Kashmir 7

Slow Life on New Year’s Eve

Pirawadee
ourtrip.cc
10 min readDec 26, 2016

--

31 ธันวาคม 2558

ความเดิมตอนที่แล้ว
ไปชมความงดงามแบบบ้านๆในหุบสวรรค์ พาฮัลแกม ฟินกับความหนาวยะเยือกและพร้อมใจกันไม่อาบน้ำ ซุกตัวใต้ผ้าห่มไฟฟ้า มีเตาถ่านแทนฮีทเตอร์ อะไรจะขนาดนั้น… อ่านตอนเดิม

วันสิ้นปีแล้วสินะ ยะฮู้.. พรุ่งนี้ปีใหม่แว้ว…

ตื่นมาด้วยความหนาว แปรงฟัน ล้างหน้าด้วยน้ำเย็นเฉียบเพื่อกระชับผิว เดินไปเปิดม่านเพื่อแอบดูพาฮัลแกมยามเช้าเสียหน่อย

สิ่งที่เห็น.. ตรงกลางที่พอเห็นรำไรๆนั่นคือหาอะไรแข็งๆมาขูดน้ำแข็งออกจากกระจกไปบ้าง

ฉันรู้ว่าเช้าๆมันต้องสวย (มโนเอา)​ ดังนั้นเจ็ดโมงครึ่งเราจึงออกไปเก็บภาพบรรยากาศกัน

”อรุณสวัสดิ์จ้ะ ยอดเขา”

มันดีมากเวลารอบๆข้างยังสลัวๆดูสะลึมสะลือ แล้วเงยหน้าขึ้นเห็นแสงทองสาดยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ

ผู้คนยังคงหลับใหล มีเพียงอีกาฝูงหนึ่ง หมาตัวหนึ่ง และนักท่องเที่ยวสองคนที่ด้อมๆมองๆ แช๊ะๆ (ตอนเราจะออกจากโรงแรม พนักงานยังไม่ตื่นเลย นอนคลุมโปงอยู่ที่พื้นห้องอาหารนั่นเอง)

ผ้าห่มรถอีแต๋นมีเหมยขาบกองโตอยู่บนนั้น กำนันฯบอกว่าถ้าไม่ห่มผ้าให้มัน เครื่องยนต์ของรถที่อยู่บริเวณนั้นมันอาจหนาวตาย

เราเดินไปตามถนนด้านหลังอาคารพาณิชย์เส้นหลักที่เดินเมื่อวาน มีร้านค้าอยู่อีกแถวหนึ่ง ป้ายร้านค้าเป็นแบบนี้แทบทุกที่ ทุกเมืองที่ผ่าน ชัดเจน เข้าใจ ส่วนจะเก่าหรือไม่สวย ดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจกัน (มันอาจเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ค่าครองชีพ หรือราคาอะไรๆที่นี่ต่ำ)

เจอแคชมีรี่หนึ่งคนแล้ว ท่าทางจะไปส่งนม
อีกหนึ่งหนุ่มที่ตื่นเช้า นวดตรงนี้ ปั้นตรงนี้ อบตรงนี้ และขายขนมปังกันตรงนี้
ผนังแป้นเกล็ดแบบแคชมีรี่ มีหุ้มท่อด้วยนะ
Basic Design 101: Pattern
สังเกตว่า จานดาวเทียมที่นี่ไม่ใช่ดาวเทียมโทรทัศน์ แต่เป็นดาวเทียมสื่อสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นของ Airtel

เก้าโมงเช้าเราเดินกลับมาที่โรงแรม เพื่อเก็บข้าวของเช็คเอ้าท์ รีบๆออกจะได้ไม่เสียอารมณ์กับอีตาผู้จัดการ (หน้าตาก็ดี๊ดี มารยาทสุดแย่) อะชาร์ดมารับตอนสิบโมงตามนัด ถามว่าเมื่อคืนนอนที่ไหนยังไง เธอบอกนอนในรถ ฮู้วว์…

เราออกเดินทางย้อนกลับทางเดิม ที่สามแยกก่อนข้ามแม่น้ำ Lidder เราขออะชาร์ดหยุดรถเพื่อถ่ายรูปพาฮัลแกม สุดสวยก่อนกลับ ซึ่งตอนนั้นมีทหารกลุ่มใหญ่มาจอดรถส่งกำลังพลกันพอดี เข้าใจว่าน่าจะเปลี่ยนกะ ในตอนแรกก็หวั่นๆว่าจะมีไรมั้ยน้อ ปรากฎว่า เต๊ะท่าให้ถ่ายรูปเป็นอย่างดี อย่างที่บอกคนอินเดียชอบถ่ายรูปมาก ไปที่สวนแห่งหนึ่ง ทหารที่ประจำการอยู่บนสวนยังควักมือถือออกมาเซลฟี่กันอย่างเมามัน นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางการอินเดียออกมาสั่งห้ามเซลฟี่เป็นประเทศแรก เพราะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตเพราะเซลฟี่มากที่สุดในโลก [อ่านข่าว]

ลาที พาฮัลแกม
เราจะเลี้ยวขวากลับทางเดิม ผ่านเข้า Bijbehara ไปเมือง Awantipura

เราเดินทางต่อ ถ่ายรูปสิ่งที่พบเจอระหว่างทาง บ้านเรือน ผู้คน

แต่สิ่งที่ทำให้เราต้องหยุดรถ คือเมื่อเราเจอเจ้าพ่อ งานนี้เราก็ต้องลงไปถ่ายรูปน้องแกะกัน

ไม่รู้ทำไมต้องเอาเขม่าดำๆมาป้ายก้นไว้

การมองดูผู้คนเป็นเรื่องสนุก ดูบริบทแวดล้อม ดูพฤติกรรม ท่วงท่า บางทีก็อยากรู้ว่าเขาคุยอะไรกัน หรือคิดอะไรอยู่ (สอดรู้สอดเห็นมากไปมั้ยเนี่ย)

อุ่ย…
ร้านขายเนื้อ ส่วนใหญ่มักยกแท่นสูงแบบนี้ คนขายนั่งกับพื้น ขายแพะเป็นส่วนใหญ่
วัยรุ่นแคชมีรี่

เราเดินทางมาถึงเมือง Awantipura ที่นี่เราจะหยุดเพื่อเข้าชมโบราณสถานชื่อ Awantipura Ruins (บางครั้งเรียก Awantipora)

Awantipura Ruins เป็นวัดฮินดู ชื่อ Avantiswami Temple สร้างโดยกษัตริย์อวันติ วรมัน (Awanti Varman) ผู้ครองแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ในศตวรรษที่ 9 เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนที่นับถือพระวิษณุและพระศิวะ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ Archaeological Survey of India [อ่านรายละเอียดเรื่องเมืองนี้ต่อ]

โบราณสถานนี้อยู่ต่ำลงไปกว่าระดับถนนมาก พื้นที่ในขอบเขตไม่ใหญ่มากนัก บริบทโดยรอบเป็นบ้านเรือน ต้นไม้ (ทำให้ฉากหลังสวยงามเวลาถ่ายรูป) ด้านหน้าทางเข้ามีมัสยิดใหญ่โต สวยงาม นักท่องเที่ยวมีไม่มากนัก แต่เมื่อดูเปรียบเทียบกับรูปในเว็บของกรมศิลป์อินเดีย มันผุผังไปเยอะเลย

ตามประสาคนสนใจศิลปะ เราดูละเอียดในรูปสลักแทบทุกจุด รูปสลักบนหินดูเก่ามาก บางจุดเสียหาย เลือนจนแทบดูไม่ออกในขณะที่บางจุดก็ยังสมบูรณ์อยู่มาก รูปสลักปะปนผสมผสานกันทั้งเทพ คน สัตว์ เสากลมในบางจุดสลักลวดลายเป็นชั้นๆ ด้วยรูปสัตว์ เช่น เป็ด สิงห์ ฉันยังไม่ได้ศึกษาเรื่องราวของ Avantiswami Temple อย่างละเอียดเลยไม่รู้ว่า เป็นศิลปะสมัยไหน ที่อิทธิพลมาจากที่ใด

เราใช้เวลาเดินดูกันนานเท่ากับนักท่องเที่ยวอินเดียสองกลุ่มที่เข้ามาและออกไปเลยทีเดียว

มัสยิดหน้า Awantipura Ruins

เราออกจาก Awantipura Ruins มาเลยเที่ยงแล้ว ทุกคนหิวมาก เพราะไม่ได้กินอาหารเช้ากันวันนี้ แต่โชคร้ายที่ร้านอาหารต่างๆแถวๆ Awantipura ปิดหมด ได้แต่ขนมปังและคุ้กกี้พื้นถิ่นมาลองกินกับน้ำอัดลมแทน ก็อร่อยดีเหมือนกัน

ซื้อที่ร้านนี้

เราเดินกลับไปที่รถ ซึ่งอะชาร์ดรอคนเอาโทรศัพท์มาคืน ระหว่างทางเห็นร้านขายฟืน ซึ่งลูกค้าจะหิ้ว Kangri (กระเช้าใส่ถ่านที่ซุกไว้ใต้ชุดฟาราน) เข้ามาเติม

เราออกเดินทางต่อเข้าเมืองศรีนาการ์ ผ่านไปถึงอีกเมืองหนึ่งเล็กๆ อะชาร์ดจอดรถแล้วบอกเราว่า ไปกินข้าวที่นี่ อร่อย เป็นภัตตาคารอยู่ชั้นสองขายอาหารอินเดีย ท่าทางจะอร่อยจริงเพราะเห็นคนท้องถิ่นมากินกันหลายโต๊ะ เราสั่งไก่ย่าง ซี่โครงแพะย่าง และชาปาตีมากิน อร่อยจริง หลังอาหารมีของหวานเป็นมิ้นท์และไม้จิ้มฟันเหมือนเดิม

แพะย่าง
ชาปาตี
ของหวาน

หลังอาหารพี่แมกซ์หายไปนานมาก ปรากฎว่าไปถ่ายรูปเด็กๆแถวนั้น พี่แมกซ์ว่าพอถ่ายกรุ๊ปนึง เด็กๆก็ไปตามกันออกมาถ่าย งานนี้ได้รูปเด็กๆมาตรึม

เรานั่งรถต่อเข้าเมือง

มาถึงบ้านเรือตอนบ่ายสี่โมงยังมีแสง ฉันบอกอาเมียร์ ลูกชายราซูลว่า อยากไปนั่งเรือเล่นเพราะแสงยังดี ถ่ายรูปได้ (เขาจะเรียก Shikara Boat Trip เป็น Signature อีกอย่างหนึ่งของศรีนาการ์) โอเคร้.. จัดให้ เราแยกกันเป็นสองลำเพื่อสะดวกในการถ่ายรูป เรือจะพายไปในทะเลสาบ ซอกซอนเข้าไปในคลองแยกเล็กๆไปตามหมู่บ้าน ก่อนจะกลับมาที่บ้านเรือ กิจกรรมนี้ฉันชอบมากๆ อยากไปทุกวันเลย เพราะคลองสายเล็กสายน้อยเยอะมาก วันนี้เราไปเพียง Loop เดียวเท่านั้น Slow Life จริงๆ

เด็กๆนั่งลำหน้า

ทัศนียภาพสองข้างทาง เชิญชวนถ่ายรูปมาก ทั้งสีสัน บรรยากาศ ซ้ายขวา มันเป็นสเน่ห์ของธรรมชาติและความเป็นอยู่พื้นบ้านที่ไม่ต้องปรุงแต่ง

7–11 ของชุมชนชาวเรือ
สังกะสีผุๆก็สวยได้
ช่วงนี้ เป็นช่วงน้ำน้อย เขาบอกว่าน้ำจะเยอะที่สุดในเดือนเมษายน

กลางทะเลสาบ จะมีเรือนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ สวนกันไปมา ดีที่สุดคือไม่มีเรือหางยาว หรือเจ็ตสกี มาบื๊นๆดังใส่ เรือยนต์ที่เห็นมีแค่ลำเดียวเป็นเรือตรวจการของตำรวจน้ำ ซึ่งก็แล่นช้าๆและไม่เสียงดัง เรือนักท่องเที่ยว เรือขายของ เรือสัญจรของชาวบ้านล้วนเป็นเรือพายทั้งสิ้น

คาเฟ่กลางน้ำ

ในช่วงที่เราอยู่ท่ามกลางเรือนักท่องเที่ยว คือช่วงกลางทะเลสาบ ยังไม่ได้เข้าคลองย่อย จะมีเรือเร่ขายของมาทาบตลอดเวลา ตั้งแต่ ถ่ายรูปกับชุดแคชมีรี่ ขายเพชรพลอย (จริงๆ เขาขายกันแบบนี้แหละ มาเป็นกระเป๋าเจมส์บอนด์ สี่ห้าใบ) ของที่ระลึก ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม บุหรี่ ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พวกเหล้า เบียร์ (อันนี้บางคนก็แอบๆขาย เพราะความที่เป็นเมืองมุสลิมไงคะ) กำนันฯกับพี่แมกซ์ซื้อเบียร์อินเดียมาลอง ฉันชิมไปอึกนึง ก็ธรรมดาจืดๆ ไม่โดดเด่น แต่กระป๋องสีแดงสดเทียว

เพดานเรือ Shikara

เราเลี้ยวจากกลางทะเลสาบเข้าไปในคลอง ไม่กว้างนัก พอที่เรือจะสวนกันไปมาได้สะดวก สองข้างทางเป็นบ้านชาวบ้าน บางแห่งมีหน้าร้าน ทั้งขายของที่ระลึก ขายพรม ฯลฯ ใครอยากแวะก็เชิญ บางแห่งมีสาธิตให้ดูด้วย

ส่วนบางหลังถ้าไม่ได้ขายของก็เป็นที่อยู่อาศัยธรรมดา บางหลังทำสวน ปลูกผักไปตามประสา

เริ่มเย็น แสงเริ่มหมด แต่เรายังคงโลดแล่นอยู่ในลำน้ำ แทรกผ่านบ้านเรือนของชาวเรือ และดงไม้ บางช่วงที่ต้นไม้หนาแน่น แสงลอดมาได้น้อยก็ดูหลอนอยู่บ้าง

เราแวะที่เรือนหลังหนึ่ง เป็นที่ทำ Paper Marche มีส่วนสาธิตอยู่ด้านบนและร้านค้าอยู่ด้านล่าง ของทุกอย่างทำจากกระดาาทั้งหมด เรานั่งฟังเจ้าของอธิบายวิธีทำอย่างละเอียด แจกันขนาดสูง 60 ซม. ข้างๆเขานั้นจะใช้เวลาทำทั้งสิ้น 3 เดือน เราคุยอยู่เป็นนานทีเดียว แต่ของสวยมาก

”เงาไม้”

มืดขึ้นเรื่อยๆ…

กลับมาถึงบ้านเรือตอนหกโมงกว่าๆ ฟ้าด้านหนึ่งมืดแล้วในขณะที่ฟ้าอีกด้านหนึ่งมีแสงสีส้มรำไรจากพระอาทิตย์ที่เพิ่งตกไป วันนี้เราฉลองส่งท้ายปีเก่ากันด้วยแกงกะหรี่ไก่ มัสมั่นแพะ ผัดผัก และข้าวสวยตามเดิม เพิ่มเติมคือแอปเปิ้ล ลูกเล็ก หวานกรอบ

นั่งเล่นบ้าง แชทข้ามประเทศบ้าง จนกระทั่งนับถอยหลัง แล้วเราก็ออกไปไชโยปีใหม่กันที่ระเบียงหน้าบ้าน ประสานเสียงกับเรือฝั่งเยื้องๆกัน ที่ฉลองกันครึกครื้น (เช้าปีใหม่มาก็เห็นยังอยู่กันที่เดิม 555)

สวัสดีปี 2559 ขอให้เป็นปีที่ดี๊ดีของทุกคนค่ะ
.
.
.

ย้อนตอนเก่า
Kashmir 1: Planning
Kashmir 2: Unexpected Delhi
Kashmir 3: Assalām ‘alaikum Kashmir
Kashmir 4: “Gulmarg” Life is fun, Enjoy every minute
Kashmir 5: Being Kashmiri
Kashmir 6: Pahalgam “Valley of paradise”
Kashmir 7: Slow Life on New Year’s Eve
Kashmir 8: New year in Yusmarg
Kashmir 9: “Srinagar” City of Prosperity
Kashmir 10: khuda hāfiz Kashmir

--

--

Pirawadee
ourtrip.cc

Owner of the project management consultancy firm, former lecturer in project construction management, traveler and blogger