องนำเสนออย่างไรให้โดนใจผู้ฟังในเวลาจำกัด คนที่แต่เดิมพูดน้อยก็ได้ก้าวออกจาก Comfort Zone ของตน นอกจากนี้บางคนก็ยังได้ทดลองทำในสิ่งที่ตนไม่เคยทำมาก่อน เช่นคนทำ Front-end ลองทำ Back-end คนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำฮาร์ดแวร์หรือ Cloud Server ก็ได้ทดลองทำ เป็นต้น ทั้งนี้จะสำเร็จไปไม่ได้เลยถ้าหากขาดการทำงานกันเป็นทีม ซึ่งทุกคนได้แสดงสปิริตความเป็น OneKBTG กันอย่างเต็มเปี่ยม

ท้ายสุดนี้ เราขอให้สมาชิกของทุกทีมลองโหวตทีมที่ตนชื่นชอบจาก Demo Day ปรากฏว่ามีการเอ่ยชื่อทีมเกือบครบทั้งสิบทีม แต่ส่วนใหญ่ก็จะลงคะแนนเสียงตรงกับคนในงานคือทีม K-Lox ที่ไอเดีย IoT และ Live Demo ปิดฉากเวทีนำเสนอและการแข่งขันได้อย่างงดงาม

แล้วคุณล่ะ จากที่ฟังมาทั้งหมด คุณชื่นชอบทีมไหนและอยากจะโหวตให้ใคร?

--

--