ความล้มเหลวของ Airbus A380

The First Risk in Your Project Is About “People”.

Piyorot
Pure Project Management

--

ได้อ่านบทความที่ชื่อ Why Your IT Project May Be Riskier Than You Think แล้วมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังครับ เป็นกรณีความล้มเหลวในการสร้างเครื่องบิน Airbus A380

ประวัติของ Airbus

บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1970 ด้วยจุดประสงค์สองประการ หนึ่งคือเพื่อสร้างสหภาพ (Consortium) ของผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องบินทางการทหารขึ้นมาจากบริษัทที่มีอยู่แล้วใน 16 เมือง 4 ประเทศในยุโรปซึ่งได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ และสเปน และสองเปลี่ยนแปลงบริษัทที่มีอยู่นั้นให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทจากฝั่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เช่น Boeing, McDonnell Douglas และ Lockheed (ตอนนี้เหลือแต่ Boeing แล้ว) ปัจจุบันนี้ Airbus มีโรงงานประกอบเครื่องบินขั้นสุดท้ายที่ Toulouse (ฝรั่งเศส) Hamburg (เยอรมัน) Seville (สเปน) และล่าสุด Tianjin (จีน)

ที่มาของ Airbus A 380

ประมาณปี ค.ศ. 1990 Airbus เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่มาเพื่อแข่งขันกับ Boeing (Boeing 747) ซึ่งครองตลาดกลุ่มนี้อยู่ในช่วงนั้น หลังจากผ่านการทำวิจัยการตลาด วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโอกาสทางธุรกิจแล้ว ในปี ค.ศ. 1994 Airbus ก็ตัดสินใจที่จะลุย พวกเค้าพิจารณาทางเลือกต่างๆสำหรับการทำโครงการนี้ นั่นรวมถึงการออกแบบเพื่อขยาย A340 (เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในขณะนั้น) ให้ใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็เลือกที่จะสร้าง A380 แบบใหม่เอี่ยมเลย ผ่านไป 5 ปีของการเตรียมงานปี ค.ศ. 2000 Airbus จึงประกาศเปิดโครงการที่จะสร้างเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ดูคุณสมบัติเต็มๆของ A380 ได้ที่นี่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในช่วงที่เริ่มต้นโครงการ Airbus A380 นั้น Airbus ได้ทำการปฏิวัติโครงสร้างองค์กรใหม่โดยย้ายผู้บริหารระดับสูงจากทั้ง 16 สาขาใน 4 ประเทศมาอยู่ที่เดียวกัน (แนวทางสร้าง Cross-Functional Team? 55) หวังว่าการทำงานที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารและประสานงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย แต่มันไม่เป็นอย่างที่หวังเพราะว่าการรวมตัวครั้งนี้มันไม่แนบสนิทซักเท่าไร ถึงแม้ว่าจะมีการทำงานประสานกันในบางส่วน แต่ความคิดที่ยืดติดกับบริษัทแม่ของตัวเองจริงๆแล้วยังมีอยู่มาก เช่น ถึงแม้หน่วยงานจากสาขาต่างๆจะร่วมกันออกแบบ Airbus A380 แต่หน่วยงานเหล่านั้นก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินให้แก่กัน แถมต่างคนก็ต่างจะพยายามแข่งกันทำกำไรให้กับบริษัทแม่ของตัวเองโดยขายสินค้าราคาแพงให้กับหน่วยงานอื่นๆ เริ่มต้นก็ดูไม่ดีซะแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่นี้เลย (เหตุการณ์คุ้นๆ)

เรื่องมันมาแดงตอนประมาณ ปี 2005 โรงงานผลิตที่เยอรมันและฝรั่งเศสเริ่มออกมากล่าวโทษอีกฝ่ายว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การส่งมอบ Airbus A380 ต้องล่าช้าออกไปจากปี ค.ศ. 2005 เป็น 2006 ถึงตรงนี้ Project เริ่มดีเลย์แล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ปี ค.ศ. 2006 ขั้นตอนการประกอบระบบสายไฟซึ่งออกแบบและผลิตที่ Hamburg ต้องล้มเหลวเพราะว่าไม่สามารถติดตั้งให้เข้ากับตัวเครื่องบินที่ออกแบบและผลิตโดยโรงงานที่ Toulouse อยากรู้มั้ยว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร

การออกแบบระบบสายไฟที่ Hamburg นั้นใช้ซอฟท์แวร์ที่ชื่อ CATIA ซึ่งเป็นรุ่นเก่า (version 4) แต่การออกแบบตัวเครื่องบินที่ Toulouse นั้นใช้รุ่นล่าสุด (version 5) !!! โชคไม่ดีที่ว่ามันมีปัญหา Compatibility ของซอฟท์แวร์สองรุ่นนี้อยู่ ทำให้การติดตั้งระบบสายไฟซึ่งยาวกว่า 300 ไมล์ในเครื่องบินล้มเหลว

ปัญหานี้ทำให้ Airbus ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องระงับสายการผลิต Airbus A380 แล้วมาออกแบบระบบกันใหม่ซึ่งทำให้ต้องเลื่อนวันส่งมอบสินค้าไปอีกสองปี ผลที่ตามมาคือ Airbus เสียหายเป็นเงิน 2.8 หมื่นล้านยูโร นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้ Project อื่นๆที่ทำอยู่ต้องเลื่อนออกไปด้วย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2005 กลายมาเป็นเดือนตุลาคม ปี 2007 ครับ ซึ่ง Airbus A380 ลำแรกถูกส่งมอบให้กับสิงค์โปร์ แอร์ไลน์ … เป็นสองปีที่หายไปพร้อมกับโอกาสดีๆมากมาย และนับจนถึงปี 2010 Airbus ก็ไม่สามารถผลิตและส่งมอบเจ้า Airbus A380 ได้ทันตามแผนการผลิตที่วางไว้เลย

บทเรียนที่หนึ่ง — Bad Communication

มันไม่น่าเชื่อเลยว่าบริษัทระดับใหญ่โตขนาดนี้จะมาทำผิดพลาดกับเรื่องที่ใช้ซอฟท์แวร์กันคนละรุ่น แถมโครงการนี้ไม่ใช่แค่สามเดือนหกเดือน นี่มันโครงการระดับ 4–5 ปี แต่ไม่มีใครรู้เรื่องหรือระแคะระคายกับปัญหาที่ซ่อนอยู่นานถึงเกือบ 4 ปี

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากแค่ไหนในโลกของการบริหารจัดการโครงการอาจารย์ที่สอนวิชา Project Management ผมย้ำเสมอว่าทักษะและหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของ Project Manager ที่ดีคือการสื่อสาร จากผลสำรวจหลายๆครั้ง Bad Communication เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โปรเจกต์ล้มเหลวมาโดยตลอด ดังนั้นหน้าที่ของ Project Manager คือต้องสื่อสาร สื่อสาร และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

บทเรียนที่สอง — Bad Organization

ถ้าเรามองปัญหาแค่ผิวเผินเราก็คงจะโยนความผิดไปให้ Project Manager ที่สื่อสารและจัดการ Technical Issues ได้ไม่ดีพอ แต่ถ้าเราถามตัวเองต่อไปว่า แล้วมันมีอะไรที่เป็นสาเหตุอยู่เบื้องหลังอีกมั้ย? เราอาจจะมองเห็นว่าปัญหาใหญ่ที่แท้จริงมันมาจากผู้บริหารระดับสูง เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการทำงานภายใต้ร่มคันใหญ่ยี่ห้อ Airbus อย่างที่กล่าวไว้ข้างบนว่าการรวมตัวของบริษัท (สาขา) ต่างๆจาก 16 เมืองใน 4 ประเทศนั้นเป็นเพียงแค่การรวมตัวอย่างหลวมๆเท่านั้นเอง พนักงานส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีอยู่กับบริษัทแม่เดิมของตัวเอง และกำแพงนี้ไม่ได้ถูกทำลายลงง่ายๆด้วยการแค่ประกาศว่า “เรามารวมบริษัทกันเถอะ”

ลองคิดเล่นๆดูว่าขนาดเราเป็นคนไทยด้วยกัน พูดภาษาเดียวกัน ทำงานบริษัทเดียวกันยังมีเรื่องความรัก ความชอบ ความไม่ชอบ แล้วก็การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งเยอะแยะ แล้วกับบริษัทที่ต้องมีสาขา 16 สาขากระจายอยู่ใน 4 ประเทศหละมันจะวุ่นวายขนาดไหน … ก็ขนาดที่เห็นนี่แหละ สองปีกับอีก 2.8 หมื่นล้านยูโร

ความล้มเหลวของ Airbus A380 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดการและความแตกต่างทางวัฒนธรรมในองค์กรมีผลอย่างมากต่อความก้าวหน้าของงานทุกอย่าง ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นทำโปรเจกต์อะไร เราในฐานะ Project Manager ต้องมั่นใจว่าบุคคลากรที่มีเราพร้อมจะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องถึงขนาดรักกันกลมเกลียวหรอก ขอให้ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ มีความรับผิดชอบต่องาน เพื่อนร่วมงาน และบริษัทก็พอ

ใจนึงก็อยากพูดเหมือนย่อหน้าข้างบนนะ … แต่ความจริงที่รู้กันอยู่ก็คือมันทำไม่ได้ในเวลาสั้นหรอก ไอ้คำว่า “พร้อมจะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” ดังนั้นสิ่งที่ Project Manager ควรทำอยากแรกเลยคือ

ระบุความเสี่ยงตัวแรกของโปรเจกต์นี้ว่า “ความขัดแย้งระหว่างบุคคล (People Conflict)” ฮ่าๆ … ไม่เชื่ออย่าลบหลู่น้าาา ปัญหานี้ลุกลามบานปลายจนทำให้งานไม่เป็นงาน เพื่อนไม่เป็นเพื่อนมานักต่อนักแล้ว ☺

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com