5 ความคิดที่ควรหยุดคิดเพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

KASIKORN Career
KASIKORN Career
Published in
1 min readMay 27, 2020

หลายคนอาจเคยหงุดหงิดที่ในหนึ่งวันทำงานสำเร็จน้อยนิดเมื่อเทียบกับปริมาณที่คาดหวัง ไม่ต้องรู้สึกแย่ไปหรอก เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญหน้ากับความรู้สึกนั้น! ใครๆ ก็อยากที่จะจัดการกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดกันทั้งนั้น

KASIKORN Career ชวนอ่านบทความจาก Harvard Business Review ที่เรามาแบ่งปัน นักวิจัยชี้ให้เห็นถึง 5 ความคิดที่บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานของคุณ พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคจัดการกับความคิดเหล่านั้นให้อยู่หมัด…ไปดูกัน

1. ประเมินเวลากับปริมาณงานเกินจริง

เคยไหมที่คุณคิดว่าคุณสามารถปิดทุกโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมายได้ภายในวันเดียว แม้กระทั่ง ภายในไม่กี่ชั่วโมงแถมยังเหลือเวลาไว้พักผ่อนอีกด้วย แต่สุดท้ายแล้วกลับทำไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ เพราะจู่ๆ ก็มีงานด่วนเข้ามา โดนเรียกประชุมด่วน หรือต้องตอบอีเมลลูกค้าคนสำคัญ

คุณรู้ไหมว่าแท้จริงแล้ว โดยเฉลี่ยในวันหนึ่ง คนเราจะมีเวลาเพียงแค่ 1 ชม.12 นาที ที่จะทุ่มเทกับการทำงานได้อย่าง 100% โดยที่ไม่มีสิ่งอื่นมารบกวน ดังนั้นเราควรจะมองทุกโปรเจกต์ในภาพใหญ่ แล้วจัดแบ่งความสำคัญของงานที่ควรโฟกัส และรีบทำให้เสร็จก่อน แยกจากงานที่สามารถทำทีหลังได้ถ้าเวลาที่เราแพลนไว้นั้นเหลือมากพอ

2. มองข้ามวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดี

คุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบมองหาวิธีการทำงานหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทำให้คุณดูโดดเด่นและแตกต่างจากเพื่อนร่วมงานหรือเปล่า บางทีคุณอาจมองข้ามสิ่งที่ง่ายๆ แต่ได้ผลไป

การที่เราใช้เครื่องมือ และ วิธีการต่างๆ ที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย แต่สามารถปรับใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับสถานการณ์ ทุกคนในทีมใช้งานได้ทั่วถึงกัน อาจเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าเครื่องมือล้ำๆ ก็เป็นได้

3. เปลี่ยนแล้วไม่เห็นผลก็ไม่ต้องเปลี่ยน

หลายๆ ครั้งที่เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางนิสัยจะทำให้ชีวิตมีประสิทธิภาพขึ้น แต่สุดท้ายเรากลับตัดสินใจต่อต้านมัน

ทุกคนต่างรู้ว่าการนอนเร็วตื่นเช้านั้นจะช่วยให้เรามีพลังในการทำงานมากขึ้น แต่กลับบอกว่าตัวเองเป็นมนุษย์กลางคืนที่ไม่สามารถนอนเร็วขึ้นได้ 1–2 ชั่วโมง เพราะลึกๆแล้วคุณไม่อยากสละเวลานอนดูซีรีส์หรือเล่นมือถือก่อนนอน นั่นเพราะความคิดของคุณเชื่อว่า ถ้า ‘การเปลี่ยนแปลง’ สร้างผลลัพท์ที่ดีสุดไม่ได้ ก็อย่าทำเลยดีกว่า

ดังนั้น คุณต้องไม่พยายามตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งเกินไป เพราะความสำเร็จยิ่งใหญ่มากมายล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่กดดันตัวเอง การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ และ ไม่ยากอย่างที่คุณคิด

4. เคยทำได้แล้ว เดี๋ยวก็ทำได้อีก

จริงอยู่ที่ในแต่ละวัน คุณอาจรับมือปัญหาหรือจัดการได้อย่างสวยงาม แต่สำหรับงานที่คุณเจอเพียงปีละไม่กี่ครั้ง หรือ 2–3 ปีครั้ง คุณอาจลืมวิธีจัดการ หรือต้องใช้เวลานานเอาการเพื่อรื้อฟื้นหาวิธีจัดการกับมัน

เช่น การเปลี่ยนไส้กรองเครื่องปรับอากาศ คุณอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที ในการค้นหาวิธีการในอินเทอร์เน็ตเพื่อแก้ไขปัญหานี้ สิ่งที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนทำ คือให้จดบันทึกวิธีการจัดการกับเหตุการณ์ที่อาจะเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบของคุณ ที่เข้าใจง่าย อ่านปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่าต้องทำอะไร และเก็บมันไว้ในที่ที่คุณจะหามันเจอ ไม่ว่าจะเป็นในอีเมล หรือ โน้ตบน smart phone ของคุณ

5. ประมาทงานน้อยนิด ไม่สำคัญ แต่มันเปลืองพลังงาน

ส่วนใหญ่เรามักให้เวลาวันละนิดๆ หน่อยๆ กับงานที่สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน หรือการพัฒนาทักษะของตัวเอง ซึ่งย่อมส่งผลที่ดีขึ้นกับเป้าหมาย หรือทำให้ความฝันในชีวิตของคุณใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้น

แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการจัดการความสำคัญของสิ่งต่างๆ ให้ดี เราอาจถูกรบกวนจากสิ่งละอันพันละน้อยที่เข้ามาแย่งเวลาและพลังงานของคุณไปจนหมด ยกตัวอย่าง การที่เราต้องมาเสียเวลา 10 นาที ตอบกลับอีเมลที่ไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน ทำให้เราต้องเสียโอกาสใช้พลังงานไปกับงานอื่นๆ ที่สำคัญกว่าด้วย

ดังนั้น เราควรมองหาวิธีการหรือเครื่องมือต่างๆ ช่วยจัดการกับงานที่ใช้เวลาและไม่สำคัญมาก เพื่อไปโฟกัสกับงาน หรือ การพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นดีกว่า

ถึงแม้ว่าเทคนิคที่เราแนะนำอาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ทุกคนทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างเต็มร้อย แต่เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้คุณจัดการกับงานที่สำคัญที่สุดที่ได้รับมอบหมายได้อย่างแน่นอน

ที่มา : Harvard Business Review
#EmpowerYourCareer with KASIKORN Career

--

--