เรื่องเล่าเท่าที่จำได้จากงาน Creative Talk Conference 2019 ตอนที่ 2 : How to Love The Job You Hate

Petch Kruapanich
readmoreth
Published in
3 min readJan 14, 2019

สำหรับ Session ถัดไปที่เราได้ฟังในงาน Creative Talk Conference 2019 Trends & Creative Revolution ก็คือ How to Love The Job You Hate ซึ่งเป็นอีก Session นึงที่สนุกมากๆ โดยได้ ดร. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ และนักเขียน ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยดีในนามปากกา เกตุวดี Marumura ร่วมกับ คุณชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือที่พวกเรารู้จักในชื่อ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ นักเขียนฝีมือจัดจ้าน ที่มีผลงานมากมายทั้งในโลกออนไลน์ และหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค

สำหรับ Session นี้เป็นการแชร์ถึงวิธีที่ช่วยให้เรารู้สึกรัก ในงานที่เรารู้สึกว่าไม่ชอบมัน ซึ่งสนุกมากๆ โดยเราสามารถสรุป 8 สิ่งที่ช่วยให้มีความสุข ในชีวิตการทำงานมากขึ้น โดยในบางตอน จะมีการแทรกความคิดเห็นของเราเพิ่มเติมลงไปบ้างนะ

เลิกตามหา Passion

อิคิไก (IKIGAI) หรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ คำๆนี้น่าจะเป็นคำที่มีการพูดถึงเยอะมากในปีที่ผ่านมา เพราะมักถูกยกขึ้นมาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป รวมถึงเราด้วย จะเข้าใจว่าอิคิไกต้องมีองค์ประกอบ 4 ด้านคือ

  • งานที่ทำแล้วเรารัก (What you LOVE)
  • งานที่เรามีความถนัด (What you are GOOD AT)
  • งานที่ทำแล้วเราได้เงิน (What you can be PAID FOR)
  • งานที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อสังคม (What the world NEEDS)
Wikimedia Commons

ซึ่งมันมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องอิคิไกในบางประเด็นเหมือนกัน เราจะเห็นคนจำนวนมาก พยายามตามหาสิ่งที่เรียกว่า passion แต่ถ้าเราลองดูประวัติการทำงานของคนญี่ปุ่น จะพบว่ามันไม่มีคำว่า passion นะ ทุกคนล้วนก้มหน้า ก้มตาทำงานไป พอถึงจุดหนึ่งเราอาจจะตกหลุมรักในงานที่เราทำไปนั้นเอง

อ.เกตุยกตัวอย่างเรื่องเล่าของคุณปู่จิโร่ เจ้าของร้านซุคิยาบาชิ จิโร่ พ่อครัวมิชลิน 3 ดาว ที่มีอายุมากที่สุดในโลก จุดเริ่มต้นของคุณปู่จิโร่ ไม่ได้มาจากการตามหาว่าตนมี passion ในการปั้นซูชิ แต่เป็นความพยายามในการทำงาน เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด และค่อยๆปั้นซูชิให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเขาก็กลายเป็นเชพมิชลิน 3 ดาว ดั่งเช่นที่ทุกคนรู้จักกันในวันนี้

ถ้าเราลองถอดความจากเรื่องที่อ.เกตุเล่ามา จะเห็นได้ว่าคุณปู่จิโร่ ไม่ได้วิ่งตามหา passion ในวันแรกที่เค้าเริ่มทำร้านอาหารญี่ปุ่น แต่เค้าเริ่มต้นจากการทำงานบางอย่างจนเขาเก่ง (Good at) พอถึงจุดนึงก็พบว่ามันคืองานที่ใช่สำหรับเขา และเริ่มตกหลุมรักมันเอง (Love) จนเกิดเป็นส่วนที่เรียกว่า Passion อย่างที่ทุกคนตามหา

อาจกล่าวได้ว่า บางครั้งเราควรมองข้ามสิ่งที่เรียกว่า passion ไปก่อน เพราะถ้าเรามัวแต่พยายามตามหาสิ่งที่เราคิดว่ามันคือ passion เราอาจจะไม่มีทางได้เจอมัน กลับกันถ้าเราเริ่มต้นทำบางสิ่ง และพยายามทำมันให้ดีขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะตกหลุมรักงานที่ทำ นั้นแหละ อาจจะเป็นสิ่งที่คุณเรียกว่า passion

นึกถึงความสุขของคนที่อยู่ตรงหน้าเยอะๆ

บางครั้งงานที่เราทำ อาจจะไม่ใช่งานที่เราชอบตั้งแต่แรก เมื่อเราทำมันไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มตกหลุมรักมันเอง แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ สิ่งหนึ่งที่เราควรทำ คือพยายามเก็บเกี่ยวความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่อยู่รอบตัว มาเป็นแรงบรรดาลใจ หากเรามัวแต่มาคิดลบ คิดเล็กๆน้อยๆ นั้นอาจจะทำให้เราไม่มีความสุขในสิ่งที่ทำก็ได้

อ.เกตุเล่าเรื่องนึงที่น่าสนใจว่า มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเก็บเงินทั้งเดือน เพื่อพาแม่มากินซูชิ ซึ่งซูชิที่เราปั้นให้เค้ามันจะไม่ได้เป็นแค่ซูชิคำเดียวอีกแล้ว แต่มันมีความหมายบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายในซูชินั้นอีก นี่เป็นตัวอย่างของความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่เราสามารถเก็บเกี่ยวมาเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ใจเราขุ่นมัว เราอาจจะไม่ได้อยู่ในสภาวะที่มองโลกในแง่บวกได้ขนาดนั้น อ.เกตุ ก็ได้แนะนำให้เราได้รู้จักกับคำว่า 無心 มุชิน (Mushin) หรือ สภาพที่เราไม่คิดอะไร หรือสภาพจิตว่าง เพราะถ้าเรามั่วแต่กังวล หรือคิดมาก ว่าสิ่งที่เราทำไปมันจะดีไหม ทำไมเราถึงทำได้ไม่ดีเท่าคนอื่น คนจะดูเราไม่ดีรึเปล่านะ ความคิดเหล่านั้น มันทำให้สภาพจิตใจของเราไม่นิ่ง

อ.เกตุ ยกเหตุการณ์หนึ่งของตัวเองเสริมขึ้นมาว่า ในช่วงที่เริ่มทำ SPACE by Chulalongkorn Business School ซึ่งเป็น e-learning ที่ อ.เองก็ไม่ได้ถนัดเอาซะเลย บางครั้ง อ.ก็เกิดคำถามว่า ทำไมตัวเองต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีพี่คนหนึ่งทักข้อความมาว่า “ผมอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอบคุณที่นำความรู้ไปส่งถึงบนดอย” จากคำพูดขอบคุณเล็กๆน้อยของพี่ดอยคนนั้น ก็ทำให้ อ.ได้เห็นคุณค่าของงานที่ทำชัดเจนขึ้น มันไม่ใช่งานที่ถูกสั่งจากคณบดีแล้ว แต่มันเป็นงานที่กำลังลดช่องว่างทางการศึกษาให้เล็กลงตังหาก

หลังจากนั้น อ.เกตุก็ได้พบกับพี่ดอย และพี่ทะเลคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งพลังงานความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่สามารถเก็บเกี่ยว มาเป็นแรงผลักดันให้กับตัวเองมีแรงในวันที่ใจเราขุ่นมัวได้

บางครั้งมันเป็นเรื่องของ mindset

คุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ได้แชร์ถึงโครงการหนึ่งใน SCB ที่ชื่อว่า People in purpose ที่ทำการสัมภาษณ์พนักงานในตำแหน่งต่างๆว่า พวกเขาทำงาน ไปเพื่ออะไร ซึ่งคนกลุ่มนึงที่ได้ลองไปคุยก็คือ Call center อาชีพที่ถูกด่ามากที่สุด

คำถามหนึ่งที่คุณท้อฟฟี่ได้ถามกับน้อง Call center ก็คือ รู้สึกยังไงบ้าง กับการตื่นมาทำงานทุกวันเพื่อต้องโดนด่า แต่คำตอบที่น้องเค้าตอบมา น่าสนใจมากก็คือ

ในแต่ละวัน ผมรับสายประมาณ 70–90 สาย เดือนหนึ่งก็ประมาณ 2,000 สาย ซึ่งเป็นสาย Complain เป็นส่วนใหญ่ ถ้าผมคิดว่าในเดือนนึงมีคนกว่า 2,000 คนมาด่าเรา เราคงทุกข์ใจมากๆ แต่ถ้าเราคิดว่าในเดือนนึงเราสามารถช่วยแก้ปัญหาได้กว่า 2,000 คน มันก็ทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้นเหมือนกัน

จากเรื่องเล่านี้ มันทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วมันอยู่ที่ mindset ว่าเราจะมองเรื่องนั้นยังไง เราอาจจะมองว่าการ complain ของลูกค้าคือการด่า แต่ส่วนนึงที่เราถูกด่า แสดงว่าเขาเชื่อว่า เราสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ กลับกันถ้าเขามองว่า เราไม่สามารถพัฒนาได้ เขาจะไม่เข้ามาด่า หรือ feedback เราด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคำด่าจะมีค่าสำหรับเรา ถ้าเราสัมผัสได้ว่าการเข้ามา feedback นั้นๆ มาด้วยเจตนาไม่ดี เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแคร์อะไร

อย่าลืมทำแบรนด์ ของตัวเรา ให้เป็นที่รักของทุกคน

ในการทำงาน ปกติเราจะทำการสร้างแบรนด์ของสองอย่างไปพร้อมๆกันนั้นคือแบรนด์ของลูกค้า และแบรนด์ของตัวเรา คุณท้อฟฟี่ ได้แนวคิดนี้มา ตอนทำงานด้าน PR ซึ่ง core value ของงานนั้นก็คือ การทำบางอย่างให้คนรักแบรนด์ แต่คำถามคือว่าเราสามารถทำให้คนรักแบรนด์ของลูกค้าได้ แล้วเราเคยคิดที่จะทำให้ แบรนด์ของตัวเราเองมีคนรักบ้างรึเปล่า

ในการทำแบรนด์ของลูกค้า พอถึงจุดหนึ่ง เมื่องานจบ ลูกค้าก็จะถูกเปลี่ยนเจ้าไปเรื่อยๆ เราจึงไม่ควรลืม ที่จะให้ความสำคัญ กับแบรนด์ของตัวเราเอง เพราะสิ่งนี้จะเกิดขึ้นพร้อมเรา และตายไปพร้อมเรา ทำยังไงคนถึงจะอยากทำงานกับเรา และรักเรา

พลังของจินตนาการ

พลังของจินตนาการ อาจจะช่วยให้คุณมองงานที่รู้สึกว่าเฉยๆ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อ.เกตุเล่าว่า เคยทำงานมาหลายอย่างตั้งแต่การขายไก่ทอด เป็นล่าม สอนเด็ก ซึ่ง อ. ไม่เคยเกลียดงานของตัวเองเลย ส่วนหนึ่งเพราะพยายามจินตนาการว่า คนที่เรากำลังจะเจอเป็นคนแบบไหน แต่ไม่ใช่ในมุมมองว่าอายุเท่าไร เพศอะไร แต่ในมิติที่ลึกกว่านั้น เช่น ในห้องนี้เราอาจจะได้พบกับใครซักคน ที่มีความคิดกำลังจะลาออกรึเปล่า สิ่งที่เราจะมาเล่าอาจจะไปจุดประกายความคิดอะไรในตัวเขาก็ได้

อ. เกตุเล่าถึงเคสของแม่บ้านที่สนามบิน ฮาเนดะ สนามบินที่ได้รับรางวัล ว่าสะอาดที่สุดในโลก ซึ่งลักษณะงานของแม่บ้าน ก็คือ ทำความสะอาดตลอดเวลา และยิ่งไปกว่านั้น แทบไม่มีใครมาชื่นชมเธอเลย แต่แม่บ้านคนนี้ก็ได้ใช้พลังจินตนาการคิดต่อว่า ถ้ามีเด็กมาคลานเล่นที่พื้นสนามบิน แล้วเอามือเข้าปาก และเด็กคนนั้นก็ไม่สบาย เค้าคงรู้สึกแย่เนาะ หรือนักธุรกิจที่กำลังจะเดินทางไปประชุม พอเจอพื้นที่สกปรก เค้าอาจจะอึดอัด ส่งผลต่อการประชุม เค้าก็คงรู้สึกไม่ดีเช่นกัน

จะเห็นว่ามันเป็นวิธีคิดที่ใหญ่มากๆ แต่ทำให้เขามีความสุข และรู้สึกได้ว่างานที่ทำมีความสำคัญ

อ. เกตุก็ได้ยกตัวอย่าง ประสบการณ์การใช้พลังจินตนาการของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน ในสมัยที่ อ.ทำงานแพ๊คขนม วิธีการทำงานของ อ. ในตอนนั้น ก็คือแพ๊คแบบส่งๆไป ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย จนกระทั้งผู้จัดการร้าน ก็เริ่มมาพูดให้ฟังว่า เค้กที่ผู้ชายคนเมื่อกี้ซื้อไป เค้าน่าจะซื้อไปฝากลูกนะ พอเค้ากลับถึงบ้าน พวกเขาคงต้องล้อมวงกินกันสนุกสนานแน่เลย ซึ่งหลังจากนั้น อ.เกตุก็ลองใช้พลังจินตนาการ (พลังมโน) คิดเรื่องราวให้กับลูกค้าคนอื่นๆ

แน่นอนเมื่อฟังสิ่งที่ อ.เกตุ อยู่ดีๆก็มีเสียงจากปีศาจร้ายในหัวเราดังขึ้นมาว่า “มันต้องอะไรขนาดนั้นเลยหรอวะเนี่ย” ไม่ทันชั่วอึดใจ พิธีกรก็ถามต่อขึ้นมาว่า “ที่ทำอยู่ก็เยอะมากพอแล้ว ต้องให้คิดอะไรอีก?”

คุณทอฟฟี่เลยช่วยเสริมประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาว่า จริงๆแล้วในองค์กร ก็ต้องการคนที่คิดอะไรลบๆเหมือนกัน จะคิดบวก ไปซะทุกอย่างอาจจะไม่ได้ มันต้องมีคนที่ช่วยคิด worst case scenario ขึ้นมา เพื่อให้เราป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

คนเรามีเป้าหมายความสำเร็จที่ต่างกัน บางคนต้องการมีบ้านมีรถ บ้างคนต้องการมีตำแหน่งใหญ่โต บางคนต้องการแค่มาทำงานแล้วกลับบ้านไปเลี้ยงแมว ซึ่งไม่ได้ผิดแต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยเขาได้รู้แล้วว่าความสุขของเค้า คือการกลับไปเลี้ยงแมว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ แล้วเราจะทำยังไงให้เราสามารถอยู่รอดในที่ทำงาน และกลับบ้านไปเลี้ยงแมวได้ เพราะปัจจุบันเราไม่ได้แข่งแค่คนในประเทศ เราไม่ได้กำลังแข่งกับเพื่อนบ้าน AEC แต่เรากำลังจะแข่ง (อาจจะแข่งอยู่) กับ AI อีกด้วย ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาตัวเอง ให้เอาตัวรอด อีกไม่นานเราคงได้กลับไปเลี้ยงแมวถาวรเป็นแน่แท้

ถ้ามองอีกมุมมันก็มีความน่าเสียดาย ถ้าเกิดการมาทำงานไม่มีความสุข เพราะเราใช้ชีวิตต่อวัน ที่ทำงานอย่างน้อยก็ 8 ชั่วโมง บางทีเราอาจจะเริ่มต้น จากการมองหาความสำเร็จเล็กๆน้อย เช่นการสร้างรอยยิ้มให้กับเพื่อนร่วมงาน การทำงานเล็กๆน้อยเสร็จ จากนั้นค่อยๆสะสมความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ ค่อยๆขยับไปเรื่อยๆ ซึ่งมันจะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็น loser อีกต่อไป

สิ่งสำคัญก็คือเราต้องพยายามตามหาแมวของเราให้เจอ ตามหาความสุข และเป้าหมาย ให้ได้ และพยายามเพื่อจะไปให้ถึงจุดนั้นในแบบของคุณ

นึกถึงวันแรกที่เราทำงานนั้นๆ

เวลาเราทำงานไปนานๆ เราอาจจะรู้สึกเบื่อ หรือเริ่มเฉยชา จนบางครั้งเราก็เลิกพัฒนาตัวเองไปโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน อ.เกตุเลยแนะนำให้เรารู้จักกับคำว่า Sho-shin 初心 โชะชิน หรือแปลได้ว่า หัวใจดวงแรก อ.เกตุ ชวนให้เราลองนึกย้อนไปถึงวันแรกที่เราทำงานประเภทนั้นๆ ว่าเราได้พยายามและทุ่มสุดตัว และอยากพัฒนาตัวเองขนาดไหน

การ motivate ตัวเองในวันที่ใจเราแข็งแรง มันไม่ยาก แต่ถ้าเราอยู่ในวันที่ใจสลัว สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำมากๆก็คือ พยายามถึบตัวเองให้ออกมาทำงานให้ได้ และตามหาสิ่งที่สามารถส่งพลังให้กับคุณ เช่นนักเรียนคนเดียวในชั้นที่มีแววตาเป็นประกาย รับฟังเรื่องที่คุณกำลังเล่า จากนั้นก็ลองใช้พลังจินตนาการ หรือพลังมโน เพื่อทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองไปต่อได้

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเป็นครูได้หมด

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นครูของเราได้ทั้งหมด ทั้งเรื่องดี และไม่ดี ในวันหนึ่งเรื่องราวเหล่านั้นจะมีประโยชน์กับเรา การที่เรามีหัวหน้าที่ไม่ดี หรือการที่เราเจอคนที่เราอยากเห็นหน้าพ่อแม่เขา นั้นก็จะทำให้เรารู้ว่า เราไม่ควรทำตัวยังไง เพื่อที่จะไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เราไม่ชอบ

คุณทอฟฟี่ก็เล่าย้อนไปถึงตอนที่ได้ทำงานที่ agency แห่งหนึ่ง ก็มีพี่ที่เคารพบอกว่า “ทำงานนี้แล้ว อย่าเปลี่ยนตัวเองไปนะ” ซึ่งพอเริ่มทำงานไปเรื่อยๆ คุณทอฟฟี่ก็เริ่มพบกับคนที่หลากหลายขึ้น บางคนอาจจะมีจุดเริ่มต้น เป็นเด็กใสๆ แต่ลักษณะงาน และวิธีการการทำงานบางอย่าง มันค่อยๆ shape ให้เขาดูไม่น่ารักขึ้นเรื่อยๆ

บางครั้งงานที่เรากำลังทำอยู่ อาจจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงตัวเราให้ไม่น่ารัก โดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเราจึงควรหมั่นตรวจสอบว่า สิ่งที่เราทำลงไป มันกำลังเปลี่ยนแปลงเรา ไปในทิศทางไหนรึเปล่า สิ่งที่เราทำกำลังพาเราไปสู่จุดที่เราไม่ชอบหรือไม่

ถ้าวันนึง เราตื่นมา และพบว่างานที่เราทำ กำลังพาเราไปพบกับตัวเองที่เราไม่ชอบ วันนั้นคงเป็นวันที่แย่มากๆ ดังนั้นถ้าเราพบว่ามันเริ่มออกนอกลู่ นอกทาง เราอาจจะต้องตบๆ ดึงตัวเองกลับเข้ามาในทางที่ถูกที่ควรให้ได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณทอฟฟี่ฝากไว้ก็คือ การดำรงอยู่ของเราควรอยู่ด้วยความรัก เวลาจากไป ก็ไปแบบให้เค้าคิดถึง และจดจำ ไม่ใช่ดีใจว่าในที่สุดพี่คนนี้ก็ไปพ้นๆซะที บริษัทจะได้เจริญ ถ้าวันที่เราจากไป สามารถทำให้คนรอบตัวรู้สึกได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน ตัวเขาได้พัฒนากลายเป็น Better Version นั้นแหละคือคุณค่า ของการมีอยู่ของเรา

สุดท้ายคนเราในแต่ละรุ่นเกิดมาเพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปเจ๋งกว่าเรา และทำให้เค้าดูแลคนรุ่นต่อๆไปหลังจากเรา ถ้าเราไม่พยายามแก้อะไรตั้งแต่วันนี้ วันนึงเค้าก็จะมาด่าเราตามหลัง ดังนั้นอยากให้งานออกมาเป็นแบบไหน จงเริ่มทำซะ

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ อ.เกตุ และคุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เอามาเล่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และใกล้ตัวมากๆ หลายๆอย่างเราสามารถลองปรับเอาไปใช้ได้อย่างไม่ยากนัก เพียงแค่พลิกมุมมอง

ถ้าใครมีคำแนะนำติชม หรือข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับบทความนี้ ก็สามารถคอมเมนต์ ไว้ได้เลยนะครับ :)

ปล. สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ session นี้ และ session อื่นๆเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Group CTC นักจด ที่จะมี Content จากเพื่อนๆมากมาย ที่ร่วมกันจด และแชร์หัวข้อต่างๆอีกด้วย

--

--

Petch Kruapanich
readmoreth

Full time Developer, Part time writer, Vinyl lover