Blood Draw Operation

Piyorot
Pure Project Management
1 min readMar 1, 2016

แผนกเจาะเลือดกับห้องแลปทำงานประสานกัน ต่อด้วยการพบคุณหมอเพื่อฟังผลเป็นด่านสุดท้าย การมาโรงพยาบาลครั้งนี้ถึงจะเสร็จสมบูรณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือดก็รู้ว่าต่อให้รีบเจาะเลือดไปคนไข้ก็ต้องรอผลแลป (อย่างน้อย2 ชม.) บวกรอคิวพบแพทย์ (อย่างน้อย 1 ชม.) อยู่ดี — จะรีบไปทำไม

แต่ความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น … ความจริงคือยิ่งเจาะเลือดเร็วเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสได้ผลแลปเร็วขึ้นเท่านั้น แปลว่าจะได้พบแพทย์เร็วขึ้น และคนไข้จะได้กลับบ้านไม่เกินเที่ยง

ต่างจากความรู้สึกเวลาทำงานซอฟต์แวร์ในโปรเจกต์ยาวๆ

  • จะรีบทำงานดาต้าเบสไปทำไมในเมื่อต้องรอยูไอให้ขึ้นโครงก่อน
  • จะรับเร่งเอางานมาเทสทำไมในเมื่อรู้ทั้งรู้ว่าเดี๋ยวรีไควเม้นต์ก็เปลี่ยนอีก
  • จะรีบเตรียมดีพลอยสคริปต์ไปทำไมในเมื่อเซิร์ฟเวอร์ยังไม่ถูกเซ็ตอัพ

ความรู้สึกกระตือรือร้นของคนในทีมซอฟต์แวร์มีน้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือด เจ้าหน้าที่ห้องแลป นางพยาบาล และแพทย์

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

มันสำคัญที่ว่าความสัมพันธ์ของงานเจาะเลือด งานแลป และงานพบคนไข้นั้นเป็นไปอย่างแนบแน่นและชัดเจน นั่นทำให้พวกเค้าทำงานแข่งกับเวลาเป็นหลักนาที ถ้าเจาะเลือดช้าไปห้านาทีจะส่งผลให้ผลแลปออกช้าไป 30 นาที ทำให้เข้าพบแพทย์ช้าไปหนึ่งชั่วโมง … ผลกระทบมีให้เห็นชัดเจนและในทันที

เพราะพวกเค้ามีเดดไลน์ที่บีบรัด … 6 ชั่วโมงนับจาก 6.00–12.00 งานต้องจบ คนไข้ต้องได้รับบริการอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์

และพวกเค้าเห็นคนไข้นั่งรอเต็มชั้น เห็นหลอดบรรจุเลือดวางกองเต็มโต๊ะ มันคืองานที่ต้องเคลียร์ มันคือของจริงที่จับต้องได้

ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้รู้ว่าประสิทธิภาพการทำงานของพวกเค้าจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมโดยตรงอย่างชัดเจน

ทีมซอฟต์แวร์ไม่เคยต้องวัดผลในระดับนาที … ช้าสามวัน ดีเลย์หนึ่งสัปดาห์ ส่งผลให้โปรเจกต์เลื่อนออกไปเป็นเดือนเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้า ความสัมพันธ์ของงานแต่ละส่วนจึงเป็นไปอย่างหลวมๆและไม่ซีเรียส

นี่เป็นเหตุผลที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงการวางแผนโปรเจกต์ยาวๆ ยิ่งยาวก็ยิ่งเสี่ยงจะดีเลย์เพราะเรามักจะเผื่อบัฟเฟอร์ไว้บวกกับโรคเด็กนักเรียน (Student Syndrome) ที่จะเริ่มจะเร่งทำงานกันตอนใกล้เดดไลน์

นี่เป็นเหตุผลว่าผมค่อนข้างชอบการทำงานแบบคันบัน ทำทีละงาน เสร็จแล้วก็หยิบงานชิ้นต่อไปที่สำคัญที่สุดมาทำต่อ เรียงคิวกันมาเหมือนคนไข้

นี่เป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าการมีโปรดักท์แบ็คล็อกเป็นเรื่องมีประโยชน์ มันช่วยสร้างอารมณ์ทางจิตวิทยาว่ามีงานมารอมีภาระมากองอยู่ตรงหน้าเสมอ (กดดันเล็กน้อย)

สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นความรู้สึกว่าเราทำงานแข่งกันเวลา เราทำงานที่มีความหมายต่อระบบโดยรวมเหมือนโรงพยาบาลนั้นสร้างได้ ลองคิดหาทางหยิบข้อดีของงานโปรเจกต์และงานโอเปอเรชั่นมารวมกันดูครับ

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com