หนึ่งวันของทีม Cyber Security ที่ KBTG

Tonrice
KBTG Life
Published in
2 min readJun 14, 2022

หลายคนน่าจะทราบกันดีว่างาน Cyber Security ในมุม Technical นั้นมีหลากหลาย ซึ่งในบทความนี้เราจะมาโฟกัสที่ทีมแนวหน้าสายบู๊ของ KBTG กัน ซึ่งทีมประกอบไปด้วยฝ่ายไหนบ้างนั้น มาทำความรู้จักกันเลยครับ

Vulnerability Management & Threat Intelligence

หน่วยข่าวกรองทางไซเบอร์ที่จะคัดกรองข้อมูลข่าวสารช่องโหว่ การโจมตีต่างๆ นำมาเป็นข้อมูลตั้งต้นให้กับธนาคารในการป้องกันและเฝ้าระวัง รวมไปถึงค้นหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำ Vulnerability Assessment และ Penetration Test เพื่อการป้องกันได้อย่างทันท่วงที บริหารจัดการช่องโหว่ที่มีภายในองค์กร ประเมินความเสี่ยงที่ระบบอาจถูกโจมตีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งช่องโหว่ได้รับการแก้ไข ด้วยแนวคิดที่ว่า “ค้นหาจุดอ่อนของตัวเองให้พบ ก่อนคนอื่นจะมาเจอ”

Security Analyst and Incident Response

หน่วยเฝ้าระวังและรับมือการโจมตีทางไซเบอร์และเหตุละเมิดต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง มีหน้าที่ค้นหาเบาะแสความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบ โดยวิเคราะห์ข้อมูล Log จากระบบต่างๆ จากนั้นจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุและแก้ไขจนกระทั่งเหตุการณ์ดังกล่าวกลับสู่สภาวะปกติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบของธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าทุกคนได้อย่างปลอดภัย

Security Platform

หน่วยงานผู้ปิดทองหลังพระ เป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม สรรหา ติดตั้งและดูแลเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง และยกระดับการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลก

แม้ว่าลักษณะงานของทั้ง 3 ทีมจะแตกต่างกันออกไป แต่เรามีเป้าหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือการทำให้ธนาคารปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ

แล้วในหนึ่งวัน Cyber Security สายบู๊ที่ KBTG ทำอะไรกันบ้าง

ช่วงเช้า

ช่วงเช้าจะเป็นเวลาของการอัพเดตข่าวสาร ติดตามเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อศึกษารูปแบบการโจมตีต่างๆ รวมไปถึงช่องโหว่ใหม่ๆ แล้วคัดกรองสรุปเป็นข้อมูลกระจายต่อไปยังส่วนงานอื่นๆ เพื่อใช้ป้องกันและเฝ้าระวังการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นต่อไป อีกทั้งยังตรวจสอบระบบในธนาคารว่ามีความเสี่ยงหรือช่องโหว่ที่อาจถูกโจมตีด้วยวิธีการตามข่าวสารที่สรุปหรือไม่

“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด เราก็ไม่สามารถแก้ไขช่องโหว่เสร็จทันทีฉันนั้น”

ปกติแล้วช่องโหว่ที่มีในระบบก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไข จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังการโจมตีช่องโหว่เหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่โดนโจมตีและตกเป็นข่าวเสียเองในอนาคต โดยจะ Deploy ข้อมูล Indicator of Compromise หรือ IOC (ข้อมูลเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ต่างๆ) เพื่อป้องกันในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังค้นหา Signature เพื่อนำไปสร้าง Rule เพื่อให้สามารถตรวจจับการโจมตีได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วที่สุด อีกทั้งยังปรับแต่งระบบให้ทำงานแบบ Automation เพื่อลดภาระและข้อผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานที่อาจเกิดขึ้น

ช่วงกลางวัน

เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของช่องโหว่ใหม่ๆ เสร็จสิ้น หรือหากหน่วยงานเฝ้าระวังพบเหตุการณ์การโจมตีที่น่าสงสัย ทีมงานต้องทำการประสานงานไปยังผู้เกี่ยวข้องในธนาคารเพื่อประเมินความเสี่ยง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางการแก้ไขช่องโหว่หรือเหตุการณ์การโจมตีเหล่านี้

การค้นหาข้อมูลการโจมตีย้อนหลัง (Threat Hunting) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะทำอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบของธนาคารยังไม่เคยถูกโจมตีเฉกเช่นกับองค์กรอื่นๆ ที่ตกเป็นข่าวการถูกโจมตีก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีการประชุมภายในทีมเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคการเฝ้าระวังระบบที่มีช่องโหว่เป็นพิเศษ ตรวจสอบแนวโน้มการโจมตีที่อาจมีผู้ไม่หวังดีพยายามงัดแงะระบบของเรา

สำหรับทีมที่ดูแลระบบนั้น นอกจากจะตรวจสอบ Performance และ Capacity ของระบบที่ใช้เฝ้าระวังให้พร้อมรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังปรับแต่ง Rule และเครื่องมือที่มีให้เหมาะสมกับการตรวจจับและป้องกัน เพื่อช่วยให้ทีมเฝ้าระวังสามารถวิเคราะห์หรือตรวจพบเหตุการณ์การโจมตีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ช่วงเย็น

หลังจากที่ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังและแก้ไขช่องโหว่ทั้งวันแล้วนั้น ในช่วงเย็นทีมงานจะสรุปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สถานะของระบบที่เกี่ยวข้อง ไทม์ไลน์และผลกระทบที่ใช้ในการแก้ไขช่องโหว่ ข้อมูลการโจมตีที่ตรวจพบและคอยเฝ้าระวังการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สถานะระบบที่ใช้ในการตรวจสอบ ค้นหา เฝ้าระวังช่องโหว่และการโจมตีทางไซเบอร์ แนะนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่คาดว่าต้อง Implement เพิ่มเติมเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความท้าทายหรือปัญหาต่างๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อให้หัวหน้าทีมช่วยเหลือจนสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านั้นได้ดีที่สุด

STEEL Mindset ของคน Cyber Security สายบู๊

Mindset ที่สำคัญในการทำงานด้าน Cyber Security โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ KBTG เราขอใช้อักษรย่อแทน Mindset ดังกล่าวว่า ‘STEEL’ ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

1. Sense of Urgency การตัดสินใจเรื่องความเร่งด่วน

จัดว่าเป็น Mindset ที่สำคัญมากที่สุด เพราะงานของเรานั้นแข่งกับเวลาและมักจะไม่เลือกช่วงเวลาเกิดเหตุ เช่น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์โจมตีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เราคงไม่สามารถนั่งชิวๆ รอวันจันทร์ค่อยดำเนินการแก้ไขอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันบางครั้งเหตุการณ์ต่างๆ ก็พร้อมจะปะเดปะดังเข้ามาราวกับได้นัดหมายกันไว้ล่วงหน้า ดังนั้นการเรียงลำดับความสำคัญของงานหรือขั้นตอนการทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ถ้าไฟไหม้ เราก็ต้องรีบหาทางดับไฟก่อน แล้วหาสาเหตุของไฟไหม้ภายหลัง ผมเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งในบทความ เรามีเวลาให้กับความปลอดภัยเสมอ: บทเรียนจาก Deepwater Horizon ขอนำมากล่าวอีกซักครั้ง

“Every bad news is good news if communicate early”

ทุกๆ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นคือข่าวดี ถ้าเรารีบบอก รีบแก้ไข รีบหาทางป้องกัน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายจนยากที่จะแก้ไขและควบคุม

2. Teamwork การทำงานเป็นทีม

ด้วยงานที่ต้องติดต่อประสานงานหลายฝ่าย มีข้อมูลจำนวนมากต้องวิเคราะห์ ตรวจสอบ แก้ไข และเป็นงานที่ไม่สามารถจบเบ็ดเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว การมี Teamwork การดูแลเอาใจใส่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“ ทีมไม่ได้ถูกสร้างให้เราดูแลมัน แต่เพราะเราดูแลกันและกัน จึงกลายเป็นทีมขึ้นมา ”

3. Ethics จริยธรรม

เราอยู่กับข้อมูลมหาศาล ทั้งข่าวสารจากภายนอกองค์กร และข้อมูลภายในองค์กร Ethics จึงมีความสำคัญมากในการทำงาน เพราะข้อมูลต่างๆ ล้วนเป็นความลับขององค์กร ถ้ามีผู้ไม่หวังดีได้ไป อาจสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้ รวมทั้งยังต้องตรงไปตรงมา ไม่กลัวงานหนัก ไม่กลัวปัญหาที่จะเกิด เพราะเมื่อเรากังวลและกลัว เราก็จะไม่กล้าทำ ถ้าเราไม่ทำในวันนี้ ไม่แก้ปัญหาแล้วปล่อยทิ้งไว้ ในวันข้างหน้าปัญหาจะลุกลามบานปลายใหญ่กว่านี้อย่างแน่นอน ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มึใครอยากทำงานยาก ไม่มีใครอยากทำงานที่มีปัญหา แต่ด้วยเนื้องานของการทำงานสายนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่งานยากหรืองานมีปัญหา เพราะถ้างานนั้นจำเป็นต้องทำ แม้จะยากแค่ไหนก็ต้องหาทางทำให้ได้

4. Empathy การเข้าใจผู้อื่น

ด้วยเนื้องานของเราแล้วไม่แปลกที่จะเกิด Conflict ในการทำงานเพราะงานของเราบางส่วนคือการ Interrupt งานของทีมอื่นที่กำลังไปได้สวย โปรเจคกำลังจะ Go-live วันพรุ่งนี้ วันนี้เจอแจ็คพอตมีข่าวการโจมตีออกมา ซึ่งกระทบกับโปรเจคนั้นโดยตรง ก็อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้างในหน้าที่ที่ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบ เราจำเป็นต้องมี Empathy เข้าใจและช่วยเหลือในการแก้ปัญหา เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

5. Learn-Unlearn-Relearn เรียนรู้ไม่สิ้นสุด

เข้าใจในความผิดพลาด ความไม่สมบูรณ์แบบ เรียนรู้และลองผิดลองถูก ด้วยโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้ก็มีเรื่องใหม่ให้เรียนรู้ สิ่งที่เราเคยทำได้ดีมากในเมื่อวาน วันนี้อาจจะโดนล้มกระดานก็ได้ การยอมรับว่าเราไม่รู้ เราไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่คนทำงานสายนี้ต้องมีและรักมากๆ ในการเรียนรู้สิ่งใหม่

ทีม Cyber Security ที่ KBTG

ท้ายสุดนี้ หนึ่งวันที่ KBTG มีอะไรให้เรียนรู้และได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งในด้าน Hard Skill และ Soft Skill ซึ่งผู้บริหารของ KBTG ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ด้วยการสนับสนุนหลักสูตรต่างๆ ที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม ให้ทุกคนพร้อมใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีในการป้องกันระบบของธนาคารอย่างเข้มข้น ใส่ใจในทุกตารางมิลลิเมตรของระบบ เพื่อให้ระบบของเราทำงานและให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในองค์กรได้รับการดูแลอย่างดี ตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

และสำหรับใครที่อ่านจบแล้ว อยากจะกระโดดมาร่วมเส้นทางสายงาน Cyber Security ตอนนี้เรากำลังมีโปรแกรมดีๆ อย่าง Cyber Security Bootcamp จาก Tech Kampus ClassNest ที่ปูทางให้กับชาวไอทีที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนเทคสายงานอื่นที่อยาก Reskill หรือน้องๆ จบใหม่ที่สนใจ Upskill เรียนกันเต็มๆ ถึง 3 เดือน แถมยังได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้อย่างใกล้ชิดกับทีม Cyber Security และสามารถนำคะแนน Post Test ตรงเข้าสู่รอบ Final Interview กับ KBTG ได้อีกด้วย สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 3–24 มิ.ย. 2022 ที่เว็บไซต์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--