ทำสกรัมทำไมไม่เร็ว?

ทำแล้วก็เหมือนเดิม ไม่เห็นจะเร็วขึ้นเลย

Chokchai Phatharamalai
odds.team
1 min readJul 20, 2020

--

Photo by chuttersnap on Unsplash

ตอนผมไปเรียนสกรัม กลับ Bas Vodde เค้าใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบสกรัมว่า เหมือนเอาทีมนั่งเรือ ให้ทรัพยากรทั้งหมดที่จำเป็นในการสร้างผลิตภัณฑ์ใส่ลงไปในเรือ แล้วส่งพวกเขาไปที่เกาะแห่งหนึ่งในและระยะเวลา 1 sprint ครบแล้วค่อยเอาเรือไปรับ แล้วเอาผลิตภัณฑ์ที่เขาสร้างได้มาเล่นดูแล้วเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ด้วยกัน

ผมชอบการเปรียบเทียบนี้เพราะมันเข้าใจง่ายและเห็นภาพมาก

แล้ว Bas ก็บอกต่อว่าแต่ในชีวิตจริงอ่ะ คนส่วนใหญ่ไม่ทำแบบนี้หรอก เค้าจะเอาสกรัมไปบิดหรือไม่ก็แหกกฎบางข้อที่เค้าคิดว่ามันยากในบริบทเค้า กลายเป็นสกรัมแต่… เช่น สกรัมแต่ไม่ทำ retrospective, สกรัมแต่มี product owner หลายคน หรือ สกรัมแต่สมาชิกในทีมเป็นสมาชิกขาจร

สมาชิกขาจรส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เนื้อหอมมากเพราะมีทักษะที่เป็นที่ต้องการสูงมากในองค์กร ทำให้ไม่สามารถมาร่วมทีมเต็มเวลาได้ เลยถูก allocate ให้อยู่ในทีม 50% แล้วทำงานในแผนกด้วยอีก 50%

วิธีสังเกตสมาชิกขาจรคือ เค้าจะมาสัญญากับ product owner ร่วมกันกับทีมกว่า sprint นี้เราจะทำได้แค่ไหนแล้วจากนั้นก็หายไปเลยตลอด sprint เลยเพราะไปดับไฟที่แผนกอยู่

คนคิดสกรัมเนี่ยเค้าบอกไว้ชัดเจนแล้วว่าเค้าไม่ได้คิดมาให้ของเหล่านี้มาเป็น option ที่จะเลือกใช้ตามสะดวกได้ ของที่เค้าคิดขึ้นมามันเป็นเงื่อนไขน้อยที่สุดเท่าที่จะทำให้สกรัมมันเวิร์คอย่างที่เค้าตั้งใจไว้ได้ ฉะนั้นถ้าไม่ได้ใช้มันครบถ้วน จะเอามันไปบิดใช้ตามสะดวกเค้าขอร้องว่าอย่าเรียกมันว่าสกรัมให้เรียกมันว่าสกรัมแต่…

เพราะทีมที่ถูกเซ็ตอัพขึ้นมาแบบนี้จะมีอาการแปลก ๆ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคล่องตัว มีโอกาสที่จะไม่ได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วทำให้พัฒนาได้อย่างต่อเนื่องอย่างที่คนคิดเค้าออกแบบเอาไว้

อาการแปลก ๆ ของทีมเหล่านี้ผมจะพอจะจับ pattern ออกมาได้มีดังนี้

task ชื่อ waiting, follow up

ลองนึกภาพว่าเราเป็นทีมที่ถูกส่งขึ้นเรือไปที่เกาะมีทรัพยากรให้ครบทุกอย่างเลย ให้เลือกเป้าหมายเองด้วยว่าครบสองสัปดาห์เนี่ย น่าจะทำผลิตภัณฑ์ที่เข้าใกล้เป้าหมายได้แค่ไหน

ถ้าผมเป็นสมาชิกของทีมเห็นอยู่ตำตาว่าอีกสองอาทิตย์เราต้องส่งผลิตภัณฑ์แล้ว จะเสร็จหรือไม่เสร็จมันก็จะมีเรือมารับ แล้วเราต้องเอาผลลัพธ์นั้นไปให้ลูกค้าลองใช้ ผมนั่งใจเย็นรออะไรไม่ได้หรอก ถ้าผมว่าง ผมจะหางานที่ผมพอจะทำได้แล้วหัดทำเพราะคนทำเป็นอยู่บนเกาะด้วยกันกับผมนั่นแหละ

จากตรงนี้จะเห็นว่าทีมที่ทำสกรัมตามปกติแล้วจะไม่มี task ไหนที่มีคำว่าตามงานหรือคำว่ารอเมื่อไหร่ที่ผมเห็นคำนี้ ผมจะเริ่มเอะใจว่ามีอะไรแปลก ๆ แล้วแหละ

partial members gathering

แปลตรงตัวคือการรวมตัวกันของสมาชิกขาจร บางครั้งเราจะได้ยินคำนี้ในรูปแบบที่เท่ห์ขึ้น เช่น sync meeting, forum หรือบ้าน ๆ หน่อยก็นัดประชุม

สำหรับทีมที่ติดเกาะอยู่ด้วยกันต้องสร้างผลิตภัณฑ์อันเดียวกันเพื่อให้เสร็จถ้ามีใครติดปัญหาเค้าจะตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนในเกาะแล้วมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครตอบกลับมาว่าไม่ว่าง เพราะทุกคนในเกาะรู้ดีว่าถ้ามีชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่เสร็จทั้งผลิตภัณฑ์มันก็ไม่เสร็จ

ในองค์กรใหญ่ ๆ เวลาที่มีคนตะโกนขอความช่วยเหลือ แล้วอีกฝ่ายตอบกลับมาว่าไม่ว่าง เพราะทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่ต่างกัน พอเป้าหมายต่างกัน จะนัดกันได้ ก็ต้องรออีกฝ่ายว่าง ยิ่งถ้าต้องประชุมหลายฝ่าย หาเวลาว่างตรงกันยิ่งยากเป็นทวีคูณ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายของตัวเอง

ใครที่ต้องเคยนัดมิตติ้งบ่อย ๆ ก็จะรู้ซึ้งถึงความยากลำบากตรงนี้ มันไม่มีอะไรยากไปกว่าการรวมตัวคนที่มีเป้าหมายแตกต่างกันให้มาคุยเรื่องเดียวกันซึ่งทุก ๆ คนรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับฉัน

เพราะแบบนี้มั๊ง สกรัมถึงบอกว่า กิจกรรมอะไรก็ตามคุณต้องทำเพื่อให้ผลิตภัณฑ์อันนึงมันเสร็จให้ไปทำใน sprint

ถ้าขาดทักษะอะไร ขาดข้อมูลอะไร ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องอะไรก็ให้เอาสิ่งเหล่านั้นมาใส่ให้ทีมเพื่อจะได้ทำใน sprint ได้

เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่รอคุณอยู่ถ้าจะไปทำนอก sprint ก็คือการนัดประชุม บางครั้ง กว่าจะว่างตรงกันสักที นานเกิน sprint ก็มี >.<

dependency กับองค์กร

แม้ว่าทั้งสองหัวข้อทั้งข้างบนจะดูเหมือนต่างกันแต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่เหมือนกันมากนั่นคือการที่ทีมมี dependency กับองค์กร

ตามหลักกลศาสตร์ของไหล ของที่ไหลต่อๆกัน สุดท้ายจะไหลได้ด้วยความเร็วของส่วนที่ช้าที่สุด ถ้าตราบใดที่ทีมยังมี dependency กับองค์กร ทำยังไงมันก็จะเร็วเท่าความเร็วเดิมก่อนที่จะลองทำสกรัมนั่นแหละ

ถ้าคุณทำงานในทีมที่ทำสกรัม ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ประสาทสัมผัสคุณเฉียบคมขึ้น เมื่อไหร่ที่เจอคำว่ารอ, ตามงาน หรือนัดประชุมก็ตาม เราจะเริ่มถามตัวเองว่า ทีมเราขาดข้อมูล, ทักษะหรือความไว้วางใจเรื่องอะไรนะที่ทำให้เราทำเองไม่ได้ แล้วเราจะปลดผนึกพัฒนาการนี้ได้อย่างไร? จากประสบการณ์ของผม การปลดผนึกแต่ละขั้น ๆ มันเหมือนแก้ puzzle บางทีมันก็ยากนะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มามันก็คุ้มค่า ผมฝันว่าวันนึง เราจะได้ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มันชัดมาก ว่าหยาดเหงื่อแรงกายแรงสมองของเรา มันสร้างรอยยิ้มให้ใคร ถ้าเป็นแบบนั้น ชีวิตการทำงานคงจะดีไม่น้อย

Further read

--

--