From ‘Eixample’ to ‘Barcelona’s Superblocks’

การเปลี่ยนแปลงของผังเมืองบาร์เซโลน่าจาก ‘Eixample’ สู่ ‘Superblocks’

Uma Phanita Surinta
All about Urban
3 min readFeb 25, 2024

--

Eixample ศัพท์คำนี้แปลว่าการขยายตัวในภาษาคาตาลัน ถูกนำมาใช้เรียกรูปแบบของผังการขยายตัวของเมืองบาร์เซโลน่าในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการวางผังเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวจากเมืองในยุคมืด (Dark Age) ที่แออัดอยู่ในขอบเขตกำแพงและคูน้ำ โดยพื้นที่เมืองกระจายตัวออกจากเขตกำแพงในรูปแบบตาราง (Gridlike Layout) ที่พื้นที่อาคารมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆกัน มีเส้นถนนตัดตั้งฉากและสานกันเป็นตาราง

Superblocks เป็นรูปแบบของผังเมืองบาร์เซโลน่าในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ปรับเปลี่ยนจากตารางขนาดเล็กในยุค Eixample สู่การผสานบางบล็อกของอาคารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงถูกเรียกว่า Superblocks เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาเมืองในยุคที่เมืองต้องแก้ปัญหาเรื่องการสัญจร ลดปัญหามลพิษต้องการปรับสภาพแวดล้อมภายในเมืองให้มีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

จุดเร่ิมต้นของ Superblocks

ผังเมืองบาร์เซโลน่าในรูปแบบ Superblocks ถูกคิดและนำเสนอโดย Salvador Rueda นักชีววิทยา นักจิตวิทยา วิศวกร และนักนิเวศวิทยาชาวสเปน ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของสำนักงานออกแบบ Ecologia Urbana Agency โดยการปรับปรุงผังเมืองบาร์เซโลน่ามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับผังเมืองเดิมในรูปแบบของ Eixample

Superblocks นำเสนอการรวมบล็อกรูปทรงจัตุรัสในผัง Eixample ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยการปิดถนนบางเส้นแล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นทางเดินหรือพื้นที่สาธารณะ เป็นวิธีการที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบันที่ต้องการลดปริมาณการใช้รถยนต์และให้ความสำคัญกับการสัญจรที่ไม่สร้างมลพิษ เช่น การเดินและการใช้จักรยาน ผังเมืองตามแบบของ Superblocks ต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ถนนให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับกิจกรรมของชาวเมือง ทำให้บาร์เซโลน่ากลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนมากยิ่งขึ้น

ผังแสดงพื้นที่ของย่าน Eixample และแนวคิดที่จะปรับให้เป็น Barcelona’s superblock

ผังในรูปแบบ Superblocks เสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนผังจากรูปแบบเดิม โดยนำเสนอการปรับให้มีข้อกำหนดในการใช้งานตัวอาคารในเขตเมือง สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างโครงข่ายเส้นทางจักรยาน กำหนดเส้นทางวิ่งของรถบัส และข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวิธีการปรับใช้งานผัง Superblocks นั้นใช้วิธีการค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยเริ่มจากการลดความจำเป็นในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มทางเลือกในการเดินทางในรูปแบบอื่น เช่น จักรยานและการเดิน ตามด้วยการลดที่จอดรถยนต์และเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนใช้งาน และในท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างถูกปรับให้เป็นไปตามผังที่วางเอาไว้ บาร์เซโลน่าจะกลายเป็นเมืองที่รถยนต์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองถนนอีกต่อไป แต่กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนอย่างแท้จริง

แผนภาพเปรียบเทียบผังแบบเดิม Eixample กับผังปรับใหม่ Superblocks https://citymonitor.ai/community/neighbourhoods/kid-friendly-superblocks-residents-reclaim-streets

การปรับปรุงผังเมืองบาร์เซโลน่าในรูปแบบของ Superblocks ต้องการให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า โดยการปรับให้ขนาดของบล็อกอาคารที่แต่เดิมมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 260m x 260m และมีถนนตัดผ่านทุกระยะ ปรับให้มีขนาดของบล็อกใหญ่ขึ้นโดยรวมพื้นที่ของถนนที่ตัดผ่านภายใน 9 บล็อกให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานของคนและการสัญจรโดยการเดินเท้าและจักรยานเป็นหลัก โดยลดการสัญจรของรถยนต์อนุญาตให้เข้าเฉพาะรถของผู้อยู่อาศัยภายในและรถส่งของเท่านั้น จากนั้นจึงปรับให้พื้นผิวของถนนหรือเส้นทางวิ่งของรถยนต์กับเส้นทางเดินเท้ามีระดับเท่ากัน และมีการควบคุมความเร็วของรถควบคู่กันไป

การกำหนดความเร็วในการสัญจรให้ภายในเขตของ Superblocks มีปริมาณการสัญจรของรถที่ลดน้อยลงและใช้ความเร็วได้ไม่มาก (10 กม.ต่อ ชม.) เพื่อให้รถยนต์สามารถใช้ถนนร่วมไปกับผู้ที่ใช้จักรยานและเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย https://www.vox.com/energy-and-environment/2019/4/11/18273896/barcelona-spain-politics-superblocks

เป้าหมายของการสร้าง Superblocks

นายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลน่าประกาศนโยบายที่จะเปลี่ยนถนนจำนวน 21 สายของเมืองในเขต Eixample ให้กลายเป็น Superblocks ซึ่งในอนาคตเมื่อแผนนี้สำเร็จ จะทำให้เมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของคนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเมืองมีสวนสาธารณะอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้อยู่อาศัยที่มีอยู่จำนวนมากและอยู่กันอย่างหนาแน่น การปรับสู่ผังแบบ Superblocks ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้เมืองได้พื้นที่สวนสาธารณะกลับมาจากการลดการสัญจรของรถยนต์บนถนนหลายเส้น พื้นที่ถนนเหล่านั้นจะถูกเปลี่ยนให้เป็นพลาซ่าหรือลานสาธารณะ พื้นที่นั่งพักผ่อน รวมไปถึงถนนคนเดินที่มีแนวต้นไม้ปกคลุม

สองภาพบนแสดงการเปรียบเทียบพื้นที่ถนนในผังแบบเดิม (ซ้าย) และเป้าหมายของผัง Superblocks (ขวา) ส่วนสองภาพล่างแสดงเป้าหมายของเมืองที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ จากที่มีอยู่น้อยมากในผังแบบเดิม (ซ้าย) ให้จำนวนเพิ่มมากขึ้นและสามารถเข้าถึงได้จากทุกย่าชุมชนในผัง Superblocks (ขวา) https://www.vox.com/energy-and-environment/2019/4/11/18273896/barcelona-spain-politics-superblocks

การปรับเปลี่ยนเมืองบาร์เซโลน่าครั้งนี้ไม่ได้ง่ายนัก มีผู้คนจำนวนมากต่อต้านและประท้วงเนื่องจากถนนที่ถูกปิดและลดจำนวนลงทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ไม่สะดวกเหมือนที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นแผนการปรับเปลี่ยนนี้ก็ยังถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการปรับเปลี่ยนถนนหนึ่งบล็อก จากนั้นเพิ่มความยาวเป็นถนนหนึ่งสาย โดยสิ่งที่ทำไปพร้อมกับการปิดถนนคือการออกแบบพื้นที่บนถนนและทางแยกให้เป็นพลาซ่าและลานสาธารณะ จนกระทั่งมีถนนที่ถูกปิดและกลายเป็นพื้นที่สาธารณะจำนวนหลายสาย ผลจากการปรับเปลี่ยนนี้ทำให้เมืองเริ่มมีความเป็นมิตรกับการปั่นจักรยานและการเดินเท้าเหมือนกับเมืองในยุโรปอื่นๆ และทำให้ผู้อยู่อาศัยมากกว่าครึ่งหนึ่งหันมาใช้การเดินเป็นทางเลือกหลักในการสัญจร และประมาณร้อยละ 12 หันมาใช้การปั่นจักรยาน

ซึ่งท้ายที่สุด ผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนี้ แนวคิดของผัง Superblocks จึงถูกคาดหวังว่าจะสามารถลดจำนวนถนนและเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะ และทำให้เมืองบาร์เซโลน่ากลับมาเป็นของคนได้สำเร็จภายในปี 2030

ภาพจุดตัดของถนนหรือทางแยกที่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานและออกแบบใหม่ให้กลายเป็นสวนสีเขียว
ภาพของถนนเดิมที่ถูกเพิ่มจำนวนต้นไม้และปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เป็นพื้นที่พักผ่อน ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองได้มากโดยเฉพาะในฤดูร้อน

ผลลัพธ์จากการสร้าง Superblocks

สรุปผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม จากการที่เมืองบาร์เซโลน่าดำเนินการสร้างผัง Superblocks มีดังนี้

  • อัตราการมีชีวิตอยู่ (Life expectancy) ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มขึ้น 200 วัน (ข้อมูลจากการศึกษาโดยสถาบันสุขภาพ BCNecologia Barcelona)
  • Superblocks ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ช่วยเพิ่มสัมพันธภาพทางสังคม และช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน (ข้อมูลจาก WHO)
  • อัตราส่วนของพื้นที่สาธารณะต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง
  • การเดินทางด้วยรถยนต์ลดลงมากกว่าครึ่ง จาก 2218 เป็น 932 ครั้งต่อวัน
  • พื้นที่ที่ถูกครอบครองโดยรถยนต์ลดลงร้อยละ 48
  • พื้นที่ทางเดินเท้า เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 80
  • พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว
  • จำนวนร้านค้าในพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ร้อยละ 30
  • อุบัติเหตุทางรถยนต์ในเขตพื้นที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

อุปสรรคของการสร้าง Superblocks

ถึงแม้ว่าการดำเนินงานจะมีแผนและกระบวนการที่ชัดเจน การแก้ไขเมืองที่มีปัญหาเรื้อรังเข้าขั้นวิกฤตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การปรับเมืองให้เป็นไปตามผัง Superblocks มีอุปสรรคมากมาย

  • งบประมาณที่หยุดชะงักไปจากวิกฤติการณ์ด้านการเงินและจากภาวะโรคอุบัติใหม่ Covid-19 ทำให้การดำเนินงานสะดุดลงบางช่วง
  • การปรับพฤติกรรมของผู้คนต้องอาศัยเวลา การทำให้ผู้ที่ใช้รถยนต์เดินทางเป็นหลัก หยุดใช้รถและหันมาใช้การเดินทางด้วยรถสาธารณะและการเดินเท้าไม่สามารถมองเห็นผลลัพธ์ได้ทันที
  • ประเด็นเรื่องการยอมรับของคนในพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรกๆทำในรูปแบบนโยบายและการบังคับใช้ข้อกำหนดจากหน่วยงาน มากกว่าการเปิดให้ผู้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมรู้และร่วมคิด ทำให้ความรู้สึกยอมรับและให้ความร่วมมืออาจจะมีไม่มากนัก
  • การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะบริหารและนายกเทศมนตรี ส่งผลให้ทิศทางและความต่อเนื่องในการทำงานไม่แน่ชัด ขณะที่นายกเทศมนตรีคนล่าสุดให้การสนับสนุนและผลักดันแผนงานนี้อย่างชัดเจน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกเทศมนตรีเป็นคนปัจจุบัน ทิศทางในการทำงานและการผลักดันอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

บทเรียนจากการดำเนินงานสร้าง Superblocks

หน่วยงานบริหารของเมืองบาร์เซโลน่าได้สรุปบทเรียนและข้อปฏิบัติจากการดำเนินงานปรับเปลี่ยนเมืองตามแนวคิดของผังแบบ Superblocks ไว้ดังนี้

  • ควรเปิดให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นการคิดและวางแผน ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยควรมีโอกาสได้ร่วมรับรู้และแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอน รวมทั้งสามารถร่วมตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้หากจำเป็น
  • ที่จอดรถยนต์ควรจัดไว้ให้เพียงพอสำหรับผู้อยู่อาศัยเป็นลำดับแรก ส่วนคนที่อยู่อาศัยนอกเขตจะต้องถูกเก็บค่าธรรมเนียมในการจอด
  • ที่จอดรถยนต์ที่ว่างและเส้นทางสัญจรต้องถูกเปลี่ยนเป็นทางวิ่งของรถบัสและช่องทางของรถจักรยาน
  • พื้นที่ถนนต้องถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้อยู่อาศัยหรือคนในพื้นที่
  • ถนนที่อยู่โดยรอบเขต Superblocks ควรเป็นเส้นทางวิ่งของขนส่งสาธารณะ โดยกำหนดตำแหน่งจุดขึ้นลงให้สามารถเข้าถึงง่าย กระจายอยู่ในระยะการเดินเท้าไม่เกิน 500 เมตร
  • ทางจักรยานทั้งในและนอกเขตของ Superblocks ต้องมีความต่อเนื่องและปลอดภัย
  • ตลอดแนวถนนสายหลัก ทางรถยนต์ ทางจักรยานและทางเท้า จะต้องถูกจัดให้แยกจากกัน เพื่อความปลอดภัย

ที่มาของข้อมูล :

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-08-07/inside-a-barcelona-superblock-pedestrians-rule

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-11-11/barcelona-s-new-car-free-superblock-will-be-big?

--

--