เรื่องเล่าเท่าที่จำได้จากงาน Creative Talk Conference 2019 ตอนที่ 3: Podcast is The Next Big Wave?

Petch Kruapanich
readmoreth
Published in
3 min readJan 16, 2019

Podcast is The Next Big Wave? คือ Session ที่เราตั้งใจไปฟังมากที่สุด เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ฟังพอดแคสตอยู่แล้ว และหลังๆก็เริ่มเปลี่ยนตัวเอง จากผู้ฟังมาเป็นผู้จัดกับในรายการ ณ พอดแคสต์ ด้วยเหมือนกัน ซึ่ง Speaker ที่ขึ้นใน Session นี้ก็เป็น 4 ผู้จัด จาก 3 ค่าย ที่มีรายการสลับกันครองติดชารต์อันดับ 1 ของพอดแคสต์ไทยมาตลอด

เริ่มต้นจากคุณรวิศ หาญอุตสาหะ จากรายการ Mission to the moon podcast คุณบิ๊ก ภูมิชาย บุญสินสุข Executive Director for Podcast จาก THE STANDARD และผู้จัดรายการ คำนี้ดี คุณแซม พลสัน นกน่วม และพี่แอน ปรัชญา สิงห์โต จาก Gettalks ซึ่งรายละเอียดของแต่ละรายการ เราเคยรีวิวไว้ในบทความ 18 ช่องพอดแคสต์ ที่มีติดเครื่องไว้ตลอดปี 2018 สามารถลองไปกดอ่านเพิ่มเติมได้นะ

มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

พอดแคสต์น่าจะเข้ามาในไทยซักพักใหญ่ และผู้จัดรายการที่มาในวันนี้ทั้งหมด ต่างก็จัดรายการมาแล้วมากกว่า1 ปีทั้งนั้น มาดูกันว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปจากวันนั้น สู่วันนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งในแง่รายการ และในแง่ตัวคน

Character ของตัวเรา และรายการเริ่มชัดขึ้น

พี่แอนเล่าว่านอกจากน้ำหนักที่เปลี่ยนไปแล้ว ในช่วงแรกที่ทำพอดแคสต์ เราพยายามทำทุกอย่างให้เนี๊ยบที่สุด ตัดเสียง หรืออัดแก้จุดที่ผิดพลาด แต่พอเวลาผ่านไปเราเริ่มทดลองทำอะไรใหม่ๆ เราจะเห็นผู้จัดจาก ยูธูป เริ่มกินระหว่างจัดรายการ หรือเดินไปเข้าห้องน้ำเมื่อไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ แต่สิ่งที่ทำผู้ฟังดันโอเค มันค่อยๆพัฒนา Character ของตัวรายการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การฝึกเล่าเรื่อง และสังคมใหม่ๆ

คุณแซมเสริมต่อจากพี่แอน ตอนเริ่มทำพอดแคสต์ เราเสียเวลาในการใช้ชีวิตบางส่วนไป แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเราได้ฝึกเล่าเรื่อง ได้เปิดสังคมใหม่ๆ ช่วงแรกที่ทำพอดแคสต์ ก็เป็นการทำสนุกๆกับคุณยู กตัญญู สว่างศรี พอหลังๆเริ่มมีคนฟัง ขอมาจัดด้วย เริ่มต้นจากพี่แอน และค่อยๆพัฒนากลายเป็นรายการใหม่ๆ เป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นเหมือนเช่นทุกวันนี้

เริ่มได้เงิน เริ่มทำเป็นอาชีพ

“ได้เงินครับ แต่ไม่ใช่เพราะว่าเก่ง แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอด” คุณบิ๊กพูดอีกมุมเสริมขึ้นมา ปัจจุบันคุณบิ๊กทำพอดแคสต์เป็นอาชีพ ไม่ใช่การทำในลักษณะของงานอดิเรกอีกแล้ว แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ก็ผ่านเรื่องราวหลายอย่างเหมือนกัน

คุณบิ๊กเล่าย้อนไปสมัยทำงานอยู่ที่ a day ในช่วงที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ สำนักพิมพ์เริ่มถูกท้าทายจากโลกที่เปลี่ยนไป ทางทีมก็เริ่มทำสำนักข่าว The Momentum ซึ่งมีพอดแคสต์เป็นส่วนหนึ่งของสำนักข่าวด้วย แต่ในตอนนั้นก็เป็นการทำเชิงทดลอง อาจจะเรียกว่าเป็นงานอดิเรกก็ไม่ผิดอะไร

แต่วันหนึ่งก็มีบางอย่างเปลี่ยนไป เกิดเหตุการณ์ต้องเปลี่ยนผ่านจาก The Momentum เข้าสู่ The Standard ซึ่งตอนนั้นทางผู้บริหารก็คิดว่า จะไม่ทำสำนักพิมพ์อีกแล้ว หมายความว่าคุณบิ๊กจะไม่มีงานทำ เพื่อความอยู่รอด ก็เลยต้องก้าวเข้าสู่การทำพอดแคสต์ เพื่อหาเงินจริงๆจังๆ ไม่ใช่ทำในเชิงเป็นงานอดิเรกเหมือนเดิมอีก

ตั้งแต่วันแรกที่ทำ จนถึงตอนนี้ก็ประมาณปีครึ่ง คุณบิ๊กเริ่มเห็นว่าการพอดแคสต์สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เห็นได้จากลูกค้าเริ่มรู้จัก และเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าพอดแคสต์มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องมานั่งอธิบายว่ามันคืออะไร สามารถสื่อสารให้เค้าเข้าใจได้ง่ายกว่าเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่สุดคือตัวเราเอง

คุณรวิศ เล่าเสริมว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดน่าจะเรื่องของตัวเอง และธุรกิจ ในการอัดพอดแคสต์ เสนห์ของการทำมันคือ เราต้องเล่าเรื่องที่มีความสดใหม่ เราไม่สามารถเอาข้อมูลเก่ามาเล่าได้ ถ้าจะเอาข้อมูลเก่าก็ต้องเป็นเรื่องระดับประวัติศาสตร์

ตรงนี้มันบังคับให้เรา ต้องศึกษาเรียนรู้ หาข้อมูล อ่านหนังสือต่างๆ บางทีอ่าน 10 เรื่องแต่เอามาใช้ในรายการได้แค่ 1–2 เรื่อง บางอันที่เราอ่านแล้วไม่เข้าใจ เราก็เอามาเล่าไม่ได้ อันไหนที่ง่ายไป หรือรู้สึกว่าเล่าแล้วไม่สนุก ก็ไม่ถูกหยิบมา แต่สิ่งที่อ่านแล้วไม่ได้ใช้ เราก็เก็บไว้เป็นความรู้ หลายๆอันก็เอาไปประยุกต์ใช้กับงานที่บริษัทได้

อีกเรื่องนึงที่น่าจะตลกก็คงเป็น ทุกวันนี้เวลาเดินทางไปที่ไหน ก็ต้องพกไมโครโฟนไปตลอด เพราะต้องอัดรายการทุกวัน ทำให้เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน จะโดนให้เปิดกระเป๋าเสมอ เพราะหน้าตาไมโครโฟน อาจดูไม่เป็นมิตรสำหรับคนตรวจเท่าไร บางครั้งก็เคยถูกขอให้อัดให้ดูเหมือนกัน

พอดแคสต์จะโตไปแบบไหน

ถ้าพูดถึงการเติบโต หลายๆคนรู้สึกว่ามีคนเข้ามาฟังเยอะมากขึ้น รู้สึกว่ามันกำลังเติบโต คำถามที่น่าสนใจคือในอนาคตคิดว่าพอดแคสต์จะเติบโตไปเป็นอย่างไร

คนฟังจะไม่โตแบบก้าวกระโดด แต่โตไปเฉพาะทาง

คุณรวิศเชื่อว่าตลาดพอดแคสต์จะสามารถโตขึ้นได้เรื่อยๆ แต่จำนวนคนฟังคงไม่ขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่เชื่อว่ามันจะไปแบบเฉพาะทาง เฉพาะกลุ่มคนฟังมากขึ้น เช่นรายการเกี่ยวกับกีฬา รายการเกี่ยวกับไอที เป็นต้น

สำหรับในแง่ธุรกิจ เนื่องจากธรรมชาติของคนฟังพอดแคสต์ เค้าจะเสพสื่อพวกนี้นาน ตั้งแต่ระดับหลายสิบนาที ไปจนหลายชั่วโมง เรียกว่ามันติดอยู่กับตัวคนฟังเลยก็ได้ ถ้าคนทำรายการพอดแคสต์ต้องการนำเสนอบางอย่าง มันสามารถทำได้ง่ายมาก เพราะเป็นการเสนอข้อมูลแบบอัดแน่น เและส่งให้ถึงหู หมือนโดนสะกดจิตเลย เห็นได้จากคุณรวิศเองก็เสียเงิน ซื้อของตามรายการพอดแคสต์มาเยอะเหมือนกัน

นอกจากนี้ตัวรายการพอดแคสต์ มันสามารถแยกคนฟังด้วยตัวรายการอยู่แล้ว ดังนั้นการที่คนฟังไม่โตแบบก้าวกระโดด แต่โตในกลุ่มเฉพาะ มันส่งผลดี เพราะมันตรง target มากขึ้น เช่น รายการมีคนฟังแค่ 30,000 คนแต่เป็น 30,000 คนที่พร้อมจะจ่ายเงินให้กับสินค้าเรา

พอดแคสต์ก็เหมือน Blog เมื่อ 10 ปีก่อน

เราคงเดาไม่ออกเหมือนกันว่าพอดแคสต์จะโตไปยังไง แต่คุณบิ๊กมองว่าพอดแคสต์ก็เหมือนกับการเขียน Blog เมื่อ 10 ปีก่อน เหมือนยุคที่เราเขียนไดอารี่ออนไลน์ หลายๆคนเขียนเป็นงานอดิเรกไม่ได้คิดจะทำแบรนดิ้งให้ตัวเองอะไร แต่บางคนก็มองเห็นโอกาสและเริ่มหารายได้จากมัน

อีกไม่นานหลายๆคนน่าจะรู้ว่า พอดแคสต์เป็นสื่อที่สามารถติดตามได้ และมีความสนุก เป็นที่ที่เค้าสามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ และที่สำคัญพบว่ามันทำได้ไม่ยาก

ในอนาคต น่าจะมีคนทำพอดแคสต์มากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่ทำในเชิงธุรกิจ แต่เริ่มจากทำเป็นงานอดิเรก ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการเติบโตของการเขียน Blog ในยุคหนึ่ง ที่มีคนกลุ่มหนึ่งทำเพราะอยากทำ แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่สามารถทำเพื่อหาเงิน และสร้างแบรนด์ให้ตัวเองได้จริงๆ สุดท้ายก็จะมีคนทำพอดแคสต์เป็นอาชีพได้จริงๆ ทั้งอาชีพหลัก และเสริม ซึ่งตรงนี้ก็จะส่งทำให้มีความหลากหลายมากขึ้นแล้ว

แค่มีคนเริ่มสนใจ มันก็โตแล้ว

คุณแซม เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า เคยมีหน่วยงานราชการ และบริษัทติดต่อ ให้ไปเล่าว่าพอดแคสต์คืออะไร และทำยังไง อันนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า มันมีคนที่คิดอยากจะทำเหมือนกัน ซึ่งถ้าเริ่มมีความอยากทำ และลงมือทำมันจริง มันก็จะเริ่มมีคนฟัง พอคนรู้จักมากพอ วงการพอดแคสต์มันก็จะโตขึ้นมาเอง

ในปัจจุบันนอกจากตัวบุคคบลที่ทำรายการพอดแคสต์แล้ว เราเริ่มเห็นว่ามีสื่อหลายๆเจ้าเริ่มขยับมาทำด้วยเช่น THE STANDARD , Brand Inside หรืออย่าง Mango Zero ก็กำลังจะเริ่มทำ ตรงนี้ทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวบางเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับผู้ฟังเหมือนกัน ว่าเค้าจะเลือกฟังอะไร

ทำยังไงถึงจะทำเงินได้

ทุกวันนี้มีคนเริ่มเข้ามาทำพอดแคสต์มากขึ้น หลายๆรายการสามารถทำรายได้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราต้องการจะเริ่มหาเงิน เราควรจะทำยังไงดี

การหาเงินกับพอดแคสต์ ต้องไม่หลอกลวง

คุณรวิศเล่าว่ารายการพอดแคสต์ของต่างประเทศ เวลาตอนไหนมี Sponsor ก็จะมีการประกาศชัดเจนไปเลย และจะทำคอนเทนต์ที่เป็นเนื้อเดียวกับรายการ ทำให้รู้สึก smooth เป็นธรรมชาติ อาจมองว่าการทำพอดแคสต์ก็เป็นเหมือนเป็น influencer ประเภทหนึ่ง คนที่มาพูด หรือมาขายของ ต้องเคยใช้สินค้า หรือสิ่งที่เค้าให้มาขาย ถ้าไม่เคยใช้มันจะดูโกหก ซึ่งคนฟังก็รู้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันคนที่จะจ่ายเงินเค้ามองพอดแคสต์เทียบกับอะไรอยู่ 1 Play ในพอดแคสต์ มันเอาไปเทียบกับ 1 View ใน Facebook ไม่ได้ เราต้องมองกันที่คุณภาพเหมือนกัน เพราะในรายการพอดแคสต์ในไทย ถ้ามีคนฟังระดับ 10,000–20,000 นี่ถือว่าเยอะมากๆแล้ว

คำถามจึงย้อนกลับมาว่า 10,000 play ของคนที่จ่ายตัง เค้าคิดว่ามันเยอะหรือน้อย ณ ขณะนี้มันไม่มีมาตรฐาน แปลงออกมาให้ชัดเจนว่าควรจะมีมูลค่าเท่าไร และคนจ้างก็จำเป็นต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ธรรมชาติของผู้จัด หรือรายการนั้นๆเป็นยังไง จะขอให้เค้าใส่ Hashtag เกี่ยวกับสินค้ารัวๆ มันอาจจะไม่ทำให้แคมเปญที่อยากทำออกมาดี

จะหาเงินได้ ตัวตนต้องชัดเจน

พี่แอนเล่าว่าจริงๆแล้ว Gettalks ก็เคยมี sponsor เข้ามาเหมือนกัน ถึงแม้ตัวรายการจะจัดเป็นงานอดิเรก แต่เมื่อ LINE Taxi เข้ามาเป็น Sponsor ตัวรายการก็พยายามพูดชื่อแบรนด์ และโฆษณาตลอดเวลา แทบจะทุก 10 นาที คนฟังอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นการสะกดจิต เพราะการฟังพอดแคสต์มันไม่เหมือนการอ่านบทความ ที่สามารถอ่านผ่านๆได้ มันต้องไล่ฟังไปจนจบ แต่ผลตอบรับก็ออกมาดี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะโทนของรายการที่ถูกวางมาให้ทำอะไรแปลกๆแบบนี้ได้

หรือแม้แต่ยาสีฟันที่ไม่เคยมีใครรู้จัก และได้ยินชื่อ ที่ตัดสินใจมาลงโฆษณากับเสาเสาเสา ซึ่งมีการเล่าถึงสรรพคุณต่างๆ รวมถึง รีวิวการใช้งานด้วย จนทำให้ใครหลายๆคน (รวมถึงตัวเราด้วย) ก็ไปซื้อตามมาใช้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามถ้าเรามองข้ามตัวเงิน การทำพอดแคสต์มันก็เหมือนทำให้เราถูก Spotlight ยิงมา มันเป็นการสร้างมูลค่าให้ตัวเองเหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำต่อหลังจากนั้นก็คือ เราต้องทำแบรนด์ตัวเองให้ชัด ถึงจะทำเล่นๆแบรนด์ของตัวเรา และรายการก็ต้องชัดเหมือนกัน

คุณแซมเสริมแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการทำ Community อีกว่า เนื่องจาก Gettalks มีรายการในช่องค่อนข้างเยอะ เคยมีความคิดว่าอยากทำช่องให้เป็นเหมือน Community ที่ให้รายการต่างๆมาอยู่รวมกัน ส่วนวิธีการหาเงินใครอยากหาเงิน อยากทำเป็นอาชีพจริงจังก็ทำไป แต่ใครอยากทำเป็นงานอดิเรกเหมือนคุณแซมกับพี่แอนก็ทำไป พอวันนึง มันจะมีอะไรเข้ามาเอง

แบรนดิ้งชัด คนตามน้อย ก็ทำเงินได้

คุณบิ๊กเสริมถึงข้อกังวลที่คุณรวิศทิ้งไว้ ว่าจริงอยู่ที่ 1 Play ของพอดแคสต์ ไม่เท่ากับ 1 View ของ youtube ข่าวดีคือคนจ่ายเงิน เริ่มเข้าใจตรงนั้น มี Micro Influencer รายหนึ่งเคยเล่าว่า ในปัจจุบันลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญเรื่องยอดตัวเลขน้อยลง เพราะตัวเลขเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าแคมเปญนี้ดี หรือไม่ดีอีกต่อไป

บางคนเป็น Influencer ที่มีผู้ติดตามหลักพัน แต่แบรนดิ้งของเค้าชัด ก็ทำให้เค้าสามารถ make money ได้ไม่ยากนัก นี่คือหลักที่พอดแคสต์นำมาใช้ได้เลย เพราะถ้าแบรนดิ้งเราชัด ลูกค้าก็จะเลือกลงถูก เค้าจะรู้ว่าต้องเอาเงินไปวางที่ไหน เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

ความเป็น influencer และการสร้าง community สิ่งนี้น่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำเงินให้กับคนทำพอดแคสต์ได้ ถ้าถามว่าทำเป็นอาชีพได้ไหม อย่างน้อยก็มี 6 รายการของ The Standard ที่สามารถทำเป็นอาชีพได้แล้วในปัจจุบัน

ปัจจุบัน The Stadard มีการทำในหลาย Platform ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อความ พอดแคสต์ และวีดีโอ ซึ่งเราเอาทั้งสามอย่างมารวมกัน ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ ในการนำเสนอลูกค้า บางครั้งเค้ามาซื้อแค่บทความ แต่เราเห็นว่าพอดแคสต์ อาจจะเป็นอีกช่องทางที่เหมาะสมกับเขา เราอาจจะเสนอเป็นแพ๊คพ่วงไปให้

อย่างไรก็ตาม บางงานบางแคมเปญ อาจจะไม่เหมาะกับพอดแคสต์ ดังนั้นเราก็ต้องพยายามทำงานกับแบรนด์ และ Agency ให้สามารถเลือกรูปแบบของสื่อที่เหมาะกับเขาให้เจอ

Wave ต่อไปของพอดแคสต์

ถ้าบอกว่า wave ที่ผ่านมาการที่พอดแคสต์เติบโต อาจจะมาจากที่คนเริ่มรู้จักเยอะขึ้น คำถามคือแล้ว wave ต่อไป อะไรละที่จะทำให้มันเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ได้

คุณภาพคือพอดแคสต์ยุคต่อไป

คุณรวิศ พูดถึงว่า ปัจจุบันคนรู้จักพอดแคสต์มากขึ้น มันเป็นมากกว่า icon สีม่วง ที่มักถูกเอาไปซ่อน พอไปถึงจุดหนึ่งที่รายการมันเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ คนฟังก็จะเริ่มตามหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเลือกจากคุณภาพทั้งในมิติของ ตัวเนื้อหา ความสม่ำเสมอ และเสียง

สิ่งที่จะทำให้ตลาดมันโตได้ คือทุกคนต้องแข่งกันพัฒนาคุณภาพ อีกหน่อยเราจะเห็นงานคุณภาพมากขึ้น อาจจะไม่ใช่การอัดด้วยไมคตัวเดียวอีกแล้ว

การทำเป็นธุรกิจแบบจริงจัง ตลาดจะโต

คุณบิ๊กเสริมต่อว่าตลาดนี้จะโตได้ก็ต่อเมื่อมีเงิน มีธุรกิจ เข้ามาเกี่ยวข้อง พอคนเริ่มเห็นว่าพอดแคสต์ทำแล้วได้เงิน ก็จะเริ่มเข้ามาแย่งกันทำมากขึ้น ก่อให้เกิดการแข่งขัน คนก็จะเริ่มพัฒนางานให้มีคุณภาพมากขึ้น นี่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยน

เมื่อคนทำพบว่า สิ่งที่พูดเล่น ๆ อัพเล่นๆ ถ้ามีการพัฒนาหาความรู้เพิ่มขึ้น และก้าวข้ามผ่านช่วงคนที่ฟังน้อยไปให้ได้ เราจะถึงจุดที่เรามีแบรนดิ้งชัดเจน และก็อาจจะได้เจอกับลูกค้าที่มีเงิน ที่สามารถช่วยเติมเต็มให้เติบโตไปพร้อมกันได้

เติบโตสู่ Channel ใหม่

คุณแซมในฐานะที่ทำเล่นๆ ตรงข้ามกับคุณรวิศทั้งหมด ก็เริ่มคิดเหมือนกัน เห็นได้จากรายการที่ทำใหม่ๆ เริ่มสนใจคุณภาพมากขึ้น และเริ่มคิดที่จะขยาย Channel ไปทางอื่นเพิ่ม เช่น ลง youtube เพราะเราไปเจอรายการ เรื่องเล่า อาจารย์ยอด ที่มาเล่าเรื่องผี ก็มีคนมาติดตามไปเกือบ 1 ล้านคน นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมคนฟังอาจเปิด youtube เพื่อฟังเพลง และฟังอย่างอื่นเหมือนกัน

ทำเลย แล้วปล่อยให้ธรรมชาติคัดสรร

พี่แอนเสริมต่อ ปัจจุบันคนฟังถ้าอยากกระโดดมาทำ ก็สามารถทำได้เลย เพราะทุกคนมีมือถืออยู่แล้ว แต่จะมีคนฟังไหม ธรรมชาติจะคัดสรรออกไปเอง มันอยู่ที่คุณภาพของเนื้อหา นอกจากนี้เรายังเห็น trend บางอย่างเกี่ยวกับพอดแคสต์ที่น่าสนใจ เช่น ช่วงกลางปีก่อน Google เปิดตัว Google Podcast แสดงว่าเขาเห็นอะไรบางอย่างเหมือนกัน หรือ Spotify ที่เริ่มเปิดให้เราสามารถส่งรายการไปไว้บนนั้นได้ด้วย ล่าสุด Android Auto ก็รองรับพอดแคสต์แล้ว หรือล่าสุดกว่า ที่ Spotify มีการเตรียมปล่อยเครื่องมือ ที่จะช่วยในการจัดการพอดแคสต์ได้ง่ายมากขึ้น

นึกถึงคนฟัง และหาลูกค้ารายแรกให้เจอ

ไม่ว่าเราจะทำอะไร ยังไงก็ต้องคิดถึงคนฟัง เพราะมีช่วงแรกๆของ THE STANDARD Podcast ก็ไม่มีเงินเข้ามาเลย แต่ผู้บริหารมองการณ์ไกล และเชื่อว่าพอดแคสต์ สามารถไปได้ จนเกิดลูกค้ารายแรก จากนั้นลูกค้ารายอื่นก็จะเริ่มตามมา ของแบบนี้มันอาจจะต้องเวลาซักพักกว่าจะเกิด Community กว่าจะเกิดชื่อ กว่าจะเกิดแบรนด์ของเรา แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่คำนึงถึงคนฟัง ถึงพยายามทำเป็นธุรกิจแค่ไหน มันก็ไม่เกิดอยู่ดี ไม่ว่าจะไปในมุมไหน ไม่มีคนฟังก็จบเหมือนกัน

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ session นี้ และ session อื่นๆเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Group CTC นักจด ที่จะมี Content จากเพื่อนๆมากมาย ที่ร่วมกันจด และแชร์หัวข้อต่างๆอีกด้วย

--

--

Petch Kruapanich
readmoreth

Full time Developer, Part time writer, Vinyl lover