Urban Design Synthesis

การสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบชุมชนเมือง

Uma Phanita Surinta
All about Urban
Jul 23, 2018

--

เป็นขั้นตอนในการนำเอาข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมและวิเคราะห์มาแปรเป็นข้อเสนอในการออกแบบพื้นที่

ขั้นตอนการสังเคราะห์ ประกอบด้วย

  • นำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมวิเคราะห์มาระบุถึงประเด็นปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งควรมีรายละเอียดของแต่ละประเด็นที่ชัดเจน สามารถระบุบริเวณพื้นที่รวมถึงระบุเป็นปริมาณที่เกี่ยวข้องได้
  • พัฒนาประเด็นปัญหาและศักยภาพเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการออกแบบ โดยอาศัยการศึกษาแนวคิดและหลักการด้านการวางผังเมืองและการออกแบบชุมชนเมือง รวมถึงกรณีศึกษาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหรือสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนได้
  • สร้างแนวคิดในการออกแบบ (Design Concepts) และงานออกแบบที่สะท้อนความเข้าใจในปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อนำเสนอวิธีการและรูปแบบในการแก้ไขที่เหมาะสม

เครื่องมือในการสังเคราะห์ โดยทั่วไปมักใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ออกแบบสามารถแยกแยะและระบุถึงสิ่งที่ค้นพบได้อย่างเป็นหมวดหมู่ และสามารถลำดับความสำคัญของปัญหาและศักยภาพที่ค้นพบได้อย่างเป็นระบบ

  • 5W1H เป็นวิธีการตั้งคำถามเพื่อชี้ประเด็นปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ เช่น อะไรที่เป็นปัญหา อะไรที่เป็นศักยภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของใคร ใครได้รับผลกระทบ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร
  • SWOT and TOWS Analysis เป็นวิธีการในการแยกแยะข้อมูลจากการวิเคราะห์ออกเป็นข้อดี (Strength) ข้อเสีย (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) และนำเอาทั้งสี่ประเด็นมาสร้างกลยุทธ์

สิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนการสังเคราะห์

  • การสร้างแผนที่สรุปประเด็นปัญหาและศักยภาพ Constraints and Opportunities Plan
  • การสร้างแนวคิดในการพัฒนา Evolution of Concepts for Development อ้างอิงถึงแนวคิดและหลักการ กรณีศึกษาที่สามารถเทียบเคียงได้
  • การพัฒนาข้อเสนอในการออกแบบ Schematic Design Proposals
  • การจัดทำผลงานออกแบบ ซึ่งประกอบไปด้วยผังแม่บท Master Plan ที่ทำหน้าที่รวบรวมและแสดงบริเวณรวมถึงลักษณะของงานวางผังและออกแบบทั้งหมด และรายละเอียดของการออกแบบ Detail Design ที่แสดงรายละเอียดและรูปลักษณะของงานออกแบบแต่ละประเด็นหรือพื้นที่
Constraints and Opportunities Plan

วิสัยทัศน์ของงานออกแบบชุมชนเมือง

การเขียนวิสัยทัศน์ในการออกแบบเมือง เป็นการตั้งทิศทางในการพัฒนาเมืองและงานออกแบบ โดยมีพื้นฐานจากประเด็นที่ค้นพบจากขั้นตอนการวิเคราะห์เมือง ร่วมกับการนำเสนอฉากทัศน์ของการพัฒนาในอนาคต

ความมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ (Goal and Objective-setting)

ความมุ่งหมาย (Goal) เป็นข้อความกว้างๆที่แสดงหลักการและทิศทางของงานออกแบบที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ควรครอบคลุมถึงประเด็นแนวคิดหรือคำสำคัญ (Keywords) ในการพัฒนาพื้นที่

วัตถุประสงค์ (Objectives) คือการถ่ายทอดความมุ่งหมายไปสู่เป้าหมายย่อยที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปสู่การพัฒนางานออกแบบและวางผังได้

  • ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ในการออกแบบสามารถใช้ได้กับงานออกแบบชุมชนเมืองทุกระดับตั้งแต่งานออกแบบพื้นที่ขนาดเล็กไปจนถึงเมืองขนาดใหญ่ และงานออกแบบชุมชนเมืองที่ไม่มีความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนอาจทำให้งานนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
  • ในสังคมยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความมุ่งหมายของบุคคลและสังคมอาจเกิดความขัดแย้งกันได้เสมอ ซึ่งทำให้การกำหนดความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องยากและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
  • ในการสร้างแนวคิดและข้อเสนอแนะในงานออกแบบนั้นสามารถกระทำได้หลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนการวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดและหลักการในการออกแบบเมืองที่ดี ทั้งนี้งานออกแบบเมืองมีเป้าหมายโดยรวมเพื่อให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี เป็นเมืองที่ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ เป็นเมืองรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมภายในเมืองตามหลักการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
  • แนวทางของงานออกแบบที่นำเสนอ อาจเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ อาคารใหม่ สวนสาธารณะแห่งใหม่เพิ่มเติม หรืออาจเป็นการเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของเมือง ผู้ออกแบบควรพิจารณาโดยคำนึงถึงการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ บริบทของพื้นที่ และทรัพยากรที่มีตามขั้นตอนการประเมินผล

--

--