Kashmir 10
khuda hāfiz Kashmir
3 มกราคม 2559
ความเดิมตอนที่แล้ว…
สัมผัสศรีนาการ์วันก่อนสุดท้ายด้วยการชมวัด ชม(อดีต)วัง และชมชาวบ้าน กระเป๋าแฟบไปอีกกับการช้อปปิ้งด้วยระบบไดเร็คเซล.. อ่านตอนที่แล้ว
ฉันตื่นเช้ามานั่งเล่น หน้าบ้านเรือ ดูคน ดูเป็ด ดูน้ำ ดูฟ้า พยายามซึมซับบรรยากาศให้มากที่สุด
khuda hāfiz Kashmir แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Good Bye Kashmir
แม้ว่าเวลาจะเหลือน้อย แต่ไม่มีใครในแคชเมียร์ทำให้เราใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์เลยสักนิด เช้านี้ Niyaz เจ้าของบริษัทหัตถกรรมงานไม้ หอบข้าวของเขามาเสนอเราถึงบ้านเรือ งานไม้ของแคชเมียร์ส่วนใหญ่เป็นงานแกะสลัก คุณภาพไม้ดีมาก รูปและเรื่องราวน่าสนใจ แต่ฝีมือการแกะสลักยังไม่ค่อยปราณีตนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือลูกเล่นเล็กๆน้อยๆของผลิตภัณฑ์ เด็กๆซื้อพวกพวงกุญแจที่ระลึก ส่วนฉันได้เรือ Shikara มาหนึ่งลำ (ภายหลัง กำนันฯได้หอบผลิตภัณฑ์ไม้ของ Niyaz มาอีกพอควร งานถาดไม้น่าสนใจมาก) Niyaz เป็นเซลที่พูดเก่งมาก มีมุกตลกตลอดเวลา (คนแคชเมียร์ขายของเก่งจริงๆ ยอมรับเลย)
ลืมเล่าไปอีกเรื่อง เมื่อคืนมีอีกเจ้าหนึ่งมาหลังจากที่เราซื้อเครื่องประดับไปแทบหมดตัวแล้ว ตอนแรกทุกคนไม่สนใจเลย คนขายหยิบประเป๋าผ้าปัก ย่าม ฯลฯ อะไรมาพวกเราก็บอกไม่เอาๆ (หน้าตาคล้ายๆของชาวเขา หรือของพม่าที่ฉันเห็นบ่อยๆ) สักพักเขาก็ล้วงลงไปในถุง หยิบรองเท้าหนังกลับหุ้มส้นแบบใส่ในบ้าน มีขนแกะรอบๆข้อเท้าออกมา เท่านั้นแหละ ทุกคนเริ่มขอดู ขอลอง เสร็จสิคะ สี่คนห้าคู่ สบายใจ…
ช้อปปิ้งเสร็จก็ได้เวลาอาหารเช้า สิ่งหนึ่งที่ฉันจะคิดถึงมากของแคชเมียร์ก็คือขนมปังเขานี่แหละ จะไปหากินที่ไหนได้อีกหนอ..
เก็บของๆ.. เราออกจากบ้านเรือตอนสิบเอ็ดโมงตรง ร่ำลาทุกๆคนรวมถึงราซูลที่รัก แล้วอะชาร์ดกับกำนันฯก็เอารถมาส่งเราที่สนามบิน เราสี่คนจะกลับก่อนส่วนกำนันฯจะยังคงผจญภัยสุดขอบฟ้าไปอีกแปดวัน ขากลับที่สนามบินศรีนาการ์วุ่นวายสุดๆ
เมื่อรถแล่นเข้าเขตสนามบิน เราต้องเอาของลงจากรถมาผ่านเครื่องสแกน คนก็ต้องผ่านการตรวจ แล้วมารับกระเป๋า เพื่อไปขึ้นรถใหม่ เพราะมันยังไม่ถึงตัวอาคาร (ดูงงๆเล็กน้อย) จากนั้นก็นั่งรถไปอีกสักกิโลนึงได้ จึงจะถึงตัวอาคาร เราเอาของลง ร่ำลาอะชาร์ดกับกำนันฯที่หน้าอาคารเพราะเข้าได้เฉพาะผู้โดยสาร (ฉันทิปอะชาร์ดไปมากพอสมควร สงสารไม่ได้หยุดปีใหม่เลย) เราต้องเอาสัมภาระและตัวเองผ่านการสแกนตรงด้านหน้านี้อีกครั้งหนึ่งจึงเข้าไป
ผ่านเข้ามาด้านในอาคาร ซึ่งตอนเข้าต้องโชว์ตั๋วกับพาสปอร์ตด้วย เราต้องไปที่เคาน์เตอร์คล้ายๆตอนขาเข้า แต่ฉันแปลกใจตรงที่มันไม่มีป้ายบอกว่าเคาน์เตอร์อะไรทั้งนั้น เราต้องไปกรอกแบบฟอร์ม แบบเดียวกับที่กรอกตอนเข้าเมืองซึ่งต้องระบุที่ที่เราพักด้วย พอเขารับไปดู เจ้าหน้าที่ก็ร้องว่า “โอ้ ราซูล..” ฉันบอกเยส พี่บังเธอกดโทรศัพท์ ส่งภาษารัวๆแล้วยื่นให้ฉันปากยิ้มกว้าง เสียงราซูลทักทายมาในสาย เป็นไงมั่ง ทุกอย่างโอเคมั้ย ฯลฯ… ฉันบอกเรียบร้อยดี ขอบคุณมาก ร่ำลากันทางโทรศัพท์อีกครั้งแล้วก็วางสายไป พี่บังคนเดิมหันไปส่งภาษากับพนักงานที่ช่วยเรายกกระเป๋าเข้ามา คงประมาณว่าให้ดูแลเราให้ดี ฉันเดาเอาจากการที่พ่อคนนั้น รีบเข็นรถเข็นและบอกเราให้ตามมาๆ จัดแจงแซงคิวไปหน้าเคาน์เตอร์ทันที (อภิสิทธิ์ชน มีอยู่เสมอในชาติเอเชีย) เราไม่ต้องทำไม่ต้องพูดอะไรเลยแค่เอาพาสปอร์ตกับตั๋วทั้งหมดให้พ่อหนุ่มนั่นไป แถมจัดการน้ำหนักที่เกินให้เราเบ็ดเสร็จ (เกินมาประมาณเจ็ดกิโลกรัม) พอได้บอร์ดดิ้งพาสมาแล้ว เราขอบคุณเขาเป็นทิปไปจำนวนหนึ่ง อ้อ..อย่าลืมเอา tag กระเป๋ามาด้วย ต้องห้อยไว้ทุกใบที่ถือขึ้นเครื่องเหมือนขามา จากนั้นก็ไปผ่านการสแกน และห้องลูบคลำอีกครั้ง (เหนื่อยตอนนี้นี่แหละ ตรวจกันเยอะเกิ้น) ไม่มีตม.เพราะเป็นภายในประเทศ
เราไปรอที่ Gate Lounge คนเยอะมากพอสมควร ตอนเจ้าหน้าที่ตรวจบอร์ดดิ้งพาสหน้า Gate เขาจะให้คนที่มี tag กระเป๋าโหลดออกไปชี้กระเป๋าของตัวเองที่ลานด้านนอก พอเราชี้ เจ้าหน้าที่ก็จะเอาปากกาเมจิกมากากบาทที่ป้ายกระเป๋าเรา เป็นการยืนยันว่ามีเจ้าของ ฉันเข้าใจว่าเขาต้องทำอย่างนี้เนื่องจากกระเป๋าที่จะโหลดใต้ท้องเครื่อง พนักงานจะขนมากองไว้ที่ลาน ซึ่งใครก็สามารถเข้าออกได้ (บางอย่างก็ดูเข้มงวด บางอย่างก็ดูหละหลวมไปนะ) พอได้เวลาเรียกขึ้นเครื่องเราก็ไปต่อแถว ฉันหันไปเห็นบอร์ดดิ้งพาสของแขกข้างหลัง กับข้างหน้าฉัน ปรากฎว่ามันคนละไฟล์ท เอาล่ะซิ แต่ฉันได้ยินเขาเรียกไฟล์ทเรานะ ฉันถามพี่บังที่ถือบอร์ดดิ้งพาสไฟล์ทไปมุมไบ ว่านี่ไปมุมไบหรือ เขาตอบว่าใช่ (แต่เราไปเดลลี) ฉันเดินไปถามเจ้าหน้าที่ สรุปว่าเราถูกคือเรียกขึ้นเครื่องไปเดลลี พอแถวขยับ ข้างหน้าก็คงมีคนไปมุมไบมาเข้าคิวผิดจนเจ้าหน้าที่ต้องตะโกนบอกหลายครั้ง ที่ตลกคือมีลุงคนหนึ่งอยู่คิวหน้าเรา ถือบัตรไปมุมไบแต่ไม่ยอมออกจากแถว พอถึงคิวแก แกก็ทำหน้าตายเดินตรงไปเหมือนจะออกประตูแล้วเลี้ยวกลับไปนั่ง 555 เจ้าหน้าที่สายการบินถึงกับสั่นหัวแล้วหันมาพูดกับฉันว่า เนี่ย คนบางคนก็ช่างไม่พยายามจะเข้าใจอะไรเลย
วันนี้เราบินกับ Indigo ฉันชอบนะสีน้ำเงินสวยดี ชุดฟอร์มพนักงานก็ดูดี
เราได้ที่นั่งด้านขวาของเครื่อง ตอนบินออกจากศรีนาการ์มา ภาพเทือกเขาที่มีหิมะปกคลุมโผล่มาบ๊ายบายเรา แล้วค่อยๆจากไป มันเป็นภาพประทับที่ยากจะลืมจริงๆ
เราใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็มาถึงสนามบินเดลลี รับกระเป๋าแล้วเราก็เข็นรถเข็นออกมาด้านนอก เดินไปขึ้น Shuttle Bus เพื่อนั่งไปยังสนามบินระหว่างประเทศ วันนี้เราเห็นเคาน์เตอร์แลกคูปองขึ้นรถฟรี โดยเอาบอร์ดดิ้งพาสของเครื่องในประเทศกับตั๋วของที่เราจะขึ้นต่อไปโชว์ เขาก็จะออกคูปองมาให้คนละใบ ประหยัดไปคนละ 25 รูปี
เรามาถึงสนามบินอินทิราคานธี Terminal 3 ตอนประมาณบ่ายสองโมงกว่าๆ ไฟล์ทไปกรุงเทพเราออกสามทุ่ม ตอนจะเข้าสนามบิน เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพาสปอร์ตกับตั๋วถามว่า ไฟล์ทเราตั้งสามทุ่มนะ จะเข้าไปเลยหรือ เข้าแล้วออกไม่ได้นะ เราบอกโอเค (ก็กะว่าไปนั่งเล่นนอนเล่นในสนามบินดีกว่า) เรากะว่าเดี๋ยวเช็คอินแล้วก็จะเข้าไปหาอะไรกิน เพราะยังไม่ได้กินกลางวันกันเลย แต่ปรากฎมีเหตุทำให้เราเสียเวลาไปมากกว่าจะเช็คอินแล้วเสร็จ กล่าวคือ..
เนื่องจากไฟล์ทของเราขากลับนี้เป็นแอร์อินเดีย แต่ไม่ได้บินตรงต้องไปต่อเครื่องที่มุมไบตอนห้าทุ่ม และออกจากมุมไบตอนประมาณตีหนึ่งครึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะเช็คอินที่เคาน์เตอร์ระหว่างประเทศ เพื่อเช็คตลอดไปจนถึงกรุงเทพ กระเป๋าก็จะไปกรุงเทพ ส่วนสายการบินก็จะออกบอร์ดดิ้งพาสมาให้คนละสองใบ นี่คือโดยทั่วไป แต่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินของแอร์อินเดียนี่ สงสัยไม่เคยทำ หรือไม่รู้เรื่อง พอเราไปถึง นางก็ไล่ให้เราไปเคาน์เตอร์ในประเทศ เพราะเราต้องบินจากเดลลีไปมุมไบก่อน อธิบายยังไงนางก็ไม่ฟัง เราก็เข็นกระเป๋าออกไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์ภายในประเทศใหม่ ซึ่งคิวยาวมากกกกก เจ้าหน้าที่ (อีกคน) ที่คอยกำกับแถวมาดูตั๋วเราแล้วก็บอกว่า เราไปกรุงเทพ ต้องไปตรงเคาน์เตอร์โน้น ระหว่างประเทศ ชะช้า! ฉันก็ของขึ้นเลยสิคะตอนนี้ ฉันเดินมุ่งหน้าไปหาเจ้าหน้าที่ที่ใส่สูทผูกไทดูท่าทางเป็นระดับซุป พร้อมกับทำการร้องเรียน (แถวบ้านเรียกโวยวาย) ว่าอะไรเนี่ย เดินไปเดินมาหลายรอบแล้วนะ ฉันจะเช็คอินไปกรุงเทพและกระเป๋าฉันต้องไปกรุงเทพด้วย พนักงานเธอเป็นอะไรเนี่ย ไม่ยอมทำให้ฉัน %$#$%%^… ซุปฯเริ่มหน้าตาเคร่งเครียด รีบเรียกพนักงานมาคนหนึ่งแล้วสั่งการอย่างรัว พ่อบังนั่นก็เดินนำฉันกลับไปยังเคาน์เตอร์ภายในประเทศ (บังคับ) ให้นางออกบอร์ดดิ้งพาสมา นางก็ออกมาให้คนละใบสำหรับไปมุมไบ ออกแต่บอร์ดดิ้งพาส กระเป๋ายังไม่ได้โหลด ฉันก็ไม่ยอม จนกระทั่งต้องมีซุปฯมากำกับวิธีการให้หล่อน ทีละขั้นตอนว่าทำแบบนี้ๆ จนในที่สุดเราก็ได้บอร์ดดิ้งพาสมาคนละสองใบและกระเป๋าที่โหลดปลายทางกรุงเทพอย่างเรียบร้อย ใช้เวลาไปทั้งสิ้นสามชั่วโมงกว่า แค่เช็คอิน บ้าไปแล้ว
หกโมงเราก็มาต่อแถวเพื่อผ่านการตรวจสแกน ค้นตัว และลูบคลำ อีกด่านหนึ่ง คนเยอะมากแต่พวกเราเริ่มชินละ คิวผู้หญิงจะยาวมากและนาน เพราะตู้ลูบคลำมีน้อย และใช้เวลานานกว่าผู้ชาย อย่าลืมเอา tag กระเป๋าให้เจ้าหน้าที่แสตมป์ขึ้นเครื่องด้วยนะคะ ผ่านด่านตรงนี้ก็ไปต่อคิวตม.ได้เลยค่ะ ขาออกนี่ชาวต่างชาติไม่ต้องกรอกเอกสารใดๆทั้งสิ้น แค่ยื่นพาสปอร์ตกับบอร์ดดิ้งพาสให้เจ้าหน้าแสตมป์เท่านั้น
เย้..เสร็จแล้ว จะได้กินข้าวกันซะที เราเดินขึ้นไปตรงศูนย์อาหารชั้นบน อยู่แคชเมียร์มาเก้าวันกินไก่ทุกวัน วันนี้มาถึงสนามบินจะกินอะไรล่ะคะ ก็ไก่น่ะซิ แต่คราวนี้เป็นไก่เคเอฟซี อิ่มแล้วก็ไปช้อปปิ้งเพื่อใช้เงินรูปีให้หมดที่ดิวตี้ฟรี
เรานั่งเครื่องจากเดลลีไปมุมไบประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่คืนนี้เครื่องดีเลย์ครึ่งชม. ซึ่งทำให้เราไปถึงมุมไบช้า พอลงเครื่องที่มุมไบได้ เราก็วิ่งไปอีกเทอร์มินอลหนึ่ง ซึ่งยังดีว่าเดินภายในถึงกันได้ แต่คนเยอะมากกกกกกกกก ทำให้เราต้องรอคิวเพื่อผ่านการตรวจตม.อีกครั้ง (ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีทางทรานสิท งงมาก) ตอนนั้นใกล้ถึงเวลาบอร์ดดิ้งแล้ว แต่คิวเรายังไม่ไปถึงไหนเลย ทุกคนตื่นเต้นมากกลัวตกเครื่อง ฉันคอยแต่แอบดูบอร์ดดิ้งพาสของคนอื่นๆว่ามีใครไปไฟล์ทเดียวกับเรามั้ย ก็เห็นหลายคนอยู่ ค่อยใจชื้นหน่อย
ผ่านด่านทุกด่าน (อย่างกับเล่นเกมส์) เราก็รีบวิ่งไปขึ้นเครื่องเลยเพราะเรียกครั้งสุดท้ายแล้ว เกทเราก็ไกลเหลือเกิน เบอร์ 78 โน่นแน่ะ วิ่งสิคะ รออะไร
จากมุมไบมากรุงเทพใช้เวลาประมาณสามชั่วโมง
จากอุณหภูมิเลขตัวเดียวมาสู่อุณหภูมิสามสิบองศา เฮ้อ… ถึงกรุงเทพโดยสวัสดิภาพในวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2559 เป็นอันจบทริปฉลองปีใหม่ที่มีความสุขกันถ้วนหน้า
I miss you Kashmir
ปัจฉิมลิขิต
- การไปแคชเมียร์ตาม Route นี้ เป็นเส้นทางแนะนำ เราบิน กรุงเทพ-เดลลี-ศรีนาการ์ เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด และเวลาเหมาะสม เนื่องจากกรุงเทพมาเดลลีมีสายการบินให้เลือกหลายสาย ทั้งชนิด Full Service หรือ Low Cost ระยะเวลาเดินทางประมาณสี่ชั่วโมง ซึ่งพอกับการหลับสักหนึ่งงีบ จากเดลลีไปศรีนาการ์ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
- อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายเส้นทางที่เป็นทางเลือกเช่น สายการบิน SpiceJet ซึ่งเป็นสายการบิน Low Cost จะบินจากกรุงเทพไปลง Kolkatta แล้วจึงต่อเครื่องไปศรีนาการ์อีกครั้งหนึ่ง แต่ระยะเวลาการบินในแต่ละช่วง และช่วงเวลาจะไม่ค่อยสะดวกนัก
- การเดินทางภายในประเทศอินเดียเข้าศรีนาการ์ ควรตรวจสอบเงื่อนไขก่อนเสมอ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศอาจมีข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น ห้ามมีสัมภาระถือขึ้นเครื่องเด็ดขาด ฯลฯ เป็นต้น
- ควรแลกเงินไทยเป็นเงินรูปีไปเลย จากประเทศไทย จะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า หรือถือเงินสกุลดอลล่าร์ก็สามารถใช้ได้ในร้านค้าใหญ่ๆ
- ควรแลกเศษเงิน หรือธนบัตรย่อยไว้ด้วย เนื่องจากหลายครั้งถ้าต้องทอนเป็นจำนวนย่อย แขกมักไม่ทอน หรือทอนไม่ครบปัดเศษลง เป็นต้น
- แขกชอบทิป ถ้าไม่ให้เขาจะขอ
- เตรียมของกิน ขนมเล็กๆราคาถูกไปเยอะๆ เอาไว้แจกเด็กๆแทนการให้เงิน
- พกทิชชู่ติดตัวไปด้วย
- เมื่อจะซื้อของให้ต่อเยอะๆ หรือเช็คราคามาก่อน ราคาบอกผ่านค่อนข้างมาก
- แคชเมียร์เป็นเมืองมุสลิม อย่าเอาของกินที่มีส่วนผสมของหมูเข้ามาเด็ดขาด
- น้ำปลา ซีอิ๊ว ไม่มีหรือหายาก เครื่องปรุงมีเพียงเกลือและพริกไทยเท่านั้น
- น้ำนมสำหรับดื่ม ส่วนใหญ่เป็นนมแพะ (แต่คนกินบอกว่าอร่อย)
- ไปศรีนาการ์ ต้องการพักบ้านเรือ ควรพักที่บ้านราซูล New Sherin Houseboat และบอกว่าฉันแนะนำมา จะได้รับการบริการที่ประทับใจ (อิอิ)
…
เป็นอันจบสารคดีเชิงท่องเที่ยวที่มีสาระมากกกกก อ่านจบแล้ว แพ็คกระเป๋าไปเลย!
ย้อนตอนเก่า
Kashmir 1: Planning
Kashmir 2: Unexpected Delhi
Kashmir 3: Assalām ‘alaikum Kashmir
Kashmir 4: “Gulmarg” Life is fun, Enjoy every minute
Kashmir 5: Being Kashmiri
Kashmir 6: Pahalgam “Valley of paradise”
Kashmir 7: Slow Life on New Year’s Eve
Kashmir 8: New year in Yusmarg
Kashmir 9: “Srinagar” City of Prosperity
Kashmir 10: khuda hāfiz Kashmir