LINE Bot “ป่วยมั้ยนะ” กับการเปลี่ยน Smart Watch เป็นเครื่องมือเฝ้าระวัง COVID-19 เบื้องต้น (Ep. 2)
*ใครที่สนใจอยากรู้ที่มาที่ไปและการทำงานของเรา ตามไปอ่านกันที่ “10 วัน จาก Lab to Launch กับการออก LINE Bot “ป่วยมั้ยนะ Koala Lab” สู้ COVID-19 (Ep. 1)” ได้เลยครับ
หลังจากที่เราได้เห็นองค์กรและกลุ่มคนต่างๆ ออกมาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยี (Technology) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นล่าสุดแอปพลิเคชันหมอชนะ เว็บ COVID Tracker ของ 5Lab หรือ LINE Bot สบายดีบอต วันนี้ผมขอหยิบอีกหนึ่งแนวทางที่แตกต่างมาเล่าให้ฟัง ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ได้ แต่เราเชื่อว่า #ป่วยมั้ยนะ จะเป็นนวัตกรรม HealthTech ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มข้อมูลในส่วนที่เรายังไม่มี ที่จะช่วยให้ภาครัฐและเจ้าหน้าที่เห็นภาพใหญ่ได้ชัดขึ้น และสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้น
#ป่วยมั้ยนะ คืออะไร
LINE Bot ที่จะทำหน้าที่ช่วยมอนิเตอร์สุขภาพการเต้นของหัวใจของผู้ใช้งานผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Smart Watch (ตาม Consent ของผู้ใช้งาน) มาคำนวณถึงความไม่ปกติเทียบกับค่าเฉลี่ยของตัวเอง
โดยขั้นตอนการใช้งาน LINE Bot ก็ง่ายๆครับ เริ่มต้นจากการแอด LINE “ป่วยมั้ยนะ by KoalaLab” ที่ @KoalaLab เสร็จแล้วก็ทำการเชื่อมต่อนาฬิกากับระบบผ่าน Rich Menu ในมือถือ (ระบบยังไม่รองรับการใช้งานจากคอมพิวเตอร์) เมื่อเชื่อมต่อเสร็จแล้ว ระบบจะทำการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลของ Smart Watch (บางกรณีอาจใช้เวลาประมาณ 5–10 นาที) ทั้งนี้ระบบเราออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถยุติการเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา
หลังจากเชื่อมต่อ Smart Watch เสร็จ ผู้ใช้งานสามารถกดที่ Rich Menu อีกครั้งหรือพิมพ์ #ป่วยมั้ยนะ เพื่อเช็คสุขภาพการเต้นของหัวใจได้ทันที ตัวการ์ดที่แสดงบนหน้าจอ จะบอกสถานะการเต้นของหัวใจว่าเร็วกว่าปกติหรือไม่ รวมถึงข้อมูล 7 วันย้อนหลังให้เปรียบเทียบ ซึ่งในส่วนนี้หากข้อความแสดงว่า “สูงกว่าปกติ” ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ใช้งานกำลังติด COVID-19 แต่อย่างไร เราเพียงอยากให้เริ่มลองสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อนหน้านี้รึเปล่า ก่อนพิจารณาปรึกษาแพทย์อีกครั้งครับ
แค่ค่าการเต้นหัวใจ (ขณะพัก) บอกได้แล้วเหรอ
ในทางการแพทย์ คนแต่ละคนจะมีค่าการเต้นของหัวใจขณะพัก หรือ Resting Heart Rate ค่อนข้างคงที่ การที่ค่านี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นแปลว่าร่างกายกำลังทำงานไม่ปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ค่าสูงขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด นอนดึก หรือปวดไมเกรน แต่สาเหตุหลักสาเหตุนึงที่ค่านี้จะสูงขึ้นก็คือการมีไข้ ซึ่งเป็นอาการหลักของคนที่ติด COVID-19
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีงานวิจัยในต่างประเทศมากมายที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ข้อมูลจาก Smart Device ทั้งจาก Smart Watch และ Smart Ring ของ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือการ Crowdsourcing มาสร้างเครื่องมือช่วยให้คนทั่วไปใช้มอนิเตอร์ตัวเอง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ออกนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการลดความรุนแรงของการระบาดของ COVID-19
Flu Map แผนที่ช่วยเฝ้าระวังการระบาด COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ (Flu)
*Flu หรือ Influenza แปลเป็นไทยอย่างตรงไปตรงมาก็คือไข้หวัดใหญ่
ได้เฝ้าระวังตัวเองแล้ว ยังได้ช่วยสร้างฐานข้อมูล (แบบไม่ระบุตัวตน) ให้กับประเทศด้วย นี่คือความตั้งใจของทีมงานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโปรเจค คืออยากสร้างฐานข้อมูล Flu Map แบบ Open Data ที่ภาครัฐ สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลสามารถมาวิเคราะห์ข้อมูลต่อยอดเพื่อออกแนวทางป้องกันการระบาดของ COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละวัน แต่ละสถานที่ ว่ามีจำนวนคนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้ามี นั่นอาจแปลว่าบริเวณนั้นกำลังมีการระบาดของไข้หวัดอยู่ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการให้ข้อมูลแบบ Real Time กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถลงไปตรวจสอบและป้องกันได้อย่างทันท่วงที ต่างจากปัจจุบันที่อาจต้องรอการรายงานจากโรงพยาบาลเข้ามาที่ส่วนกลางจึงจะทราบข้อมูลในระดับประเทศ
ส่งท้าย
ระบบของเราจะสามารถทำงานได้เต็มที่และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้ต่อเมื่อมีผู้ใช้งานเยอะจำนวนหนึ่ง หากใครอ่านบทความนี้แล้วถูกใจ รบกวนเข้าร่วมใช้งานผ่าน LINE: https://line.me/R/ti/p/%40KoalaLab แล้วบอกต่อให้เพื่อนๆ มาใช้ด้วยกันนะครับ หรือหากท่านใดสนใจอยากพาร์ทเนอร์ อยากต่อยอดงาน หรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยี (Technology) กับเรา สามารถทักทายหาเรามาได้ที่ FB.com/KoalaLab ครับ ทางเราพร้อมร่วมงานกับทุกท่านเพื่อช่วยแก้วิกฤติ COVID-19 ไปพร้อมๆ กันครับ