I Am Overrated.

Piyorot
Inthentic Inc
Published in
1 min readMay 7, 2016

ย้อนไปสมัยเป็นพนักงาน … ผมเป็นคนไม่ค่อยเรื่องมากเรื่องเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเดือน

  • ได้ปรับเงินเดือนรายปีเท่านี้บาท … โอเคครับ
  • เปลี่ยนงานใหม่ได้เงินเดือนน้อยกว่าที่ระบุไว้ … ไม่เป็นไรครับ
  • สิ้นปีได้โบนัสมาเท่านี้เดือน … ขอบคุณครับ

ง่ายๆคือ “ไอ ด้อน แคร์ มัช” … ผมไม่ใส่ใจอะไรเรื่องนี้มากมายนัก ไม่จำเป็นต้องได้เงินเดือนมากกว่าใครในทีม ไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนจากบริษัทอื่น ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ผมต้องอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำไมนะหรอ?

เพราะผมไม่เคยคิดว่าจะทำงานได้คุ้มค่าตัว

ไม่ใช่ผมไม่มั่นใจในตัวเองหรือเพราะผมไม่มีความสามารถแต่เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานมันไม่เอื้ออำนวยให้ผมได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่เพื่อตอบแทนเงินทุกบาททุกสตางค์ได้อย่างเหมาะสม

เหตุการณ์สมมติ … หนึ่งเดือนทำงาน 22 วัน วันละ 8 ชม. ถ้าผมมีเงินเดือน 110,000 บาท รายได้ต่อวันคือ 5,000 บาท ต่อชั่วโมงคือ 625 บาท

ตัวอย่างแรก … เดือนนี้ทั้งเดือนผมต้องเข้าประชุมโดยเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง รวมหนึ่งเดือนผมใช้เวลาอยู่ในห้องประชุม 66 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน 41,250 บาท และเพราะผมไม่คิดว่าการประชุมคือการทำงานที่สร้างผลลัพธ์ใดๆ ดังนั้นนี่คือเงินที่เหมือนผมได้มาฟรีๆด้วยการไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องลงทุน … แถมยังกลายเป็นการเสียโอกาสของบริษัทที่จะได้ใช้ประโยชน์จากผมในเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าการเข้าประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพพวกนี้

ผมถูกยกยอเกินจริง ผมได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ควรจะเป็น ผมกำลังเอาเปรียบบริษัท … เวลาของผมไม่ได้มีค่าขนาดนั้น ไอเดียของผมก็ราคาถูกกว่านั้นมาก

นี่ยกตัวอย่างแค่คนหนึ่งคน … การประชุมโดยทั่วไปต้องมีอย่างน้อยห้าคน ง่ายๆก็ 41,250 คูณ 5 คิดเป็นเงิน 206,250 บาทต่อเดือน … คิดว่าเงินจำนวนนี้เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นอะไรได้บ้าง? คิดว่าเอาไปจ้างน้องๆคนทำงานจริงๆได้อีกกี่คน? — นั่นแหละประเด็น

ตัวอย่างที่สอง … ผมเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา มีสมาชิกในทีมอีก 10 คน ผมเป็นผู้นำของพวกเค้า ผมเป็นคนตัดสินใจทุกเรื่องและผมตัดสินใจผิดพลาดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ประมาทเลินเล่อ

เมื่อเดือนที่แล้วผมบอกให้พวกเค้าลงแรงอย่างหนักหน่วงในการพัฒนาโปรดักท์ไปในแนวทางนี้ แต่อืมมมม ผมเดือนนี้ผมเปลี่ยนใจแล้ว ไม่อยากได้แบบนี้แล้ว ผมอยากยกเลิกโครงการนี้แล้วกระจายคนไปทำงานอื่น

เวลาหนึ่งเดือนที่เสียไปจากคน 11 คนคิดเป็นเงิน หัวหน้าทีม 110,000 บาท เด็กๆเฉลี่ยคนละ 50,000 บาท รวมเป็น 610,000 บาท … บังเอิญว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ผมเปลี่ยนใจมาแล้วหลายครั้ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสี่ครั้งในรอบสองปีมานี้นะ ไม่มากไม่น้อยแค่ 2,440,000 บาทเท่านั้น

ผมทำพลาดอยู่ตลอดเวลา แผนธุรกิจผิด แผนการตลาดล้าสมัย ทำโปรเจกต์ดีเลย์ ออกแบบระบบไม่ได้เรื่อง ละเลยลูกค้าและผู้ใช้ เขียนโค๊ดไม่ดี เทสไม่ครบถ้วน ทำเซิร์ฟเวอร์ไม่เสถียร ลืมศึกษาข้อกฎหมาย ผลาญงบประมาณของแผนก ขัดแย้งกับพาร์ทเนอร์ คิดโครงการพัฒนาองค์กรที่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร มีอคติกับเด็กในทีม ไล่คนเก่งออก เลือกคนห่วยเข้ามาแทน … ผมล้วนๆและ

ผมถูกยกยอเกินจริง ผมได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ควรจะเป็น ผมกำลังเอาเปรียบบริษัท … การตัดสินใจของผมผิดมากกว่าถูก ผมไม่ได้สร้างผลสำเร็จโดยตรงอะไรออกมาเลย

แต่ผมคาดหวังเงิน 110,000 บาทเข้าบัญชีผมทุกเดือน … ยุติธรรมหรือไม่? ถ้าผมเป็นเจ้าของเงินผมจะรู้สึกกับคนคนนี้ยังไง? — นั่นแหละประเด็น

ผมไม่ได้ตั้งแง่ว่านี่เป็นความผิดของพนักงานอย่างเราๆ ไม่ใช่เลยเราไม่ได้ผิดอะไรทั้งสิ้น ความผิดมันอยู่ที่สองระบบ หนึ่ง … ระบบตลาดแรงงานซึ่งเป็นตัวกำหนดมาตรฐานเงินเดือนของเรา เฮ้ๆ คุณเป็นดีเวลลอปเปอร์ประสบการณ์ 10 ปี ขั้นต่ำต้อง 120,000 บาท … นี่ๆ ถ้าระดับไดเรกเตอร์แบบคุณนะอย่างน้อยๆต้อง 350,000 บาทการันตีโบนัสสี่เดือนเท่านั้น น้อยกว่านี้อย่าไปยอม ในเมื่อคนเราต้องกินต้องใช้ต้องเก็บ ถ้ามีโอกาสสร้างรายได้ได้มากก็ย่อมเป็นข้อได้เปรียบ ไม่มีอะไรผิด

สอง … ระบบการทำงานภายในบริษัทที่มันล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพ ผมโดนบังคับต้องเข้าห้องประชุม ผมโดนครอบงำด้วยการเมืองน้ำเน่า ผมไม่มีเครื่องมือและตัวช่วยในการปรับปรุงการตัดสินใจของผมให้ดีขึ้น ผมได้แค่ทำตามสิ่งที่เคยเป็นด้วยสิ่งที่เคยมี และมันก็ช่วยไม่ได้ถ้าผมจะผิดพลาด ล่าช้า และไร้ผลสำเร็จ

ประเด็นที่ผมอยากจะสื่อก็คือเมื่อว่ากันด้วยคุณค่าที่ผมจะทำให้กับบริษัทสักแห่งหนึ่งได้จริงๆ 110,000 บาทต่อเดือนนั้นผมคู่ควรกับมันมั้ย? และหลายครั้งคำตอบของผมออกมาว่า “ไม่”

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Inthentic Inc

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com