Respect At First Sight

Piyorot
Life As I Feel It
Published in
1 min readOct 6, 2015

--

มีหลายครั้งความใกล้ชิดไม่ได้มีส่วนเรื่องการรับฟังและการเชื่อฟัง เราเห็นกันอยู่ประจำ (แม้แต่ตัวผมเองก็เข้าข่ายในบางข้อ)

  • เด็กดื้อกับพ่อแม่ แต่เรียบร้อยและกลัวคุณครู
  • เด็กสาววัยรุ่นพูดจากระโชกโฮกฮากกับพ่อแม่ แต่หวานเจี๊ยบกับแฟนหนุ่ม
  • ชายวัยกลางคนไม่กล้าเปิดเผยความลับให้คนใกล้ตัวได้รู้ แต่กลับไม่มีความเกรงกลัวที่จะเล่าเรื่องเดียวกันนี้ให้จิตแพทย์ฟัง
  • หัวหน้าไม่รับฟังลูกน้อง แต่กลับคล้อยตามที่ปรึกษาค่าตัวแพง

ถึงแม้ความคิดเห็นและคำแนะนำจากคนทั้งสองกลุ่มจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วแต่เรามีแนวโน้มจะรับฟังคนวงนอกมากกว่า … ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

ผมตอบไม่ได้ครับ ฮ่าๆ ผมไม่ได้เป็นนักจิตวิทยา ผมแค่สังเกตและวิเคราะห์เอาเองจากความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ … มันเป็นเพราะใกล้ชิดรึเปล่า? ผมว่าไม่น่าจะใช่ มันเป็นเพราะความไม่ใกล้ชิดรึเปล่า? — ผมว่ามีส่วน ความไม่รู้จัก ความไม่ใกล้ชิด มันช่วยสร้างกำแพงทางจิตใจที่เราไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ — นั่นคือความเคารพและเกรงใจเมื่อแรกพบ

ยกตัวอย่างในที่ทำงาน … คนในองค์กรพูดอะไรมักจะ (ย้ำว่ามักจะ) เสียงเบากว่าคนนอก หรือคนในทีมพูดอะไรมักจะ (ย้ำว่ามักจะ) ได้รับการตอบสนองไม่ดีเท่าคนนอก เช่น

  • การวางแผนพัฒนาองค์กรจะเกิดได้ต้องมาจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ค่าตัวแพง / แนวคิดจากคนในต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากคนนอกเสียก่อน
  • การวัดผลประสิทธิภาพขององค์กรต้องมีการสำรวจจากคนนอก / คำตอบและความคิดเห็นจากคนในดูไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไร
  • การจัดคอร์สอบรมจะได้รับการตอบรับที่ล้นหลามถ้าวิทยากรเป็นคนนอก / ถ้าคนในจัดกันเองก็สายบ้าง มาบ้าง ลุกออกกลางคันบ้าง คุยกันเสียงดังบ้าง
  • อื่นๆ

อาจจะเป็นเพราะความเกรงใจและความรู้สึกถึง “ความเชี่ยวชาญ” ของที่ปรึกษาที่มาจากนอกองค์กรที่ทำให้พวกเรารู้สึกเชื่อสิ่งที่ในสิ่งที่คนนอกพูดมากกว่า — ไม่ผิดครับ ผมมองเห็นประโยชน์จากพฤติกรรมตรงนี้ด้วยซ้ำ

ถ้าเรากำลังกระเสือกกระสนในการเสนอแนวคิดหรือปลูกฝังค่านิยมอะไรใหม่ๆลงไปให้ทีม ถ้าเรากำลังพยายามหาคำตอบที่คนในองค์กรจะรับฟังและนำไปลองปฏิบัติ ถ้าเรารู้สึกว่ากำลังจะล้มเหลว — ผมคิดว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากคนนอกแล้วล่ะ

เปลี่ยนความรู้สึกคุ้นเคย ความรู้สึกที่มองว่าเราในฐานะคนในเป็นของตาย เปลี่ยนให้เป็นอะไรใหม่ๆ ลองทำให้พวกเค้ารู้จักกับความเคารพและเกรงใจเมื่อแรกพบ ผมคิดว่าข้อความที่เราอยากสื่อสารมันจะไปถึงพวกเค้าได้ดีกว่าเราพูดเองคนเดียวนะ

เราก็รู้ว่าที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และคนนอกไม่สามารถ (และไม่ควร) อยู่กับเราตลอดไป ระหว่างที่ขอความช่วยเหลือจากเค้า อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเราคือคนที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อความเป็นไปขององค์กรเมื่อพวกเค้าจากไป … สองเรื่องที่ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา:

  1. คนนอกจะพูดเหมือนที่เราคิด สื่อสารในแบบที่เราอยากให้เป็น ในอะเจนด้าของเราเอง
  2. Your best consultant — You.

--

--

Piyorot
Life As I Feel It

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com