KBTG Inspire — ทำไมโปรเจคสมมติเล็กๆ สมัยเรียน ถึงมีส่วนทำให้ฉันกลายเป็นหนึ่งใน Designer ของ KBTG

Sascha May
KBTG Life
Published in
5 min readJul 21, 2022

ย้อนไปสมัยหลังจากเรียนจบ ทุกคนเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมคะ ว่า “เราจะต้องไปทางไหนต่อ?” หรือเคยไหมที่เริ่มกลับมาค้นหาตัวเองอีกครั้งว่า “เราชอบอะไรกันแน่?” เราเองก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต นั่นคือการเปลี่ยนสถานะจาก ‘วัยเรียน’ มาเป็น ‘วัยทำงาน’ ซึ่งก็อาจทำให้เข้าใจมุมมองและความรู้สึกของหลายๆ คนในวัยเดียวกัน

ต้องเกริ่นก่อนว่าเราเพิ่งเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พอบอกว่าจะย้ายไปทำงาน ‘สายเทค’ (Tech Industry) ก็มีหลายคนตกใจว่า เฮ้ย! จะไปทำอะไร? แล้วจะไปทำได้ยังไง? เราจึงเริ่มต้นอธิบายอย่างง่ายๆ แบบนี้

Retrospective Thinking ค้นหาจุดเริ่มต้นเส้นทางของตัวเองจากสิ่งที่มีอยู่

ผลงาน Final Project — CUNEX iCanteen Feature ในวิชา Innovative Thinking

กลับไปมองตัวเองตั้งแต่สมัยมัธยม-มหาลัย พื้นฐานเราเป็นเด็กสายวิทย์ที่ชอบขีดๆ เขียนๆ จนได้มาเรียนออกแบบ แต่ระหว่างทางเราเองก็มีความสนใจในการทำ Web Design เป็นทุนเดิม เริ่มเขียนโค้ด HTML แบบง่ายๆ จากโปรเจคออกแบบเว็บไซต์สมัย ม.ปลาย เลยเถิดไปถึงการอาสาช่วยเพื่อนออกแบบอะไรที่ไม่ใช่เว็บไซต์ แต่เป็น Blog อย่าง Diary ยุค Dek-D.com หรือ Hi5 ที่เขาฮิตๆ กันเมื่อนานมาแล้ว กลายเป็นงานอดิเรกหลังเลิกเรียนที่ทำไปด้วยความสนุกล้วนๆ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ยังไงต่อ จนจะเข้ามหาลัยจึงได้ตัดสินใจเลือกเรียนคณะที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโดยตรง

มหาลัยเป็นช่วงที่ทำให้เราพบว่าตัวเองมีความสนใจในด้านการออกแบบเชิง User-Centered Design ค่อนข้างมาก จากการสังเกตตัวเองว่าชอบพูดคุย ซักถาม เก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Users รวมถึงลงไปทำ Research เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบ โดยทุกช่วงปิดเทอมที่มีเวลาว่าง เราก็ได้ทำ Workshop ที่มีการลงพื้นที่จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือไม่ก็ทำ Internship ตลอดระยะเวลา 5 ปี

แต่ถ้าถามว่า “เราเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองสนใจสายเทคอย่างจริงจังตอนไหน?”

คำตอบก็คงเป็นตอนที่ได้ลองไปหาประสบการณ์นอกคณะ โดยไปลงวิชาเลือก Innovative Thinking ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชานี้มีเป้าหมายการสอนเกี่ยวกับการคิดเชิงนวัตกรรม และเมื่อถึงท้ายเทอม อาจารย์จะให้เราลองแก้ปัญหาอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาหนึ่งปัญหา โดยใช้ “การออกแบบแอปพลิเคชัน “ ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชา Innovative Thinking สามารถเข้าไปอ่านต่อได้

ตอนนั้นเราเลือกแก้ปัญหา “โรงอาหารในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ” แต่บอกอาจารย์ว่าไม่ขอออกแบบเป็นแอป แต่ขอออกแบบให้เป็นหนึ่งในฟีเจอร์บนแอปที่ทุกคนในมหาลัยมีอยู่แล้วอย่าง ‘CUNEX’ แอปพลิเคชันที่ใช้ภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกแบบและพัฒนาโดย KBTG

กระซิบว่าใครอยากอ่านแบบลงรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจคนี้ เราเคยเขียนเล่าในบทความด้านล่างนี้ค่ะ สามารถไปตามอ่านกันได้!

Career Shift — ตัดสินใจย้ายสาย เพื่อให้ได้ทำงานที่ตั้งใจ

Google UX Design Certificate

หลังจากที่ทบทวนกับตัวเองแล้วว่าสนใจการออกแบบเชิง User-Centered Design รวมไปถึงว่าอยากทำอะไรต่อในชีวิต เราก็ไม่ลังเลที่จะเลือกเส้นทางใหม่ โดยคิดว่าทักษะในการออกแบบที่เรียนมาน่าจะนำมาประยุกต์กับสายเทคได้ และเริ่มหาข้อมูลอย่างจริงจังทันที

หลังจากที่ลองค้นคว้าและประเมินตัวเองแล้ว เรามองว่าความรู้ในเชิงการ Design ที่มีอยู่คงยังไม่เพียงพอ จึงพยายามหาความรู้ทางด้าน Technical เกี่ยวกับการออกแบบ UX (User Experience) เพิ่มขึ้น และไปลงเรียน Google UX Design Certificate แบบจริงจังเป็นระยะเวลา 7 เดือน เพื่อที่จะสามารถนำความรู้มาใช้ต่อได้ ซึ่งยิ่งเรียนก็ยิ่งพบว่า เฮ้ย! มันเป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ ยิ่งเกิดความอยากรู้อยากเห็น ได้ลองทำโปรเจคภายในคลาสก็ยิ่งรู้สึกแฮปปี้ และมองว่าสิ่งที่เรากำลังเรียน นั้นทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้จริงๆ

Why KBTG?— งานที่แรก ทำไมต้องเป็น KBTG

พอเรียนจบ เราก็เริ่มมองหาที่ทำงานต่อ หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วแบบนี้ควรจะเลือกทำงานที่ไหน? จะไปทำบริษัทอะไรดี? แล้วถ้าจะทำ จะเลือกเป็นบริษัทที่มีขนาดแบบไหน เล็ก-กลาง-ใหญ่?

สำหรับเราแล้ว เราเริ่มต้นจากการลองคิดว่า “เราเคยประทับใจหรือสนใจกับ Product ของบริษัทไหนมาก่อน?”

เพราะการคิดแบบนี้มีข้อดีคือ…

  1. เรามีประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเอง เวลาที่เราเป็นผู้ใช้งานจริง (User) ของ Product นั้นๆ เรารู้สึกอย่างไร อะไรถึงทำให้เรารู้สึกว่า Product นี้มันเจ๋ง
  2. เราจะเริ่มรู้สึกสนใจและตั้งคำถามถึงขบวนการทำงานเบื้องหลัง (หลังบ้าน) ว่าเขาทำยังไงนะ ถึงออกมาเป็น Product แบบนี้ ทำยังไงให้ใช้งานง่ายและตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน
  3. เราพอจะรู้ Background คร่าวๆ ของบริษัทที่สร้าง Product นี้ขึ้นมา ว่าเขาเป็นบริษัทประมาณไหน สร้าง Product นี้ออกมาเพื่ออะไร

พอเริ่มคิดแบบนี้แล้ว KBTG ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผุดในหัวของเราขึ้นมาทันที!

Product ต่าง ๆ ภายใต้การพัฒนาของ KBTG (credit: agenda.com)

เพราะเราเป็นผู้ใช้งาน Products ของ KBTG อยู่หลายตัว ตั้งแต่พื้นฐานสุดๆ แบบแอปธนาคารอย่าง K PLUS ไปจนถึงแอปที่ KBTG มีส่วนเข้าไปร่วมพัฒนากับองค์กรอื่นอย่าง CUNEX ที่เป็นแอพพลิเคชันสำหรับใช้จ่ายค่าเทอม จองส่วนกลาง และติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าพอใช้แล้ว เราประทับใจในการกระบวนการ ‘คิด’ รู้สึกว่าหลายแอปใช้ง่าย มีความ User-Friendly รวมไปถึงสร้างมาเพื่อรองรับปัญหาในชีวิตเรา เช่น การหารเงินกับเพื่อนเวลาไปกินข้าวก็ใช้ KhunThong เป็นตัวช่วย หรือ การเก็บเงินออมอย่างเป็นระบบโดยใช้ Make by KBank เลยไปถึงการหยิบแอป CUNEX มาคิดฟีเจอร์ใหม่ เป็นโปรเจคชิ้นที่ชอบมากๆ ชิ้นหนึ่งสมัยเรียนอีกด้วย จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วหลังบ้านเขาทำงานกันยังไงนะ กว่าจะมาเป็น Product เจ๋งๆ แบบนี้สักชิ้นหนึ่ง ยิ่งทำให้อยากหาคำตอบเข้าไปอีก

และเมื่อลองถามตัวเองดูแล้วว่าอยาก ‘Landing’ เลือกงานแรกในบริษัทที่มีลักษณะ ขนาดแบบไหน ก็ได้คำตอบว่าอยากลองมาเริ่มงานกับบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ก่อน เพื่อที่จะได้เรียนรู้โครงสร้างการทำงาน มาตรฐานต่างๆ ซึ่ง KBTG ก็ตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะเป็นองค์กรเบื้องหลังที่มีความสำคัญในการพัฒนาบริการดิจิทัลให้กับธนาคารกสิกรไทย มีนวัตกรรมทางการเงิน รองรับการเงินแบบ Digital Banking ซึ่งกำลังจะมีบทบาทมากๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แอบเล่าเป็นเกร็ดขำๆ นี่ยังไม่นับว่าแม้แต่สมุดบัญชีธนาคารเล่มแรกในชีวิตเราก็เป็นบัญชีของธนาคารกสิกรไทย จึงถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ได้รับการไว้วางใจจากทั้งตัวเราและครอบครัวมาอย่างยาวนาน

พอมีเป้าหมายแล้ว อะไรๆ ก็ดูชัดเจนขึ้น แล้วช่างประจวบเหมาะกับที่เราได้พบกับโครงการ KBTG Inspire!

KBTG Inspire — คืออะไร ทำไมต้องโครงการนี้?

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการปีนี้! ใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์เลย

ระหว่างที่เรากำลังเริ่มเตรียมตัวและเตรียมผลงานเพื่อนำมาสมัครเข้าทำงานที่ KBTG ก็ได้พบเข้ากับโครงการ KBTG Inspire ที่ขึ้นมาบนฟีดเฟสบุ๊กพอดี เห็นแล้วก็รู้สึกสนใจ อยากรู้ว่าโครงการนี้คืออะไร จนเข้าไปที่เว็บไซต์และได้คำตอบว่า KBTG Inspire คืออีเว้นต์ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนสายเทค ตั้งแต่นักศึกษาจบใหม่ จนไปถึงคนทำงานระดับ Junior ถึง Senior ได้มาค้นหาแรงบันดาลใจ ความรู้ใหม่ๆ และโอกาสในการร่วมงานกับ KBTG ที่เปิดรับมากกว่า 50 ตำแหน่งด้วยกัน! โดยเราได้ตามไปฟังเวลาที่ทางทีม KBTG จัดทอล์กใน Clubhouse บวกกับหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็ไม่รอช้า ตัดสินใจกดสมัครเข้าร่วมโครงการทันที

กิจกรรมในโครงการ KBTG Inspire ปีที่ผ่านมาก็มีหลายรายการ เราได้ไปร่วมงานรอบต้นเดือน 2565 ที่จัดขึ้นวันเสาร์ที่ 26 มี.ค. ตั้งแต่เวลา 10:00–17:30 น. โดยรูปแบบภายในงานจะเป็นการจัดกิจกรรมพร้อมกัน ผู้ร่วมงานก็จะต้องเลือกที่ตนสนใจจริงๆ ซึ่งกิจกรรมที่เราเลือกก็คือ Agile Playground และ 1:1 Career Mentorship

ภาพจากบทความ Agile Playground กิจกรรมที่ร่วมกันเล่น แต่ไม่ได้มาเล่นๆ โดย คุณ Yod Pichit

Agile Playground

ในช่วงเช้า เราเลือกเข้า Agile Playground เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับกระบวนการทำงานที่เรียกว่า Agile ผ่านโจทย์ที่ออกแบบโดยทีม Agile Coach ของ KBTG โดยโจทย์ที่ว่านั้นถูกจำลองมาจากประประสบการณ์การทำงานแบบ Agile จริงๆ ใน KBTG

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ผ่าน Breakout Room เพื่อจำลองการทำงานเป็นกลุ่มย่อยที่เรียกว่า Squad จากนั้นแต่ละคนจะสวมบทบาทเป็นทีม Development ช่วยกันพิชิตโจทย์ให้สำเร็จ โดยจะมี 1 คนในกลุ่มสมมติบทบาทเป็น PO (Product Owner) เพื่อไปพูดคุยกับลูกค้า (รับโจทย์จากทีม Agile Coach) เพื่อมาแบ่งงานกัน “วาดภาพตามคำบอก” โดยทีม Development จะเป็นผู้วาด และ PO จะคอยบรีฟ เล่าให้ฟังว่าตัวเองได้รับโจทย์อะไรมา เพื่อให้ภาพที่ทีมวาดจะได้มีความใกล้เคียงภาพต้นแบบมากที่สุด เรียกได้ว่าสนุกและลุ้นกันมากๆ เพราะต้องรีบทำภารกิจให้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด

เมื่อหมดเวลา แต่ละทีมต้องส่งตัวแทนมาพรีเซนต์ภาพว่ามีการทำงานยังไง ทำไมภาพถึงออกมาเป็นแบบนี้ ทีมไหนทำได้ดี และถูกต้องตามโจทย์มากที่สุดก็รับรางวัลไปเลย ถือเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานแบบ Agile ที่ไม่น่าเบื่อและได้ความรู้ผ่านการลงมือทำอีกด้วย

สายงานทั้งหมดที่มีในกิจกรรม 1:1 Career Mentorship ในงาน KBTG Inspire ครั้งล่าสุด

1:1 Career Mentorship

พอช่วงบ่าย เราก็จะเริ่มกิจกรรม 1:1 Career Mentorship ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดพิเศษที่ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถจองสล็อตเวลาแบบ First Come, First Served เพื่อขอคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับ KBTG Mentors ในสาขาที่ตนสนใจ ซึ่งทาง KBTG ก็เตรียมมาให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Dev, BA, Data, PM, UX/UI และอื่นๆ รวมแล้วมากถึง 15 สายงานด้วยกัน

จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือเราสามารถมาขอคำปรึกษาและพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการสมัครงาน รวมไปถึงวัฒนธรรมการทำงานที่ KBTG แบบเจาะลึก ซึ่งค่อนข้างยากที่จะไปหาฟังจากที่อื่น และกิจกรรมนี้เอง ทำให้เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ พี่วัช วัชรพงษ์ ตรีรัตนพันธ์ Principal Designer จากทีม Beacon Interface ของ KBTG

พี่วัช วัชรพงษ์ ตรีรัตนพันธ์ เมนเทอร์ที่มาให้คำปรึกษาในกิจกรรม 1:1 Career Mentorship ในสาขา UX/UI Designer

ต้องเกริ่นว่าก่อนที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองนั้นจะได้พบกับเมนเทอร์คนไหน จะได้ไปรู้ทีเดียวเลยตอนที่เปิดกล้องพูดคุยขอคำปรึกษาเลย! แค่ฟังก็แอบตื่นเต้นแล้ว

แต่กลับกัน บรรยากาศการพูดคุยออนไลน์ผ่าน Zoom เป็นอะไรที่กันเองมากๆ พี่วัชพูดคุยแบบเปิดกว้าง ทำให้บทสนทนาไม่ซีเรียสจนเกินไป เราได้ถามในหลายๆ ประเด็นที่สงสัยเกี่ยวกับเส้นทางการทำงานของ UX Designer ของ KBTG ว่าเป็นอย่างไร เขาทำงานกันอย่างไรกว่าจะออกมาเป็น Product เจ๋งๆ แต่ละชิ้นที่เราได้ใช้กัน พี่วัชตอบคำถามเราอย่างตั้งใจ เจาะลึก และเข้าใจง่ายมากๆ ผ่านการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้เห็นภาพ ซึ่งตอนนั้นตัวอย่างที่พี่วัชยกมาเล่าให้ฟังคือโปรเจค MAKE by Kbank แอปพลิเคชันน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2020 พอฟังจบก็ทำให้เรารู้สึกสนใจและเห็นภาพการทำงานภายในทีม Designer มากขึ้น

สำหรับใครที่อ่านแล้วอยากรู้จักเกี่ยวกับ Beacon Interface มากกว่านี้ สามารถไปดูกระบวนคิดและวิธีการทำงานผ่านคลิปนี้ได้เลย

นอกจากจะเป็นฝ่ายถามแล้ว เรายังมีโอกาสได้เล่าถึงความสนใจในกระบวนการทำงานและ Products ของ KBTG หลายๆ ตัว นอกจากนี้ยังได้เล่าไอเดียให้พี่วัชฟังว่าสมัยเรียนเราเคยออกแบบ CUNEX เป็น Final Project ด้วยนะ พร้อมอธิบายต่อว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมเราถึงต้องเลือกออกแบบฟีเจอร์ใหม่ในแอปนี้ เล่าถึงกระบวนการคิด การทำงาน การทำ Research ต่างๆ ไปในตัว เป็นการพูดคุยตลอด 30 นาทีที่ผ่านไปไวมากๆ

เรียกได้ว่ากิจกรรมนี้เป็นการ Unlock ในสิ่งที่เคยคิดว่าถ้ามีโอกาส

“เราอยากอธิบายผลงานที่เราทำให้กับทีมงานผู้พัฒนาฟังสักครั้งนึง เพราะอยากรู้ว่าเขาจะคิดยังไงเกี่ยวกับผลงานที่เราออกแบบขึ้นมา ซึ่งโครงการ KBTG Inspire ก็ได้ช่วยให้ความตั้งใจนี้ของเราเป็นจริง!”

ตอนนั้นคิดว่าแม้จะไม่ได้เข้าไปทำงาน แค่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว 😊 แต่หลังจากจบโครงการนี้ไปสักพัก เราก็ได้รับการติดต่อกลับจากทีม People ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราได้มาร่วมงานในฐานะ Designer กับทีม Beacon Interface ของ KBTG!

สิ่งที่ได้รับจาก KBTG ก่อนการเริ่มงานวันแรก!

KBTG Inspire 2 — เมื่อโครงการกลับมาอีกครั้ง สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ…

กิจกรรมที่จะจัดขึ้นภายใน งาน KBTG Inspire 2

อย่างที่เราได้พูดไปทั้งหมดด้านบน สำหรับเราโครงการ KBTG Inspire ถือว่าเป็นโอกาสทองในการเปิดกว้างหา Career Opportunity ใหม่ๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้รู้จักกับคนสายเทคแบบเดียวกันมากขึ้น แต่ยังได้ความรู้ดีๆ ที่อาจหาฟังจากที่อื่นไม่ได้ เรียกได้ว่าสำหรับใครที่กำลังมองหาช่องทางที่จะทำความรู้จักกับ KBTG มากขึ้น งานนี้น่าจะตอบโจทย์อย่างแน่นอน

ซึ่งโครงการ KBTG Inspire กำลังจะกลับมาอีกครั้ง วันที่ 20 สิงหาคม 2565 นี้! กิจกรรมก็น่าสนใจไม่แพ้ปีที่ผ่านๆ มาเลย ซึ่งทางทีม KBTG เองก็มีการพัฒนาและคิดกิจกรรมขึ้นมาไม่ให้ซ้ำกับปีก่อนๆ โดยจะแบ่งออกมาเป็น 3 กิจกรรมหลักๆ ได้แก่

Agile Playground

กิจกรรมสุดฮอตจากปีก่อนที่ยังคงมีอยู่ในปีนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ ตั้งแต่นักศึกษาจบใหม่ ไปจนถึงวัยทำงาน ได้มาลองเรียนรู้และสัมผัสรูปแบบการทำงานแบบ Agile ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบมาให้ทุกคนในกลุ่มได้ร่วมมือกันวางแผน ทำภารกิจให้สำเร็จภายใน 3 Sprints เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งปีนี้มีให้ผู้เข้างานได้เลือกเข้าร่วมด้วยกันทั้งหมด 2 รอบแบ่งเป็นช่วงเช้า (10.30–12.15 น.) และช่วงบ่าย (13.30–15.15 น.)

Booster Shot

กิจกรรมที่ชวนผู้เข้าร่วมงานได้ลองสำรวจ 4 องค์ความรู้สำคัญที่จะช่วย “ยกระดับการสร้างนวัตกรรม” ไปกับผู้เชี่ยวชาญจาก KBTG ในแต่ละสาขา อาทิ Data Science, Product & Business, Deep Tech (Blockchain) และ UX/UI โดยแต่ละกิจกรรมจะมีการหยิบยกประเด็นและประสบการณ์ ที่น่าสนใจในแต่ละศาสตร์ที่ว่า เรียงแถวกันมา Discuss ให้เลือกฟังกันอย่างอัดแน่นตั้งแต่เช้าถึงเย็น เรียกได้ว่าใครสนใจสาขาไหน ก็สามารถล็อกเวลาเพื่อเข้าไปฟังได้เลย

Career GPS

กิจกรรมที่เปรียบเสมือน GPS นำทางผู้เข้าร่วมงานทุกคนให้ไปถึงเป้าหมายของการทำงานที่ KBTG เห็นภาพกันไปเลยว่าเมื่อเข้ามาทำงานที่นี่แล้ว Career Path นั้นเป็นอย่างไร โดยภายในกิจกรรมได้มีการนำสมาชิกจากสายงานที่กำลังเป็นจับตามองในยุคปัจจุบัน ได้แก่ Test Automation, Cyber Security, Business Analyst, Mobile และ Frontend Dev มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานและแลกเปลี่ยน Lesson Learned นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ถามคำถามที่คาใจกันอย่างเต็มที่

ภาพกิจกรรม Agile Playground (source)

เทคนิคการวางแพลนให้ไม่พลาด Session ที่สนใจ

หากอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทั้ง 3 กิจกรรมนี้ที่จัดพร้อมกันดูน่าสนใจทั้งนั้น แล้วแบบนี้ควรจะเข้าร่วมอันไหนดี?

ด้วยความที่กิจกรรมทั้งหมดนี้จัดขึ้นแบบออนไลน์ Online เราเลยคิดว่าถ้าหากเป็นเรา เราต้องกลับมาลองถามตัวเองก่อนค่ะ ว่าเรามีเป้าหมายอะไรและสนใจอะไรในงานนี้บ้าง เช่น ถ้าใครเป็นสาย UX/UI Designer แบบเรา ถ้าหากสนใจรูปแบบการทำงานแบบ Agile และอยากฟังกิจกรรมที่แชร์ความรู้ด้วย ก็อาจจะจัดเวลาเพื่อจับคู่กิจกรรมที่เราต้องการ เช่น ช่วงเช้า (10.30–12.15 น.) เข้าร่วมกิจกรรม Agile Playground ตามด้วยช่วงบ่าย (13.00–16.00 น.) ก็อาจจะเลือกฟังได้ถึง 3 sessions ใน Career GPS และปิดท้ายช่วงเย็นของวัน (16.00–17.30) ไปกับ Booster Shot หัวข้อ UX/UI Design นั่นเอง!

เราเองคงต้องรู้สึกขอบคุณตัวเองในวันนั้นที่กล้าตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่าง รวมไปถึงสิ่งที่นับเป็นก้าวสำคัญในชีวิตอีกหนึ่งก้าว คือการได้ตัดสินใจสมัครโครงการ KBTG Inspire เพื่อเปิดโอกาสให้กับตัวเองได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้พบเจอเพื่อนร่วมงานที่เก่งและใจดีมากๆ

ใครสนใจก็สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. — 3 ส.ค. 2022 ผ่านเว็บไซต์ https://www.kbtginspire.com นอกจากนี้ยังสามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของ KBTG ได้ผ่านทาง KBTG Facebook Page อีกด้วย สามารถไปกด Like เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจแบบนี้กันได้เลย

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เรานำมาแบ่งปันทุกคนค่ะ หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ คราวหน้าจะเป็นบทความเกี่ยวกับเรื่องอะไร ถ้าหากสนใจก็อย่าลืมติดตาม แล้วพบกันใหม่ค่ะ!

maysasi.com

สำหรับชาวเทคคนไหนที่สนใจเรื่องราวดีๆแบบนี้ หรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับ Product ใหม่ๆ ของ KBTG สามารถติดตามรายละเอียดกันได้ที่เว็บไซต์ www.kbtg.tech

--

--

Sascha May
KBTG Life

UX Designer | Researcher - A former architectural student who believes that design can improve the quality of humans lives