Kashmir 5

Being Kashmiri

Pirawadee
ourtrip.cc
7 min readDec 26, 2016

--

29 ธันวาคม 2015

ความเดิมตอนที่แล้ว…
สุดเหวี่ยงกับการเล่นหิมะ ทั้งสกี ทั้งเลื่อน ที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศา เล่นจนลืมอายุ ฮ่า ฮ่า เพลิน ไม่เอนจอย ไม่แฮปปี้ ไม่ต้องจ่าย เข้าใจตรงกันนะ :)
อ่านตอนที่แล้ว

วันนี้ตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นอีกเช่นเคย หนาวกว่าเมื่อวานอีกแน่ะ หิมะละลายมากขึ้นกว่าเดิม “หินย้อย” (น้ำแข็ง) ที่เกาะหน้าต่างละลายหยดแหมะๆดังทั้งคืน แต่แดดดีและฟ้าใสมากๆ

พื้นถนนเริ่มเห็นดินมากขึ้น แต่ยังลื่นปรื๊ดๆเหมือนเดิม
ทองทาบขุนเขา แอบเห็นพระจันทร์ ข้างๆต้นสน ไม่ยอมตก
Snow Man ผู้เดียวดาย

กลับมากินอาหารเช้าและเก็บข้าวของเตรียมกลับ สิบโมงครึ่ง “อะชาร์ด” คนขับรถก็ขึ้นมาตาม เราต้องเดินลงไปถึงถนนด้านล่าง โดยมีพนักงานโรงแรมแบกกระเป๋าตามไปส่ง ร่ำลาและแจกทิป พร้อมช็อคโกแลต (เราซื้อช็อคโกแลตแบบเป็นชิ้นเล็กๆมากล่องใหญ่ พร้อมขนมอีกสองสามห่อ ตั้งใจว่าจะเอามาไว้แจกเด็กๆ ปรากฎว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ดูดีใจมากที่ได้ช็อคโกแลตจากเรา) วันนี้โตโยต้าอินโนวา สามารถขับขึ้นมารับได้เลย เพราะไม่มีหิมะตก

ลงเขาจาก Gulmarg ผ่าน Tangmarg มาตามเส้นทางเดิม กลับเข้าสู่ศรีนาการ์ ระหว่างทางมีจอดถ่ายรูปเป็นระยะๆ

ชาวบ้านเอาฟางขึ้นไป “แขวน” ไว้บนต้นไม้ ลืมถามเหตุผลมา
”แม่น้ำ” ซึ่งตอนนี้น้ำแห้งผากเหลือเพียงกรวดก้อนกลมๆขนาดต่างๆ
ตามทุ่งนา จะมีบ้านเป็นหลังเดี่ยวๆ ส่วนใหญ่เป็นบ้านก่ออิฐเปลือย หลังคาจั่ว
รถบรรทุกเก่าๆ หน้าตาแปลก สีสันสดใส มีให้เห็นทั่วไป ส่วนใหญ่ยี่ห้อ “มหินทรา”*

แล้วก็ถึงจุดหนึ่ง ซึ่งแทบทุกคนเรียกร้องขอจอดรถลงไปถ่ายรูป ด้วยความที่ถนนและสองข้างทางสวยเหลือเกิน ถนนระหว่าง Srinagar-Tangmarg เป็นสี่เลนมีเกาะกลางถนน ลักษณะเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ รถไม่เยอะเท่าไหร่ ที่ผ่านไปมา นอกจากรถอีแต๋น รถบรรทุกเล็กน้อย รถเมล์ แล้วก็เป็นรถนักท่องเที่ยวแบบเรา (ซึ่งถ้าไม่มาด้วยโตโยต้าอินโนวาแบบเราก็เป็นจี๊ปมหินทรา)

รูปนี้ยังไม่เที่ยง แต่ถ่ายย้อนแสง
สวยไม่สวย ดูจากท่านั่งของช่างภาพได้
บางครั้งฉันสงสัยว่า ถ้าตอนต้นไม้มันเขียวชอุ่ม มันจะสวยมั้ย
อะชาร์ดแวะเติมลมยาง หนุ่มน้อยหน้าหวานคนนี้เป็นคนบริการให้เรา
ผ่านแม่น้ำเล็กๆแห่งหนึ่ง กลุ่มบ้านเรือนริมแม่น้ำดูน่าสนใจเวลามองรวมๆ
บ้านเดี่ยวหลายหลังก็สร้างเป็นสามชั้น หลังคาปั้นหยาผสมจั่ว ก็ดูจะเป็นสไตล์ฮิตของคนแถวนี้เหมือนกัน
มัสยิด มีเยอะมากในแคชเมียร์แวลลี่ เพราะ 95% ของประชากรในเขตนี้เป็นมุสลิม
เริ่มเข้าใกล้เมือง ที่อยู่อาศัยเริ่มหนาแน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากโฆษณาปูนซีเมนต์แล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีโฆษณาเยอะมากในพื้นที่นี้
พาหนะที่ยังคงพบเห็นได้ทั่วไป
ตุ๊กตุ๊กแบบบรรทุก
รถบรรทุกมุ้งมิ้ง

เราเข้าเขตเมืองศรีนาการ์ แล้วผ่านไปอีกด้านหนึ่งของ Dal Lake ราซูลโทรมาก่อนที่เราจะกลับถึงศรีนาการ์ว่า จะให้อะชาร์ดพาเราไปเที่ยวก่อนยังไม่ต้องเข้าที่พัก อะเคร ได้เลย

ทหารอินเดีย พกอาวุธพร้อมรบ เห็นได้ทั่วไปในแคชเมียร์ สถานที่ราชการมีกำแพง ลวดหนาม ป้อมค่ายพร้อม
ผ้าคลุมไหล่ เลื่องชื่อของแคชเมียร์เรียกว่า Pashmina

Pashmina มีหลากหลายราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับวัสดุและขนาด Pashmina ของแท้ดั้งเดิมเป็นวูลที่ได้จากแพะแคชเมียร์ (Kashmir Goat) ไม่ใช่แกะ บางและอุ่นมาก บางครั้งราคาถูกเพราะเป็น Pashmina ผสมโพลิเยสเตอร์ หรือมาจากแพะที่อื่นราคาก็จะต่างกันไป แต่ลวดลายจะสวยงาม ฉันเคยซื้อ Pashmina ที่เนปาลครั้งหนึ่ง ที่นั่นสีจะค่อนข้างสด แดงจัด ส้มจัด แต่ที่แคชเมียร์นี่สีจะออกตุ่นๆ ดูคลาสสิคนิดนึง

อีกด้านหนึ่งของ Dal Lake จะเห็น บ้านเรือจอดเรียงกันเต็มไปหมด ประชันหน้ากับโรงแรมบนบก บนถนนด้านนี้

Stop แรกของเราในศรีนาการ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งซึ่งคิดว่าในหน้าร้อนคงเป็นที่ยอดฮิตแน่ คือสวนพฤษศาสตร์ Jawaharlal Nehru Memorial Botanical Garden มีพื้นที่ประมาณ 80 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 500 ไร่ มีพืชพันธุ์กว่า 150,000 ชนิด ค่าเข้าชมคนละ 100 รูปี ต้องจอดรถไว้ที่ลานด้านนอกแล้วก็เดินชมในพื้นที่ 500 ไร่นั่นเอง

ต้นไม้พันธุ์นี้มีมาก ในสวนต่างๆ ฉันไม่รู้มันคือต้นอะไร แต่น้องแพร์เรียกว่า วิลโล่ทรี ชีว่าเหมือนในแฮร์รี่พ็อตเตอร์

ภายในสวน มีคนมารับจ้างถ่ายรูป พร้อมกับให้เราแต่งชุดเป็นมหาราชา มหารานี จากนั้นเขาจะให้เราโพสต์ท่าต่างๆ (โดยเขาสอนโพสต์ด้วย) ทั้งเดี่ยว ทั้งกลุ่ม แล้วก็จะพิมพ์มาให้เรา โดยขนาด 6"x8" ราคาใบละ 150 รูปี เราจ่ายไปเยอะทีเดียวแต่ก็ “แฮปปี้” อ่ะนะ หลังจากกลับไปที่บ้านเรือแล้วจึงโดนราซูล “ดุ” ว่าโดนหลอกแล้ว แพงเกินไป ฉันได้แต่ยิ้มแหยๆ (ก็ฉันเคยเจอที่จีน เกาหลี แพงกว่านี้เยอะเลย) แต่ราซูลไม่พอใจมาก เขาโทรไปคนโน้นคนนี้จนได้เบอร์ช่างภาพมา แล้วก็มาบอกฉันว่า เขาจัดการให้แล้วนะ แม้ว่าฉันจะโอเคแต่เขาคิดว่า การขูดรีดนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ราซูลบอกว่า นายช่างภาพนั่นบอกกับราซูลว่า “ฉันแฮปปี้” และราซูลบอกว่า มันคนละเรื่องกัน การที่เราพอใจไม่ได้แปลว่าจะโก่งเอาเงินจากเขาได้โดยไม่เป็นธรรม โอ้… วันจะกลับราซูลเอาเงินมาคืนฉัน 2,500 รูปี บอกว่าเอาคืนมาจากช่างภาพคนนั้น หุหุ บอกแล้วว่า “ขาใหญ่”

ต้นสนในสวน
แวะกินชาแคชเมียร์กับชีสทอดและเลย์ ที่ร้านชาเล็กๆในสวน แอบน่ารัก บอกแล้วว่าคนที่นี่ชอบถ่ายรูป พอขอถ่ายรูป เจ้าของร้านหยุดเช็ดเก้าอี้ เดินมายืนเต๊ะท่าทันที มือยังถือผ้าเช็ดเก้าอี้อยู่เลย

เดินไปได้สักสองไร่กระมัง อะชาร์ดก็มาตาม (โหย 500 ไร่จะใช้เวลากี่วันเนี่ย) เราต้องไปต่อละ จากสวนพฤกษศาสตร์ที่เชิงเขา เราจะขึ้นเขาไปอีกนิด เพื่อไปสวนที่เรียกว่า Mughal Garden: Cheshma Shahi ที่นี่เป็นสวนจัดแต่งแบบเป็นระเบียบ ประดิดประดอย และมีน้ำพุธรรมชาติ (Cheshma Shahi — The Royal Spring) ก่อนจะขึ้นเขาเพื่อไปสวนนี้ จะมีด่านทหาร เราต้องลงจากรถและเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ ส่วนรถก็จะขับผ่าน (ไม่รู้ตรวจรถยังไง) แล้วไปรอรับเราข้างหน้า เวลาไปสถานที่ที่ต้องขึ้นเขา ต้องลงเดินผ่านเครื่องทุกครั้ง

เดินผ่านเครื่องตรวจเข้ามา
ถึงแล้วทางเข้าด้านหน้า จะมีซุ้มขายของเรียกนักท่องเที่ยว อยู่ข้างๆห้องขายตั๋ว ค่าเข้าคนละ 10 รูปี (ถูกมาก)
เข้าใจว่า พอหน้าหนาว ก็คงอยู่ระหว่างการทำนุบำรุงสวน คิดว่าหน้าร้อนคงจะสวยมากๆ
ฉันชอบต้นไอวี่แห้งๆที่เกาะหลังกำแพงนี้มาก เลยไปเรียก ชองซอนอี มาโพสต์ท่า
ด้านบน มีต้นเมเปิ้ลขนาดยักษ์ สองต้นยืนแห้งตระหง่านเป็นสง่าคู่กัน
มีอีกแล้ว วิลโล่ทรี
ถ่ายรูปมาอาจเห็นได้ไม่ชัด แต่ภาพจริงขุนเขาสลับทับซ้อนกัน มีเหลื่อมเงาสวยงาม
ด้านในอาคารคือน้ำพุ น้ำเย็นมากกกกก

หลังจากถ่ายรูปกันเต็มที่แล้วเราก็แวะกินอาหารกลางวันกันที่ร้านอาหารหน้า Chashma Shahi นี่เอง แต่เนื่องจากบ่ายแล้วก็เลยไม่ค่อยมีอะไรให้กินมากนัก เรารองท้องด้วยซุปเป็นหลัก

จากนั้นอะชาร์ดพาเราไปช้อปปิ้งที่ร้านขายของพื้นเมือง ได้แก่พวกผ้า ชุดพื้นเมือง พรม เครื่องประดับ ฯลฯ ใช้เวลาอยู่ที่นี่นานมาก เลือกแล้วเลือกอีก สุดท้ายได้ไปหลายชิ้น และเทกระเป๋ากันเลย นี่แค่วันแรกในศรีนาการ์นะ โอ้ปร๊ะเจ้าาาา (ปล.ผ้าสวยมากๆๆๆๆๆ ใครบ้าผ้านี่หมดตัวได้เลย)

มีคนมาสาธิตวิธีการทอพรมให้ดูด้วย
ถ่ายมาให้ดูผ้านะฮะ ไม่ใช่ดูหนุ่มๆ

ตัวเบาเดินมาขึ้นรถ กลับบ้านเรือ ก่อนจะหมดตัวไปกว่านี้

มาถึงท่าเรือก็ใช่ว่าจะยอมลงเรือง่ายๆ แหมก็แดดเย็นๆกับภาพรอบๆท่าเรือ ทำให้ต้องเสียเวลาถ่ายรูปตรงนี้ไปอีกหลายช็อตทีเดียว
เอาล่ะ หันหัวเรือมุ่งหน้า New Sherin Houseboat กันเสียที
มาถึงบ้านเรือ อาเมียร์ ลูกชายของราซูลรอรับอยู่ที่ท่าน้ำแล้ว ในรูปคือ อาเมียร์ อาลีบาบา (พ่อค้าเครื่องประดับ) และคนจากร้านขายของที่ระลึก อาเมียร์ลูกชายของราซูลอายุยี่สิบต้นๆหน้าตาดีมาก เคยจะได้ขึ้นปกนิตยสารสุดฮิตในมุมไบ แต่ภรรยาไม่อนุญาต อิอิ

เราจัดการหอบข้าวของไปยังห้องพักและทำการสำรวจพื้นที่ สาวๆอยู่ห้องด้านในสุด เป็นเตียงคิงไซต์ ส่วนหนุ่มๆอยู่ห้องถัดมาเป็นเตียงคู่ ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว อลังการแบบแคชเมียร์สไตล์

ทุกห้องมี Heater แบบโบราณที่เรียกว่า Bukhari ใช้ฟืน ซึ่งราซูลบอกว่าปลอดภัยกว่าแก๊ส เพียงแต่ต้องคอยมาเติมฟืนเท่านั้น ฟืนที่ดีเขาว่าต้องใช้ไม้ของต้นแอปเปิ้ล หรือต้นเมเปิ้ลเท่านั้น จึงจะดี ราซูลจะสั่งไม้ซุงมาเป็นคันรถไว้ที่ลานหลังบ้าน และให้คนมาผ่าเป็นฟืนท่อนๆไว้ใช้
Kangri เป็นกระเช้าหวายใส่ถ่าน ซึ่งคนแคชเมียร์จะถือไว้ในเสื้อคลุม (Faran) เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย บางคนก็จะทำตะขอไว้แขวนภายใน จะได้ไม่ต้องถือ แต่ส่วนใหญ่จะถือเอา นั่นเป็นสาเหตุของการที่เห็นคนแคชเมียร์ใส่ Faran แล้วต้องปล่อยแขนเสื้อห้อยๆไว้ ซึ่งตอนแรกฉันงงมากว่าทำไมไม่เอาแขนออกมา อาเมียร์เคยบอกว่า Kangri is a Kashmiri’s Winter wife
ราซูลตอนถือ Kangri ไว้ด้านใน ชาวแคชเมียร์จะดูเหมือนคนท้องตลอดเวลา 555

ก่อนอาหารเย็น เราออกมาถ่ายรูปหน้าบ้าน (บอกแล้วต้องถ่ายมุมนี้ทุกวัน) นั่งอยู่แป้บเดียวก็เข้าละ หนาววววว บรื๊อออออ ….

--

--

Pirawadee
ourtrip.cc

Owner of the project management consultancy firm, former lecturer in project construction management, traveler and blogger