คุณสมบัติของ Project Manager ที่ดี — ต้องมองโลกในแง่ร้าย

Because Even The Easiest Thing You Can Think Of Will Fail.

Piyorot
Pure Project Management
1 min readJan 19, 2015

--

คุณสมบัติที่สำคัญมากสำหรับ Project Manager ที่ดีในมุมมองผมคือต้องเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเอาไว้ก่อน ทำไม?

การมองโลกในแง่ร้ายจะทำให้เราตื่นตัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นั้นๆได้ดีขึ้น

สำหรับผมนะ … คนที่มีเซ้นส์เรื่อง Project Management คือคนที่ไม่เชื่อว่าโปรเจกต์เค้าจะสำเร็จจนว่ามันจะสำเร็จจริงๆ ไม่ว่าคำว่าความสำเร็จจะถูกนิยามแบบไหนสำหรับ Project Manager แล้วความสำเร็จไม่เคยได้มาง่ายๆ ไม่มีโปรเจกต์ไหนง่าย แก้บั๊กแค่ตัวเดียวก็สร้างความบรรลัยได้เหมือนกัน

สำหรับผมนะ … คนที่เป็น Project Manager ที่ดีต้องเป็นคนที่คิดแตกต่าง คนส่วนใหญ่มักมองโลกในแง่ดี ทุกอย่างง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก นี่คือสาเหตุที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำให้โปรเจกต์ล้มเหลว เราต้องอย่าไปตามกระแสสังคม เราต้องนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง เราต้องตั้งคำถามที่คิดอื่นคิดไม่ถึง … นั่นถึงจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับงานและตัวเราเองอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้

ยกตัวอย่างหลายคนคิดว่าการเอา System Monitoring Tool ตัวใหม่ที่เป็น Cloud เข้ามาใช้ในบริษัทเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ต้องทำอะไรมาก เมื่อต้องการคำปรึกษาจากผม เพราะผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมจึงถามกลับไปแบบนี้

  • วัตถุประสงค์ของการเอา Tool นี้มาใช้คืออะไร? ทำไมถึงคิดว่ามันจะช่วยทำให้วัตถุประสงค์เราบรรลุผล?
  • ใครเป็นผู้ใช้ (User)? คุยสรุปความต้องการของพวกเค้ารึยัง?
  • ใครเป็นคน Set Up Tool ตัวนี้? เค้ามีความรู้พอรึยัง?
  • มีงานฝั่ง Application ของเราที่ต้องทำเพิ่มมั้ย? ทำรึยัง? ออกแบบยังไง? ใครเป็นคนทำ?
  • งานฝั่ง Application เสร็จเมื่อไร? ใครเทส? เทสที่ไหน Staging หรือ Production เลย?
  • ทำเสร็จแล้ว ใครเป็นคน Deploy? เค้ารู้เรื่องนี้แล้วรึยัง? เค้ามีความต้องการอะไรอื่นๆอีกมั้ย?
  • Deploy ขึ้นไปแล้วผู้ใช้ใช้ Tool ตัวนี้เป็นมั้ย? ใครจะเป็นคนจัดเทรนนิ่งให้เค้า? หรือไม่สนใจ … งานเสร็จแล้วที่เหลือก็ตามยถากรรม
  • Tool ตัวนี้ฟรีหรือเสียเงิน? ถ้าเสียเงินใครจ่ายเงิน? ใครทำเรื่องจัดซื้อ? ใครจัดการเรื่องต่อ License
  • ตกลงกันรึยังว่าใครเป็น Admin ของ Tool ตัวนี้? เจ้าตัวเค้ารู้รึยัง? เค้ามีความรู้พอมั้ย?

เมื่อเรานำเสนอมุมมองที่แตกต่าง มุมมองที่อยู่บนพื้นฐานของคำว่า “ไม่มีอะไรง่าย” เราได้สร้างคุณค่าให้กับโปรเจกต์นี้ทันที คนที่ถามเค้าจะได้มีข้อมูลกลับไปพิจารณาว่าที่คิดว่างานนี้จะเสร็จในสองสัปดาห์มันคงไม่ง่ายแบบนั้นซะแล้ว

แต่ไม่แปลกถ้าคนอื่นจะคิดว่าเราบ้า “จะคิดอะไรมากมายวะ” (พวกเค้าคงนึกในใจแบบนี้) ไม่แปลกที่สิ่งที่เราพูดหรือนำเสนอจะไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม อย่าเสียกำลังใจไปเพราะสิ่งที่เราพูดมันจะเกิดขึ้นแน่นอน เกิดขึ้นต่อหน้าคนที่ไม่เชื่อเรานั่นแหละ เมื่อถึงตอนนั้นเราจะพูดได้เต็มปากว่า “อ๋อ ปัญหานี้ที่หนูเคยบอกไปไงคะ ไม่เป็นไรค่ะ หนูเตรียมทางแก้มาแล้ว” เมื่อเริ่มงานโปรเจกต์ใหม่ เราก็ทำแบบเดิม ถามแบบเดิม สงสัยในมุมมองที่คนอื่นไม่สนใจเหมือนเดิม ลองดูซิว่าคนที่ไม่เชื่อจะยังไม่เชื่ออยู่มั้ย … กรุงโรมและเครดิตไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

หน้าที่ของเราไม่ใช่แค่ปิดโปรเจกต์แต่คือทำให้โปรเจกต์เราประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องประสบความสำเร็จอย่างมีสไตล์ ☺

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Pure Project Management

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com