เจาะลึกงาน Core Banking ที่ KBTG กับพี่ปลา อรจิต

Kris B
KBTG Life
Published in
3 min readFeb 8, 2022

เมื่อพูดถึงสิ่งที่เปรียบเสมือนหัวใจของธนาคาร ก็ย่อมหนีไม่พ้น Core Banking ระบบไอทีที่เรียกว่าสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของธนาคารเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นระบบที่ผูกพันกับการทำธุรกรรมทางการเงินในชีวิตเราเกือบจะทั้งหมด ทั้งที่ใกล้ตัวสุดๆ อย่างการโอน ถอน จ่าย กู้ และอื่นๆ อีกมากมายที่เราอาจจะนึกไม่ถึงหากไม่ได้อยู่ในวงการนี้ ซึ่งทีมที่รับหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบ Core Banking ให้กับ KBank หนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยก็อยู่ที่บ้าน KBTG นี่เองค่ะ

ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2021 ตลอดจนต้นปี 2022 เราได้มีสมาชิกทีม Core Banking มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การในสายงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Software Engineer, Business Analyst หรือแม้กระทั่ง Production Support Engineer ถ้าใครได้ตามเก็บครบก็น่าจะพอเห็นภาพความสำคัญของระบบนี้กันไปบ้างแล้ว คราวนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับ Core Banking ในมุมของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ Core Banking มานานนับหลายปี วนเวียนอยู่กับสิ่งนี้ไม่ไปไหน (พี่เขาถึงกับถามว่านี่เรื่องดีใช่มั้ยนะ) อย่างพี่ปลา อรจิต โหตรภวานนท์ Assistant Managing Director — Delivery Management กันค่ะ

ในปี 2021 ที่ผ่านมา ฝั่ง Core Banking มีไฮไลท์อะไรเด่นๆ บ้างคะ

อย่างแรกเลยคือเราได้มีการขึ้น Core Banking ใหม่ถึง 2 ระบบด้วยกัน ได้แก่ Foreign Currency Loan (FCL) หรือ Loan สกุลต่างประเทศ และระบบ Core Banking ของเวียดนาม โดยเฉพาะ FCL ที่เป็นการขึ้นระบบโดยทีมของ KBTG โดยไม่อาศัย Vendor เลย ของเวียดนามเราขึ้นระบบโดยใช้เวลาเพียง 9 เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการ Implement แต่ละรอบที่ผ่านมา ได้พบเจอกับความท้าทายหลายอย่าง เช่น การ Implement ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้ทีมงานทั้งหมดต้องทำงานกันแบบ Work From Home ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ได้เลยนะว่าการทำงานในรูปแบบนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับทีมในการ Deliver โปรเจคขนาดใหญ่ ส่วนอีกไฮไลท์นึงคือการ Tune Performance ระบบค่ะ แต่ละปีจำนวน Transaction ที่เกิดขึ้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งปีที่แล้ว Transaction ก็เพิ่มขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องมีการปรับเพิ่มประสิทธิภาพตัวระบบ Core Banking ของเราให้เสถียร (Stable) และสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจ (Business Growth) ได้ ถือเป็นปีที่เราทำสองสิ่งได้ดีทีเดียว พี่ว่าระบบ Core Banking เราค่อนข้างนิ่งนะ และมีปัญหาน้อยมากเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น

ทีนี้ขอย้อนเวลากลับไปสักหน่อย พี่ปลาเริ่มเข้ามาทำ Core Banking ได้ยังไง

เดิมพี่ทำงานเป็น Firmware Engineer ด้าน Digital Signal Processing อยู่ที่ Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกาค่ะ ซึ่งเป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนทำที่ไทยเท่าไหร่ พอย้ายกลับมาไทยก็เลยเป็นจุดเปลี่ยน เราเริ่มหาว่าที่นี่มีงานอะไรบ้าง แล้วก็รู้สึกว่าสาขาการเงินธนาคารนั้นน่าสนใจ เพราะดูเป็นธุรกิจที่กว้าง ประกอบกับไปเจอที่นึงที่เขากำลังต้องการ Technical Consultant เข้ามาทำ Core Banking พอดี จำได้เลยว่าพี่ Manager ที่มาชวนเขาบอกว่า “จะมีซักกี่คนที่มีโอกาสได้ทำโปรเจคสเกลใหญ่ขนาดนี้” ซึ่งเป็นโปรเจคที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว พี่มองว่าเป็นงานที่ท้าทาย เลยเลือกเข้ามาทำโปรเจคที่เกี่ยวกับ Core Banking ตั้งแต่นั้นมาก็วนเวียนอยู่กับ Core Banking มาโดยตลอด เข้ามาที่ KBank/KBTG ก็ทำตั้งแต่ Project Manager, Solution Architect, Delivery Manager จนมาถึงตำแหน่ง AMD ในทุกวันนี้

พอจะอธิบายภาพรวมของงาน Core Banking ให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ

ทีม Core Banking หลักๆ จะดูแลระบบที่ให้บริการเกี่ยวกับ Deposit, Loan, Cheque, Foreign Currency Deposit, Foreign Currency Loan ของไทย แล้วก็ดูในส่วน Core Banking ของเวียดนามด้วย ซึ่ง Core Banking จะประกอบไปด้วย Module ที่เป็น Core Processing ตรงกลาง และส่วนแอปพลิเคชันที่เป็น Front-end ให้สาขาและสำนักงานใหญ่ใช้งาน ในส่วนของ Integration เนื่องจาก Core Banking เป็นระบบที่เป็นหัวใจอยู่ตรงกลางของธนาคาร เพราะฉะนั้นโปรเจคเรียกว่ามีทุกรูปแบบเลยค่ะ ตั้งแต่ Product ของเราเองอย่าง MAKE by KBank หรือ Product ที่เราทำกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ อย่าง LINE BK, Grab Pay Wallet การใช้เงินในชีวิตประจำวันของพวกเราเกี่ยวกับ Core Banking ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงิน ฝาก โอน ถอน กู้ ทำธุรกิจ แม้แต่เวลาเราทำธุรกรรมผ่าน K PLUS หลังบ้านก็คือ Core Banking ค่ะ หรืออย่างเวลารัฐออกมาตรการใดๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด พักชำระหนี้ ระบบ Core Banking อยู่ในทุกสเต็ปชีวิตเลย รวมไปถึงวันเงินเดือนเข้าและวันหวยออก

ขอฟังประสบการณ์วันที่ยุ่งที่สุดหน่อย

สมัยก่อนระบบยังไม่นิ่งมากเหมือนในปัจจุบัน เคยมีอยู่วันนึงที่อยู่ดีๆ ก็มีโทรศัพท์มา ปลายสายบอกระบบเป็นอะไรไม่รู้ ทำไมถึง Respond ช้า และเมื่อ Core Banking ช้า ระบบอื่นๆ ภายในธนาคารไปจนถึงนอกธนาคารก็จะมีปัญหากันหมด นี่คือวิกฤตสุดแล้วของ Core Banking จากที่ทุกคนอาจจะนั่งทำงานกันอยู่ตามปกติ ก็ต้องวิ่งเข้า War Room ไปหาว่าปัญหามีโอกาสเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง เราต้องไล่ดูสารพัด ทั้งจาก Log จากอาการของระบบ เพื่อพยายามหาว่าปัญหาน่าจะเกิดขึ้นที่จุดไหน แล้วเราจะรับมือได้ยังไงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในจังหวะนี้เราต้องทำยังไงให้ระบบกลับขึ้นมาได้ให้เร็วที่สุด แล้วหลังจากที่เอากลับขึ้นมาได้เรียบร้อย ในระยะยาวเราจะต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

ต้องบอกว่าทีมนี้ไม่เคยปิดโทรศัพท์ค่ะ จริงอยู่ที่เรามีทีมมอนิเตอร์คอยเฝ้าให้ 24/7 แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาโทรมาบอกว่าระบบมีปัญหา เราต้องมีคนเตรียมพร้อมเสมอ พี่เคยนั่งกินข้าวเย็นกันกับน้องๆ แล้วจู่ๆ มีสายเข้า เท่านั้นแหละ ทุกคนวางช้อนวิ่งสี่คูณร้อยตรงเข้าตึกกันเลยทีเดียว แม้ในวันที่หนักหน่วงที่สุด เราทั้งทีมพร้อมใจช่วยกันจริงๆ ทุกคนรวมตัวกันพยายามแก้ไขปัญหาสุดความสามารถ ทุ่มเททำงานกันเป็นทีม ช่วยกันคิดหาทางแก้ปัญหาให้ได้เร็วที่สุด ความน่ารักของทีมนี้คือทุกครั้งที่มีปัญหา เราไม่สนใจว่าเป็นความผิดใคร แต่สิ่งแรกที่ทุกคนในทีมจะทำคือแก้ปัญหาตรงหน้าให้ได้ก่อน แล้วหลังจากที่เราแก้ปัญหาฝุ่นตลบกันไปแล้ว ค่อยมาวิเคราะห์ว่าจริงๆ เกิดจากอะไรและเราจะพัฒนาได้อย่างไร แต่โมเม้นต์ที่รักกันมากที่สุดคือตอนที่ช่วยกันแก้ปัญหานี่แหละ ทุกคนสปิริตเกินร้อยมาก

คำถามสุดท้าย ทำไมพี่ปลายังอยู่กับ Core Banking มาจนถึงตอนนี้คะ

นั่นสิ *หัวเราะ* เพราะมีอะไรให้เรียนรู้ตลอดเวลาค่ะ ไม่ใช่ว่าคุณตื่นขึ้นมาแล้วทำเหมือนเมื่อวาน ช่วงแรกๆ ที่ทำ Core Banking ก็คิดว่าหลังจากทำไปซัก 2–3 ปี ก็น่าจะรู้จักแอปพลิเคชันนี้ดีแล้วนะ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เท่านั้น กลายเป็นว่ามีเรื่องราวใหม่ๆ มาให้ศึกษาเสมอ แล้วด้วยความที่เราเป็น Core Banking ที่อยู่ตรงกลาง เราสามารถขยายออกไปศึกษานอก Area นี้ได้เรื่อยๆ ตอนที่ทำงานนี้แรกสุดพี่เริ่มจาก Loan จากนั้นก็เริ่มไปดูส่วนที่เกี่ยวกับ Accounting ได้มีโอกาสไปทำ Deposit และ Cheque แล้วขยาย Area ต่อยอดไปอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ล่าสุดที่เราเริ่มไปเกี่ยวพันกับโปรเจคบัตรเดบิต พี่เองก็ต้องไปศึกษาเรื่องธุรกรรมผ่านบัตรเดบิต หรือแม้กระทั่งการโอนเงินระหว่างประเทศ อย่างที่บอกว่ามันไปได้หมดเลย เป็นเหมือนการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ ไม่มีเบื่อเลยค่ะ

สำหรับใครที่อยากเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลระบบที่มีมูลค่ามหาศาล ได้เข้ามาดูแลชีวิตทางการเงินลูกค้าทุกคนในประเทศ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่แม้แต่พี่ปลาที่คลุกคลีอยู่กับ Core Banking มาหลายปีก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอด อย่าลืมเข้าไปดูตำแหน่งงานที่สนใจในเว็บไซต์หลักของเรา www.kbtg.tech ไม่ว่าจะสนใจสโคปไหน จะเป็น BA, Dev, งานที่เกี่ยวกับ System, Database หรืออื่นๆ ลองเข้าไปดูรายชื่อตำแหน่งที่เปิดรับได้เลย แล้วอย่าลืมมาเจอกันนะคะ

--

--