Deep Space by KBTG: Exploring the Innovation Culture

Kris B
KBTG Life
Published in
3 min readDec 24, 2019
#DeepSpaceKBTG #OneKBTG #EatYourOwnAPIs

เมื่อก้าวเข้ามาสู่พื้นที่จัดงานบนชั้น 11 ของตึก KBTG สิ่งแรกที่รอต้อนรับคุณ (นอกเหนือจากคิวรับชานมไข่มุก Fire Tiger สุดพิเศษสำหรับผู้เข้างาน 100 คนแรก) คืออุโมงค์สีดำขนาดยักษ์ ภายในประดับด้วยลูกบอลเรืองแสงและไฟสีฟ้าม่วงตระกานตา อุโมงค์เข้างานนี้มีชื่อเรียกว่า DEEP SPACE Illumination Tunnel ที่นอกจากจะใช้เป็นจุดที่ถ่ายรูปลงเฟสไอจีกันสวยๆแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์เล่าถึงการเดินทางของทั้งสิบทีม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไอเดียที่ไม่เคยคาดคิด ผ่านการฟูมฟักพัฒนาด้วยทักษะเฉพาะด้านและรวมกันเป็นหนึ่ง จนกลายมาเป็น Innovation Idea สุดเจ๋งพร้อมนำเสนอส่งท้ายปี 2019 นี้

งาน Deep Space by KBTG เป็นงาน Internal Hackathon ที่ KBTG (KASIKORN Bank-Technology Group) จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อมอบโอกาสให้พนักงานมากกว่า 400 ชีวิตร่วมแข่งขันกันเป็นทีมภายใต้คอนเซ็ปต์ “Eat your own dog food, eat your own APIs”

Dogfooding (n.) : การที่คนในองค์กรทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่องค์กรพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Big Data ของ KBTG เอง

เวทีนี้เปิดกว้างให้ทุกคนเรียนรู้และคิดค้นวิธีพลิกแพลงใช้ APIs ของ KBTG กว่า 50 services เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจธนาคารได้จริง ส่วนบทบาทของ KBTG ไม่ได้หยุดเพียงแค่ผู้จัดงานและผู้ตัดสินเท่านั้น หากยังมีการจัด Workshop ต่างๆเสริมคลังอาวุธให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งทางด้าน Business, Technology รวมไปถึงการ Coaching Session โดยฝ่ายผู้บริหารและ Pitching Workshop โดยพี่กระทิง คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท KBTG ของเรา และมูลค่าเงินรางวัลกว่า 240,000 บาทกันเลยทีเดียว!

“วันนี้ผมถอดหมวก Chairman ออกเนาะ วันนี้ผมใส่หมวกเป็น Venture Capital ครับผม” — พี่กระทิงกล่าวเปิดงาน Deep Space by KBTG

หลังจากฟาดฟันกันจนเหลือสิบทีมสุดท้าย ทุกทีมจะได้รับเวลา 6 สัปดาห์ในการพัฒนาไอเดียของตนเป็น Working Prototype เพื่อมานำเสนอในวันตัดสินหรือที่เรียกว่า Demo Day ที่จัดขึ้นอย่าอลังการ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2019 ที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการตัดสินทั้งหมด 4 ท่าน คือ พี่กระทิง คุณเรืองโรจน์ พูลผล, พี่เปิ้ล คุณจรัสศรี พหลโยธิน, พี่มิค คุณจรุง เกียรติสุภาพงศ์ MD ของ KBTG, และพี่ปรี คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย

ในวัน Demo Day แต่ละทีมจะมีเวลาในการนำเสนอ Product ของทีมทั้งหมด 6 นาที และมีเวลาให้คณะกรรมการถามคำถามเพิ่มเติมอีก 4 นาที ซึ่งแต่ละทีมก็ได้แสดงฝีมือกันอย่างสุดความสามารถ แม้ไอเดียจะหลากหลายแต่ทุกทีมก็ล้วนมีจุดเด่นต่างกันตรงที่สามารถนำ Deep Technology ของ KBTG มาสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไข Pain Points ที่มีอยู่จริงได้ตรงจุด โดยไม่ลืมที่จะคำนึงถึง Business Model จึงสร้างความหนักใจให้แก่คณะกรรมการเป็นอย่างมากในการคัดเลือกผู้ชนะ ท้ายที่สุดจึงตัดสินให้มีรางวัลรองชนะเลิศทั้งอันดับสองและรองชนะเลิศอันดับหนึ่งอย่างละ 2 รางวัล รวมถึงมีรางวัล Popular Vote จากกองเชียร์ชาว KBTG ทั้งหมดอีก 1 รางวัล

— รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง —

ทีม ARSA

หนึ่งในสาเหตุที่พนักงานลาออกคือการที่องค์กรมอบหมายงานที่ไม่ตรงความถนัดและความต้องการของตน

Arsa ได้สร้าง Competency Radar ขึ้นมาช่วยองค์กรให้สามารถรักษาบุคลากรมากฝีมือไว้ได้ โดยร่วมงานกับฝ่าย HR ของ KBank ในการแปลงทักษะประสบการณ์ และรวบรวมจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละทีม/โปรเจ็ค จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดไปใช้ในการวางแผน Training และประกอบการตัดสินใจย้ายตำแหน่งพนักงานให้ตรงตามความถนัด

ทีม Possible K+ Shop

ร้านโชห่วยส่วนมากยังอาศัยความจำและการจดลงกระดาษเพื่อบันทึกรายละเอียดสินค้าของตนเอง จึงก่อให้เกิดปัญหาในการจัดระเบียบสต็อกสินค้าและราคา

Possible K+ Shop เป็นแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาต่อยอดจาก K+ Shop เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ร้านโชห่วยในการการขายและจัดการคลังสินค้า ซึ่งแอปนี้มีคุณสมบัติหลากหลาย เช่น การปริ้นต์บาร์โค้ดสำหรับสินค้าที่ไม่ได้มีอยู่แล้ว การแสกนสินค้าเพื่อตรวจสอบปริมาณสินค้าในคลัง การชำระเงินผ่าน QR Code และการสรุปยอดขายรายวัน เป็นต้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง: Possible K+ Shop (ซ้าย), Arsa (ขวา)

— รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง —

ทีม K-Argus

เมื่อเงินบริจาคหลั่งไหลเข้าบัญชีธนาคารเป็นจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของ Core Banking ธนาคารจำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ

K-Argus ได้สร้างระบบตรวจสอบเทรนด์บัญชีรับเงินในโลกออนไลน์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อธนาคาร โดยระบบจะตรวจหาเทรนด์ตามช่องทางโซเชียลมีเดียยอดนิยมในไทยอย่าง Youtube และ Twitter เพื่อกลั่นข้อมูลออกมาใช้ในการเตรียมการแก้ไขระบบหลังบ้านและลดผลกระทบต่อลูกค้า

ทีม K-Happy Lotto

เปลี่ยนวิธีการขึ้นเงินสลากกินแบ่งรัฐบาลของคนไทยให้เป็นเรื่องง่ายโดยไม่ต้องก้าวออกจากบ้าน

K-Happy Lotto เป็นบริการช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขึ้นเงินสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ถูกรางวัลจะสามารถใช้ไลน์ถ่ายรูปสลากฯ ของตน เมื่อได้รับคำยืนยันแล้ว จะมีพนักงานมารับเพื่อนำไปขึ้นเงินให้ เงินรางวัลก็จะโอนเข้าบัญชีของผู้ชนะโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีเสียค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 0.5% ของเงินรางวัลเท่านั้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง: K-Happy Lotto (ซ้าย), K-Argus (ขวา)

และแล้วก็มาถึงรางวัลชนะเลิศที่คณะกรรมการลงความเห็นว่านวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแข่งขันนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งรางวัลนั้นก็ตกเป็นของทีม Heru นั่นเอง

ทีม Heru

รับผิดชอบเงินของคนอื่นเป็นเรื่องที่แสนจะวุ่นวาย กำจัดปัญหาการเกี่ยงกันเป็นเหรัญญิกห้องด้วย Line Bot

ตำแหน่งเหรัญญิกห้องเป็นตำแหน่งที่สร้างความปวดหัวให้กับชีวิตนักเรียนที่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะสมัครใจเป็นเองหรือถูกบังคับให้เป็น (ซึ่งส่วนมากจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า) ลำพังเงินตัวเองยังจะมีปัญหา นี่ต้องมาจัดการเงินของเพื่อนทั้งห้องอีก พอถึงเวลาไปทำธุรกรรมก็ต้องยกโขยงไปกัน 3–4 คน หากเงินหายขึ้นมา คนโชคร้ายก็หนีไม่พ้นตัวเหรัญญิกเอง ทีม Heru ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงพยายามหาทางออกให้นักเรียน ถ้าไม่มีใครอยากเป็นเหรัญญิก ก็ให้น้อง Heru ทำแทนเลยสิ

รางวัลชนะเลิศ: Heru

Heru คือ Line Bot ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการบัญชีแทนเหรัญญิกประจำห้อง โดยคุณสมบัติเด่นมีอยู่สามอย่างด้วยกันคือ เก็บเงินง่าย ปลอดภัย และโปร่งใส่สามารถดูย้อนหลังได้ หากสมาชิกห้องต้องการเบิกเงินไปใช้ซื้อของ ก็สามารถเขียนบอก Heru ในกรุ๊ปไลน์ได้เลย Heru ก็จะส่งข้อความบอกคนที่มีหน้าที่อนุมัติยืนยัน เมื่ออนุมัติแล้ว Heru ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของนักเรียนคนที่ขอโดยอัตโนมัติ

สิ่งที่สร้างความประทับให้แก่คณะกรรมการมีอยู่สองสิ่งด้วยกัน คือการที่ทีม Heru คิดวิธีเจาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไทยที่เข้าถึงยากและเลือกแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ทุกคนคุ้นเคยกันอย่างดี จึงทำให้ทีม Heru ชนะเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท และตัว Heru ก็จะได้นำไปพัฒนาต่อเป็น Product จริงหรือ The Next Apollo ของ KBTG

“มันเป็น Pain point ที่ไม่ถูก solve สักที มันเหมือนเส้นผมบังภูเขาไง แล้ว Solution [ของทีม Heru] มันง่ายและตอบโจทย์ได้ เราเชื่อว่าเราสามารถเอาไปใช้ได้ทันที” — พี่กระทิง

จากที่ได้รับชมการนำเสนอ Prototype ขั้นเทพของทุกทีมแล้ว แทบไม่น่าเชื่อเลยแค่เวลาอันจำกัดเพียงน้อยนิดก็สามารถสร้างนวัตกรรมกันได้ถึงเพียงนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีเลยว่าทุกคนในบริษัทต่างก็มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถ Innovate หากได้รับโอกาส พี่กระทิงถึงกับออกปากชมความทุ่มเทของทุกคนที่มีต่อโปรเจค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคีในการทำงานที่สมาชิกต่างทีมมาเข้าร่วมกันเพื่อรวมเป็น OneKBTG เป็นการส่งเสริมแนวคิด Teamwork อันเป็นหนึ่งใน Core Values สำคัญของบริษัทที่เราเรียกว่า TAVIA (Teamwork, A-class, Value Creation, Innovation, Agility) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับใครที่อยากรู้รายละเอียดเชิงลึกของแต่ละทีมที่ได้รับรางวัลในงาน Deep Space by KBTG ปีนี้ ติดตาม Exclusive Interview ในพาร์ทสองกันได้เลยว่าที่มาที่ไป ของไอเดียสุดเจ๋งของแต่ละทีม มาจากไหน…

--

--