Kashmir 9
“Srinagar” City of Prosperity
2 มกราคม 2559
ความเดิมตอนที่แล้ว…
ฉลองวันแรกของปีแบบหนาวๆด้วยการไปเหยียบหิมะที่ Yusmarg แล้วกลับมาเดินเมืองน่ารักๆแบบแคชเมียร์ที่ Charar-i-Sharief …[อ่านตอนที่แล้ว]
วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของการเที่ยวแล้วสิ ว้า.. วันสุดท้ายก็ต้องเที่ยวแบบชิลๆในเมืองศรีนาการ์ พร้อมช้อปปิ้ง (อันนี้ขาดไม่ได้) คืนนี้ต้องแพ็คกระเป๋าให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกในวันพรุ่งนี้ อากาศที่ศรีนาการ์ยังอยู่ระหว่าง 1–4 องศาเซลเซียส แต่ไม่มีเหมยขาบ
หลังอาหารเช้า (อันที่จริงเป็น Brunch เพราะตื่นกันสาย) ราซูลบอกว่าวันนี้จะให้อาเมียร์ลูกชายเป็นไกด์นะ ไปชมสถานที่สำคัญสักสองแห่ง แล้วบ่ายก็ไปช้อปปิ้ง ก่อนกลับมาบ้านเรือ
เราไปที่ Shankaracharya Temple ก่อนเป็นที่แรก วัดนี้อยู่ในลิสต์ที่เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนมา เวลาเราอยู่ที่บ้านเรือก็จะมองเห็นวัดนี้อยู่บนเขาลิบๆ กลางวันมองไม่เห็นเพราะหมอกเยอะ แต่กลางคืนเขาเปิดไฟ ในรูปจะอยู่บนเขาด้านซ้าย
ฉันยังไม่ได้เล่าเรื่องที่เป็นสาระของศรีนาการ์เลย จนจะวันสุดท้ายอยู่แล้ว เอาเสียหน่อยประดับความรู้ก็แล้วกัน
ศรีนาการ์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Srinagar ในตำนานหนึ่งบอกว่ามาจากภาษาสันสกฤตของคำว่า “ศรี” ซึ่งหมายถึงชื่อ “พระลักษมี” ชายาของพระวิษณุ ส่วนคำว่า “นาการ์” นั้นแปลว่า “เมือง” (ก็คือ “นคร” นั่นเอง ถ้าเรียกแบบไทยๆก็ควรจะเป็น เมืองศรีนคร) อันว่าพระลักษมีนั้น ได้ชื่อว่าเป็นเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง ดังนั้น Srinagar จึงหมายถึงนครแห่งความมั่งคั่ง เช่นนี้แล
Srinagar เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเขต Kashmir Valley และเป็นเมืองหลวงของรัฐในช่วงหน้าร้อน มีภูมิอากาศดีตลอดปี และมีชื่อเสียงเรื่องสวน, ทะเลสาบ และบ้านเรือ สินค้ายอดนิยมคือหัตถกรรมพื้นเมืองและผลไม้แห้ง [อ่านข้อมูลของศรีนาการ์เพิ่มเติมที่นี่]
กลับมาที่วัด Shankaracharya Temple วัดนี้เป็นวัดฮินดูเก่าแก่ (ถึงว่า ตอนบอกราซูลว่าจะไปที่นี่ตั้งแต่วันแรกดูเขาไม่ค่อยสนใจนัก) ตั้งอยู่บนยอดเขา Shankaracharya Hill ของเทือกเขา Zabarwan Mountain เป็นวัดที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 9 เพื่อเป็นที่บูชาพระศิวะ นอกจากเป็นวัดฮินดูแล้ว ยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธอีกด้วย
เราเลียบทะเลสาบดาล ไปอีกด้านหนึ่งของบ้านเรือมุ่งหน้าสู่วัดบนเขา ที่ทางขึ้นเขาเราต้องลงจากรถเพื่อผ่านด่านตรวจของทหารเช่นเคย จากนั้นก็นั่งรถขึ้นไปจนถึงตีนบันไดทางขึ้นวัด รถจะต้องจอดตรงนี้ อาเมียร์ให้เราเอาของทุกอย่างไว้ในรถ เพราะที่นี่ห้ามน้ำกล้อง โทรศัพท์ เครื่องมืออิเลคโทรนิกส์ทุกชนิดขึ้นเด็ดขาด ถ้าเราไม่เอาไว้ในรถ ก็ต้องฝากไว้ที่ด่านตรวจตีนบันไดนี่เอง แม้กระทั่งบุหรี่ก็ห้าม คุณผู้ชายโดนริบไว้ตอนตรวจตัวก่อนขึ้น เมื่อลงจากรถแล้วต้องผ่านด่านตรวจตัวอีกครั้ง ซึ่งมีทั้ง Metal Detector และค้นตัวระบบสัมผัส (:D) คุณผู้หญิงก็เข้าห้องลูบคลำ จากนั้นเราก็เริ่มเดินขึ้นไป อาเมียร์รออยู่ที่รถเพราะเขาเป็นมุสลิม เราห้าคนก็ค่อยๆเดินขึ้นบันไดหินแกรนิตจำนวน 243 ขั้น จนไปถึงบนลานด้านบน ซึ่งมีสถูปรูปแปดเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง เนื่องจากไม่มีกล้อง จึงต้องอาศัยภาพจากอินเตอร์เน็ตประกอบคำบรรยาย แมกซ์บอกว่าไม่รู้ว่าถ่ายรูปไม่ได้ ไม่งั้นจะหอบเอาสีน้ำกะสมุดสเกตช์มาด้วย
ทางขึ้นสถูป ต้องขึ้นบันไดไปอีกหน่อย และต้องถอดทั้งถุงเท้ารองเท้าไว้ที่ลานข้างล่างก่อนด้วย เย็นเฉียบทีเดียวตอนวางเท้าเปล่าๆลงบนพื้นหิน
ภายในสถูป มีรูปปั้นองค์พระศิวะ มีศิวลึงค์ขนาดใหญ่ พระพิฆเนศ และเทพองค์อื่นๆวางไว้ตรงกลาง หน้าประตูทางเข้ามีกระดิ่งใหญ่แขวนไว้ ซึ่งเห็นเขาสั่นกระดิ่งกันทุกคน เราก็สั่นบ้าง คงคล้ายๆกับเราเคาะระฆัง
เราเดินที่ลานรอบสถูปเพื่อดูเมืองศรีนาการ์เบื้องล่าง เห็นไปสุดแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนทีเดียว นี่ถ้าอากาศดีไม่มีหมอกคงเห็นทัศนียภาพ และชัยภูมิเมืองกันอย่างแจ่มแจ้ง นี่เองคือเหตุผลที่เขาห้ามทุกอย่างและค้นตัวอย่างละเอียด ในแคชเมียร์นี้ บนเขาทุกเขาต้องมีค่ายทหารตั้งอยู่ กระทั่งบนยอดเขาของ Shankarachaya Temple นี้ก็มีป้อมค่ายของทหารตั้งอยู่
ปัจจุบันนี้ Shankarachaya Temple อยู่ในความดูแลของกรมศิลป์แคชเมียร์เช่นกัน
ลงมาขึ้นรถกลับ ตอนขาลง อะชาร์ดแวะจอดตรงจุดชมวิวสองจุด คนละฝั่งเขา เพื่อให้เราถ่ายรูปกัน ด้านหนึ่งจะเป็นเมืองที่มีแม่น้ำ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ Dal Lake
ต่อจากนั้น เราไปชมสวนบนเขาเดียวกันนี้ อีกที่หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน เรียกว่า Pari Mahal หรือ The Fairies Adobe จะเรียกเป็นไทยว่าอย่างไรดี ราซูลเรียก สวนนางฟ้า
Pari Mahal เป็นสวนที่มีเทอเรสเจ็ดชั้น สร้างขึ้นในสมัยกลางศตวรรษที่ 16 โดยมหาราชาดารา ชิโกห์ (Prince Dara Shikoh) เพื่อใช้เป็นห้องสมุดและห้องนั่งเล่น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของค่ายกองกำลังทหาร ที่ได้ชื่อว่าเป็นค่ายบนเขาที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่งทีเดียว [ดูข้อมูลเพิ่มเติม]
เสียค่าเข้าคนละ 50 รูปี
ต้นไม้บนนี้น่ารัก ลักษณะการจัดสวนและพันธุ์ไม้คล้ายๆกับที่ Chesmashari สวนน้ำพุที่ไปในวันที่ 29
หมดคิวเที่ยวแระ ต่อไปเป็นรายการทำร้ายกระเป๋า อาเมียร์พาไปร้านผ้าแพชมิน่าอีกรอบ ร้านแนะนำจากราซูล เพราะเด็กๆต้องการซื้ออีก ที่นี่มี Pashmina คุณภาพดีราคาย่อมเยา ตามขนาดของผ้าและวัสดุที่ทำ ตั้งแต่สี่ร้อยรูปีไปจนถึงหลักหลายหมื่น จับจ่ายกันอย่างเกรงใจ (กระเป๋า) แล้วเราก็กลับมาบ้านเรือ
นั่งเล่นถ่ายรูปกันที่ระเบียงหน้าบ้าน ท่ามกลางแสงแดดและอากาศหนาวยะเยือก
อันที่จริง แคชมีรี่ที่เคร่งๆจะห้ามเราถ่ายรูปผู้หญิงเด็ดขาด บางครั้งเราก็เลยต้องแอบๆเอา ที่นี่ผู้หญิงดูจะถูกกดขี่อยู่เหมือนกัน อย่างบ้านเรือนี้ สตรีจะไม่สามารถมาเหยียบได้เลย ต้องอยู่เฉพาะในเขตบ้านตนเอง ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมไม่มีผู้หญิงทำงานเลย ทั้งในร้านอาหารและโรงแรม วันก่อนคุยกับพนักงานในบ้านเรือก็เลยได้ความรู้มาแบบนี้
โอ๊ย… สวยประทับใจมากที่สุด
มืดแล้ว ก่อนไปกินอาหารค่ำมื้อสุดท้ายในแคชเมียร์ เราไปตีท้ายครัวราซูลกันก่อน
บ้านราซูลปลูกเรือนเป็นรูปตัวแอลชั้นเดียวอยู่บนฝั่งด้านหลังบ้านเรือ ผนังและหลังคาเป็นสังกะสี ด้านที่ใกล้บ้านเรือ จะเป็นส่วนของห้องครัวและซักรีด เรือนด้านหลังเป็นห้องพัก ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ เราเข้าไปชมห้องพักก่อน ซึ่งโล่งๆ มีเพียงที่นอนกับผ้าห่มเท่านั้น เราทักทายกับน้องสะใภ้ของราซูลพร้อมลูกสาวของเธออายุหกขวบ ซึ่งนั่งอยู่กับภรรยาของอาเมียร์ ผู้ซึ่งเป็นหญิงสาวที่สวยมากกกกก มีลูกชายแล้ว 1 คนอายุหกเดือน เด็กๆแก้มแดงปลั่งทีเดียว
ย้ายมาเรือนครัว แอบดูเคล็ดลับสิว่าทำไงอาหารถึงอร่อยได้ทุกอย่าง ครัวขนาดเล็กมาก สัก 2.50x4.00 ม. เห็นจะได้ มุมด้านหนึ่งเป็นเตาแก้สชนิดสี่หัว มีเครื่องครัวอยู่ไม่กี่ชิ้นเท่านั้น (ฉันชอบหม้ออบแรงดันมาก)
ในระหว่างที่เรามาเยี่ยมชมเรือนพักและส่วนครัว “บาลา” พนักงานคนหนึ่งก็มาคอยช่วยจุกจิกอยู่แถวๆนี้ เขาเยี่ยมหน้าผ่านหน้าต่างครัวเข้ามา กำนันฯเลยถ่ายพอร์เทรทซะเลย แววตาแคชมีรี่นี่แจ่มมาก
ออกจากครัวจะกลับไปกินข้าว น้องสะใภ้อุ้มลูกชายอาเมียร์ออกมาพอดี ฉันขออุ้ม ตอนแรกก็ดีๆอยู่นะ พอมาอยู่ในวงแขนฉันได้แป้บเดียว ร้องไห้จ้าเลย อาเมียร์มาถึงพอดี พอส่งให้ เจ้าหนูน้อยเงียบเป็นปลิดทิ้งทีเดียว ฮึ..
ยังฮ่ะ กินอิ่มแล้วยังนอนไม่ได้ และยังจัดกระเป๋าไม่ได้ด้วย เพราะยังช้อปไม่เสร็จ ฮ่าฮ่า..
หลังอาหารมีรายการช้อปปิ้ง เป็นบ้านเรือไดเรกท์เซล โดยพ่อค้าจะนำสินค้ามาเสนอถึงบ้านกันเลย คืนนี้ “อาลีบาบา” เพื่อนผู้มุก(ตลก)เยอะ หอบกระเป๋าพร้อมโคมไฟส่วนตัวมาขายเพชรพลอย เครื่องประดับต่างๆ ตอนแรกก็ด้วยความเกรงใจ ก็ดูๆโน่นนี่นั่น เคลิบเคลิ้มกับคารมของอาลีบาบา จนสุดท้ายก็ควักกระเป๋าจ่ายไปอีก เฮ้อ…
นอกจากเครื่องประดับ ยังมีของขึ้นชื่อของแคชเมียร์ที่เราต้องเอากลับไปให้ได้ อันได้แก่ Kashmir Kawah Tea, อัลมอนด์ และผลไม้แห้ง ซึ่งพวกนี้ราซูลจัดการให้ เราแค่จดว่าจะเอาอะไรเท่านั้น กว่าจะเริ่มจัดกระเป๋ากันก็ดึกมากแล้ว ขามาว่าหลวมๆ ขากลับนี่กระเป๋าเป่งมาก อย่างน้อยๆก็มีพรมสี่ผืนเข้าไปแล้ว อ๊ากกกก….
เอาละ นอนหลับฝันดี ฝันถึงความงามของแคชเมียร์และผู้คนที่น่ารัก ส่งท้ายด้วยภาพงามราวฝัน…
ย้อนตอนเก่า
Kashmir 1: Planning
Kashmir 2: Unexpected Delhi
Kashmir 3: Assalām ‘alaikum Kashmir
Kashmir 4: “Gulmarg” Life is fun, Enjoy every minute
Kashmir 5: Being Kashmiri
Kashmir 6: Pahalgam “Valley of paradise”
Kashmir 7: Slow Life on New Year’s Eve
Kashmir 8: New year in Yusmarg
Kashmir 9: “Srinagar” City of Prosperity
Kashmir 10: khuda hāfiz Kashmir