Kashmir 3
Assalām ‘alaikum Kashmir
19 January 2016
ตกเครื่องในประเทศเพราะสายการบินยกเลิกโดยไม่บอกไม่กล่าว ทำให้เราเป็นนกขมิ้นผจญเดลลีหนึ่งคืนโดยไม่คาดคิด แต่เอาเถอะ ยังไงวันนี้เราต้องไปถึงแคชเมียร์แน่นอน… อ่านตอนเดิม
27 ธันวาคม 2015 นกขมิ้นไทยทั้งฝูงรีบตื่นกันแต่มืด รถที่นัดไว้มาถึงหกโมงเช้าตรงเวลา เป็นรถตู้ขนาดเล็ก ลุงแกเอากระเป๋าเราวางไว้บนตะแกรงบนหลังคา โดยไม่มีการมัดแต่อย่างใด (เป็นเช่นนี้ทุกที่ ทุกคัน) จากนั้นก็ขับตะบึงสไตล์เดลลี แม้ว่าจะเช้ามืดขนาดนี้ก็ตาม โดยมีผู้โดยสารนั่งเหลียวหลังตลอดเวลาเพื่อคอยดูว่ากระเป๋าเราจะหล่นลงไปหรือเปล่า ทุกครั้งที่เลี้ยวว้าบบบ ฉันต้องภาวนาว่าขออย่าให้กระเป๋าหล่นเลยเจ้าประคุ้นนน… ปุเลงๆมาจนถึงสนามบินอินทิราคานธีภายในประเทศ Terminal 1D
เช่นเคยเราถูกตรวจเช็คตั๋วและพาสปอร์ตก่อนเข้าตัวอาคาร จากนั้นก็ไปเช็คอินรับบอร์ดดิ้งพาสมาอย่างเรียบร้อย สายการบิน Low Cost ภายในประเทศของอินเดียไปแคชเมียร์ โดยทั่วไปให้น้ำหนักกระเป๋าคนละ 15 กก.โดยไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม และถือขึ้นเครื่องได้ 7 กก. อย่างไรก็ตาม ควรเช็คทุกครั้งที่ซื้อตั๋วเพราะแต่ละสายการบินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กระบวนการต่อไปคือการตรวจสแกนข้าวของที่จะถือผ่านเข้าไปขึ้นเครื่อง ตรงนี้สำคัญมากคือเมื่อเช็คอินที่เคาน์เตอร์แล้วให้เอา tag สำหรับห้อยกระเป๋ามาด้วย กระเป๋าทุกใบที่ถือขึ้นเครื่องไม่ว่าจะใบเล้กใบน้อยต้องมี tag ห้อย สนามบินอินเดียตรวจเข้มมาก โดยเฉพาะการไปแคชเมียร์ คนที่เคยไปมาจะเตือนมาไว้ว่า ต้องเอาแบตเตอรี่กล้องออก ห้ามพก ห้ามนู่นนี่ ฯลฯ เราก็กลัวกันมาก แต่อันที่จริงแล้วไม่ยุ่งยากมากนักถ้าเราเตรียมตัว เขาตรวจละเอียดและเข้มข้นจริง ดังนั้นควรดำเนินการดังนี้
- เอาอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ทั้งหมด ทุกอย่าง (มือถือ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต แบตกล้อง แบตสำรอง (Power Bank กล้องดิจิตอล ฯลฯ) ออกจากกระเป๋ามาวางไว้ในถาดให้เห็น
- ถอดเสื้อกันหนาว แจ๊คเก็ต ผ้าห่ม ผ้าคลุมไหล่ ออกใส่ถาด
- ถอดรองเท้า (แม้ว่าจะไม่มีโลหะก็ตาม) ใส่ถาด
- ถอดปะหว่ำกำไล นาฬิกา ฯลฯ ใส่ถาด
ปล่อยมันผ่านเข้าเครื่องสแกนไป ส่วนพาสปอร์ตกับบอร์ดดิ้งพาสให้ถือติดตัวไว้ ในระหว่างนี้เราก็ต้องไปเข้าคิวเพื่อตรวจค้นตัว ซึ่งเขาจะแยกชาย หญิง แถวผู้หญิงจะยาวและรอนานมาก เพราะจะถูกเรียกเข้าไปตรวจในคอกที่มีม่านปิดเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ผู้หญิงจะทำการลูบคลำอย่างละเอียด ย้ำ “อย่างละเอียด” ก่อนจะสแตมป์ “ผ่าน” บนบอร์ดดิ้งพาสของเรา จากนั้นก็ไปเอาของที่ผ่านเครื่องสแกนมาแล้ว ซึ่งเวลาเราไปรับเจ้าหน้าที่เขาจะสแตมป์บน tag ที่ห้อยกระเป๋าเรา ถ้าเขาลืม ต้องเอาไปให้เขาสแตมป์ให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จพิธี และเนื่องจากเป็นการเดินทางในประเทศก็ไม่ต้องผ่านตม. กระบวนการเยอะขนาดนี้ ต้องเผื่อเวลามาสนามบินล่วงหน้านานๆหน่อย คนเดินทางเยอะมาก เก้าสิบเปอร์เซนต์เป็นคนอินเดีย มีชาวตะวันตกเล็กน้อย ส่วนพี่ไทย พี่จีน พี่เกาหลี หรือพี่ญี่ปุ่น นอกจากเราแล้วฉันเห็นไม่ถึงสิบคน เฮ้อ เหนื่อย..เสียดายบริเวณนี้ถ่ายรูปไม่ได้ แต่หวังว่าที่บรรยายมาคงนึกภาพตามออก
จบกระบวนการเราก็มาหาอาหารเช้ากินกัน ภายในสนามบินโอ่โถงกว้างขวางทันสมัย มีสินค้าปลอดภาษีให้ช้อปกันหลายยี่ห้อ เราเลือกร้านอาหารที่อยู่กลางโถง นั่งสบาย สั่งอาหารเช้าแบบฝรั่งมากินกันเต็มที่ ในระหว่างสำรวจเมนูก็เห็นมุกแขกบนหน้าปก เอ่อ.. หวังว่าจะเป็นมุกของพี่บัง ไม่ใช่เขียนผิดนะฮะ
น้องแพร์บอกว่า เนยอร่อยมากกก จานด้านบนเป็นชีสทอด
Egg Benedict เป็นจานเดียวที่มีหมูในทริปนี้
อิ่มแล้วก็เตรียมตัวไปรอขึ้นเครื่องที่ Gate Lounge บรรยากาศเหมือน Gate Lounge ที่สนามบินดอนเมือง พอได้เวลาก็มีรถบัสมารับไปขึ้นเครื่อง
สายการบิน SpiceJet ที่เราใช้ขาไปนี้ เป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการทั้งในประเทศอินเดีย และต่างประเทศ มีบินจากกรุงเทพตรงไปเชนไนกับโกลกัตตาที่อินเดีย เครื่องบินก็ใหม่ และใหญ่ดีค่ะ ที่นั่งแบบ 3–3 ช่องเก็บกระเป๋าก็จัดว่าโอเค พนักงานต้อนรับบนเครื่องใส่ชุดสีแดงจ้า การบริการคล้ายๆกับสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป มีขายมาม่าต้มยำกุ้งบนเครื่องเหมือนกัน
ไฟล์ทที่เราไปนี้ มีแวะจอดส่งและรับคนที่เมือง Jammu ก่อนต่อไปศรีนาการ์ ทำให้เราใช้เวลานานกว่าสองชั่วโมง ซึ่งโดยปกติบินระหว่างเดลลีไปศรีนาการ์จะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ที่ Jammu เครื่องบินจอดให้คนลง ส่วนคนที่จะไปศรีนาการ์ก็นั่งรอบนเครื่อง (อันนี้ต้องคอยฟังภาษาอังกฤษสำเนียงแขกที่เจ้าหน้าที่บอกบนเครื่องให้ดี ไม่งั้นมีลงผิด) ในระหว่างนี้ก็จะมีทหารขึ้นมาเช็คบอร์ดดิ้งพาสของคนที่จะไปต่อ เช็คกระเป๋าสัมภาระว่ามีเจ้าของมั้ย ก่อนที่จะให้คนขึ้นมาใหม่จาก Jammu ไม่ทุกไฟล์ทที่มีการแวะนะคะ ให้ตรวจสอบตอนซื้อตั๋ว ส่วนของเรามันเป็นไฟล์ทบังคับจากเหตุการณ์เมื่อวาน ถือเสียว่าได้แถมก็แล้วกัน บินต่อ…
ออกจาก Jammu ทัศนียภาพก็เริ่มเปลี่ยน เข้าเขตหิมาลัย กระเหรี่ยงตื่นเต้นมาก ค่อยๆเห็นยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะโผล่ออกมาเรื่อยๆ ไฟล์ทบินจากแคชเมียร์หรือเข้าแคชเมียร์ พยายามให้ได้ที่นั่งริมหน้าต่างนะคะ จะฟินเฟร่อ อิอิ
จาก Jammu มาศรีนาการ์ใช้เวลาประมาณสี่สิบนาที เครื่องบินเข้าจอดเทียบงวง ถ้าลงด้านหน้าก็เดินผ่านเข้างวงไปเลย แต่เขาเปิดประตูหลังด้วย คนลงด้านหลังก็เดินเท้าจากลานจอดเข้าตัวอาคาร (งงดี) เข้ามาที่ตัวอาคารไม่ต้องผ่านตม.แล้ว ไปรับกระเป๋าได้เลย เรากำลังเดินไปที่สายพานมีพี่บังรี่เข้ามาหา บอกว่าเอา tag กระเป๋ามาเดี๋ยวไปรับให้ ยูอยู่เฉยๆ ไปทำใบผ่านเข้าเมืองตรงโน้นไป เนี่ยมีคนมารอรับพวกยูอยู่ข้างนอกแล้ว (มารู้ภายหลังว่า เจ้าของที่พักในศรีนาการ์ ลุงของชาคีล “ใหญ่” มากที่นี่) คนต่างชาติต้องไปทำใบผ่านเข้าเมือง โดยกรอกชื่อ รายละเอียดในพาสปอร์ต รายละเอียดวีซ่า บอกวัตถุประสงค์ที่จะไป พักที่ไหน ฯลฯ ถ้ามาเป็นกลุ่ม กรอกใบเดียว โดยกรอกชื่อคนแรกตามแบบฟอร์ม และกรอกรายชื่อสมาชิกด้านหลังฟอร์มนั้น ยื่นให้เขาที่เคาน์เตอร์ แล้วก็ออกมาได้ มีพี่บังเข็นรถเข็นใส่กระเป๋าตามเรามาสองคน ดูๆไปเหมือนเราจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวตอนนั้น
มาถึงแล้วนะ แคชเมียร์ “Assalām ‘alaikum Kashmir” แปลว่า Hello Kashmir
แคชเมียร์เป็นเขตหนึ่งในจำนวนสามเขตของรัฐ Jammu&Kashmir ของประเทศอินเดีย ซึ่งประกอบด้วย Jammu, Kashmir Valley และ Ladakh (คนไทยส่วนใหญ่มักไปเที่ยวกันที่เขต Ladakh) ศรีนาการ์หรือ Srinagar อยู่ในเขต Kashmir Valley เป็นเมืองหลวงของรัฐในฤดูร้อน ส่วน Jammu จะเป็นเมืองหลวงในฤดูหนาว 95%ของประชากรในแคชเมียร์เป็นมุสลิม คนส่วนใหญ่พูดกันสองภาษาคือ Kashmiri และภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะมีกันเพียงสามเขต และอยู่เขตเทือกเขาหิมาลัยเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันมากในเรื่องของลักษณะประชากร ภาษาที่ใช้ ศาสนา ตลอดจนถึงลักษณะภูมิประเทศ แต่ละเขตก็มีความน่าสนใจไม่ซ้ำกัน การท่องเที่ยวจึงเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่ง โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอินเดียด้วยกันนั่นเอง รัฐ Jammu&Kashmir นี้เป็นดินแดนที่มีกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างสามประเทศคืออินเดีย ปากีสถาน และจีน ซึ่งทั้งสามประเทศก็มีหน่วยงานของตัวเองมาตั้ง กั๊กๆกันไว้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐนี้มีความเข้มงวดเรื่องการตรวจตรามาก จะเห็นทหารอินเดียอยู่เต็มไปหมดทั่วพื้นที่
ต่อเรื่องของเราดีกว่า.. ออกมาข้างนอก “ราซูล” ลุงของชาคีล มารอรับอยู่แล้ว
นี่ หน้าตาราซูล ขาใหญ่ใจดีแห่งศรีนาการ์ ราซูลอายุ 59 ปีแล้ว
ราซูลเอารถโตโยต้าอินโนว่า 7 ที่นั่งมารับเรา รถคันนี้เป็นรถที่เราจะเช่าไปไหนมาไหนตลอดที่อยู่ในแคชเมียร์นี้ เราเช่ากับราซูลผ่านชาคีลมาตั้งแต่ติดต่อกันเมื่อห้าเดือนก่อน ราคาค่าเช่ารวมคนขับและน้ำมันวันละ 2,400 รูปี หรือประมาณ 1,320 บาท (ถูกจัง)
ราซูลบอกว่า เดี๋ยวไปพักที่บ้านเรือเขาก่อนค่อยวางแผนกันต่อ บ้านเรือของราซูลอยู่บริเวณ Dal Lake ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินศรีนาการ์ 15 กม.และห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กม. โดยชุมชนรอบ Dal lake นี้ เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ชาวบ้านจะใช้เรือเป็นที่พักอาศัย ตั้งอยู่รอบๆทะเลสาบ และปัจจุบันพัฒนาเป็นเกสต์เฮาส์แบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยว มีด้วยกันทั้งหมดประมาณ 1,200 หลังคาเรือ ที่พักของราซูลชื่อ New Sherin Houseboat
ตุ๊กตุ๊กในแคชเมียร์ ที่เรียกว่า Atul เป็นสีดำ แต่ขนาดและรุปร่างเหมือนในเดลลี
เราจอดรถบริเวณท่าเรือ มีเรือสัญญลักษณ์ของ Dal Lake ที่เรียกว่า Shikara จอดรอรับผู้โดยสารเรียงเป็นแถว เราลงเรือที่นี่ ลำหนึ่งนั่งได้ห้าหกคนทีเดียว คนพายจะอยู่บริเวณท้ายเรือ ใช้พายรูปใบโพธิ์วาดน้ำไป น้ำในทะเลสาบนิ่ง และใส มาก ฉันถามคนเรือครั้งหนึ่งว่าน้ำลึกแค่ไหน เขาบอกว่าอยู่ระหว่าง 5–20 ฟุต แต่บริเวณกลางทะเลสาบอาจจะมากกว่านั้น วิวสวยมาก เหมือนภาพวาดเลยทีเดียว
ชาวแคชมิรี่ (Kashmiri) กับชุด Faran
รูปเหล่านี้ถ่ายตามทางที่นั่งเรือไปบ้านเรือของราซูล และที่หน้าบ้าน
บ้านเรือของราซูล มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีสองลำ ลักษณะคล้ายๆกันกับบ้านเรืออื่นๆคือมีท่าน้ำ และชานหน้าบ้าน ตัวเรือเป็นไม้ ส่วนใหญ่แล้วมีอายุกว่า 50 ปีทั้งนั้น ซึ่งเรือเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวอังกฤษในสมัยก่อน พอตอนนี้เปลี่ยนเป็นเกสต์เฮาส์ เจ้าของก็จะปลูกเรือนอยู่บนฝั่งด้านหลังตัวเรือนั่นเอง ภายในเรือตกแต่งแบบศิลปะเดิมๆของแคชเมียร์ ซึ่งแน่นอนต้องมีพรม ลวดลายต่างๆมักเป็นลายดอกไม้ ม่านในเรือก็เป็นผ้าปักมือสวยงาม อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเลือกอยู่แบบโฮมสเตย์ดังนั้นจะหาอะไรๆแบบสมัยใหม่หรือสะดวกสบายแบบโรงแรมทั่วไปก็คงไม่ใช่แล้ว แต่เห็นบ้านๆแบบนี้ บ้านเรือของราซูลก็มีน้ำร้อน อ่างอาบน้ำ และ WiFi ให้ใช้ด้วย (WiFi ฟรีค่ะ) ยกเว้น Heater ซึ่งเป็นแบบโบราณเรียกว่า Bukhari ซึ่งเป็นเตาเหล็ก ใช้เชื้อเพลิงเป็นฟืน ซึ่งพนักงานต้องคอยมาเติมฟืนกันเรื่อยๆ ถ้าเผลอให้มอดเป็นอันหนาวสั่นงันงก
กำนันฯกับราซูลที่หน้าบ้านเรือ
ระเบียงหน้าบ้าน สังเกตไม้ฉลุลายวิจิตรบรรจง
Welcome Tea “Kashmiri Kawah Tea”
อาหารกลางวันแบบเร่งด่วน แต่อร่อยสุดๆ มื้อนี้ราซูลไม่คิดตังค์ เรากินข้าวที่โต๊ะนี้เป็นส่วนใหญ่ทั้งเช้าและเย็น
เรือนพักของราซูลและครอบครัวด้านหลัง ที่นี่เองเป็นที่ผลิตอาหารเลิศรสให้เราทุกมื้อตอนอยู่ที่นี่
ราซูลพามารู้จักภรรยาและลูกสาว ลูกสะใภ้ บรรดาเชฟของบ้านเรือ
ห้องรับแขกของบ้านเรือ ทุกคนจะมาชุมนุมที่นี่ทุกเวลาที่ว่าง เพื่อเล่นอินเตอร์เน็ต 55 ส่วนตอนกลางคืนพนักงานที่มีกัน 4 หนุ่มก็จะปูที่นอนนอนกันบริเวณนี้
หลังกินข้าวและวางแผนใหม่กับราซูลแล้ว เราตกลงว่าจะไป Gulmarg และพักที่นั่นสองคืน ก่อนกลับมาศรีนาการ์ พักหนึ่งคืนแล้วจึงไป Pahalgam อีกหนึ่งคืน จากนั้นก็จะกลับมาฉลองปีใหม่ที่นี่ และเที่ยวอีกสามวัน ตามนั้น.. บ่ายสองเราก็เคลื่อนที่ออกจากบ้านเรือ มุ่งหน้า Gulmarg เมืองที่มีสกีรีสอร์ต ราซูลสั่งการคนขับรถและคนอื่นๆไว้อย่างเรียบร้อย ตลอดการเดินทางเขาจะคอยโทรเข้ามือถือคนขับรถ เพื่อคุยกับฉันถามไถ่ความเป็นไปอย่างห่วงใยเสมอๆ (ที่แคชเมียร์ เราไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสัญญาณต่างประเทศได้ ต้องใช้ซิมท้องถิ่นเท่านั้น แต่เราไม่ได้ซื้อไว้ ส่วนตอนอยู่เดลลีสามารถใช้สัญญาณของไทยได้ถ้าเปิดบริการต่างประเทศมา ฉันใช้ของทรู เหมาจ่ายอินเตอร์เน็ตวันละ 333 บาท)
นั่ง Shikara ออกมาขึ้นรถ
หน้าบ้านเรือ ต้องถ่ายรูปมุมนี้ทุกวัน ทุกคน โรคจิตป่าวไม่รู้
รถเราจอดรออยู่แล้ว คันที่มีกระเป๋าสีแดงวางอยู่บนหลังคา
คนเรือกับ “ที่สูบยา” ของเขา
Gulmarg อยู่ห่างจากศรีนาการ์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50 กม.อยู่บนเขาใกล้ชายแดนปากีสถาน เราต้องไปเปลี่ยนรถที่เมือง Tangmarg ซึ่งเป็นเมืองเชิงเขา ระหว่างทางจากศรีนาการ์ไป Tangmarg เป็นที่ราบ “อะชาร์ด” คนขับรถของเราเล่าว่า แถบนี้จะเป็นทุ่งนา ทำนากันปีละครั้งเท่านั้น ทุ่งนากว้างขวางมีทิวไม้ลิบๆเป็นฉากหลัง อากาศช่วงนี้มีหมอกมาก ภาพที่ได้ก็แปลกตาไปอีกแบบ
ชายหญิงชาวแคชเมียร์ ในหน้าหนาวจะนุ่งชุดกันหนาวที่เรียกว่า “Faran” คลุมทับ ส่วนใหญ่มักทำจากขนแกะ หรือวูล ซึ่งให้ความอบอุ่นมาก
ส่วนตัวฉันชอบต้นไม้โกร๋นๆในหน้าหนาวนี้มาก เหมือนต้นไม้เวลาเขียนแบบสถาปัตย์
ขนนม ที่นี่เขาดื่มนมแพะกัน
เริ่มเข้าเขตเมือง Tangmarg พื้นที่สูงขึ้น หมู่บ้านด้านล่างเริ่มมีหิมะปกคลุม ตามถนนเริ่มมีเศษหิมะหลงเหลือเปนหย่อมๆ หิมะเพิ่งตกไปเมื่อวันที่เราอยู่เดลลีนี่เอง
เด็กขายหมากฝรั่งที่ Tangmarg
ที่ Tangmarg นี้เราต้องเปลี่ยนรถ จากโตโยต้าเป็นจี๊ป (ยี่ห้อ “มหินทรา”) เพื่อขึ้นเขาไปยัง Gulmarg อีก 12 กม. แต่เนื่องจากวันนี้หิมะไม่ตก จึงไม่ต้องพันโซ่ที่ล้อรถ ที่เมือง Tangmarg นี้ถ้าเราไม่เตรียมตัวมาให้ดีเราจะเจอเหล่าอาบังมารุมล้อม เพื่อหว่านล้อมให้เราไปเช่ารองเท้าและเสื้อกันหนาว (ค่าเช่า 200 รูปีต่อชุดต่อวัน) แต่เนื่องจากเราทำการบ้านมาดี แขกจึงไม่ได้กินตังค์เรา ทุกคนมีเสื้อกันหนาวพร้อมรับอุณหภูมิติดลบ และรองเท้าบู้ทพร้อมลุยหิมะ ส่วนใหญ่ฉันเห็นลูกค้าก็เป็นพวกแขกอินเดียนักท่องเที่ยว ที่นุ่งส่าหรี สวมรองเท้าแตะมาเที่ยวนั่นเอง ที่นี่เราเปลี่ยนรถ เปลี่ยนคนขับ และรับไกด์หนุ่มที่ราซูลสั่งไว้ ขึ้นไปกับเราด้วยอีกคน ไกด์จะพาเราเที่ยวในวันพรุ่งนี้ โดยเราจ่ายเขาเฉพาะวันรุ่งขึ้น ค่าไกด์วันละ 500 รูปี ไกด์เราอายุ 25 ปี เขาน่ารักมากชื่อ Hilan ฉันขอบัตรประจำตัวเขามาถ่ายรูปไว้ (รอบคอบไว้ก่อน) อ่อ ผู้ชายชาวแคชเมียร์หน้าตาดีเกือบทุกคน อิอิ
“อะชาร์ด” คนขับรถเรา หน้าตาเหมือน “สีบาน” น้องชายที่กรุงเทพมาก ฉันส่งรูปให้สีบานดู เจ้าตัวยังบอกว่าเหมือนมาก
คนขับรถจี๊บและหิลัน ไกด์หนุ่ม
หน้าตาบัตรประจำตัวไกด์
เส้นทางขึ้นเขาเป็นป่าสนกับพรมหิมะปุยขาว ถนนแคบและสูงชันคดเคี้ยวมาก ภูมิประเทศสวยมากจริงๆ หิลันโม้ว่า นี่แหละสวิสเซอร์แลนด์เอเชีย
ทหารเขาหน้าตาดีจุง
12 กม.ผ่านไปเราก็มาถึง Gulmarg แค่เห็นทางเข้าก็ฟินมากกกก พื้นที่กว้างเต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน มีรีสอร์ตลักษณะเคบินกระจัดกระจาย หิลันบอกว่า ในช่วงฤดูร้อนพื้นที่ทุ่งหิมะที่เราเห็นนี้คือสนามกอล์ฟ โอ้…
เรานั่งรถไปจนถึงทางเข้าโรงแรมที่จองมา แต่รถขึ้นไปต่อไม่ได้แล้วเพราะติดกองหิมะเต็มทาง เราจึงลงเดินเท้าต่อไปยังตัวโรงแรม พร้อมกับส่งพนักงานลงมาขนกระเป๋า หิลันไปส่งเราจนถึงที่พัก นัดแนะกันว่าพรุ่งนี้จะมาเก้าโมงเช้านะ และขอตังค์ฉันไป 3,000 รูปีเพื่อไปซื้อตั๋ว Gondola เตรียมไว้พรุ่งนี้ ซียู…
ลงเดิน
โรงแรมที่จองมาชื่อ Shaw Inn เราจองห้องแบบ Family Suite มีสองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ โรงแรมขนาดเล็กๆเป็นไม้สนทั้งหลัง โรงแรมสะอาด สบาย ห้องพักดี ห้องน้ำดี มี heater และผ้าห่มไฟฟ้า พนักงานบริการดี แต่อาหารไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ และช่วงที่เราไป อินเตอร์เน็ตใช้ไม่ได้ ยกเว้นในออฟฟิสพนักงาน ซึ่งช่วงกลางคืนเด็กๆก็เลยลงไปใช้เน็ตในออฟฟิสเขา เพราะสองคนกระวนกระวายว่าหัวข้อวิทยานิพนธ์จะผ่านหรือเปล่า ส่วนอีกคนก็อยากรู้เกรด สมัยนี้อินเตอร์เน็ต ขาดไม่ได้จริงๆ
ห้องพักเราอยู่ด้านหน้า มองออกไปเห็นวิวดีมากๆ
แท่งน้ำแข็ง เกาะขอบหลังคาตรงหน้าต่างห้องพัก
มุมมองจากหน้าต่างห้อง ภูเขาป่าสนไกลๆนั่นชื่อ Monkey Hill
เราเก็บของแล้วออกไปเดินเล่นถ่ายรูปกันก่อนแสงหมด หน้าโรงแรมมีฝูงลิงป่าอยู่ฝูงหนึ่ง ดุอยู่เหมือนกัน อุณหภูมิประมาณ 2–3 องศา แต่ไม่มีลมเลยไม่หนาวแบบทรมาน หิมะหนาประมาณฟุตหนึ่งเห็นจะได้ สิ่งที่คนเล่นหิมะชอบทำก็คือ การล้มตัวลงนอนไปบนปุยหิมะขาวๆทั้งตัว รออะไรล่ะคะ 555
แสงหมดแล้ว กลับไปกินอาหารที่โรงแรมเป็นแกงกะหรี่ไก่ ผัดผัก ไก่ย่าง แกล้มกับ “ชาปาตี” หรือแป้งปิ้ง ตบท้ายด้วยชาแคชเมียร์ (อยู่แคชเมียร์เก้าวัน กินไก่ทุกวันทุกมื้อ มีแพะแซมๆ เพราะเป็นเมืองมุสลิม ไม่มีหมู ประกอบกับเราไม่กินเนื้อวัวกัน แต่ก็ไม่เบื่อเลย)
พูกถึงชาแคชเมียร์ เขาเรียกว่า Kashmiri Kawah Tea เป็นชาที่เวลาชงต้องมีกรรมวิธี โดยเขาจะต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่หัว Gardamom กับ Cinnamon ลงไปต้มเล็กน้อยจนมีกลิ่นหอม (Gardamom นี้มีกลิ่นเฉพาะตัวมาก และเป็นสมุนไพรที่หายาก ราคาแพง สมัยโบราณใช้แลกเปลี่ยนแทนทองคำกันเลยทีเดียว) หลังจากนั้นจึงเติม Saffron และใบชาลงไป จะเติมน้ำตาลหรือไม่ก็ได้ (แต่ส่วนใหญ่มักจะใส่) บางร้านก็ใส่เมล็ดอัลมอนด์ซอยฝอยๆลงไปด้วย อร่อย หอม ชื่นใจ
คืนนี้นอนอุ่นสบาย พร้อมกับข่าวดีของพี่แมกซ์และพี่พายที่หัวข้อธีสิสผ่าน ส่วนน้องก็ได้เกรดเกิน 3.5 ปลื้ม….
ย้อนตอนเก่า
Kashmir 1: Planning
Kashmir 2: Unexpected Delhi
Kashmir 3: Assalām ‘alaikum Kashmir
Kashmir 4: “Gulmarg” Life is fun, Enjoy every minute
Kashmir 5: Being Kashmiri
Kashmir 6: Pahalgam “Valley of paradise”
Kashmir 7: Slow Life on New Year’s Eve
Kashmir 8: New year in Yusmarg
Kashmir 9: “Srinagar” City of Prosperity
Kashmir 10: khuda hāfiz Kashmir